เกษตรกรกาฬสินธุ์แฮปปี้ ปลูกมะม่วงมหาชนกส่งออก หักแล้วเหลือปีละ 8 แสนกว่า

“ทีมอล” (www.Tmall.com) เป็นเว็บไซต์อีคอมเมิร์ซแบบ B2C (Business to Customer) เป็นตลาดออนไลน์ที่ได้รับความนิยมระดับต้นๆ ของประเทศจีน ซึ่งเป็นเว็บในเครือของอาลีบาบากรุ๊ป และมีผลไม้ไทยไปขายในนั้นด้วย นั่นคือ บริษัท ไทยฟรุ๊ต 1975 จำกัด ผู้ทำธุรกิจซื้อ-ขายผลไม้ไทยส่งออกประเทศจีน ที่มี คุณนพพร สวัสดิ์ธนพิศุทธิ์ นั่งเก้าอี้ประธานกรรมการ บริษัท ไทยฟรุ๊ต 1975 จำกัด โดยร่วมมือกับบริษัท สยามกวางสีเทคโนโลยีการเกษตร จำกัด ประเทศจีน

ยอดขายพุ่งกระฉูด

คุณนพพรเกริ่นให้ฟังว่า เดิมทำธุรกิจเกี่ยวกับอุปกรณ์สินค้าไอทีพวกโทรศัพท์มือถือ แต่เมื่อเห็นช่องทางการทำธุรกิจส่งออกผลไม้ไทยผ่านการขายในออนไลน์ จึงมาเน้นธุรกิจนี้เพราะมองว่าตลาดจีนเป็นตลาดใหญ่และมีความต้องการมาก ซึ่งจากการส่งออกมาเกือบ 2 ปีแล้วผลตอบรับดีมาก โดยในช่วง 3 เดือนแรกที่ขายผ่านช่องทางทีมอล บริษัทมีรายได้อยู่ที่ 50,000-100,000 หยวน และตอนนี้รายได้เฉลี่ยเดือนละ 600,000 หยวน อย่างเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมาขายได้ถึง 700,000 หยวน ถือเป็นการเติบโตแบบก้าวกระโดด ประมาณปีละ 50 เปอร์เซ็นต์ ทำให้ปีที่แล้วบริษัทมีรายได้ถึง 48 ล้านบาท

คุณนพพรเล่าว่า ปัจจุบันบริษัทมีพื้นที่ปลูกผลไม้เพื่อส่งออกประมาณ 3,000 ไร่ อยู่ที่จังหวัดจันทบุรี พิษณุโลก และเชียงใหม่ มีเครือข่ายพื้นที่ปลูกผลไม้อีก 10,000 ไร่ ทั่วทุกภาคของประเทศ พร้อมทั้งมีการทำเอ็มโอยูในการรับซื้อผลไม้จากเกษตรกรอีก 300,000 ไร่ เพื่อนำผลไม้ที่ได้มาตรฐานไปจำหน่ายต่อเนื่องตลอดทั้งปี นอกจากนี้ บริษัทมีโกดังเก็บผลไม้ในจีนอีก 2 แห่งด้วย โดยใช้เวลาขนส่งจากไทยไปจีนแค่ 2-3 วันเท่านั้น

Advertisement

thumbnail_3-คุณนพพร-สวัสดิ์ธนพิศุทธิ์-ประธานกรรมการ-บริษัท-ไทยฟรุ๊ต-1975-จำกัด

“ช่วงไม่กี่ปีมานี้มีกลุ่มพ่อค้าทั้งในและต่างประเทศเข้ามาแย่งซื้อผลไม้จากเกษตรกร เพื่อนำไปจำหน่ายในตลาดจีนมาก โดยเฉพาะทุเรียนและมะม่วง ส่วนใหญ่แข่งขันด้วยการให้ราคาแพงแก่เกษตรกร ส่วนการซื้อผลไม้ของบริษัทก็เข้าไปซื้อล่วงหน้า 1 เดือนแบบเหมาสวนก่อนที่จะมารับสินค้า ซึ่งผลไม้ของบริษัทได้รับเครื่องหมาย GAP เป็นเกษตรปลอดภัย แต่ไม่ใช่ออร์แกนิก ในบรรดาผลไม้จากต่างประเทศ พูดได้ว่าคนจีนชื่นชอบผลไม้ไทยเป็นอันดับ 1”

