เปิดไอเดีย “ภานุ แย้มศรี” ผู้ว่าฯ เมืองลิง ทำลพบุรี เป็นศูนย์กลางตลาดแพะ

จังหวัดลพบุรี เป็นจังหวัดในพื้นที่ภาคกลางของประเทศไทย มีพื้นที่อุดมสมบูรณ์เหมาะแก่การเพาะปลูก ภูมิประเทศของจังหวัดลพบุรี แบ่งออกเป็น 2 ส่วนใหญ่ๆ คือ ที่ราบลุ่ม และพื้นที่ราบสลับเนินเขาและภูเขา มีแม่น้ำสำคัญไหลผ่าน คือ แม่น้ำป่าสัก มีการสร้างเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์เพื่อกักเก็บน้ำ และเป็นสถานที่พักผ่อนหย่อนใจสำหรับชาวจังหวัดลพบุรีและจังหวัดใกล้เคียง รวมทั้งยังมีแม่น้ำลพบุรีไหลผ่านทางฝั่งตะวันตกของจังหวัด รวมทั้งมีระบบคลองชลประทานที่เป็นประโยชน์ในทางเกษตรกรรม สภาพภูมิอากาศโดยทั่วไปเป็นแบบร้อนชื้น อยู่ภายใต้อิทธิพลของลมมรสุมตะวันตกเฉียงใต้และลมมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือ และยังได้รับอิทธิพลจากพายุดีเปรสชั่นและพายุไต้ฝุ่นอีกด้วย  

ประชากรส่วนใหญ่ของจังหวัดลพบุรี ประกอบอาชีพด้านการเกษตรทั้งปลูกพืชและเลี้ยงสัตว์ การผลิตปศุสัตว์ที่สำคัญของจังหวัดลพบุรี ได้แก่ ไก่เนื้อ สุกร โคนม โคเนื้อ ทั้ง 4 ชนิดสัตว์สามารถสร้างรายได้ให้กับจังหวัดลพบุรีไม่น้อยกว่า 19,917 ล้านบาท ต่อปี

5

และแม้ว่าที่ผ่านมา แพะ จะไม่ได้จัดอยู่ในปศุสัตว์ที่สำคัญของจังหวัดลพบุรี แต่จากตัวเลขการผลิตของเกษตรกรผู้เลี้ยงแพะ พบว่า จำนวนแพะในจังหวัดลพบุรีมีมากเป็น อันดับ 1 ของภาคกลาง และติดอันดับ 1 ใน 10 ของประเทศ

Advertisement

ด้วยเหตุนี้ ทำให้จังหวัดลพบุรี ให้ความสำคัญกับแพะ ยกระดับให้แพะเป็นสัตว์เศรษฐกิจสำคัญอีกชนิดหนึ่งในพื้นที่กลุ่มจังหวัดภาคกลางตอนบน 2 (ชัยนาท ลพบุรี สิงห์บุรี อ่างทอง) ซึ่งปัจจุบัน มีความต้องการจากผู้บริโภคทั้งในประเทศและต่างประเทศ และอัตราความต้องการบริโภคเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง และปัจจุบัน การผลิตแพะยังถือว่ามีไม่เพียงพอต่อความต้องการ ปัจจัยดังกล่าว ทำให้จังหวัดลพบุรีนำข้อมูลมาเป็นตัวตั้ง ผนวกกับสภาพอากาศ ภูมิประเทศ วัตถุดิบอาหารสัตว์ มีความพร้อมรองรับ เพื่อพัฒนารูปแบบการเลี้ยงแพะให้เป็นระบบที่ดีและมีความพร้อม

แม้ว่าจำนวนการผลิตแพะของจังหวัดลพบุรีมีมากเป็น อันดับ 1 ของภาคกลาง แต่ข้อมูลเหล่านี้ไม่เคยได้เผยแพร่ออกสู่สื่อสาธารณะให้เป็นที่รับทราบ ทำให้วันนี้ ทีมงานนิตยสารเทคโนโลยีชาวบ้าน จึงต้องขอความอนุเคราะห์ข้อมูลจากคุณภานุ แย้มศรี ผู้ว่าราชการจังหวัด และ นายสัตวแพทย์จรูญ ชูเกียรติวัฒนา ปศุสัตว์จังหวัดลพบุรี ให้ข้อมูลอย่างละเอียด เพื่อเป็นประโยชน์ต่อสาธารณะ

