เลี้ยง“มดแดง”แฝงรายได้งาม

“มดแดง” เป็นมดที่คนไทยรู้จักและนำมาใช้ประโยชน์มาช้านาน ทั้งควบคุมศตรูพืชบางชนิด ใช้ประกอบในตำรับยาแผนโบราณ รวมถึงใช้เป็นอาหาร โดยเฉพาะไข่มดแดง ซึ่งมีรสชาติดีและเป็นที่นิยมอย่างแพร่หลาย ในภาคอีสานไข่มดแดงถูกนำมาประกอบเป็นอาหารหลากชนิด ทั้งก้อยไข่มดแดง ลาบไข่มดแดง ยำไข่มดแดง แกงขี้เหล็กใส่ไข่มดแดง ฯลฯ นอกจากนี้ไข่มดแดงยังมีอยู่ในเมนูของโรงแรงห้าดาวและร้านอาหารชื่อดังต่าง ๆ เช่น ไข่เจียวไข่มดแดง แกงเขียวหวานไข่มดแดง ฯลฯ ตลอดจนมีการแปรรูปไข่มดแดงบรรจุกระป๋องส่งจำหน่ายต่างประเทศอีกด้วย

“ไข่มดแดง” ที่นำมาบริโภคในปัจจุบันเกือบทั้งหมด รวบรวมมาจากธรรมชาติ ซึ่งนับวันยิ่งมีจำนวนลดน้อยลง ทว่าความต้องการกลับเพิ่มขึ้นสวนทางกัน ส่งผลให้ราคาของไข่มดแดงสูงถึงกิโลกรัมละ 200-400 บาท (ขึ้นอยู่กับปริมาณไข่มดแดงที่ออกสู่ตลาดในช่วงนั้น) หรือจำหน่ายปลีก 2-3 หยิบมือ ราคา 20-30 บาทเลยทีเดียว มดแดงจึงเป็นแมลงเศรษฐกิจที่น่าสนใจ และ “การเลี้ยงมดแดง” ก็เป็นช่องทางสร้างรายได้ที่ไม่ยาก เหมาะสมอย่างยิ่งสำหรับเกษตรกรทั่วไป หรือผู้ที่ปลูกสวนป่า สวนผลไม้ ตลอดจนบ้านที่มีต้นไม้และมดแดงมาอาศัยอยู่

ในธรรมชาติ มดแดงจะอยู่รวมกันเป็นครอบครัวหรืออาณาจักร ซึ่งประกอบด้วยมดแดงตั้งแต่ 2 รัง ไปจนถึง 100 กว่ารัง โดยมีรังราชินีอยู่ส่วนบนยอดพุ่มของต้นไม้ และมีรังที่แยกตัวไปยังต้นไม้อื่นอีก 1-30 ต้น หรือครอบคลุมพื้นที่กว่า 1 ไร่ ต้นไม้ที่มีราชินีอาศัยอยู่ เป็นต้นที่จำนวนรังและมดแดงมากกว่าต้นอื่น สังคมมดแดงอยู่กันอย่างเป็นระเบียบ โดยประกอบด้วยกัน 2 วรรณะ ได้แก่ วรรณะสืบพันธุ์และวรรณะมดงาน

วรรณะสืบพันธุ์ มีมดราชินีหรือแม่เป้ง ซึ่งมีลักษณะลำตัวสีเขียว ปนน้ำตาล มีปีก ทำหน้าที่วางไข่ และมดตัวผู้ ซึ่งมีขนาดเล็กกว่าและมีปีกนวลใส การผสมพันธุ์ ราชินีและมดตัวผู้จะบินออกจากรักเพื่อจับคู่ผสมพันธุ์ จากนั้นทั้งคู่ก็ตกลงพื้นดิน มดตัวผู้จะตายส่วนราชินีจะกลับขึ้นไปรังเพื่อวางไข่ ส่วนวรรณะมดงาน เป็นตัวเมียที่เป็นหมัน มีสีส้มปนแดง (เป็นที่มาของชื่อมดแดง) ไม่มีปีก ซึ่งมีด้วยกัน 2 ขนาด ได้แก่มดงานขนาดใหญ่ มีหน้าที่สร้างรัง หาอาหารและป้องกันศัตรู และมดงานตัวเล็กมีหน้าที่เป็นพี่เลี้ยงคอยดูแลตัวอ่อนในรัง

