หมอเด็ก แนะใช้อินเตอร์เน็ตและรับรู้ข่าวสารผ่านโซเชียลอย่างมีสติ อย่าให้โลกออนไลน์เป็นศาลเตี้ย

ผู้สื่อข่าวรายงานว่าเมื่อวันที่ 12 พ.ย. หมอมินบานเย็น ได้โพสต์ข้อความใน เพจเฟซบุ๊ก “เข็นเด็กขึ้นภูเขา” เกี่ยวกับเรื่อง ในวันที่โลกออนไลน์กลายเป็นศาลเตี้ย ซึ่งได้มีการหยิบยกละครเลือดข้นคนจาง โดยระบุว่า

“#ในวันที่โลกออนไลน์กลายเป็นศาลเตี้ย”

ในละครเรื่องเลือดข้นคนจาง มีอีกประเด็นที่หมออยากจะเขียนถึง และตรงนี้คนดูน่าจะได้เรียนรู้อะไรมากทีเดียว คือเรื่องของ Cyberbullying พฤติกรรมการกลั่นแกล้งรังแกในโลกออนไลน์ รวมถึงการใช้งานอินเตอร์เน็ตและการรับรู้ข่าวสารผ่านโซเชียลมีเดียอย่างมีสติ

ตรงนี้ผู้ใหญ่ควรจะต้องมีความตระหนัก นอกจากเพื่อใช้กับตัวเอง ก็ใช้สอนเด็กๆได้ด้วย

Advertisement

เริ่มจากการเสียชีวิตอย่างลึกลับของประเสริฐในบ้าน เมื่อข่าวออกไปสู่สังคม กระแสวิพากษ์วิจารณ์และคาดการณ์ว่าคนนั้นคนนี้ต้องเป็นคนทำแน่ๆก็เกิดขึ้น โดยเฉพาะในยุคสมัยแห่งอินเทอร์เน็ต โลกโซเชียลกลายเป็นเหมือนศาลเตี้ยที่ทำหน้าที่ตัดสินไปแล้วว่าใครเป็นคนผิด

คนส่วนใหญ่คอมเมนท์รุนแรงในโลกออนไลน์ และความเห็นพุ่งเป้าไปว่าคนฆ่าต้องเป็นภัสสรน้องสาวของประเสริฐแน่ๆ เพราะมีเรื่องขัดแย้งกัน

ไม่เพียงแค่นั้น หลายคนก็ไปคอมเมนท์ด่าในไอจีของเต๋า ลูกชายที่เป็นดาราของภัสสร เต๋าถูกโจมตีไปด้วยเพราะเป็นลูกชายภัสสร และเต๋ายังให้สัมภาษณ์ในเชิงเชื่อมั่นในความบริสุทธ์ของแม่

Advertisement

จนมาถึงกรณีของอี้ ลูกชายคนโตของภัสสร พฤติกรรมที่อี้แอบอัดคลิปเอาไว้ตอนที่เมธพบกับคริสที่ฮ่องกงและเอามาเผยแพร่สู่สาธารณชน อี้ถูกสังคมตีตราว่าเป็นคนไม่ดีอกตัญญูกับครอบครัว การตีตราลามปามไปถึงการคุกคามในชีวิตจริง ร้านตัดผมของอี้ถูกคนเอาสีไปพ่นใส่ด้วยคำพูดหยาบคาย

ส่วนเราที่เป็นคนดูอยู่เห็นความรุนแรงที่เกิดขึ้นจากโลกโซเชียลในละคร เรารู้สึกสงสารตัวละครที่ถูกคุกคามทำร้ายคุกคามผ่านสื่อออนไลน์ แต่จริงๆแล้ว ละครก็ทำให้เราแต่ละคนมองเห็นตัวเองชัดขึ้น

บางทีเราที่เป็นผู้ใช้งานโซเชียลในชีวิตจริงก็ทำตัวไม่ต่างจากสังคมออนไลน์ในละคร ด้วยอคติบางอย่าง ความเห็นของคนส่วนใหญ่ในโซเชียลมีเดียที่เราใช้งาน ก็ทำให้เราแต่ละคนมีอารมณ์ความรู้สึกร่วมด้วยจนกระทั่งขาดสติสัมปชัญญะที่ควรจะมี