1

Advertisement

คุณภานุ แย้มศรี ผู้ว่าราชการจังหวัดลพบุรี เปิดเผยว่า เกษตรกรผู้เลี้ยงแพะในจังหวัดลพบุรี เพิ่มจำนวนขึ้นอย่างก้าวกระโดด ในปัจจุบันมีผู้เลี้ยงแพะมากเกือบ 400 ราย จำนวนแพะทั้งหมด 20,433 ตัว จำนวนแพะเนื้อมีมากกว่า 18,000 ตัว มีแพะนมบ้างไม่มากนัก จากเดิมเริ่มมีการส่งเสริมการเลี้ยงแพะในจังหวัดลพบุรีมาตั้งแต่ พ.ศ. 2553 โดยจังหวัดเห็นความสำคัญในการส่งเสริมเกษตรกรผู้เลี้ยงแพะ จัดสรรงบประมาณจัดซื้อพ่อแม่พันธุ์มาแจกจ่ายให้กับเกษตรกร เป็นต้นแบบพ่อพันธุ์แม่พันธุ์ให้มีคุณภาพ แต่สิ่งสำคัญของการส่งเสริมเกษตรกรในการเลี้ยงแพะ ไม่ใช่เพียงการพัฒนาพ่อพันธุ์แม่พันธุ์ให้มีคุณภาพเพียงอย่างเดียว ปัจจัยแวดล้อมในการเลี้ยงแพะก็เป็นสิ่งจำเป็น

“สภาพภูมิประเทศที่มีความเหมาะสมของจังหวัดลพบุรี เป็นองค์ประกอบหนึ่งที่เป็นแรงผลักดันให้เกษตรกรที่เลี้ยงแพะรู้สึกได้ว่า มีฐานความพร้อมในการผลิตที่เหมาะสม ซึ่งไม่เฉพาะสภาพภูมิประเทศ ที่เป็นที่ดอน โคก ที่เหมาะต่อการเจริญเติบโตของแพะ และยังมีบางพื้นที่ที่มีความอุดมสมบูรณ์ ทำไร่ได้ผลผลิตอย่างเหมาะสม แต่ด้วยความผันแปรของสภาพอากาศ ส่งผลให้ภาวะแล้งเข้าใกล้ตัวเกษตรกรมากขึ้น การทำไร่ ทำนา ของเกษตรกรหลายรายที่ทำเกษตรเชิงเดี่ยวได้รับผลกระทบ จังหวัดจึงอยากให้เกษตรกรมีทางเลือกอื่นเข้ามาเสริมการเกษตรหลักที่ทำอยู่ เช่น การแบ่งพื้นที่บางส่วนของการเกษตรสำหรับเลี้ยงแพะ และผลผลิตที่เหลือจากการเกษตร ก็เป็นวัตถุดิบที่ดีพอสำหรับอาหารแพะ เท่ากับเกษตรกรมีต้นทุนการเลี้ยงแพะอยู่แล้ว จึงเป็นทางเลือกหนึ่งของเกษตรกรในการทำการเกษตร โดยไม่ต้องลงทุนเพิ่ม”

แม้ว่าจังหวัดจะเห็นความสำคัญ ส่งเสริมการเลี้ยงแพะ โดยการซื้อพ่อพันธุ์แม่พันธุ์มาแจกจ่ายให้กับเกษตรกร ตั้งแต่ พ.ศ. 2553 แล้วก็ตาม แต่การส่งเสริมให้เกษตรกรมีความเข้มแข็งในการทำการเกษตร ไม่ใช่เพียงการซื้อให้แล้วเท่านั้น การติดตามผลและปิดช่องโหว่ให้การดำเนินงานสำเร็จยังเป้าหมาย เป็นสิ่งสำคัญมากกว่า