สำหรับผลไม้ที่ชาวจีนนิยมซื้อคือ มะม่วงน้ำดอกไม้สุกเป็นหลัก รองลงมาคือ ทุเรียน มังคุด และลำไย ตามลำดับ นอกจากนั้น ยังมีผลไม้อื่นๆ ตามฤดูกาล ซึ่งหากผลไม้เกิดความเสียหายทางบริษัทจะมีการบริการเปลี่ยนหรือคืนเงินให้ด้วย โดยจะมีปัญหาผลไม้ที่ต้องส่งคืนแค่ 5-10 เปอร์เซ็นต์เท่านั้น ซึ่งถือว่าไม่มาก ส่วนมากเป็นมะม่วงสุก

Advertisement

คนจีนนิยมซื้อผ่านออนไลน์

ประธานกรรมการ บริษัท ไทยฟรุ๊ต 1975 จำกัด ระบุว่า เทรนด์การซื้อสินค้าออนไลน์ของคนจีนบูมมาก แบ่งเป็นการสั่งผ่านมือถือ 80 เปอร์เซ็นต์ ที่เหลืออีก 20 เปอร์เซ็นต์ สั่งผ่านเครื่องคอมพิวเตอร์ส่วนบุคคล (พีซี) โดยมียอดการสั่งซื้อมากถึง 10,000 ชิ้นต่อวัน และมีลูกค้าใช้บริการผ่านระบบออนไลน์ 150 ล้านคนต่อวัน ในเว็บทีมอลมีคนเข้าดูกว่า 60 ล้านคน คาดว่าจะมีลูกค้าเข้าชมเทศกาลผลไม้ไทยเฉลี่ย 500,000-800,000 คนต่อวัน ซึ่งในส่วนของผลไม้สดนั้น บริษัท ไทยฟรุ๊ต 1975 จำกัด กับบริษัท สยามกวางสีเทคโนโลยีการเกษตร จำกัด อยู่อันดับ 1 ใน 5 ของตลาดออนไลน์ประเทศจีน โดยเป็นบริษัทคนไทยรายแรกที่มีการจำหน่ายผลไม้ผ่านตลาดออนไลน์ในทีมอล

อย่างไรก็ตาม ปัญหาภูมิอากาศปีนี้ค่อนข้างแล้ง ทำให้บริษัทตั้งเป้ารักษายอดเดิมไว้ก่อนจนถึงสิ้นปี เพราะสินค้ามีน้อยทำให้ต้นทุนค่อนข้างสูง แต่ดีที่ว่าการขายออนไลน์ต้นทุนจะถูกกว่าประมาณ 5-10 เปอร์เซ็นต์ เนื่องจากไม่มีหน้าร้าน แค่ต้องระวังเรื่องการจัดส่งสินค้า ไม่ให้มีปัญหา เพราะการขายในออนไลน์แบบนี้ลูกค้าสามารถเคลมได้ลูกต่อลูก ไม่เหมือนกับการขายในซุปเปอร์มาร์เก็ตทั่วไป

เมื่อถามว่า ในอนาคตกลัวจะมีคู่แข่งไหม คุณนพพรแจงว่า การที่จะเข้าไปขายในทีมอลได้จะต้องเป็นบริษัทที่จดทะเบียนในจีนเท่านั้น และการค้าขายออนไลน์จะต้องมีกระบวนการ นั่นคือมีสินค้าและมีคนทำตลาด ในขณะที่ผลไม้ไทยก็มีจำนวนจำกัด หากเข้ามาทำธุรกิจในตอนนี้จะเหนื่อย เพราะบริษัททำมาก่อนเป็นเจ้าแรก และยังไม่คิดที่จะนำผลไม้ไทยไปขายออนไลน์ในประเทศอื่นๆ อีก เพราะแค่ประเทศจีนตลาดก็ใหญ่มาก

IMG_5173-728x546

ส่วนเรื่องกระแสผลไม้ออร์แกนิกนั้น คุณนพพรระบุว่า เริ่มมีความต้องการบ้างแต่ยังไม่มากนัก ซึ่งเมื่อปริมาณยังน้อยอยู่ก็ไม่คุ้มกับค่าขนส่ง

