บ้านคลองโยง“ต้นแบบเกษตรอินทรีย์ชานกรุง”ลด ละ เลิก สารเคมี ปลูกพืช-เลี้ยงสัตว์ ส่งออกมาตรฐาน IFOAM

วิสาหกิจชุมชนเกษตรอินทรีย์คลองโยง เป็นกลุ่มผู้ผลิตพืชผักอินทรีย์ ตั้งอยู่ที่หมู่๑ ตำบลคลองโยง อำเภอพุทธมณฑล จังหวัดนครปฐม ก่อตั้งเมื่อปี ๒๕๕๘ โดยการรวมตัวของสมาชิกที่มีความสนใจในการทำเกษตรอินทรีย์ เหตุผลที่ทำให้เกษตรกรกลุ่มนี้หันมาปรับเปลี่ยนทำเกษตรแบบใช้สารเคมีมาเป็นสารอินทรีย์ชีวภาพ เนื่องจากในอดีตพื้นที่แห่งนี้มีการใช้สารเคมีอย่างต่อเนื่องทำให้ต้นทุนการผลิตสูง ส่งผลเสียต่อสุขภาพและสิ่งแวดล้อม ประกอบกับหน่วยงานภาครัฐ

DSC06993

คุณอุษา อุตสาหกุล ผู้อำนวยการสถานีพัฒนาที่ดินนครปฐม กรมพัฒนาที่ดิน กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวว่า กลุ่มวิสาหกิจชุมพรเกษตรอินทรีย์คลองโยง นับเป็นกลุ่มผู้ผลิตผักอินทรีย์กลุ่มหนึ่งในจังหวัดนครปฐมที่มีความเข้มแข็ง จัดเป็นกลุ่มแรกๆ ที่ขานรับนโยบายของภาครัฐในเรื่องของการลด ละ เลิก การใช้สารเคมี ทำให้ปัจจุบันกลุ่มดังกล่าวเข้าสู่ระบบการทำเกษตรอินทรีย์อย่างมั่นคง สามารถผลิตพืชผักอินทรีย์ป้อนสู่ตลาดสินค้าเกษตรอินทรีย์ในจังหวัดเสมอมา โดยไม่มีปัญหาเรื่องของสารตกค้างรวมถึงปัญหาอื่นๆ เนื่องจากระยะเวลาในการทำเกษตรในรูปแบบอินทรีย์ของกลุ่มนี้มีระยะเวลาดำเนินการมาร่วม 10 ปี จึงทำให้การปนเปื้อนในดิน และสารเคมีตกค้างในดินและพืชผักหมดไปโดยสิ้นเชิงประกอบกับปัจจุบันกลุ่มดังกล่าวมีสมาชิกที่ผ่านการรับรองมาตรฐานการระบบเกษตรอินทรีย์ IFOAM จากสำนักงานมาตรฐานเกษตรอินทรีย์แล้วบางส่วน จึงสามารถส่งออกพืชผักบางชนิดไปยังตลาดต่างประเทศได้ อาทิ การส่งผักชีไปประเทศไต้หวัน ในขณะที่สมาชิกที่เหลือกำลังอยู่ในช่วงของการขอรับรองมาตรฐานระบบเกษตรอินทรีย์ IFOAM

DSC06995

Advertisement

DSC07025

“ในด้านการส่งเสริมด้านการตลาดของพืชผักอินทรีย์นั้น ปัจจุบันสินค้าของกลุ่มฯ จะส่งไปยังตลาดคนรักสุขภาพเป็นส่วนใหญ่ ได้แก่ ตลาดสุขใจ ตลาดในมหาวิทยาลัยมหิดล และมหาวิทยาลัยศิลปกร นอกจากนี้ในปี 2560 รัฐบาลยังมีนโยบายให้โรงพยาบาลสนับสนุนผลผลิตสินค้าเกษตรอินทรีย์ของกลุ่มเกษตรกรทุกกลุ่ม โดยนำร่องในจังหวัดนครปฐมเป็นจังหวัดแรก ซึ่งคาดว่าการทำตลาดของสินค้าเกษตรอินทรีย์น่าจะขยายออกไปเป็นวงกว้างมากขึ้น พร้อมทั้งกระตุ้นให้ผู้บริโภคตระหนักถึงการบริโภคผักปลอดภัยมากยิ่งขึ้น แต่แม้ว่าช่องทางการตลาดจะมากขึ้นแต่การส่งเสริมก็จะไม่เน้นการขยายพื้นที่ในกลุ่มผู้ผลผลิตเดิม ทั้งนี้ก็เพื่อรักษามาตรฐานการผลิตให้คงไว้ภายใต้การทำเกษตรประณีตแบบพอเพียง”

DSC07024

ทั้งนี้ในส่วนของกรมพัฒนาที่ดิน นอกจากเข้ามาดำเนินงานด้านการให้ความรู้เรื่องการผลิต การปรับปรุงบำรุงดิน การตรวจวิเคราะห์ดินแล้ว กรมฯ ยังได้เข้ามาดูและประสานงานเกี่ยวกับการอำนวยความสะดวกเรื่องของเอกสารขอรับการตรวจรับรองจากหน่วยงานราชการอื่นๆ อาทิ กรมวิชาการเกษตร กรมการข้าว และหน่วยงานรับรองมาตรฐานเกษตรอินทรีย์ต่างๆ อีกด้วย