ผู้ว่าราชการจังหวัดลพบุรี อธิบายว่า การจัดงานแพะเมืองละโว้ ครั้งที่ 1 เมื่อ วันที่ 8-9 กรกฎาคม 2559 ที่ผ่านมา เป็นการจัดงานครั้งแรกของจังหวัดลพบุรีที่เกี่ยวกับแพะ แม้จะเป็นที่รู้กันว่า แพะในจังหวัดลพบุรีมีจำนวนมาก แต่ไม่ได้เป็นที่รู้จักแพร่หลาย การจัดงานแพะเมืองละโว้ขึ้นก็เพื่อให้เป็นที่ทราบโดยทั่วไปว่า จังหวัดลพบุรีมีความสามารถในการผลิตแพะได้ตามที่ตลาดต้องการ เพราะปัจจุบันผลผลิตแพะของจังหวัดลพบุรี นอกจากมีจำนวนที่สามารถป้อนออกสู่ตลาดแพะได้ทั้งในประเทศและต่างประเทศ เพราะฟาร์มผลิตแพะได้มาตรฐานของกรมปศุสัตว์มีหลายฟาร์ม ร้อยละ 80 ของจำนวนฟาร์มทั้งหมด อีกทั้งการปรับปรุงพันธุ์แพะที่ส่งเสริมมาก่อนช่วยให้เนื้อแพะที่ได้จากฟาร์มในจังหวัดลพบุรีมีคุณภาพดี ทำให้เป็นที่ต้องการของตลาดแพะเนื้ออย่างมาก

8

การปรับปรุงพันธุ์แพะให้มีคุณภาพ จัดเป็นเป้าประสงค์หลักของการส่งเสริมและการจัดการระบบฟาร์มแพะในจังหวัดลพบุรี ซึ่งเมื่อ คุณภานุ แย้มศรี ผู้ว่าราชการจังหวัด เห็นแนวทางการส่งเสริมจึงจัดสรรงบประมาณยุทธศาสตร์การพัฒนาจังหวัดให้ซื้อพ่อพันธุ์แม่พันธุ์ ในปี 2557 จำนวน 84 ตัว แบ่งเป็น พ่อพันธุ์ 12 ตัว แม่พันธุ์ 72 ตัว เพื่อยกระดับสายเลือดพันธุ์พื้นเมือง ซึ่งเดิมพันธุ์พื้นเมืองเดิมจะตัวเล็ก ให้ลูกน้อย น้ำหนักน้อย อัตราแรกเนื้อต่ำ เมื่อนำมาผสมเพื่อคุมฝูง สายเลือดที่ได้จะเป็นแพะลูกผสม อัตราให้ลูกดก อัตราแรกเนื้อสูง โตเร็ว ในการส่งเสริมครั้งนั้น ทำให้เกษตรกรผู้เลี้ยงแพะเห็นชัดว่า หากมีการปรับปรุงสายพันธุ์ ให้อาหารตามหลักวิชาการ แพะเนื้อจะเจริญเติบโตดี ระยะเวลาเพียง 5 เดือน ก็สามารถขายได้ ราคาเนื้อแพะ กิโลกรัมละ 100-110 บาท น้ำหนักต่อตัวไม่ต่ำกว่า 25 กิโลกรัม

เมื่อปี 2557 ประสบความสำเร็จในการปรับปรุงพันธุ์แพะ เกษตรกรผู้เลี้ยงแพะ ได้รับคำแนะนำส่งเสริมเรื่องอาหารและการเลี้ยงจากสำนักงานปศุสัตว์จังหวัด ทำให้เกษตรกรมีรายได้จากการเลี้ยงแพะสูงขึ้น จังหวัดจึงอนุมัติงบประมาณและจัดทำเป็นแผนยุทธศาสตร์พัฒนาจังหวัด เพื่อจัดซื้อพ่อพันธุ์ 20 ตัว แม่พันธุ์ 120 ตัว เพื่อนำไปปรับปรุงพันธุ์ โดยผสมกับพันธุ์พื้นเมือง นำไปคุมฝูง เมื่อประเมินว่าประสบความสำเร็จ จึงอนุมัติงบประมาณและจัดทำเป็นแผนยุทธศาสตร์พัฒนาจังหวัด ในปี 2559 ต่อเนื่อง เพื่อซื้อพ่อพันธุ์เลือดร้อย 6 ตัว และแพะคุมฝูงอีก 40 ตัว