Advertisement

สำหรับวงจรชีวิตของมดแดง แบ่งออกเป็น 4 ระยะ คือ ระยะไข่ มีลักษณะสีขาวขุ่น วางเป็นกลุ่มภายในรัง ไข่ที่ได้รับการปฏิสนธิ จะเจริญเป็นมดงานหรือราชินี ส่วนไข่ที่ไม่ได้รับการปฏิสนธิ จะเจริญเป็นมดตัวผู้ ระยะตัวหนอน มีลักษณะสีขาวขุ่น หัวแหลมท้ายป้าน ที่เรียกว่า “ไข่มดแดง” ตัวหนอนของมดงานและมดตัวผู้ จะมีขนาดเล็กกว่าตัวหนอนของราชินี แต่มดแดงจะให้ไข่ราชินีแค่ในช่วงฤดูแล้ง ประมาณเดือนมีนาคม-เมษายนเท่านั้น ระยะดักแด้ สีขาวขุ่น มีขา และปีกยื่นออกมาจากลำตัว ก่อนที่จะพัฒนาเป็นตัวเต็มวัยต่อไป

สภาพพื้นที่และต้นไม้ สำหรับเลี้ยงมดแดง

ไม่ว่าเป็นพื้นที่การเกษตร สวนผลไม้ ส่วนป่า หรือตามขอบป่า ก็สามารถเลี้ยงมดแดงได้ แต่ทั้งนี้ ควรเป็นบริเวณที่เปิดโล่ง ไม่ร่มและไม่ทึบเกินไป มีแสงสองถึงตลอดเวลา ซึ่งปกติแล้วมดแดงสามารถสร้างรังหรืออาศัยอยู่บนต้นไม้ได้ทุกชนิด แต่ลักษณะของต้นไม้ที่เหมาะสม คือ ขนาดของใบไม่เล็กหรือใหญ่จนเกินไป ใบไม่หยาบแข็ง ไม่ผลัดใบในฤดูแล้ง และใบไม่เบียดเสียดหรือร่มทึบจนแสงส่องไม่ถึงลำต้น ต้นไม้ที่เหมาะสม เช่น มะม่วง ชมพู่ หว้า ลิ้นจี่ ลำไย เงาะ ส้ม ขี้เหล็ก ลองกอง สะเดา และหากเป็นไปได้ความสูงของต้นไม้ที่ใช้เลี้ยงมดแดงไม่ควรเกิน 6 เมตร เพื่อง่ายแก่การจัดการ

Advertisement

นอกจากนี้ ต้นไม้ต้องมีความสมบูรณ์อยู่ตลอด เพราะเป็นปัจจัยที่มีผลต่อการให้ไข่ของมดแดงโดยตรง โดยเฉพาะเดือนตุลาคม-ธันวาคม ต้องให้ต้นไม้แตกใบใหม่ออกมา เพราะช่วงนี้มดแดงจะเร่งสร้างรังขนาดใหญ่เพื่อไว้เก็บไข่มดแดง ยิ่งรังมีขนาดใหญ่มากเท่าไร ก็สามารถเก็บไข่ได้มากเท่านั้น ขณะที่หากเป็นใบไม้แก่แล้วจะแข็ง มดแดงนำมาสร้างรังขนาดใหญ่ไม่ได้ ส่งผลให้ได้ไข่มดแดงน้อยตามไปด้วย พร้อมกันใบควรเรียงต่อเนื่องกัน ไม่อยู่ห่างกันมาก เพราะทำให้ง่ายต่อการสร้างรังขนาดใหญ่ของมดแดง

