ศรีสุวรรณซัด มท.-กทม.ไม่ใช้อำนาจตามกฎหมาย ทำเกิดความขัดแย้งวัด-คอนโด

กรณีเขตบางคอแหลม กรุงเทพมหานคร ได้ส่งหนังสือถึงเจ้าอาวาสวัดไทร ย่านพระราม 3 ระบุว่า ประชาชนแจ้งเรื่องร้องทุกข์ว่าได้รับความเดือดร้อน กรณีที่วัดไทรตีระฆังส่งเสียงดังรบกวน ตั้งแต่เวลา 03.30 – 04.00 น. เป็นประจำทุกวัน จึงขอความร่วมมือลดเสียงให้เหมาะสม เพื่อไม่ให้ผู้อยู่อาศัยเดือดร้อน

เจ้าอาวาสวัดไทร ได้ชี้แจงว่า ก่อนจะสร้างคอนโดฯ ก็ได้มีการสำรวจวัดและชุมชน เนื่องจากคอนโดสูงกว่าวัด เจ้าอาวาสองค์เก่ายังยินยอมเซ็นใบอนุมัติเพื่อเป็นการอนุเคราะห์ผู้พักอาศัย และก็ชาวคอนโดก็ยังเคยนิมนต์พระที่วัดไปทำบุญอีกด้วย คาดว่าจะเป็นเพียงเรื่องส่วนบุคคลของผู้อาศัยบางราย

โดย ด้านนายศรีสุวรรณ จรรยา นายกสมาคมต่อต้านสภาวะโลกร้อน ได้โพสต์ข้อความลงในเฟซบุ๊กว่า “เรื่องของเสียงระฆังวัดกับคอนโด..ไม่ใช่ความผิดของวัด แต่เป็นความผิดของรัฐ ที่ออกกฎหมายให้คอนโดมาสร้างใกล้วัดเองครับ”

ศรีสุวรรณ ฟันธง! เสียงระฆังรบกวน ไม่ใช่ความผิดวัด แต่ผิดที่รัฐ ให้คอนโดมาสร้างใกล้เอง

Advertisement

ล่าสุด วันที่ 4 ตุลาคม นายศรีสุวรรณ จรรยา นายกมาคมต่อต้านสภาวะโลกร้อน เปิดเผยอีกว่า จากกรณีที่สำนักงานเขตบางคอแหลม กทม. มีหนังสือถึงวัดไทร เพื่อขอให้ลดเสียงของการตีระฆัง เนื่องจากมีผู้พักอาศัยอยู่ในคอนโดฯ ข้างเคียงร้องเรียน ให้เป็นที่วิพากษ์วิจารณ์ของสังคมไทยเป็นอย่างมากในขณะนี้นั้น กรณีดังกล่าว เป็นเรื่องที่ขัดต่อความรู้สึกของพุทธศาสนิกชนคนไทยเป็นอย่างมาก เนื่องจากการตีระฆัง หรือตีกลองเพล กลองย่ำค่ำ เป็นกิจของสงฆ์ที่ทุกวัดยึดถือปฏิบัติกันมานับพันปี ปุถุชนชาวพุทธทั่วไปย่อมรู้และเคารพในกิจที่พึงกระทำของวัดเป็นอัตลักษณ์ในทางพุทธศาสนา สำหรับวัดไทรมีอายุมากกว่า 300 ปีและได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมาโดยชอบด้วยกฎหมาย ย่อมมีอำนาจในการประกอบสังฆกรรมได้ทุกประเภท

“แต่กรณีที่มีผู้อยู่อาศัยในคอนโดฯ ซึ่งเป็นชุมชนแปลกปลอมยุคใหม่ในสังคมเมืองรับสภาพปัญหาดังกล่าวไม่ได้ ต้องไปร้องเรียนวัดและกดดันสำนักงานเขตมีการออกหนังสือเตือนนั้น อาจเข้าข่ายการ “เหยียดหยามศาสนา” ตามป.อาญา มาตรา 206 ที่บัญญัติว่า “ผู้ใดกระทำด้วยประการใด ๆ แก่วัตถุหรือสถานอันเป็นที่เคารพในทางศาสนาของหมู่ชนใด อันเป็นการเหยียดหยามศาสนานั้น ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่หนึ่งปีถึงเจ็ดปี หรือปรับตั้งแต่สองพันบาทถึงหนึ่งหมื่นสี่พันบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ” กฎหมายนี้มีเจตนารมณ์เพื่อปกป้องความรู้สึกของประชาชนในการนับถือศาสนา การพิจารณาความผิดตามมาตรานี้จึงต้องนำความรู้สึกของคนทั่วไปที่นับถือศาสนามาประกอบการพิจารณา หากคนทั่วไปเห็นว่าการกระทำนั้นเป็นการเหยียดหยามศาสนา ก็ต้องถือว่าเป็นการเหยียดหยาม แม้ผู้กระทำจะอ้างว่าตนไม่ได้มีเจตนาเหยียดหยามแต่กระทำไปด้วยเจตนาอื่นก็ตาม

นายศรีสุวรรณ กล่าวว่า ดังนั้นหากผู้กระทำได้กระทำด้วยประการใดๆ อันคนทั่วไปเห็นว่าเป็นการเหยียดหยามศาสนา ซึ่งเป็นที่เคารพทางศาสนาของหมู่ชนใดและไม่จำกัดว่าจะต้องเป็นศาสนาใด โดยผู้กระทำรู้อยู่ว่าวัตถุหรือสถานที่นั้นเป็นที่เคารพในทางศาสนาแต่ได้กระทำการดูหมิ่นเหยียดหยามศาสนาก็ถือว่าเป็นความผิดตามมาตรานี้แล้ว ผู้กระทำจะอ้างว่าไม่ได้มีเจตนาเหยียดหยามไม่ได้ สำหรับปัญหานี้กระทรวงมหาดไทย หรือกรุงเทพมหานคร ( กทม.) ไม่ยอมใช้อำนาจในการออกประกาศหรือออกกฎกระทรวงตามมาตรา 13 แห่งพรบ.ควบคุมอาคาร 2522 กำหนดบริเวณห้ามการก่อสร้างอาคารสูงที่อยู่ใกล้วัดในรัศมีเกินกว่า 1,000 เมตรขึ้นไป และไม่กำหนดให้อาคารที่ปลูกใกล้วัดต้องมีวัสดุป้องกันเสียงในการก่อสร้างอาคารด้วย จึงกลายเป็นปัญหาจนเกิดความขัดแย้งในปัจจุบัน

Advertisement
ศรีสุวรรณ

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image