ผู้ว่าราชการจังหวัดลพบุรี บอกว่า การเจริญเติบโตของตัวเลขผลผลิตจำนวนแพะที่มากขึ้น เป็นปัจจัยหนึ่งที่บอกได้ว่า การส่งเสริมและปรับปรุงพันธุ์แพะของจังหวัดประสบความสำเร็จ แต่นั่นก็ไม่ใช่เป้าหมายหลักที่จังหวัดต้องการ เพราะการเพิ่มปริมาณการผลิตมากขึ้นและขยายวงกว้างออกไปนั้น ข้อกังวลของการเติบโตในจำนวนแพะต้องดำเนินไปอย่างไม่ไร้จุดหมาย ทำให้จังหวัดลพบุรีจำเป็นต้องเดินหน้าในทุกทาง เพื่อให้คุณภาพแพะเป็นที่รู้จักของตลาด ซึ่งตลาดต้องเดินเข้ามาหา นอกจากนั้น ยังวางเป้าหมายไว้ให้แพะเป็นสัตว์เศรษฐกิจอีกประเภทหนึ่ง ที่เกษตรกรสามารถเลี้ยงเพิ่ม เป็นรายได้เสริมจากการทำการเกษตรหลักเดิม หรือหากไปได้ดีก็อาจเป็นรายได้หลักในการยังชีพได้

“โชคดีที่วัตถุดิบในเรื่องของอาหารในพื้นที่ลพบุรี มีมากพอ และเป็นส่วนที่เหลือจากผลิตผลทางการเกษตร ซึ่งปลูกเป็นรายได้หลักอยู่แล้ว ทำให้ต้นทุนการผลิตในเรื่องของอาหารแพะเป็นต้นทุนที่ถูกลง”

ผู้ว่าราชการจังหวัดลพบุรี กล่าวอีกว่า ในอดีตการเลี้ยงแพะของจังหวัดลพบุรี เป็นการเลี้ยงแบบไล่ทุ่งแพะเนื้อพันธุ์ลูกผสมในพื้นที่ว่างเปล่า เมื่อเกษตรกรต้องการใช้เงิน ก็จะแจ้งให้พ่อค้ามารับซื้อแพะในราคาที่ถูกกำหนดโดยพ่อค้า ซึ่งได้ราคาถูก ประมาณ 50-60 บาท ต่อกิโลกรัม เมื่อจังหวัดเริ่มส่งเสริม ในปี 2553 แพะก็ได้รับความสนใจจากเกษตรกรในจังหวัดลพบุรีเพิ่มมากขึ้น และเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องเมื่อได้รับการส่งเสริมอย่างจริงจัง ด้วยการปรับเป็นแผนยุทธศาสตร์พัฒนาจังหวัด

11

ปัจจุบัน จังหวัดลพบุรี มีเกษตรกรเลี้ยงแพะ จำนวน 391 ราย จำนวนแพะ 19,523 ตัว แบ่งเป็นแพะเนื้อ 18,602 ตัว เกษตรกร 372 ราย และแพะนม 921 ตัว เกษตรกร 20 ราย ซึ่งถือว่าจังหวัดลพบุรี มีปริมาณมากที่สุดในพื้นที่ เขต 1 การเลี้ยงแพะกระจายอยู่ในพื้นที่ทุกอำเภอของจังหวัดลพบุรี และจากนโยบายการส่งเสริมของกรมปศุสัตว์ที่ต้องการให้เกษตรกรผู้เลี้ยงแพะมีความเข้มแข็ง จึงได้กำหนดนโยบายการขับเคลื่อนเครือข่ายการผลิตและการตลาดแพะ ผ่านกระบวนการจัดตั้งกลุ่มผู้เลี้ยงแพะในพื้นที่ของแต่ละอำเภอ อีกทั้งยังมีการกำหนดให้มีการก่อตั้งชมรมแพะ แกะ จังหวัดลพบุรีอีกด้วย ทั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจ และสังคมของบรรดาสมาชิก โดยวิธีช่วยเหลือตนเอง และช่วยเหลือซึ่งกันและกันตามหลักของชมรม

ในส่วนของการเลี้ยงแพะของเกษตรกรในปัจจุบัน มีการเลี้ยงการจัดการแบบประณีตเพิ่มมากขึ้นจากเดิม เกษตรกรให้ความสำคัญต่อการปรับปรุงพันธุ์ การจัดการฟาร์ม การให้อาหาร การควบคุมป้องกันโรค ทั้งนี้เพื่อให้เป็นไปตามความต้องการของตลาดทั้งภายในประเทศและต่างประเทศ ในด้านของการปรับปรุงพันธุ์นั้น ตลาดมีความต้องการแพะเนื้อลูกผสมพันธุ์บอร์ เพราะเป็นแพะที่มีน้ำหนักแรกคลอด อัตราการเจริญเติบโต และเปอร์เซ็นต์ซากสูง เกษตรกรจึงดำเนินการปรับปรุงพันธุ์แพะในฟาร์มของตนเองโดยขอรับการสนับสนุนงบประมาณจากจังหวัดลพบุรี จัดซื้อพ่อพันธุ์แพะเนื้อพันธุ์ดังกล่าวเข้ามาคุมฝูง และบางรายดำเนินการปรับปรุงพันธุ์โดยวิธีการผสมเทียม ซึ่งใช้น้ำเชื้อแพะพันธุ์แท้ของกรมปศุสัตว์ ในส่วนของการจัดการฟาร์ม เกษตรกรมีการจัดแบ่งโรงเรือนเลี้ยงแพะออกเป็นสัดส่วนตามประเภทของแพะเพื่อให้สะดวกต่อการจัดการฟาร์ม