DSC07020

คุณไพบูลย์ สวัสดีจุ้ย ประธานกลุ่มวิสาหกิจชุมชนเกษตรอินทรีย์บ้านคลองโยง  กล่าวว่า กลุ่มฯ มีสมาชิกอยู่ 12 ราย มีวัตถุประสงค์ในการก่อตั้งกลุ่มมาจากความสนใจการทำเกษตรอินทรีย์ และต้องการดูแลสุขภาพ เนื่องจากในอดีตที่ผ่านมาการทำเกษตรโดยใช้ผลิตภัณฑ์ทางเคมีนั้นส่งผลเสียต่อดิน ทำให้ต้นสูง ผลผลิตน้อย คุณภาพต่ำลง และเกษตรกรมีสุขภาพที่ไม่ดีเพราะต้องปนเปื้อนอยู่กับสารเคมี

DSC07013

DSC06992

“ปลูกพืช ต้องเริ่มจากบำรุงดินซึ่งเป็นส่วนสำคัญ โดยเราใช้น้ำหมักชีวภาพทำจากเศษปลาผสมกับเศษผักผลไม้ในแปลง น้ำตาลทรายแดงแบบบออร์แกนิคและสารเร่งซุปเปอร์พด.๒ น้ำหมักที่ได้จะนำไปคลุกเคล้ากับปุ๋ยหมัก แล้วนำไปใส่ปุ๋ยให้กับพืช ดินร่วนซุยมากขึ้น พืชเจริญเติบโตได้ดี ในเรื่องโรคและแมลงจะใช้สมุนไพรพื้นบ้านที่ปลูกในแปลงเกษตรอินทรีย์ของสมาชิกในกลุ่ม อาทิ พริก ข่า ตะไคร้ ใบมะกรูด นำมาหมักด้วยสารเร่งซุปเปอร์พด.๗ เป็นสมันไพรไล่แมลง”

DSC07018

DSC07017

นอกจากนี้ยังมีการปรับปรุงบำรุงดินที่เน้นการใช้พืชตระกูลถั่วหว่านคลุมดินเพื่อเป็นปุ๋ยพืชสด พร้อมทั้งปลูกพืชสมุนไพรที่ช่วยกันแมลงไว้ในแปลงปลูก ซึ่งสามารถเก็บขายสร้างรายได้หลักจากเก็บเกี่ยวผลผลิตผักอีกทางหนึ่ง โดยก่อนปลูกเกษตรกรจะเก็บตัวอย่างดินไปวิเคราะห์ปริมาณธาตุอาหาร และปรับปรุงโครงการสร้างดินด้วยปุ๋ยคอกที่ได้จากมูลสัตว์ รวมทั้งทำปุ๋ยหมักไว้ใช้เองด้วยการนำเศษใบไม้ในพื้นที่ผสมกับแกลบเผา รำข้าวและมูลสัตว์มาหมักกับสารเร่งซุปเปอร์ พด.1  ส่วนน้ำหมักก็จะใช้เศษปลา เศษผักหมักกับน้ำตาลทรายแดงกับสารเร่งซุปเปอร์ พด.2 ไว้ฉีดเพื่อสร้างความร่วนซุยให้พืช

DSC07015

“จากการทำเกษตรในระบบอินทรีย์ โดยไม่ใช้สารเคมีเลยนั้นทำให้กลุ่มสามารถผลิตพืชผักปลอดภัยส่งต่อให้กับผู้บริโภค โดยไม่ทำลายทั้งผู้ผลิต ผู้บริโภค และสิ่งแวดล้อม ขายได้ราคาดีโดยไม่ต้องกังวลกับความผันผวนในเรื่องของราคา อีกทั้งผักบางชนิดยังสามารถทำตลาดส่งออกไปยังต่างประเทศได้อีกด้วย อย่างเช่น ผักชีฝรั่งที่ในขณะนี้มีเกษตรกรที่เป็นสมาชิกที่ผ่านการตรวจรับรองมาตรฐานระบบเกษตรอินทรีย์ IFOAM จากสำนักงานมาตรฐานเกษตรอินทรีย์ ซึ่งเป็นมาตรฐานการทำเกษตรอินทรีย์ระดับสากลนั้นสามารถส่งผักชีฝรั่งไปขายยังตลาดต่างประเทศสร้างรายได้เข้าประเทศ และคาดว่าในอนาคตจะมีผักชนิดอื่นๆ สามารถส่งขายไปยังต่างประเทศได้เพิ่มขึ้นอีก” นายไพบูลย์ กล่าว