ปีนี้เจอภัยแล้ง กำไรลดลง

ทีนี้มาฟังเสียงเกษตรกรตัวจริงกันบ้าง “คุณวาสนา กุลชนะรงค์” สมาชิกโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ตำบลหนองหิน อำเภอหนองกุงศรี จังหวัดกาฬสินธุ์ เล่าว่า ในพื้นที่ตำบลหนองหินมีเกษตรกรปลูกมะม่วงมหาชนกกว่าพันไร่ ตนเองมีพื้นที่ปลูกมะม่วงมหาชนก 20 ไร่ ในปีนี้ผลผลิตออกไม่เยอะเพราะแล้งจัด โดยส่งขายโรงงานแปรรูปผลไม้ที่จังหวัดจันทบุรี 120 ตัน ขายได้ตันละ 26,000 บาท ขนาดไซซ์ใหญ่ ส่วนอีก 60 ตัน ส่งบริษัท ไทยฟรุ๊ต 1975 จำกัด ขายได้ตันละ 23,000 บาท ไซซ์เล็กกว่า ปีนี้รายได้จึงน้อยกว่าปีที่แล้ว

เกษตรกรหญิงรายนี้บอกอีกว่า หลังจากเก็บมะม่วงแล้ว ช่วงนี้จะใส่ปุ๋ยและจะตกแต่งกิ่ง นอกจากนี้ ในช่วงระยะแตกใบอ่อนก็ฉีดฮอร์โมนและให้อาหารเสริมทางใบ ซึ่งการปลูกมะม่วงมหาชนกไม่ต้องดูแลมาก และเมื่อออกลูกก็ไม่ต้องห่อ ไม่เหมือนมะม่วงน้ำดอกไม้ที่ต้องห่อลูก

“การปลูกมะม่วงมหาชนกส่งโรงงานและบริษัทส่งออกดีมาก เพราะสามารถรับซื้อได้จำนวนเยอะ และส่งออกได้มาก เพราะมะม่วงชนิดนี้เปลือกหนา ส่งออกเสียหายน้อย รสชาติดี อมเปรี้ยวหวาน ไม่หวานจัดเหมือนมะม่วงน้ำดอกไม้ ทุกวันนี้เกษตรกรที่หนองหินมีฐานะความเป็นอยู่ดีขึ้นเพราะปลูกมะม่วงมหาชนกกัน ซึ่งแต่ละปีเกษตรกรต่างก็เพิ่มพื้นที่ปลูกมากขึ้นเรื่อยๆ เพราะทางโรงงานยังต้องการอีกเยอะ”

ด้าน “คุณรอง จิตจักร” เกษตรกรจากตำบลหนองหินอีกราย ซึ่งเป็นเครือข่ายที่ส่งมะม่วงให้กับบริษัท ไทยฟรุ๊ต 1975 จำกัด ให้ข้อมูลว่า มีที่ดิน 22 ไร่ แบ่งเป็นปลูกมันสำปะหลังกับอ้อยส่วนหนึ่ง และปลูกมะม่วงมหาชนกมา 8 ปีแล้ว โดยส่งให้บริษัทนี้เป็นปีแรก ผลผลิตเพิ่งหมดไป ปีนี้เก็บได้ 22 ตัน เพราะเจอปัญหาฝนแล้ง ขายได้ตันละ 18,000 บาท แล้วแต่ขนาด ถ้าเป็นลูกเล็ก กิโลกรัมละ 18 บาท ขนาดกลาง กิโลกรัมละ 25 บาท ส่วนลูกใหญ่ กิโลกรัมละ 45 บาท รวมแล้วปีนี้ขายได้กำไร 500,000 กว่าบาท ส่วนปีที่แล้วเก็บได้ 82 ตัน ขายแล้วหักค่าใช้จ่ายเหลือ 800,000 กว่าบาท

“การปลูกมะม่วงมหาชนกยาก เพราะต้องใส่ปุ๋ยและฉีดยารักษาโรคแมลงและโรคพืช โดยจะใช้ยาฆ่าแมลงตอนมะม่วงกำลังออกดอก พอตอนออกลูกเล็กช่วงเดือนครึ่งต้องให้ปุ๋ย”

เชื่อว่าอีกหน่อยเกษตรกรในหลายพื้นที่คงหันมาปลูกมะม่วงมหาชนกกันเป็นแถว เพราะนอกจากรายได้ดีแล้ว ยังมีตลาดรองรับอีกด้วย

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image