ด้านการให้อาหารนั้น เกษตรกรจังหวัดลพบุรีถือว่ามีความโชคดีอย่างมาก เนื่องจากพื้นที่ของจังหวัดมีปริมาณของอาหารสัตว์ทั้งที่เกิดจากการปลูกสร้างได้เอง หรือจากการจัดหาได้ในท้องถิ่น ตลอดจนมีโรงงานอุตสาหกรรมเกษตรที่มีผลพลอยได้ทางการเกษตร ซึ่งสามารถนำมาใช้เลี้ยงสัตว์ได้ในปริมาณที่เพียงพอ เกษตรกรเลี้ยงแพะส่วนใหญ่ ใช้วัสดุเหลือใช้ทางการเกษตรมาปรับปรุงคุณภาพร่วมกับใบกระถินซึ่งมีโปรตีนสูงและสามารถหาได้ง่ายในท้องถิ่นใช้เลี้ยงแพะ บางรายมีการปลูกหญ้าเนเปียร์ปากช่อง 1 สำหรับใช้เลี้ยงแพะทั้งในรูปแบบสดและหมักร่วมกับใบกระถิน

ผู้ว่าราชการจังหวัด ให้ข้อมูลว่า เกษตรกรผู้เลี้ยงแพะของจังหวัดลพบุรี ได้ให้ความสำคัญในการพัฒนาคุณภาพแพะให้เหมาะสมกับความต้องการของผู้บริโภค โดยการพัฒนาปรับปรุงฟาร์มให้ปลอดโรค และเป็นฟาร์มที่ได้รับการรับรองมาตรฐาน ซึ่งปัจจุบันจังหวัดลพบุรีมีฟาร์มแพะปลอดโรค ระดับ B จำนวน 7 ฟาร์ม ฟาร์มปลอดโรค ระดับ A จำนวน 15 ฟาร์ม มีฟาร์มแพะมาตรฐาน จำนวน 26 ฟาร์ม

4

ส่วนตลาดจำหน่ายแพะเนื้อส่วนใหญ่เป็นตลาดทั้งในประเทศและต่างประเทศ ตลาดภายในประเทศส่วนใหญ่เป็นตลาดทางภาคใต้ ส่วนตลาดต่างประเทศ ส่วนใหญ่จะส่งไปจำหน่ายเวียดนาม ลาว จีน เป็นต้น ราคาแพะเนื้อเพศผู้ขุนที่เกษตรกรสามารถจำหน่ายได้ในปัจจุบัน กิโลกรัมละ 105-110 บาท ทั้งนี้เกษตรกรต้องเลี้ยงแพะให้ได้น้ำหนัก ตัวละไม่ต่ำกว่า 25 กิโลกรัม แต่ต้องไม่เกิน 42 กิโลกรัม

การรวบรวมแพะให้มีปริมาณเพียงพอกับการที่ผู้รับซื้อจะมาจับในแต่ละครั้งในปัจจุบันไม่เป็นปัญหา เพราะเกษตรกรรวมกลุ่มกันเลี้ยง นำเข้าแพะรุ่นมาขุน ครั้งละ 40-50 ตัว ต่อราย ขุนนานประมาณ 3-4 เดือน เมื่อได้น้ำหนักตามที่ต้องการของตลาด ก็จะแจ้งให้พ่อค้าเข้ามารับซื้อ เกษตรกรเลี้ยงแพะเนื้อโดยเฉลี่ยหากเลี้ยงขุนแพะ ครั้งละ 40-50 ตัว จะมีรายได้สุทธิต่อปี 100,000 บาท