DSC07034

ด้านคุณสมทรง ม่วงพารา เลขานุการและสมาชิกกลุ่ม เป็นอีกหนึ่งที่มีความตั้งใจและมุ่งมั่นในการทำเกษตรอินทรีย์ แปลงพืชผักเกษตรอินทรีย์ของคุณสมทรงจะทำอย่างประณีต มีการขุดร่องล้อมรอบแปลงเพื่อกักน้ำและเพื่อป้องกันน้ำที่ปนเปื้อนสารเคมี รูปแบบแปลงจะวางแนวไปตามตะวัน เนื่องจากพืชใช้แสงแดดปรุงอาหารและช่วยฆ่าเชื้อโรค ใช้พืชตระกูลถั่วมาหว่านคลุมดินเพื่อเป็นปุ๋ยพืชสดปรับปรุงดิน

DSC07031

“รอบแปลงจะมีการปลูกพืชสมุนไพรที่ช่วยกันแมลง เช่น พริก ข่า ตะไคร้ กะเพรา โหระพา เป็นต้น แปลงจะมีการยกร่องเพื่อปลูกพืชผัก โดยก่อนปลูกได้เก็บตัวอย่างดินนำไปวิเคราะห์ปริมาณธาตุอาหารที่อยู่ในดิน และปรับปรุงโครงสร้างดินด้วยปุ๋ยคอกที่ได้จากมูลสัตว์ เช่น มูลวัวโดยจะต้องเป็นวัวที่กินพืชตามธรรมชาติ มีการผลิตปุ๋ยอินทรีย์ใช้เองในกลุ่มตามหลักมาตรฐานที่กำหนด

DSC07014

ส่วนเมล็ดพันธุ์ผักที่นำมาปลูกต้องนำไปล้างน้ำที่มีความร้อน ประมาณ 50-55 องศาเซลเซียส นาน 30 นาที นำขึ้นมาคลุกกับกากสะเดาก่อนแล้วนำไปหว่านลงแปลง การปลูกพืชผักอินทรีย์ต้องปลูกพืชสมุนไพรก่อนและต่อเนื่อง มีการปลูกพืชหมุนเวียนสลับกันไป ไม่ปลูกพืชผักชนิดเดิมๆ ในแปลงเดิมจะทำให้ได้ผลผลิตที่ดี ก่อนรดน้ำควรขยี้ให้สมุนไพรช้ำจะได้มีกลิ่นไล่แมลง”

DSC07015

นอกจากนี้ พืชสมุนไพรที่ปลูกยังสามารถนำไปขายเพิ่มรายได้อีกทางหนึ่งด้วย เมื่อเก็บเกี่ยวพืชผักแล้ว ต้องรีบทำความสะอาดแปลง เศษพืชที่เป็นโรคให้รีบทำลายนอกพื้นที่ปลูก ส่วนที่ไม่เป็นโรคก็สามารถนำมาทำปุ๋ยต่อไปได้ กลุ่มจะใช้ทรัพยากรในแปลงให้เกิดประโยชน์สูงสุด(Zero waste)

ปัจจุบันกลุ่มฯ มีการผลิตพืชผักกว่า 20 ชนิด เป็นการปลูกแบบหมุนเวียนกันไป ได้แก่ ตะไคร้ ข่า พริก คะน้า ผักชีฝรั่ง กวางตุ้ง กล้วย โหระพา ถั่วพู ผักบุ้งจัน ผักสลัด ฝรั่ง เป็นต้น โดยวิธีการปลูกนั้นจะเน้นการปลูกแบบยกร่องรอบแปลงเพื่อกักน้ำและป้องกันน้ำที่ปนเปื้อนสารเคมี โดยรูปแบบแปลงจะวางแนวไปตามตะวัน เนื่องจากพืชใช้แสงแดดในการปรุงอาหารและช่วยฆ่าเชื้อโรคไปในตัว

DSC07034

ความสำเร็จของกลุ่มเกิดจากความมุ่งมั่นตั้งใจและเสียสละของสมาชิก ทั้งยังเป็นเครือข่ายของสามพรานโมเดลจึงมีการประชุมกลุ่มทุกเดือนอย่างสม่ำเสมอ ซึ่งเครือข่ายสามพรานโมเดลได้นำระบบการรับรองเกษตรอินทรีย์แบบมีส่วนร่วมพีจีเอสกับกลุ่มผู้ผลิตในเครือข่าย เป็นการรับรองมาตรฐานเกษตรอินทรีย์รูปแบบหนึ่ง รับรองเกษตรกรที่เป็นสมาชิกของกลุ่มโดยองค์กรผู้ผลิตเอง แต่ในบางกรณี ก็อาจเป็นการดำเนินการของผู้ซื้อผลผลิตจากเกษตรกร แต่ไม่ใช่เป็นการตรวจรับรองโดยหน่วยงานอิสระ โดยระบบชุมชนรับรองนี้จะให้ความสำคัญกับการมีส่วนร่วมของเกษตรกรในระบบ การประชุมกลุ่มอย่างต่อเนื่องทุกเดือนทำให้สมาชิกได้แบ่งปันความรู้และเมื่อเกิดปัญหาก็จะมาร่วมกันแก้ไข

 

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image