งดทำนา ปลูกพืชทดแทน ‘ว่านน้ำ’สมุนไพรไทยโบราณ ดูแลน้อย แต่ได้กำไรดี๊ดี

อย่างที่ทราบกันดีว่าชาวนาไทยกำลังประสบปัญหาหลายด้าน ทั้งในเรื่องของต้นทุนการผลิต ค่าปุ๋ย ยาที่ราคาสูงขึ้น ขณะที่ราคาข้าวตกต่ำ ซึ่งยังไม่มีแนวทางสนับสนุนจากรัฐอย่างจริงจัง ตลอดจนประสบปัญหาภัยแล้ง ทำให้บางพื้นที่ต้องงดทำนา ส่งผลถึงรายได้ของชาวนาโดยตรง ด้วยเหตุนี้เกษตรกรหลายรายจึงหันไปปลูกพืชชนิดอื่นทดแทน แต่ด้วยข้อจำกัดของพื้นที่นาทำให้ปลูกพืชได้ไม่กี่ชนิด บางรายหันไปปลูกถั่วในช่วงน้ำน้อย หรือเปลี่ยนไปทำไร่อ้อย ปลูกแห้ว รวมไปถึงการปลูก “ว่านน้ำ” ซึ่งถือเป็นพืชเศรษฐกิจตัวใหม่ที่กำลังได้รับความสนใจในปัจจุบัน

เกษตรกรในอำเภอบางบัวทอง จังหวัดนนทบุรี ที่เปลี่ยนแปลงที่นามาปลูก “ว่านน้ำ” พืชสมุนไพรที่กำลังเป็นที่จับตามอง เนื่องจากความต้องการในตลาดที่มีมากขึ้นเรื่อยๆ เพราะว่านน้ำใช้เป็นส่วนผสมหลักในการผลิตยาไทยเกือบทุกแขนง ทำให้เกษตรกรผู้มองเห็นช่องทางทำกิน หันมาปลูกว่านน้ำเป็นอาชีพหลักแทนการปลูกข้าว จนสร้างรายได้เป็นกอบเป็นกำ

ว่านน้ำเป็นพืชที่พบได้ในแหล่งน้ำทั้งทวีปยุโรปและเอเชีย จัดเป็นพรรณไม้ขนาดเล็ก มีใบตั้งตรงยาว 50-80 เซนติเมตร ลำต้นเป็นเหง้า แพร่ขยายไปตามพื้นดินเป็นรูปทรงกระบอกค่อนข้างแบน มีกลิ่นหอมรสเผ็ดร้อน ฉุน และขม มักขึ้นเองตามบริเวณริมหนองน้ำ สระ บ่อ คูคลอง ในที่ที่มีน้ำท่วมขัง ที่ชื้นแฉะหรือแหล่งน้ำตื้น

ดังนั้นปลูกได้ดีในพื้นที่ชื้นแฉะ มีน้ำท่วมริมบ่อ ขึ้นได้ดีในน้ำสูงระดับ 10 เซนติเมตร ขยายพันธุ์โดยการแตกหน่อ ชอบแสงแดดรำไร เจริญเติบโตได้ดีในฤดูฝน ศัตรูพืชน้อยเนื่องจากมีกลิ่นน้ำมันหอมระเหยที่ไล่แมลงอยู่แล้ว ฉะนั้นควรระวังศัตรูพืชอย่างหอยเชอรี่เพียงอย่างเดียว

Advertisement

ว่านน้ำควรปลูกในพื้นที่ลุ่มเป็นดินดำหรือดินเหนียว เพราะหากปลูกในดินทรายกลิ่นจะหอมน้อยกว่า สิ่งแรกที่ต้องเริ่มคือการไถปรับพื้นที่ก่อน (เหมือนกับการทำนา) ปล่อยน้ำลงในแปลงให้ได้ระดับน้ำประมาณ 10 เซนติเมตร จากนั้นทำการนำยอดมาปักดำ โดยใช้เทคนิคหันยอดไปทางเดียวกัน เว้นระยะห่าง 30-40 เซนติเมตร เพื่อให้ขึ้นเรียงแถวเป็นระยะ พออายุครบ 1 เดือนใส่ปุ๋ยสูตร 16-20-0 หรือ 15-15-15 ไร่ละครึ่งกระสอบ หลังจากนั้นให้ใส่ปุ๋ยเพื่อบำรุงทุก 2-3 เดือนครั้ง

