‘บ้านอียอ’ อำเภอสำโรงทาบ  แหล่งแปรรูป หอมแดง-กระเทียม สร้างความมั่งมีให้ชาวบ้าน

ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือแหล่งปลูกหอมแดงที่มีพื้นที่มากที่สุดแล้วยังมีคุณภาพดีที่สุดคงต้องเป็นที่จังหวัดศรีสะเกษ เพราะปลูกกันมากกว่า 70% ของพื้นที่เพาะปลูกทั้งภาค แล้วยังมีคุณลักษณะพิเศษคือ เปลือกมีสีแดงเข้ม ด้านในมีสีม่วง กลิ่นฉุนแรง เก็บรักษาได้ยาวนาน จึงเป็นที่ต้องการของตลาดผู้บริโภคอย่างมาก ด้วยเหตุนี้จึงมีพ่อค้าจากจังหวัดใกล้เคียงมักมารับซื้อหอมแดงจากศรีสะเกษเพื่อนำไปกระจายขายยังหลายจุดทั่วประเทศ

การนำหอมแดงออกขายตามสถานที่ต่างๆ จะต้องผ่านการทำความสะอาด ที่ชาวบ้านมักเรียกกันว่าแต่งหอม เพื่อตัดแต่งสิ่งสกปรกรกรุงรังออกไป ให้เหลือแค่หัวหอมแดงสวยๆ ที่มีขนาดเท่ากัน พร้อมมัดเป็นจุกแลดูน่าซื้อ

ที่บ้านอียอ หมู่ที่ 7 ต.ศรีสุข อ.สำโรงทาบ จ.สุรินทร์ เป็นอีกแห่งที่ชาวบ้านยึดอาชีพแต่งหอมกันเกือบทั้งหมู่บ้าน แล้วถือเป็นแหล่งใหญ่ที่นำหอมแต่งออกไปขายหลายจังหวัด สร้างรายได้และความมั่งมีอย่างมากให้แก่ชาวบ้านทุกครัวเรือน

คุณสมพาล ต้นทอง ในฐานะผู้ใหญ่บ้านแห่งนี้ เล่าว่า เมื่อก่อนคนในหมู่บ้านนี้เคยปลูกหอมแดง แต่ประสบปัญหาความไม่แน่นอนเรื่องราคาที่บางครั้งตกต่ำลงไปถึง 3-4 บาท/กิโลกรัม จึงทำให้ชาวบ้านจำนวนมากขาดทุนเป็นหนี้สินจึงเลิกปลูก แล้วหันมาเป็นพ่อค้าซื้อ-ขาย ดีกว่า ปัจจุบันหมู่บ้านนี้ทุกครัวเรือน ทุกคนในบ้านไม่เลือกเพศ อายุ ต่างมีรายได้จากการทำหอมแต่งกัน

Advertisement

SR 07 คุณป้าท่านนี้ใช้เวลาว่างรับแต่งกระเ

นอกจากนั้นแล้ว บางรายยังมีการแปรรูปด้วยการทำพริกคั่ว (พริกป่น) หรือแม้กระทั่งหอมเจียวส่งขายด้วยการทำแบบสำเร็จรูปแบ่งใส่ถุงขนาดเล็กส่งขายตามร้านส่งของ หรือตามร้านอาหาร ทั้งยังระบุว่าหอมเจียวเป็นที่ต้องการของตลาดและมีราคาดีมาก แต่เนื่องจากมีขั้นตอน วิธีทำที่ยุ่งยาก จึงทำให้ชาวบ้านไม่นิยมทำกัน จะมีเพียง 1-2 ราย เท่านั้น

ผู้ใหญ่บ้านเผยว่า ราว 10 กว่าปีที่แล้ว ชาวบ้านในหมู่บ้านนี้ถือว่ายากจน จึงเริ่มจากการใช้ซาเล้งส่งขายก่อน แล้วค่อยๆ มีการพัฒนาจนซื้อรถปิกอัพเพื่อต้องการไปบรรทุกหอมแดง/กระเทียมมาขายได้คราวละจำนวนมาก เนื่องจากมีความต้องการของลูกค้าเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ

Advertisement

“จนเมื่อ 2 ปีที่ผ่านมา ราคาหอมแดงสูงมาก เพราะมีทั่งจำนวน/คุณภาพดีเยี่ยม สามารถส่งขายต่างประเทศได้ราคาสูง ในคราวนั้นชาวบ้านมีรายได้กันเป็นล้านบาท”