เมื่อถามถึงกลุ่มเกษตรกรที่เลี้ยงแพะนม ผู้ว่าราชการจังหวัดลพบุรี บอกว่า การเลี้ยงแพะนมในจังหวัดลพบุรีถือว่ายังมีปริมาณไม่มากนัก โดยเกษตรกรที่เลี้ยงแพะนมจะรีดนมและส่งจำหน่ายให้กับตลาดรับซื้อในจังหวัดใกล้เคียง หรือบางส่วนรีดนมเพื่อทำกิจกรรมป้อนนมแพะในสวนสัตว์ หรือตามสถานที่จัดงานเทศกาลต่างๆ ของจังหวัด โดยทั่วไปแล้ว เกษตรกรผู้เลี้ยงแพะนมจะประกอบอาชีพการเลี้ยงแพะนมเป็นอาชีพเสริม หากรีดแพะนม จำนวน 20 ตัว จะมีรายได้สุทธิ เดือนละ 8,000 บาท

ทั้งนี้ ข้อจำกัดอย่างหนึ่งของตลาดแพะในปัจจุบันคือ เกษตรกรผู้เลี้ยงแพะและผู้บริโภคส่วนใหญ่ในพื้นที่จังหวัดลพบุรีและจังหวัดใกล้เคียง ไม่มีความนิยมในการบริโภคเนื้อและนมแพะ ซึ่งหากหวังเพียงตลาดภายนอกและไม่มีมาตรการในการสร้างความเข้มแข็งให้กับเกษตรกร อาชีพการเลี้ยงแพะก็อาจไม่ราบรื่นตามเป้าหมายที่วางไว้ อย่างไรก็ตาม การจัดงานแพะเมืองละโว้ ครั้งที่ 1 ที่ผ่านมา ก็ถือว่าได้รับการตอบรับที่ดี และคาดว่าน่าจะช่วยเปิดตลาดแพะได้ทั้งตลาดภายในและตลาดภายนอก เพื่อให้การเลี้ยงแพะของเกษตรกรในจังหวัดลพบุรีมีความเข้มแข็งขึ้น

ด้าน นายสัตวแพทย์จรูญ ชูเกียรติวัฒนา ปศุสัตว์จังหวัดลพบุรี ให้ข้อมูลถึงการจัดการเลี้ยงดูแพะของเกษตรกรในจังหวัดลพบุรี ที่มีการจัดการฟาร์มอย่างเป็นระบบ ทำให้แพะเนื้อมีคุณภาพ เป็นที่ต้องการของตลาดทั้งในและต่างประเทศ ว่าเกษตรกรผู้เลี้ยงแพะส่วนใหญ่ในพื้นที่จังหวัดลพบุรีเลี้ยงแพะเนื้อ พันธุ์ที่เลี้ยงกันมากคือ ลูกผสมแองโกลนูเบียน ซึ่งเป็นแพะลูกผสมระหว่างแพะพันธุ์พื้นเมืองกับพันธุ์แองโกลนูเบียน โดยแพะพันธุ์พื้นเมืองจะมีขนาดเล็ก น้ำหนักเมื่อโตเต็มที่ไม่เกิน 30 กิโลกรัม มีสีต่างๆ กัน เช่น สีน้ำตาลแดง สีดำ หน้าตรง หูตั้ง มีเขาทั้งเพศผู้และเพศเมีย เพศเมียให้ลูกดก มักจะคลอดลูกแฝด เต้านมและหัวนมมีขนาดเล็ก ขาสั้น หากินเก่ง ทนทานต่อสภาพแวดล้อมดี

ส่วนแพะพันธุ์แองโกลนูเบียนเป็นแพะกึ่งเนื้อ กึ่งนม มีถิ่นกำเนิดในทวีปเอเชีย ได้รับการปรับปรุงพันธุ์ในประเทศอังกฤษ มีขนาดใหญ่ มีลักษณะของแพะอินเดีย คือ หูตูบใหญ่ หน้าและจมูกโค้ง มีหลายสี ที่มักพบคือ สีดำ น้ำตาลแดง ทนร้อนได้ดี ให้น้ำนม 2-3 ลิตร ต่อวัน น้ำนมมีไขมันสูงกว่าแพะยุโรป เพศผู้ที่โตเต็มที่มีน้ำหนักประมาณ 76 กิโลกรัม เพศเมียมีน้ำหนักประมาณ 64 กิโลกรัม แพะลูกผสมพันธุ์ดังกล่าวจะได้รับลักษณะที่ดีของแพะพันธุ์แองโกลนูเบียนในด้านขนาด น้ำหนักตัว รวมทั้งมีปริมาณน้ำนมสำหรับเลี้ยงลูกแฝดได้อย่างเพียงพอ แต่ลักษณะในด้านเปอร์เซ็นต์ซาก และอัตราการเจริญเติบโตยังไม่ดีเพียงพอกับความต้องการของผู้เลี้ยงและตลาดผู้บริโภค