ส่วนเรือนยอดของต้นไม้ ไม่ควรให้ใบขึ้นหนาแน่นจนร่มทึบ แสงส่องผ่านไม่ได้ ควรจัดการให้เรือนยอดได้รับแสงทุกด้าน เนื่องจากมดแดงชอบสร้างรังรอบนอกเรือนยอดที่ถูกแสง ส่วนการครอบครองต้นไม้เพื่อให้มดแดงสร้างรังขนาดใหญ่ อาณาจักรหนึ่ง ควรอยู่ระหว่าง 5-8 ต้น ถ้าหากมดแดงครอบครองต้นไม้มากเกินไป ทำให้มีประชากรมดแดงแต่ละต้นไม่มากพอที่สร้างรังขนาดใหญ่ได้ อีกทั้งยังสิ้นเปลืองต้นไม้ เพราะมดแดงไม่ได้ใช้ต้นไม้ทุกต้นที่ครอบครองในการสร้างรัง

ที่สำคัญ ตามลำต้นไม่ควรมีศัตรูของมดแดงอาศัยอยู่ เช่น ปลวกและมดทุกชนิด ควรตัดกิ่งแห้ง (ซึ่งเป็นที่อาศัยของมดดำและปลวก) ออก ทำลายทางเดินของปลวกที่มีรอบลำตนหรือใต้เปลือกไม้ อาจใช้สารเคมีฉีดพ่นบริเวณโคนต้นก่อนเลี้ยงมดแดงประมาณ 1 เดือน รวมถึงต้นไม้อื่น ๆ ที่อยู่รอบบริเวณ เพื่อให้มดแดงขยายอาณาจักรได้อย่างเต็มที่

แหล่งพันธุ์มดแดง

ตามสวนมะม่วง สวนผลไม้ต่าง ๆ หรือแหล่งที่มีมดแดงอาศัยอยูจำนวนมากอยู่แล้ว สามารถเริ่มเลี้ยงได้ทันที โดยการนำอาหารและน้ำมาเสริมให้ ซึ่งทำให้มดแดงไม่ต้องไปหาอาหารไกลและได้รับอาหารเต็มที่ มีความสมบูรณ์ สามารถขยายอาณาจักรได้อย่างรวดเร็วและให้ผลผลิตไข่มดแดงจำนวนมาก

สำหรับพื้นที่ที่มีจำนวนมดแดงไม่มากหรือแทบไม่มีเลย ให้เริ่มจากตัดแต่งทรงพุ่มของต้นไม้ที่ใช้เลี้ยง ให้แสงส่องได้ทั่วถึงรอบต้นซึ่งมดแดงชอบ ส่วนมดแดงที่นำมาปล่อยเลี้ยง หาได้จากต้นไม้ที่อยู่ใกล้ ๆ บริเวณนั้น ตามสวนป่า หรือตามแหล่งธรรมชาติทั่วไปที่มดแดงอาศัยอยู่ โดยหากเป็นมดแดงรังขนาดเล็ก ใช้กรรไกรตัดกิ่งตัดรังมดแดงลงมาใส่ถุงหรือกระสอบปุ๋ยมัดปากให้แน่นไม่ให้มดแดงไต่ออกมา แต่ถ้าเป็นรังมดแดงขนาดใหญ่ที่มักอยู่บนต้นไม้สูง การนำลงมาทั้งรังทำได้ลำบาก อาจใช้วิธีแหย่เฉพาะตัวมดลงมาใส่ถุงหรือกระสอบปุ๋ยมัดปากให้แน่นเช่นเดียวกัน

แต่ไม่ว่าจะนำมดแดงมาเลี้ยงด้วยวิธีใด จากรังเล็กหรือใหญ่ ต้องแน่ใจว่ามีราชินีติดมาด้วย เพราะมีผลต่อการออกไข่และขยายพันธุ์โดยตรง จากนั้นนำมดแดงที่หาได้มาเปิดปากถุงที่โคนต้นไม้ที่เตรียมไว้ มดแดงไต่ขึ้นต้นไม้และเตรียมสร้างรังต่อไป

การสำรวจอาณาจักร

12509401_965945353443058_3116951308464055919_n

ก่อนที่นำมดแดงมาเลี้ยง ต้องมีการสำรวจอาณาจักรของมดแดงที่มีอยู่ในพื้นที่ หรือมดแดงที่หามาได้ ว่าอยู่ในอาณาจักรเดียวกันหรือไม่ เนื่องจากมดแดงที่อยู่ต่างอาณาจักรกัน จะกัดและทำร้ายกัน นำมาเลี้ยงรวมกันไม่ได้ ดังนั้นการเลี้ยงมดแดง ต้องแยกแต่ละอาณาจักรออกจากกันให้ชัดเจน

