เปลี่ยนวิถี!!จากเกษตรกรปลูกอ้อยส่งโรงงาน สู่การปลูกขายท่อนพันธุ์ ได้ราคาดีกว่าเท่าตัว

ตัวอย่างเกษตรกรที่เลือกใช้อ้อยสายพันธุ์ที่ดีและเหมาะสมกับพื้นที่ นอกจากให้ผลผลิตที่ดี สร้างรายได้คุ้มค่ากับทุนและแรงที่ลงไปแล้ว สายพันธุ์ที่ดีก็ยังเป็นที่ต้องการของเกษตรกรอีกด้วย อย่างคุณสรวิชญ์ ศรีพิมานวัฒน บ้านเลขที่ 381 หมู่ 13 ตำบลรางหวาย อำเภอพนมทวน จ.กาญจนบุรี (โทร 08-1858-9961) จากที่ทำไร่อ้อยส่งโรงงานน้ำตาลมานานปี ได้เปลี่ยนวิถีมาเป็นปลูกอ้อยเพื่อจำหน่ายพันธุ์ ซึ่งมีราคาแพงกว่า ทำให้สามารถสร้างรายได้ให้มากกว่าเดิมกว่าเท่าตัวเลยทีเดียว

“ก่อนหน้านี้ปลูกอ้อยส่งให้โรงงานเหมือนเกษตรกรทั่วไป แต่ทว่าประสบปัญหาเรื่องของผลผลิตตกต่ำ ทั้งเปอร์เซ็นต์ความหวานไม่ได้ตามที่โรงงานต้องการ ตลอดจนบางช่วงมีปัญหาทั้งโรคและแมลงรบกวนด้วย จึงได้เสาะหาอ้อยสายพันธุ์ใหม่ๆ ที่ให้ผลผลิตดีมาปลูกทดแทนพันธุ์เดิม ก็ทำให้มีโอกาสรู้จักกับอ้อยพันธุ์อู่ทอง 12 ของศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรสุพรรณบุรี จึงได้นำมาทดลองปลูก”

คุณสรวิชญ์บอกว่า เริ่มนำอ้อยพันธุ์อู่ทอง 12 มาปลูกเมื่อประมาณ 7 ปีที่แล้ว ครั้งแรกได้ท่อนพันธุ์มาปลูกเพียง 1 งานเท่านั้น แต่ด้วยเป็นพันธุ์ที่ให้ผลผลิตที่ดี จึงขยายท่อนพันธุ์ได้อย่างรวดเร็ว กระทั่งปัจจุบันในแปลงปลูกขนาดกว่า 80 ไร่ ได้ใช้อ้อยพันธุ์อู่ทอง 12 ทั้งหมด จากนั้นก็ได้เปลี่ยนจากจำหน่ายอ้อยให้โรงงานน้ำตาล มาเป็นการจำหน่ายท่อนพันธุ์ให้เกษตรกร เนื่องจากให้ผลตอบแทนที่ดีกว่านั่นเอง

“อ้อยพันธุ์อู่ทอง 12 ปลูกที่ระยะห่าง 1.8 เมตร พื้นที่ 1 ไร่ ได้ผลผลิตตอแรกประมาณ 15 ตัน แต่ตอที่ 2 ขึ้นไป ซึ่งอ้อยมีขนาดลำใหญ่และสูงกว่าเดิม รวมทั้งแตกกอกันแน่นมากขึ้น ทำให้ได้ผลผลิตไม่ต่ำกว่า 25 ตัน/ไร่ หลังจากนั้นผลผลิตที่ได้จะค่อยๆ ลดลง แต่ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับการดูแลและสภาพของดินด้วย หากดูแลดีก็สามารถปล่อยไว้ได้หลายตอ หากเห็นว่าผลผลิตลดลงจนไม่คุ้มค่า ก็รื้อเพื่อปลูกตอให้อีกครั้ง”

