ที่มา | นิตยสารเทคโนโลยีชาวบ้าน |
---|
เมื่อวันที่ 18 กันยายน 2556 กรมทรัพย์สินทางปัญญา ได้ประกาศรับขึ้นทะเบียน “สับปะรดห้วยมุ่น” เป็นสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ โดยระบุว่า สับปะรดห้วยมุ่น หมายถึงสับปะรดพันธุ์ปัตตาเวีย ที่มีผิวบาง ตาตื้น เนื้อหนานิ่ม สีเหมือนน้ำผึ้ง รสชาติหวานหอม ฉ่ำน้ำ ไม่ระคายลิ้น ซึ่งปลูกในเขตพื้นที่ตำบลห้วยมุ่นและตำบลน้ำไผ่ ของอำเภอน้ำปาด จังหวัดอุตรดิตถ์
ช่วงเก็บเกี่ยวในฤดูตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน-มกราคม และกลางเดือนเมษายน-กรกฎาคม ช่วงเก็บเกี่ยวนอกฤดู ตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์-เมษายน และสิงหาคม-ตุลาคม ปัจจุบันมีกลุ่มผู้ปลูกสับปะรดห้วยมุ่นจังหวัดอุตรดิตถ์ 482 ราย
ระยะทางจากตัวจังหวัดอุตรดิตถ์ถึงตำบลห้วยมุ่น อำเภอน้ำปาด เกือบ 100 กิโลเมตร ถือว่าไม่มากนัก แต่ระยะเวลาที่ใช้ในการเดินทางทวีคูณเป็นสองเท่า เพราะเส้นทางเป็นเขาชัน คดเคี้ยว แต่ผู้คนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่มานมนานกลับคุ้นชิน และมองว่าไม่ใช่ความลำบากหากต้องเดินทาง
คุณบันแล มาดีคาน และคุณรัตนาพรรณ มาดีคาน สองสามีภรรยา ชาวตำบลห้วยมุ่น เจ้าของแปลงสับปะรดห้วยมุ่น พื้นที่ 20 ไร่ เกิดและเติบโตในพื้นที่ มองเห็นความเปลี่ยนแปลงของพืชในท้องถิ่น ชี้ให้เห็นว่าก่อนหน้าพื้นที่ห้วยมุ่นจะเต็มไปด้วยแปลงสับปะรด คงเป็นพืชไร่เช่นเดียวกับตำบลและอำเภออื่นในจังหวัดอุตรดิตถ์ มีสับปะรดปลูกในกระถางและรอบบริเวณบ้านของคุณรัตนาพรรณ ให้ผลไว้รับประทาน โดยไม่ทราบว่าสับปะรดชนิดนี้เป็นพันธุ์อะไร
คุณรัตนาพรรณ ลองนำสับปะรดที่ปลูกอยู่ข้างบ้าน ขยายหน่อมาลงปลูก 2 ไร่ หวังว่าจะเป็นช่องทางหนึ่งของพืชที่ปลูกขายอยู่ขณะนั้น เมื่อมีแม่ค้ามารับซื้อผลไม้ก็ขายให้ เพราะยังไม่รู้จักตลาด ซึ่งเป็นโอกาสดี เพราะสับปะรดที่ขายในครั้งนั้น ทำให้แม่ค้าสนใจหวนกลับมาซื้ออีก ด้วยเหตุผลว่า ลูกค้าติดใจในรสชาติของสับปะรด
จาก 2 ไร่ ค่อยๆ ขยายจนเต็มพื้นที่ 20 ไร่ในปัจจุบัน เพียงแค่จุดเริ่มต้นจากรสชาติของสับปะรดที่ถูกปากคนพื้นราบ จนเรียกกันติดปากว่า “สับปะรดห้วยมุ่น”
แม้จะคาดเดากันว่าสับปะรดห้วยมุ่น แท้จริงคือสับปะรดพันธุ์ปัตตาเวีย แต่ก็มีความแตกต่างในตัวของสับปะรดเองสูง ซึ่งเกิดจากสภาพดินปนทราย สภาพอากาศที่ร้อนในเวลากลางวัน และมีความชื้นในตอนกลางคืน โดยเฉพาะช่วงเช้าที่มีหมอก ส่งผลให้เกิดน้ำค้างในตอนเช้ามืด ยิ่งฤดูแล้งยิ่งหมอกและน้ำค้างมาก
คุณรัตนาพรรณ บอกว่า ความพิเศษของสับปะรดห้วยมุ่น อยู่ที่ความหวาน หอม ฉ่ำน้ำ ไม่ระคายลิ้น ผิวบาง และแม้ว่าจะนำตอสับปะรดไปปลูกยังพื้นที่อื่นที่อยู่ใกล้เคียง ตำบลที่ห่างกันเพียง 8-9 กิโลเมตร รสชาติของสับปะรดก็เปลี่ยน ไม่ได้มีรสชาติเหมาะสมที่จะเรียกว่า สับปะรดห้วยมุ่น แต่เมื่อชาวบ้านรู้ว่าตลาดต้องการสับปะรดห้วยมุ่นสูง ก็ทำให้ชาวบ้านในละแวกใกล้เคียงทยอยกันปรับแปลงจากพืชไร่ให้เป็นสับปะรดห้วยมุ่นเกือบทั้งหมด และถือเป็นเรื่องดีที่มีพ่อค้าแม่ค้า ขึ้นมารับซื้อถึงแปลงและราคาสับปะรดที่ซื้อขายก็เป็นราคาที่ช่วยให้เกษตรกรอยู่ได้