ในธรรมชาติ มดแดง 1 อาณาจักรจะครอบครองต้นไม้เพื่อทำรัง ตั้งแต่ 1-30 ต้น การจะดูว่ามดแดงแต่ละรังอยู่ในอาณาจักรเดียวกันหรือไม่ ทำได้โดย นำมดแดงจากรังอื่น เริ่มจากที่อยู่ต้นเดียวกัน ประมาณ 10-20 ตัว มาปล่อยในรังใดรังหนึ่ง แล้วดูว่ามดแดงกัดกันหรือไม่ จากนั้นนำมดแดงจากรังที่อยู่ต้นอื่น ๆ มาปล่อยไว้ แล้วดูอีกว่ากัดกันหรือไม่ ทำเช่นนี้จนครบทุกรังทั่วทั้งบริเวณ หากมดแดงกัดกันแสดงว่า อยู่กันคนละอาณาจักรหากนำมาเลี้ยงควรแยกให้อยู่ห่างกัน แต่ถ้ามดแดงไม่กัดกัน แสดงว่าอยู่อาณาจักรเดียวกัน สามารถปล่อยเลี้ยงต้นไม้เดียวกันได้

การสำรวจอาณาจักรของมดแดง จะทำให้ทราบว่า ในพื้นที่มีมดแดงกี่อาณาจักร แต่ละอาณาจักรประกอบด้วยมดแดงกี่รัง ครอบครองต้นไม้กี่ต้น ใช้พื้นที่มากน้อยแค่ไหนและเป็นอาณาจักรเล็กหรืออาณาจักรใหญ่ ซึ่งทำให้ง่ายแก่การจัดการหรือการนำมดแดงมาปล่อยเลี้ยง ซึ่งมดแดงที่นำมาเลี้ยง แต่ละอาณาจักรควรมีจำนวน 5 รังขึ้นไป

การเลี้ยงและการจัดการ

หลังจากนำมดแดงมาปล่อยเลี้ยง มดแดงก็จะสร้างรังและหาอาหารเช่นเดียวกับที่อยู่ตามธรรมชาติ ทว่าอาหารที่หาได้เองบางครั้งอาจไม่เพียงพอต่อการขยายอาณาจักรให้มีขนาดใหญ่ หรือให้มีผลผลิตไข่จำนวนมากพอ โดยเฉพาะช่วงฤดูฝน มดแดงมักไม่ลงจากต้นไม้เนื่องจากพื้นดินที่เปียกแฉะ ส่งผลให้หาอาหารได้ไม่เพียงพอในช่วงนี้ ดังนั้นจึงต้องจัดหาอาหารไว้ให้มดแดงด้วย ซึ่งถือเป็นเทคนิคที่สำคัญของการเลี้ยงมดแดง

ที่ให้อาหารมดแดง ทำได้โดยใช้แผ่นไม้อัดหรือไม้กระดาน ขนาดประมาณ 16×21 นิ้ว ตอกเป็นแป้น วางติดกับต้นไม้สูงจากพื้นประมาณ 1.5 เมตร เพื่อป้องกันสัตว์อื่นมากินเศษอาหาร ส่วนอาหารที่ใช้เลี้ยงมดแดง เช่น ปลาสับให้เป็นชิ้นเล็กๆ กุ้งฝอย หอย สัตว์ขนาดเล็กหรือแมลงชนิดต่าง ๆ ซึ่งมดจะคาบสะสมไว้เป็นอาหารและป้อนตัวอ่อนภายในรัง
ปริมาณอาหารที่ให้ ก็เป็นอีกปัจจัยที่ส่งผลถึงจำนวนไข่โดยตรง อาหารจะต้องให้ถูกช่วง ช่วงที่ต้องให้มาก คือ ช่วงก่อนถึงฤดูวางไข่ ตั้งแต่เดือนกันยายน-ธันวาคม ช่วงฤดูวางไข่ ตั้งแต่เดือนมกราคม-เมษายน และช่วงหลังเก็บไข่มดแดง คือเดือนพฤษภาคม-มิถุนายน ต้องให้อาหารในปริมาณที่มากและบ่อยในช่วงนี้ เพราะมดแดงต้องการอาหารปริมาณมากสำหรับสร้างประชากรมดเพื่อรองรับการสร้างรังขนาดใหญ่ ขณะเดียวกันก็จะทำให้แม่เป้งมีความสมบูรณ์และสามารถผลิตไข่ได้มากตามไปด้วย