ทั้งที่บางครั้งเราก็แทบไม่รู้เบื้องลึกเบื้องหลังของเหตุการณ์ที่เป็นจริง รับรู้เพียงข่าวที่ถูกเขียนออกมา หรือเพราะปักใจเชื่อเพราะประสบการณ์ที่ผ่านมาเป็นสาเหตุ

ยกตัวอย่างข่าวดราม่าหลายๆข่าวที่เป็นกระแส บางทีเราก็ไม่รู้หรอกว่าจริงๆแล้วเรื่องราวเป็นมาอย่างไร แต่กลับมีข้อสรุปเสร็จสรรพว่าคนนี้ผิดคนนั้นถูกโดยที่ยังไม่ได้ทราบข้อมูลรอบด้าน

จริงๆการที่เรามีข้อสรุปของเราเองไม่เสียหายอะไร แต่ความผิดเกิดขึ้นเมื่อข้อสรุปนั้นมีผลกระทบกับคนอื่นๆ การที่เราเผยแพร่ความคิดที่เป็นข้อสรุปหรือความเห็นที่ขาดการกลั่นกรองออกมาในโลกโซเชียล

ไวเท่าความคิด เราพิมพ์มันลงไปในช่องให้ความเห็น กดส่งข้อความออกไป ทุกอย่างเกิดในไม่กี่วินาที คนอื่นๆในสาธารณะก็จะได้อ่านไปด้วย เผยแพร่ไปทั่วประเทศจนทั้งโลก ตรงนั้นถือเป็นความรับผิดชอบของคนที่ใช้งานโซเชียลมีเดีย แต่คนส่วนหนึ่งคล้ายว่าจะลืมคิดถึงตรงนั้น เขาไม่รู้หรอกว่าความคิดเห็นของเขาทำร้ายและสร้างความคุกคามให้กับใครได้บ้าง

ก็หวังว่าละครจะทำให้คนดูมีความตระหนัก เห็นอกเห็นใจคนอื่นมากขึ้น คิดง่ายๆแค่ว่า ถ้าคนที่เราเขียนถึงมาอ่านข้อความเขาจะรู้สึกอย่างไร ก็อาจจะทำให้ข้อความที่เราพิมพ์ไม่รุนแรงมากนัก

หมอเชื่อว่าหลายๆคนไม่ได้ตั้งใจจะไป Cyberbully ใคร เพียงแต่คิดและไตร่ตรองน้อยไปหน่อย

อยากให้สังคมออนไลน์ยุคใหม่มีสติในเวลาที่เราพิมพ์หรือทำอะไรมากขึ้น ผู้ใหญ่ทำอย่างไร เด็กๆก็จะเรียนรู้เป็นตัวอย่างด้วย

และควรจะต้องทราบเรื่องของข้อกฏหมาย เพราะพระราชบัญญัติคอมพิวเตอร์มีบทลงโทษสำหรับการเผยแพร่ข้อความที่สร้างความเสียหายกับผู้อื่น แม้จะไม่ได้ตั้งใจก็ตาม ตรงนี้เป็นความผิดต้องรับโทษ

หลายๆคนกลัวการถูกกลั่นแกล้ง หมอคิดว่าที่สำคัญไม่น้อยคือ เริ่มที่เราไม่กลายเป็นคนที่ไปแกล้งคนอื่นเสียเอง

สุดท้ายฝากไว้สำหรับคนที่ได้รับผลกระทบจากการกลั่นแกล้งและคนรอบข้าง ไม่ว่าจะเป็นการกลั่นแกล้งจริงๆหรือในโลกออนไลน์ สิ่งสำคัญที่ช่วยได้มากคือ ความเข้าใจจากคนรอบข้าง ให้ความสำคัญกับความรู้สึก ไม่มองว่าเป็นเรื่องเล็กๆน้อยๆ

ก็คงเหมือนกับที่เต้ยเขียนรูปการ์ตูนให้กำลังใจอี้ ตรงนั้นเป็นกำลังใจที่ทำให้อี้กล้าพอจะเผชิญหน้ากับความจริงและกลับสู่สังคมปกติ แม้ว่าข้างๆรูปการ์ตูนของเต้ยจะมีแต่ข้อความตำหนิด่าว่าเขาเต็มไปหมดก็ตาม

#หมอมินบานเย็น
#Cyberbullying
#เลือดข้นคนจาง

ขอบคุณภาพและข้อมูลจากเพจ “เข็นเด็กขึ้นภูเขา”

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image