7

ปศุสัตว์จังหวัดลพบุรี บอกด้วยว่า เกษตรกรในจังหวัดลพบุรีเริ่มให้ความสำคัญกับการปรับปรุงพันธุ์แพะที่เลี้ยง เพื่อให้เป็นไปตามความต้องการของผู้เลี้ยงและตลาด คือน้ำหนักแรกคลอดสูง อัตราการเจริญเติบโตสูง เปอร์เซ็นต์ซากสูง โดยพันธุ์แพะที่สามารถตอบโจทย์ดังกล่าวได้ คือ แพะพันธุ์บอร์

แพะบอร์ เป็นแพะเนื้อ มีลำตัวสีขาวเป็นพื้น บริเวณหัวและคอมีสีน้ำตาล หน้าโค้ง หูตูบ มีเขา ให้ลูกดก มีขนาดใหญ่ แพะเพศผู้ตอนมีน้ำหนักได้สูงถึง 100 กิโลกรัม เปอร์เซ็นต์ซากประมาณ 45-55 เปอร์เซ็นต์

จังหวัดลพบุรี ได้เห็นความสำคัญดังกล่าว จึงได้อนุมัติให้สำนักงานปศุสัตว์จังหวัดลพบุรี และสำนักงานปศุสัตว์อำเภอโคกเจริญ จัดซื้อแพะพันธุ์บอร์เพื่อนำมาใช้ในการปรับปรุงพันธุ์ฝูงแพะในพื้นที่เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต และให้เป็นไปตามความต้องการของตลาด นอกจากนี้ เกษตรกรยังได้ปรับปรุงพันธุ์แพะดังกล่าวด้วยวิธีการผสมเทียมอีกด้วย อำเภอที่มีแพะบอร์พันธุ์แท้มากที่สุดในขณะนี้คือ อำเภอโคกเจริญ มีจำนวนทั้งสิ้น 68 ตัว แบ่งเป็น เพศผู้ 7 ตัว เพศเมีย 61 ตัว

ส่วนพันธุ์แพะนมนั้น ส่วนใหญ่เป็นพันธุ์ซาแนน ซึ่งเป็นแพะพันธุ์นมในเขตอบอุ่น มีถิ่นกำเนิดอยู่ในประเทศสวิตเซอร์แลนด์ ให้น้ำนมสูง อาจถึง 5 ลิตร ต่อวัน มีสีขาวล้วน หน้าตรง หูตั้ง ขนาดตัวใหญ่ เพศผู้มีน้ำหนักประมาณ 75 กิโลกรัม สูงประมาณ 80-85 เซนติเมตร เพศเมียมีน้ำหนักประมาณ 65 กิโลกรัม สูงประมาณ 74-75 เซนติเมตร มีเต้านมใหญ่ ตัวที่ให้น้ำนมดีที่สุดให้ได้มากถึง 3,506 กิโลกรัม ในระยะการให้น้ำนม 365 วัน มีทั้งพวกที่มีเขาและไม่มีเขา มักมีติ่งที่ใต้คอ โดยอำเภอที่มีแพะพันธุ์นี้คือ อำเภอเมือง และพัฒนานิคม ปริมาณน้ำนมที่รีดได้ต่อวัน ประมาณ 2-3 กิโลกรัม

“แพะที่เลี้ยงสำหรับรีดนมอีกสายพันธุ์หนึ่ง คือ แพะพันธุ์นมในเขตร้อน พันธุ์ชามิ ซึ่งเป็นบรรพบุรุษของแพะนมที่จัดอยู่ในกลุ่มแพะอินเดีย ถิ่นกำเนิดเดิมอยู่ในประเทศซีเรีย เลบานอน และไซปรัส แพร่เข้าไปในอียิปต์และซูดาน ส่วนมากจะไม่มีเขา มีขนยาว หน้าโค้ง หูตูบ มีสีแดงและน้ำตาล น้ำนมที่รีดได้เฉลี่ย 3-4 ลิตร ต่อวัน เพศผู้น้ำหนักตัวประมาณ 60-80 กิโลกรัม เพศเมียน้ำหนักตัวประมาณ 40-60 กิโลกรัม สำหรับแพะพันธุ์นี้ซึ่งเลี้ยงในพื้นที่อำเภอพัฒนานิคม จังหวัดลพบุรี ให้น้ำนมสูงสุด 4-5 ลิตร ต่อวัน”

