ไปเรียนรู้ “วนเกษตร” รูปแบบการทำเกษตรที่ยั่งยืนและถาวร 

ระบบวนเกษตร หมายถึง การทำเกษตรในพื้นที่ป่า เช่น ปลูกพืชเกษตรแซมในพื้นที่ป่าธรรมชาติ หรือการนำสัตว์ไปเลี้ยงในป่า การเก็บผลผลิตจากป่ามาใช้ประโยชน์อย่างยั่งยืน และการใช้พื้นที่ป่าทำการเพาะปลูกในบางช่วงเวลา สลับกับการปล่อยให้ฟื้นคืนสภาพกลับไปเป็นป่า รวมถึงการสร้างระบบเกษตรให้มีลักษณะเลียนแบบระบบนิเวศป่าธรรมชาติ คือมีไม้ยืนต้นหนาแน่นเป็นส่วนใหญ่ ทำให้ระบบมีร่มไม้ปกคลุมและมีความชุ่มชื้นสูง บางพื้นที่มีชื่อเรียกเฉพาะตามลักษณะความโดดเด่นของระบบนั้นๆ

การเกษตรรูปแบบนี้ส่วนใหญ่พบในชุมชนที่อยู่ใกล้ชิดกับพื้นที่ป่าธรรมชาติ เกษตรกรจะผลิตโดยไม่ให้กระทบต่อพื้นที่ป่าเดิม เช่น ไม่โค่นไม้ป่า หรือการนำผลผลิตจากป่ามาใช้ประโยชน์โดยไม่ส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศ “วนเกษตร” เป็นแนวคิดและทางเลือกปฏิบัติทางการเกษตรแบบหนึ่ง ซึ่งรูปแบบจะแตกต่างกันไปในแต่ละท้องถิ่น โดยสามารถแบ่งเป็นหลายประเภท ดังนี้

  1. วนเกษตรแบบบ้านสวน มีต้นไม้และพืชผลหลายชั้นความสูง โดยปลูกไม้ผล ไม้ยืนต้น สมุนไพร และพืชผักสวนครัวในบริเวณบ้าน
  2. วนเกษตรที่มีต้นไม้แทรกในไร่นาหรือทุ่งหญ้า เหมาะกับพื้นที่สูงๆ ต่ำๆ โดยการปลูกต้นไม้เสริมในที่ไม่เหมาะสมกับพืชผัก เช่น ที่เนินหรือที่ลุ่มน้ำขัง และปลูกพืชในที่ราบหรือที่สม่ำเสมอ
  3. วนเกษตรที่มีต้นไม้ล้อมนาไร่ เหมาะกับพื้นที่ไร่นา ซึ่งมีลมแรงพืชผลที่ได้รับความเสียหายจากพายุเสมอ จึงต้องปลูกต้นไม้เพิ่มความชุ่มชื้น บังแดด บังลม ให้กับพืชผลที่ต้องการร่มเงาและความชื้น
  4. วนเกษตรที่มีแถบต้นไม้และพืชผลสลับกัน เหมาะกับพื้นที่มีความลาดชันเป็นแนวยาว น้ำไหลเซาะหน้าดินมาก แถวต้นไม้ซึ่งปลูกไว้ 2-3 แถว สลับกับพืชผักเป็นช่วงๆ ขวางทางลาดชัน จะช่วยรักษาหน้าดินเอาไว้
  5. 5. วนเกษตรใช้พื้นที่หมุนเวียนปลูกไม้ยืนต้น พืชผลและเลี้ยงสัตว์ เหมาะกับพื้นที่ขนาดกลางถึงขนาดใหญ่ ซึ่งมีพื้นที่ที่จะปลูกเป็นแปลงหมุนเวียน โดยมีต้นไม้ยืนต้นร่วมกับการเลี้ยงสัตว์และหมุนเวียนเพื่อฟื้นฟูดิน

อ่านแนวคิดการทำสวนแบบ “วนเกษตร” เพิ่มเติม คลิกได้ที่นี่ 

 

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image