Advertisement

การปลูกอ้อยเพื่อจำหน่ายพันธุ์ก็มีวิธีการแบบเดียวกันกับการปลูกเพื่อจำหน่ายให้กับโรงงานน้ำตาล เริ่มตั้งแต่การเตรียมดิน เตรียมท่อนพันธุ์ที่นำมาปลูก ซึ่งท่อนพันธุ์ที่นำมาควรมี 3 ข้อ ในหนึ่งไร่ใช้ท่อนพันธุ์ประมาณ 1 ตัน แต่การปลูกเพื่อจำหน่ายพันธุ์ต้องพิถีพิถันมากกว่าหน่อย กล่าวคือต้องคอยดูแลเอาใจใส่อย่างใกล้ชิด เมื่อเห็นความผิดปกติ อย่างเช่น ใบมีสีซีด หยิกงอ หรือเกิดรอยโรคต่างๆ ต้องเร่งหาสาเหตุเพื่อแก้ไขทันที เพราะหากเป็นโรคที่สำคัญก็จะจำหน่ายเป็นสายพันธุ์ไม่ได้

และความแตกต่างอีกอย่างหนึ่งระหว่างปลูกอ้อยส่งโรงงานกับการปลูกอ้อยเพื่อจำหน่ายเป็นท่อนพันธุ์ ก็คือ ระยะเวลาการปลูก ซึ่งอ้อยโรงงานต้องใช้เวลาปลูกนานถึง 1 ปี ถึงส่งจำหน่ายได้ แต่สำหรับอ้อยที่ปลูกเพื่อจำหน่ายเป็นท่อนพันธุ์ สามารถใช้ได้ตั้งแต่ต้นมีขนาดเล็ก 2-3 เดือนก็จำหน่ายได้แล้ว กล่าวคือหากมีข้อมีตาก็นำไปทำเป็นท่อนพันธุ์ได้หมด ทว่าให้ผลผลิตได้น้อย ถ้าให้ดีอ้อยที่นำมาใช้ทำพันธุ์ควรมีอายุประมาณ 6 เดือน ทำให้ได้ผลผลิตสูงที่สุด

“ถ้าให้เปรียบเทียบระหว่างอ้อยโรงงานกับอ้อยที่ปลูกทำพันธุ์ อ้อยโรงงานปลูกเพื่อเอาต้นเพียงอย่างเดียว ซึ่งการจัดการดูแลต้องเน้นให้อ้อยเจริญเติบโตเป็นหลัก ส่วนปัจจัยอื่นๆ ไม่จำเป็นต้องพิถีพิถันมากนัก ขณะที่อ้อยที่ใช้ทำพันธุ์ ลำต้นต้องสวยงาม มีลักษณะที่ดี ไม่มีรอยโรคหรือแมลงเจาะทำลาย ดังนั้นจึงต้องดูแลอย่างใกล้ชิด รวมทั้งต้องมีการตรวจสอบท่อนพันธุ์ในห้องปฏิบัติการเพื่อหาเชื้อโรคที่แฝงอยู่ด้วย หากมีโรคก็นำไปทำเป็นท่อนพันธุ์ไม่ได้ ทำให้ต้นทุนการปลูกอ้อยเพื่อทำพันธุ์จึงสูงกว่าอ้อยที่ส่งโรงงาน”

Advertisement

คุณสรวิชญ์บอกว่า แต่สิ่งที่น่าสนใจสำหรับการปลูกอ้อยเพื่อจำหน่ายเป็นท่อนพันธุ์ก็คือราคาที่สูงกว่าอ้อยโรงงาน ซึ่งหากเกษตรกรที่มาซื้อ โดยดำเนินการตัดและขนส่งเอง ราคาอยู่ที่ 16,000-18,000 บาท/ไร่ แต่ถ้าเกษตรกรที่อยู่ไกลๆ อย่างในภาคอีสาน หากมาตัดก็อาจไม่คุ้มกับค่าแรงและการเดินทางขนส่ง เกษตรกรจึงนิยมให้ทางไร่ดำเนินการตัดไว้ให้ ซึ่งท่อนพันธุ์ลักษณะนี้มีราคาจำหน่ายอยู่ที่ตันละ 1,800-2,000 บาท นับเป็นราคาที่น่าสนใจไม่น้อยเลยทีเดียว…

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image