ผักไผ่…พืชรสเผ็ดร้อนปลูกติดง่าย แพร่ขยายเร็ว

อดุลศักดิ์ ไชยราช (เรื่อง)

ในช่วงฤดูหนาว ผลกระทบที่ร่างกายได้รับจากความหนาวเย็น บางครั้งถึงกับเจ็บไข้ได้ป่วย เพราะความหนาวจะส่งอิทธิพลต่อธาตุน้ำในกาย ทำให้เจ็บป่วยมากกว่าธาตุอื่น ผิวหนังจะแห้ง มึนศีรษะ น้ำมูกไหล ขัดยอกร่างกายขยับเขยื้อนเคลื่อนตัวไม่สะดวก ท้องอืดเฟ้อ อาหารที่เหมาะสมกับหน้าหนาว ควรเป็นอาหารที่มีรสขมร้อน รสร้อน และรสเปรี้ยว ผักพื้นบ้านที่เหมาะสมต่อการกินในช่วงหนาว ได้แก่ ข่าอ่อน กระชาย ขมิ้น พริกไทย ยอดพริก ผักไผ่ และผักที่มีรสเผ็ดร้อนต่างๆ

ผักไผ่ เป็นผักที่ชาวบ้านนิยมปลูกกันมาก ใช้เป็นผักแกล้มหรือปรุงรสอาหาร นิยมกันทั่วทุกภาคของไทย และหลายประเทศในอาเซียน เป็นพืชที่พบในป่าบริเวณริมลำธารน้ำที่มีความชื้นสูง ชาวบ้านเข้าป่าพบว่า เป็นผักที่มีรสหอมเผ็ด นำมาปลูกไว้ที่ในสวนครัวหลังบ้าน บ้างปลูกลงดินเป็นแปลงใกล้ๆ โอ่งน้ำ บ้างปลูกลงกระบะกระถางอ่างโอ่งกะละมังรั่ว ปลูกติดง่าย แพร่ขยายเร็ว กินยอดใบอร่อย จึงนิยมแพร่หลายกันทั่วไป

“ผักไผ่” (POLYGONACEAE) มีชื่อเรียกกันตามท้องถิ่นต่างๆ ทางภาคเหนือ เรียก ผักไผ่ ภาคอีสาน เรียก ผักแพว พริกม้า โคราช เรียก จันทน์โฉม อยุธยา เรียก หอมจันทน์ ผักไผ่เป็นพืชล้มลุกที่แพร่พันธุ์ได้รวดเร็วมาก และมีอายุอยู่ให้เก็บกินเป็นปี ยิ่งหมั่นเด็ดยอด ยิ่งแตกยอดเป็นกิ่งก้านบานขยายพุ่ม ตามแนวราบไปกับผิวดิน และชูยอดขึ้นมาสวยงามมาก ถ้าปลูกในที่ร่มจะชูยอดตั้งขึ้นมายาว แต่ถ้าปลูกที่กลางแจ้ง ยอดจะแผ่เรี่ยดิน และออกรากตามข้อแตกยอดให้เก็บกินได้หลายยอด ยิ่งถ้าดินปลูกเป็นดินดีอุดมสมบูรณ์ด้วยอินทรียวัตถุ จะยิ่งอวบอ้วนสวยงามจนไม่อยากเด็ดกินเลยเชียว

Advertisement

พันธุ์ผักไผ่ที่จะนำมาปลูก หาได้จากเพื่อนบ้าน แต่ถ้าเขาหวงที่จะให้เด็ดกิ่งยาวๆ ที่มีรากติดด้วย ก็มีวิธีที่จะหาจากตลาด เมื่อเรารู้จักว่า นี่คือ ผักไผ่ แน่แล้ว ก็ซื้อมาสักกำที่เขาตัดยาวๆ ราวๆ 5-7 บาท เด็ดเอาใบล่างมาปรุงอาหาร เหลือก้านยาวๆ ตามที่เขาตัดมาขาย พร้อมยอดอ่อนใบอ่อนเล็กๆ จะห่อใบตอง หรือใส่ลงในแก้วน้ำ หรือกระป๋องน้ำ ใส่น้ำเปล่าลงไปให้เล็กน้อย ให้โคนก้านจุ่มแช่น้ำสัก 1-2 นิ้ว เก็บไว้ในที่ร่ม ภายใน 5-7 วัน จะแตกรากสีขาวออกมาเต็มก้นกระป๋อง รอให้รากแก่อีกสักนิด เอาไปปลูกในกระถาง กะละมัง ที่เตรียมดินไว้แล้ว ใช้ดินถุงที่ร้านต้นไม้ขายก็ดี แต่ขอให้เอาเศษใบไม้แห้งรองก้นกระบะกระถางด้วย ดินจะได้โปร่งร่วนซุยและเป็นประโยชน์นาน ถ้าดินยุบตัวลงจะได้เติมดินใหม่ได้ ผักไผ่ไม่ชอบดินเหนียวจัด จะแคระแกร็น แต่ถ้าต้องการความแข็งแกร่ง สีก้านแดงมั่ง ก็ใช้ดินเหนียวได้ แต่ขอร้องอย่าให้ปุ๋ยเคมีเด็ดขาด ผักไผ่ไม่ชอบ ชอบที่ความชื้นสูง เช่น ข้างโอ่งน้ำ มีแสงแดดส่องถึง มีบางรายเอากระถางผักไผ่ไปแช่ไว้ในอ่างปลาสวยงามหน้าบ้าน แทนพืชประดับ สวยงาม เก๋ และมีประโยชน์ แต่ให้ระวังใบล่างที่แช่น้ำอยู่ตลอดเวลาเน่า จะทำให้อ่างปลาน้ำเน่าไปด้วย