การให้น้ำมดแดง ทำได้โดย ใช้ขวดพลาสติกตัดครึ่ง ให้ได้ความจุประมาณ 1 ลิตร ตอกไว้กับตั้นไม้หรือวางไว้บนแป้นอาหาร ใส่กิ่งไม้เพื่อให้มดแดงไต่ลงไปกินน้ำได้ นอกจากนี้ควรให้น้ำตาลหรือน้ำหวานเข้มเข้น โดยการใส่ภาชนะเล็ก ๆ วางไว้ข้างกัน โดยเฉพาะหน้าแล้ง เพราะเป็นแหล่งพลังงานของมดแดงที่ต้องทำงานหนักในช่วงนี้

ประชากรมดแดง

มดแดงจะสร้างรังขนาดใหญ่เพื่อให้ผลิตไข่จำนวนมากได้ ต้องมีจำนวนมดงานต่อต้นมากพอ ซึ่งพิจารณาจากจำนวนมดแดงที่เดินตามต้นไม้ ถ้ามีการเดินน้อยไม่ต่อเนื่อง แสดงว่ายังมีปริมาณไม่มาก จำเป็นที่ต้องเพิ่มประชากรมดแดง แต่ทั้งนี้ก็ขึ้นอยู่กับอายุของอาณาจักรและความพร้อมของราชินีด้วย โดยให้ได้รับอาหารอย่างเพียงพอ เพื่อให้มีความสมบูรณ์และผลิตไข่ออกมาได้จำนวนมาก โดยเฉพาะก่อนจะถึงฤดูวางไข่ เพราะต้องมีมดแดงจำนวนมากเพื่อสร้างรัง สำหรับรองรับไข่มดแดงที่ผลิตออกมา ซึ่งอาหารมีความสำคัญต่อการเพิ่มจำนวนประชากรมดแดงโดยตรง นอกจากนี้ต้องคอยดูแลอย่าให้ศัตรูธรรมชาติเข้ามารบกวนหรือไล่มดแดงออกจากต้นไม้ไป โดยเฉพาะมดต่างๆ ที่อาศัยตามกิ่งไม้แห้ง ต้องกำจัดให้หมด

ส่วนปัจจัย การผลิตไข่ของมดแดงวรรณะสืบพันธุ์ คือ ความชื้น ถ้าปีไหนฝนหยุดเร็ว อากาศแห้งแล้งมาเร็ว มดแดงก็จะผลิตไข่เร็วขึ้น เช่น ถ้าฝนหยุดตกเดือนกันยายน ประมาณเดือนมกราคมก็จะได้ไข่มดแดง แต่หากฝนหยุดตกในเดือนพฤศจิกายน ก็จะได้ไข่เดือนกุมภาพันธ์ ซึ่งรวมเวลาในการเลี้ยงมดแดง เพื่อให้ได้ผลผลิตไข่มดแดง ประมาณ 4-5 เดือน

การจัดการอื่น ๆ

โดยปกติแล้ว มดแดงจะเดินไปรอบ ๆ ที่อยู่ของมัน เพื่อหาอาหารไปป้อนตัวอ่อน รวมถึงการขนย้ายไข่ การสำรวจพื้นที่สำหรับสร้างรังใหม่ ตลอดจนการไปมาหาสูกัน ซึ่งในช่วงฤดูฝน มดแดงเดินทางได้ยากลำบาก เนื่องจากพื้นดินชื้นแฉะและมีหญ้าขึ้นรกรุงรัง ดังนั้นเพื่อช่วยให้มดแดงเดินทางได้สะดวกขึ้น ควรทำสะพานให้มดแดงเดิน โดยใช้เชือกมัดโยงจากกิ่งหนึ่งไปยังกิ่งหนึ่ง หรือมัดโยงระหว่างต้นและรังมดแดงที่อยู่ในอาณาจักรเดียวกัน ซึ่งช่วยให้มดแดงเดินทางได้สะดวกขึ้น