“แต่ละแปลงขนาด 1 ไร่ ลงหน่อสับปะรดได้ 7,000 หน่อ ระยะห่างระหว่างแถว 75 เซนติเมตร ระยะห่างระหว่างต้น 25 เซนติเมตร หลังลงปลูกประมาณ 2 เดือน ใส่ปุ๋ยสูตร 15-15-15 จากนั้น 1 เดือน ใส่ปุ๋ยสูตร 14-0-20 ตามด้วยการให้ปุ่ยทางใบ และไม่ต้องรดน้ำ”
คุณรัตนาพรรณ เผยเทคนิคการดูแลสับปะรดให้ได้ผลผลิตที่ดี มีน้ำหนักตามที่ตลาดต้องการ ซึ่งต้องเอาใจใส่ให้ผลได้ขนาด โดยน้ำหนักที่ตลาดต้องการอยู่ที่ 2,500 กรัม หรือไม่น้อยกว่า 1,500 กรัม จึงถือว่าไม่ตกเกรด แต่ก็ไม่ถูกคัดทิ้ง เพียงแต่ขายได้ในราคาที่ต่ำกว่าราคารับซื้อทั่วไป
ในแต่ละปี สับปะรดจะติดผลครั้งเดียว เก็บขายได้ครั้งเดียว รอครั้งต่อไปในทุกๆ 4 เดือน ก็ให้ผล สามารถเก็บขายได้อีก ในแต่ละครั้งของการปลูก จะสามารถเก็บผลผลิตได้อย่างน้อย 4 ครั้ง ขึ้นกับเกษตรกรเองว่าจะปล่อยให้สับปะรดให้ผลผลิตกี่รอบ สำหรับคุณมาแล และ คุณรัตนาพรรณ เก็บผลผลิตเพียง 4 รอบเท่านั้น เพราะเห็นว่า ผลผลิตครั้งต่อไปจะให้ผลที่ไม่สมบูรณ์หรือมีขนาดเล็ก ไม่เป็นที่ต้องการของตลาด ยกเว้นเกษตรกรบางแปลงที่ต้องการเร่งให้สับปะรดให้ผลผลิตเร็วเก็บขายก่อน ก็จะใช้ฮอร์โมนหยอดยอดสับปะรด เมื่อสับปะรดมีอายุ 6 เดือนหลังลงปลูก เพื่อเร่งให้ติดผล แต่ข้อเสียของการใช้ฮอร์โมนหยอดเร่งให้ติดผลเร็ว คือ ต้นโทรม ส่งผลให้ต้นให้ผลผลิตได้น้อยและผลไม่สมบูรณ์ ซึ่งแต่ละครั้งของการเก็บผลผลิตขาย ส่งจำหน่ายอยู่ที่ประมาณ 120 ตัน
สับปะรดจะมีปัญหาเรื่องวัชพืชบ้าง เมื่อยังไม่เจริญเติบโตเต็มที่ จำเป็นต้องใช้ยากำจัดวัชพืช ข้อควรระวังหากสับปะรดให้ดอก ควรงดพ่นยากำจัดวัชพืช เพราะจะทำให้ผลสับปะรดที่ออกมาแคระแกร็น
โรคและแมลง มีในพืชทุกชนิด แต่สำหรับสับปะรดห้วยมุ่นจากแปลงของคุณบันแล และ คุณรัตนาพรรณ ยังไม่ประสบปัญหาโรคและแมลงในสับปะรด เพราะมั่นใจในต้นพันธุ์ที่มีคุณภาพ
ต้นพันธุ์ที่มีคุณภาพ ไม่ได้นำมาจากไหน เป็นต้นพันธุ์ที่อยู่ในแปลงสับปะรดของตนเอง โดยการเลือกหน่อที่ยังไม่ให้ผล สังเกตดูหน่อที่ขนาดพอเหมาะ ไม่ใหญ่เกินไป ไม่เล็กเกินไป เมื่อสับปะรดให้ผลผลิตรุ่นแรก จะมีหน่อแตกออกมา ให้แยกหน่อนั้นเก็บไว้เป็นต้นพันธุ์ ซึ่งการเก็บต้นพันธุ์เองช่วยให้ลดต้นทุนเรื่องของต้นพันธุ์ลงไปได้มาก
การจำหน่ายให้กับพ่อค้าและแม่ค้าที่ตระเวนรับซื้อสับปะรด ได้ราคาเฉลี่ยกิโลกรัมละ 9-14 บาท แม้ว่าสับปะรดจะเป็นพืชที่ลงปลูกฤดูไหนก็ได้ แต่หากต้องการให้ได้ผลดี ควรเลือกลงปลูกในฤดูแล้ง เพราะจะไม่ประสบปัญหาโรคเน่าแน่นอน
ต้องการศึกษาการปลูกสับปะรดห้วยมุ่นจากเกษตรกรต้นตำรับ ติดต่อได้ที่ คุณบันแล มาดีคาน และคุณรัตนาพรรณ มาดีคาน โทรศัพท์ 081-7403954