ชาวเหนือ ชาวอีสาน นิยมใช้ผักไผ่เป็นผักปรุงอาหารและแกล้มกับอาหารพวกลาบ ก้อย ส้า พล่า ยำ อาหารที่ขาดผักไผ่แล้วเสียรสเลย เช่น ทางเหนือมียำไก่บ้าน ลาบปลาเพี้ย (ปลากาดำ) อีสานต้อง ก้อยกุ้ง แหนมเนือง ปักษ์ใต้ก็ใช้ใบยอดสด หรือลวก หั่นใส่ข้าวยำก็สุดบรรยาย ผักไผ่เป็นผักเผ็ดร้อน มีกลิ่นหอมฉุน ใช้ดับคาวเนื้อสัตว์ คาวปลา จะช่วยเจริญอาหาร ขับลมในกระเพาะ ผักไผ่ 1 ขีด หรือ 100 กรัม ให้พลังงานแก่ร่างกาย 54 กิโลแคลอรี ประกอบด้วย เส้นใย (Fiber) 1.9 กรัม แคลเซียม 79 มิลลิกรัม ฟอสฟอรัส 272 มิลลิกรัม เหล็ก 2.9 มิลลิกรัม วิตามินเอ 8112 iu. วิตามินบี 1 0.05 มิลลิกรัม วิตามินบี 2 0.59 มิลลิกรัม วิตามินซี 77 มิลลิกรัม ไนอะซิน 1.7 มิลลิกรัม

ผักไผ่ นับวันจะเป็นผักเพื่อการค้ามากขึ้น ด้วยเหตุจากความนิยมของผู้คนที่รู้ถึงคุณค่า คุณประโยชน์ทางโภชนาการ สรรพคุณทางยา และความปลอดภัยจากสารเคมีตกค้างแน่นอน ในด้านการที่จะมีพัฒนา แปรรูปเป็นสินค้าประเภทอาหารสุขภาพและสมุนไพร มีการศึกษาพัฒนาขึ้นเรื่อยๆ เชื่อว่าด้วยคุณสมบัติที่เป็นบวกของผักไผ่ จะมีผลงานการวิจัยของนักวิชาการไทยมากขึ้น คาดว่าเร็วๆ นี้ คงมีผลงานวิจัยพัฒนาผักไผ่เพื่อเป็นยา หรือสารเกี่ยวกับสุขภาพอนามัย เช่นเดียวกับพืชหลายชนิด เช่น ยาระบายขับลม ยาลดกรดในกระเพาะลำไส้ หรือยารักษาโรคผิวหนัง ยาปลูกผมสำหรับคนผมบางผมน้อย สมุนไพรพร้อมชงดื่มแก้หนาว แก้หวัด ยาลดความอ้วน ยาถ่ายพยาธิ หรือผลิตภัณฑ์อื่นๆ

Advertisement

ด้วยคุณสมบัติอันโดดเด่นของผักไผ่ ที่มีความหอมฉุนของใบและยอด เป็นพืชที่ให้สารเยื่อใยหรือไฟเบอร์สูงมากกว่าพืชอื่น ทำให้ผักไผ่เป็นพืชผักอีกชนิดหนึ่งที่เกษตรกรหลายคนไม่ควรมองข้าม วันนี้อาจจะยังไม่แพร่หลายนัก แต่เชื่อไหมว่า วันข้างหน้าจะรู้จักและเรียกร้องหากันมากขึ้น ผักไผ่สามารถปลูกเป็นพืชสวนครัวก็ได้ เป็นผักการค้าก็ได้ เป็นไม้ประดับก็ดีมีประโยชน์มากกว่า ปลูกได้ทุกสภาพพื้นที่ พื้นดิน กระถาง กระบะ เรือรั่ว กะละมังรั่ว กระป๋อง สารพัดที่หาได้เหลือใช้จากครัวเรือน ดูแลให้น้ำก็ไม่มาก น้ำเหลือจากการอาบ ล้างหน้า ล้างเนื้อ ล้างปลา เศษมูลนก มูลสัตว์เลี้ยงที่เป็นปัญหาของชาวเมืองขณะนี้ ทำเป็นปุ๋ยผักไผ่ได้อย่างดี สารเคมีไม่ได้กล้ำกรายปลอดภัย เพราะเป็นพืชที่ไม่มีศัตรูรบกวน หรือมีบ้างเล็กน้อย ก็จะมีพวกมด แตน ช่วยขจัดให้ ผักไผ่ปลูกง่าย ขยายพันธุ์เร็ว เพียงแต่ชาวบ้านเราต้องรู้จักวิธีการ “ต่ออายุผักไผ่” คือ หมั่นเด็ดยอด อย่าปล่อยให้ออกดอก แยกขยายกิ่งกึ่งอ่อนกึ่งแก่ไปปลูกเปลี่ยนกระถาง เปลี่ยนดิน เปลี่ยนที่ ปีละครั้ง สองครั้ง เป็นการต่ออายุให้ใช้ประโยชน์ได้หลายชั่วอายุพืช มีให้เก็บกินตลอดปี ไม่ขาดหายไปจากครัวเรือน มีมากเด็ดยอดมัดกำขายตลาด กำหนึ่ง 10 ยอด 5 บาท เป็นเงินเล็กๆ น้อยๆ ค่าขนมลูกหลานได้ดีทีเดียว

ข้อมูล : http://www.technologychaoban.com/news_detail.php?tnid=2639&section=5

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image