ข้อห้าม ในการเลี้ยงมดแดง คือ อย่างจุดไฟไต้ต้นไม้ที่ใช้เลี้ยงมดแดง หรือใช้ขี้เถ้าหว่านบนต้นไม้ ตลอดจนหลีกเลี่ยงการใช้สารเคมีฉีดพ่นบริเวณใกล้เคียงที่มดแดงอาศัยอยู่

การเก็บไข่มดแดง (แหย่ไข่มดแดง)
มดแดงเริ่มวางไข่ตั้งแต่กลางเดือนธันวาคมและกลายเป็นตัวหนอนและดักแด้ ที่เรียกรวม ๆ ว่า “ไข่มดแดง” ประมาณเดือนมกราคมถึงเดือนพฤษภาคมของทุกปี ดังนั้นการเก็บไข่มดแดง ก็เริ่มตั้งแต่เดือนมกราคมถึงเมษายน

รังที่ควรเก็บไข่เป็นรังขนาดกลางไปจนถึงรังขนาดใหญ่ โดยสังเกตได้ว่า รังที่มีไข่มดแดงจะห้อยหรือโน้มลงมา และใบที่ใช้ทำรังเริ่มแห้ง แต่ถ้าเป็นรังที่ใบแห้งทั้งหมดจะไม่มีไข่ ซึ่งมดแดงจะย้ายไปสร้างรังใหม่

การเก็บไข่มดแดงจะต้องคำนึงถึงราชินีต้องไม่ถูกรบกวนหรือถูกเก็บมาด้วย และไม่ควรฆ่ามดแดงเพราะจะทำให้อาณาจักรอ่อนแอและล่มสลายลงได้ ไม่ควรทำลายให้รังแตกทั้งหมด เพราะมดแดงจะซ่อมแซมรังขึ้นมาใหม่และสามารถเก็บไข่ได้อีก การเก็บไข่มดแดงส่วนใหญ่ใช้เวลา 10-15 วันต่อครั้ง ถึงจะกลับมาเก็บไดอีก

วิธีการเก็บไข่มดแดง (แหย่ไข่มดแดง) ทำได้โดยใช้ตะกร้าผักมัดติดกับปลายไม้ไผ่ แหย่เข้าไปในรังแล้วเขย่า มดแดงและไข่จะร่วงเข้ามาในตระกร้า จากนั้นนำตระกร้ามาเทใส่กระด้ง โรยด้วยแป้งมันสำปะหลัง เกลี่ยให้กระจายทั่วกัน มดแดงก็จะทิ้งไข่ไต่ออกมา ทำให้เหลือเฉพาะไข่มดแดง ควรนำกระด้งวางชิดกับโคนต้นไม้ที่แหย่ลงมา มดแดงจะกลับขึ้นไปอาศัยอยู่บนต้นไม้และเตรียมสร้างรังใหม่ต่อไป ไม่ควรนำแม่เป้งมาบริโภค ควรปล่อยกลับเพื่อให้ขยายพันธุ์ต่อไป

การดูแลหลังเก็บไข่มดแดง
กลังจากเก็บไข่มดแดงแล้ว สภาพอาณาจักรของมดแดงจะอ่อนแอลง เนื่องจากมดบางส่วนอาจถูกทำลาย ทำให้ง่ายแก่การเข้าโจมตีของมดชนิดอื่น หรือมดแดงอาณาจักรอื่นที่แข็งแรงกว่า และหลังการเก็บไข่มดแดง ก็เป็นช่วงฤดูแล้งพอดี ซึ่งต้นไม้ที่มดอาศัยอยู่มักไม่สมบูรณ์ ใบแห้ง ทำให้มดสร้างรังใหม่ได้ลำบาก ดังนั้นควรมีการรดน้ำ ตัดแต่งกินเพื่อให้แตกใบใหม่ รวมถึงตัดกิ่งที่แห้งซึ่งอาจเป็นที่อาศัยของมดชนิดอื่นออก พร้อมทั้งให้มดแดงได้รับอาหารและน้ำอย่างเพียงพอด้วย

ข้อมูล : เกษตรกรก้าวหน้า

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image