คุณสมพงษ์ สุขเมือง พ่อค้าที่รับซื้อ-ขายหอมแดง บอกว่า ซื้อหอมแดงและกระเทียมมาจากตลาดขายส่งใหญ่ที่ชื่อ ตลาดท่าเรือ ในจ.ศรีสะเกษ ในทุก 2-3 วัน/ครั้ง บรรทุกหอมแดงใส่รถปิกอัพ ครั้งละประมาณ 3 ตัน ส่วนกระเทียมประมาณตันกว่า

หลังจากซื้อมาแล้วจะนำมาตัดแต่งมัดเพื่อให้สวยงามน่าซื้อ แล้วแยกขนาด มีค่าจ้างตัดแต่งและมัด ถ้าเป็นกระเทียมกิโลกรัมละ 5 บาท ถ้าเป็นหอมแดงกิโลกรัมละ 2-3 บาท หรืออาจใช้วิธีเหมา 30 กิโลกรัม ในราคา 70 บาท

SR 02 หอมแดงที่มีคุณภาพต้องมีลักษณะเช่นนี

ชาวบ้านที่มัดหอมแดง กระเทียม 1 คน จะมัดได้วันละประมาณ 90 กิโลกรัม แล้วจะมีรายได้ประมาณ 200 บาท แต่ถ้าทำกันเต็มวันอาจได้ถึง 300 บาท/วัน เมื่อแต่งหอม กระเทียม เสร็จจึงนำออกไปส่งขายตามสถานที่ต่างๆ ที่ลูกค้าสั่งไว้ ตลอดจนร้านขายริมทางด้วย ในราคาขายกิโลกรัมละ 30 กว่าบาท และมีหลายขนาด

คุณสมพงษ์ ชี้ว่า ตลาดหอมแดง กระเทียมไม่เคยว่าง ปริมาณหอมแดงที่ศรีสะเกษจะเริ่มต้นช่วงปลายปี แล้วจะค่อยๆ ลดลงจนประมาณเดือนเมษายน พอหอมแดงจากศรีสะเกษหมดลงก็จะเปลี่ยนมารับซื้อหอมแดง กระเทียมที่ส่งมาทางภาคเหนือจากพะเยา อุตรดิตถ์ ที่จะส่งมารวมขายที่ศรีสะเกษ

จากประสบการณ์ 10 กว่าปี คุณสมพงษ์ตั้งข้อสังเกตว่า ถ้าปีใดที่มีดอกหอมมาก ปีนั้นราคาหอมแดงลดลงเพราะมีการเน่าเสียเกิดขึ้น อย่างในขณะนี้มีดอกหอมน้อย จึงทำให้หอมแดงมีความสมบูรณ์ คุณสมพงษ์ ชี้ว่า เหตุที่เป็นเช่นนั้นเกิดมาจากสภาพอากาศเปลี่ยน

พ่อค้ารายนี้อธิบายการออกไปซื้อหอมแดง กระเทียมที่ตลาดท่าเรือ จ.ศรีสะเกษ ว่าจะต้องเหมาเป็นคันรถตามราคาที่ตกลง อย่างไรก็ตาม ภายในรถคันนั้นอาจมีทั้งสินค้าที่มีคุณภาพและด้อยคุณภาพปะปนกัน ดังนั้น จึงต้องใช้ความชำนาญในการดูว่ามีความสมบูรณ์มาก/น้อยเพียงใด เพราะอาจมีผลต่อกำไรมาก/น้อยด้วย

ผู้ใหญ่บ้านบอกว่า ชาวบ้านที่ประกอบอาชีพค้าขายหอมแต่งจะแบ่งหน้าที่กัน อย่างผู้ชายจะออกไปซื้อและนำไปขาย ส่วนผู้หญิงและคนสูงอายุจะรับจ้างมัดตัดแต่งหอมแดง กระเทียมอยู่กับบ้าน

“การบรรทุกหอมแดง กระเทียม นอกจากจะใช้รถปิกอัพเป็นพาหนะไปส่งตามจุดต่างๆ ห่างไกลแล้ว ในแหล่งขายที่ไม่ไกลและเป็นพื้นที่จำกัดคับแคบ ชาวบ้านมักใช้รถซาเล้ง (พ่วงข้าง) ใส่หอมแดง กระเทียมไปส่งขาย เพราะมีความคล่องตัว ซาเล้งคันหนึ่งสามารถบรรทุกได้ 200 กิโลกรัม สำหรับรถปิกอัพนำออกไปขายทุก 2 วัน แต่ถ้าเป็นซาเล้งออกไปขายทุกวัน แค่ไม่เกิน 2 วัน ก็ขายหมดรถแล้ว”