อย่างที่บอกว่านน้ำมีศัตรูพืชน้อย แมลงไม่รบกวน ช่วงแรกอาจจะต้องดูแลในเรื่องของวัชพืชและคอยดูแลศัตรูตัวร้ายอย่างหอยเชอรี่ ต้องหมั่นเก็บไข่และตัวหอยไปกำจัด ไม่เช่นนั้นหอยเชอรี่จะกัดกินลำต้นว่านน้ำเสียหายได้ เทคนิคสำคัญในการทำให้หัวมีขนาดใหญ่ และมีน้ำหนักดี คือต้องคอยดูแลในช่วงให้ปุ๋ยในแปลงเพราะจะช่วยเพิ่มขนาดและน้ำหนักหัวได้ดีที่สำคัญควรเติมน้ำในแปลงทุก 1-2 เดือน ให้น้ำอยู่ในระดับ 10 เซนติเมตร

ส่วนเรื่องราคาว่านน้ำตากแห้งจะอยู่ที่กิโลกรัมละ 80-95 บาท ตลาดรับซื้อส่วนใหญ่จะเป็นตามร้านทำยา โรงงานทำยา การหาตลาดสามารถถามจากพ่อค้าที่ขายพันธุ์ว่านน้ำได้เลย หรือจะไปขายร้านยาใหญ่ ๆ แถวเขตจักวรรดิ กรุงเทพฯ ซึ่งแถบนั้นจะมีร้านขายยาใหญ่ ๆ หลายร้านที่รับซื้อว่านน้ำตากแห้งอย่างไม่จำกัด หากคำนวณรายได้หลักๆ จากการขายหัวแห้งว่านน้ำแล้วจะมีรายรับอยู่ที่ประมาณไร่ละ 100,000 บาท หักต้นทุนค่าปุ๋ยและค่าแรงงานประมาณไร่ละ 40,000 บาท ก็จะสรุปเป็นกำไรขั้นต่ำอยู่ที่ไร่ละ 60,000 บาทถือเป็นรายได้ที่น่าสนใจไม่น้อยเลยทีเดียว

Advertisement

ส่วนเรื่องราคาว่านน้ำตากแห้งจะอยู่ที่กิโลกรัมละ 80-95 บาท ตลาดรับซื้อส่วนใหญ่จะเป็นตามร้านทำยา โรงงานทำยา การหาตลาดสามารถถามจากพ่อค้าที่ขายพันธุ์ว่านน้ำได้เลย หรือจะไปขายร้ายยาใหญ่ๆ แถวเขตจักวรรดิ กรุงเทพฯ ซึ่งแถบนั้นจะมีร้านขายยาใหญ่ๆ หลายร้านที่รับซื้อว่านน้ำตากแห้งอย่างไม่จำกัด หากคำนวณรายได้หลักๆ จากการขายหัวแห้งว่านน้ำแล้วจะมีรายรับอยู่ที่ประมาณไร่ละ 100,000 บาท หักต้นทุนค่าปุ๋ยและค่าแรงงานประมาณไร่ละ 40,000 บาท ก็จะสรุปเป็นกำไรขั้นต่ำอยู่ที่ไร่ละ 60,000 บาทถือเป็นรายได้ที่น่าสนใจไม่น้อยเลยทีเดียว

สำหรับหัวว่านน้ำที่แห้งสนิทแล้วสามารถเก็บไว้ได้อีกหลายเดือนทำให้สามารถเก็บไว้เก็งกำไรรอราคาตลาดได้ นอกจากนี้ว่านน้ำยังสามารถตัดขายเป็นต้นพันธุ์ส่งขายให้กับเกษตรกรรายใหม่ได้อีกด้วย ซึ่งราคาขายจะขายอยู่ที่ 100 ต้น ราคาประมาณ 30-40 บาท แต่โดยส่วนใหญ่แล้วต้นพันธุ์เกษตรกรจะเก็บไว้ปลูกลงแปลงในรอบถัดไปมากกว่า จะขายก็ต่อเมื่อมีคนมาติดต่อหรือสั่งจองไว้เท่านั้น

แต่อย่างไรก็ตามแม้ว่าว่านน้ำจะเป็นพืชที่ปลูกง่ายได้ราคาดี แต่หากเป็นเกษตรกรมือใหม่ควรศึกษาข้อมูลก่อนลงมือปลูก ไม่ว่าจะเป็นการดูแลเพื่อให้ได้ผลผลิตที่ดี เพราะพืชแต่ละอย่างก็ต้องการการดูแลที่ต่างกัน ควรดูว่าพื้นที่ที่มีอยู่เหมาะสมไหม หรือแม้แต่การหาตลาดและการจัดการ ซึ่งเป็นปัจจัยหลักในการสร้างรายได้ ควรมีการหาตลาดก่อน เพราะถึงแม้ว่านน้ำจะยังขายได้ และยังมีช่องทางขยายตัวทางการตลาดมากกว่าพืชชนิดอื่น แต่หากไม่รู้ตลาด ปลูกแล้วไม่รู้จะไปขายให้ใครก็คงเป็นผลเสียต่อเกษตรกรเอง ..

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image