สำหรับโรงเรือนเลี้ยงแพะในพื้นที่จังหวัดลพบุรี มีทั้งแบบยกพื้นสูง และไม่ยกพื้นสูง มีทั้งแบบที่คงทนถาวรนาน 10-20 ปี และแบบชั่วคราว (เลี้ยงได้ประมาณ 1-2 ปี) ขึ้นอยู่กับทุน วัตถุประสงค์การเลี้ยง สภาพภูมิอากาศ ภูมิประเทศ และอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง

16

อาหารเลี้ยงแพะ จังหวัดลพบุรี มีอาหารหลักสำหรับเลี้ยงแพะคือ อาหารหยาบ ซึ่งได้แก่ ใบกระถิน หญ้า ถั่ว ใบไม้ โดยใบกระถินได้รับความนิยมมากที่สุดสำหรับนำมาใช้เลี้ยงแพะ เพราะต้นทุนต่ำมาก เกษตรกรสามารถตัดกระถินสดได้ทั่วไปในทุกพื้นที่ นอกจากนี้ ยังเลี้ยงเสริมด้วยหญ้าสด หญ้าหมัก และวัตถุดิบอาหารสัตว์ และผลพลอยได้ทางการเกษตร ซึ่งหาซื้อได้ง่ายในพื้นที่จังหวัดลพบุรีและจังหวัดใกล้เคียง

แม้ว่าแพะนมจะมีปริมาณการเลี้ยงน้อย แต่เพื่อต่อยอดให้สินค้าเพิ่มมูลค่าขึ้น ปศุสัตว์จังหวัดลพบุรี บอกด้วยว่า จังหวัดได้ประสานกับวิทยาลัยเกษตรกรรมลพบุรี และมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ สาขาโคกสำโรง ได้แลกเปลี่ยนข้อมูล รวมถึงการระดมนักวิชาการที่ชำนาญการด้านการเลี้ยงแพะมาหารือร่วมกัน เพื่อพัฒนาการแปรรูปนมแพะให้เป็นผลิตภัณฑ์คุณภาพเพิ่มมูลค่าสินค้าให้ตรงตามความต้องการของตลาด

นับว่าเป็นความโชคดีของจังหวัดลพบุรี ที่นอกจากจะมีสภาพภูมิประเทศเหมาะสมในการเลี้ยงแพะแล้ว วัตถุดิบที่ใช้เป็นส่วนประกอบอาหารแพะก็ยังมีมาก และเป็นวัตถุดิบที่หาได้ง่ายในท้องถิ่น จึงมีการส่งเสริมให้ผสมอาหารสัตว์เป็นอาหารสัตว์เข้มข้น TMR โดยมีหญ้าเนเปียร์ปากช่อง 1 เป็นวัตถุดิบหลัก ซึ่งจังหวัดอนุมัติงบประมาณในการจัดซื้อเครื่องผสมอาหารสัตว์มอบให้กับสหกรณ์โคนมพัฒนานิคม อำเภอพัฒนานิคม เพื่อเป็นหน่วยงานในการผลิตหญ้าอาหารสัตว์และรับซื้อหญ้าอาหารสัตว์ โดยมีการลงนามบันทึกข้อตกลงร่วมกัน ระหว่างสหกรณ์โคนมพัฒนานิคม จำกัด โดย คุณพิบูล โพธิ์ศรี ประธานกรรมการสหกรณ์ และ คุณพิชัย เสมอชาติ ตัวแทนสมาชิกสหกรณ์ผู้ปลูกหญ้าอาหารสัตว์ ทั้งนี้ สมาชิกสหกรณ์ที่เข้าร่วมโครงการปลูกหญ้าเนเปียร์ปากช่อง 1 มีจำนวนทั้งสิ้น 30 ราย มีพื้นที่ปลูกทั้งสิ้น 590 ไร่

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image