คุณสมพงษ์ เผยว่า การกำหนดราคาหอมแดงกับกระเทียมม่วงเพื่อขายส่งนั้น ทางกลุ่มจะตั้งราคาด้วยวิธีการชั่งน้ำหนักทั้งกระสอบ (30 กิโลกรัม) แล้วคำนวณต้นทุนทุกอย่างรวมกัน ทั้งนี้ โดยเฉลี่ยแล้วกำไรที่ผู้ขายจะได้มักอยู่ที่ราคา 2-3 บาท/กิโลกรัม ส่วนกระเทียมทางผู้ขายต้นทางกำหนดราคาไว้ให้ได้เพียงกิโลกรัมละ 2 บาท โดยสินค้าทั้งหมดที่กำหนดแล้วจะเสนอผู้รับซื้อปลายทางก่อนเพื่อจัดการต่อรองราคากันก่อนนำส่ง

SR 06 กระเทียมที่รับซื้อมาเตรียมตัดแต่ง

คุณสมพงษ์ บอกว่า หอมแดง กระเทียมที่วางขายตามแผงค้าริมทาง และอีกหลายแห่งนั้นล้วนมาจากทางหมู่บ้านอียอเป็นส่วนใหญ่ แล้วตลาดที่ไปส่งยังพื้นที่ไกล ไม่ว่าจะเป็นแถวระยอง ตราด จันทบุรี สระแก้ว ทั้งนี้ ลูกค้าที่ไปส่งมักมีการแนะนำกัน

นอกจากหอมแดง กระเทียมที่เป็นสินค้าหลักจากการสร้างรายได้แล้ว คนในหมู่บ้านแห่งนี้ยังขยันหาอาชีพอื่นสร้างรายได้กันในทุกช่วงฤดูกาลด้วย ไม่ว่าจะเป็นการออกไปตระเวนรับซื้อมะพร้าวตามหมู่บ้านต่างๆ เพราะมีราคาดีมาก โดยชาวบ้านจะออกไปรับซื้อตามหมู่บ้าน แล้วนำไปขายให้แก่โรงงานแปรรูป หรือในอดีตเคยเผาถ่านขาย มีการรับวัว-ควายมาขาย แล้วพอเข้าช่วงหน้าร้อนก็จะพากันผลิตน้ำหวานแช่แข็งออกไปขาย

ถามผู้ใหญ่บ้านว่าอะไรที่ทำให้ชาวบ้านในหมู่บ้านอียอหันมายึดอาชีพเหล่านี้สร้างรายได้ คุณสมพาล บอกว่า สมัยก่อนมีชาวบ้านรายหนึ่งไปหาซื้อพืชผลทางการเกษตรตามแหล่งปลูกต่างๆ แล้วนำไปขายที่ตลาด โดยชาวบ้านรายดังกล่าวทำอยู่ไม่นานก็มีฐานะความเป็นอยู่ดีขึ้น ด้วยแรงจูงใจเช่นนี้จึงทำให้ชาวบ้านหลังอื่นทดลองทำบ้าง แล้วก็ประสบความสำเร็จดีเช่นกัน จากนั้นคนในหมู่บ้านอียอทุกหลังคาเรือนจึงยึดอาชีพเช่นนี้ทำกัน

“กระทั่งปัจจุบันลูกบ้านทุกครัวเรือนมีรายได้ดี มีความสุข หน้าตาเบิกบานแจ่มใส เพราะถ้าสังเกตจากจำนวนครัวเรือนที่มี 128 หลังคาเรือน แล้วพบว่า 125 ครัวเรือน จะมีรถปิกอัพไว้ใช้กันอย่างน้อยบ้านละคัน หรือแม้แต่ทุกครั้งที่มีงานบุญแล้วต้องบริจาคเงินก็พบว่ายอดเงินบริจาคของชาวบ้านในชุมชนนี้จะสูงมากกว่าหมู่บ้านอื่น”

สนใจต้องการหาซื้อหอมแดง กระเทียม ไปขาย ติดต่อได้ที่ คุณสมพงษ์ สุขเมือง โทรศัพท์ 08-5015-1529

ขอขอบคุณ : สำนักงานเกษตรจังหวัดสุรินทร์ ที่อำนวยความสะดวกในการทำรายงานพิเศษครั้งนี้

ติดตามข่าวสารอื่นๆได้ที่ : http://www.technologychaoban.com/index.php

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image