เพจดังก๊อซซิปแชร์ว่อน! บอร์ดแวดวงสาธารณสุขยื่นออกเพียบเหตุต้องแจงทรัพย์สิน

วันที่ 3 ธันวาคม ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 1 ธันวาคมที่ผ่านมา เพจเฟซบุ๊ก “Gossiสาสุข” ได้โพสต์ข้อความแสดงความคิดเห็นต่อประกาศสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ
(ป.ป.ช.) ที่ระบุให้กรรมการในบอร์ดคณะต่างๆ ต้องแสดงบัญชีทรัพย์สินและหนี้สิน ซึ่งล่าสุดองค์การมหาชนต่างๆ ได้ออกมาแสดงความคิดเห็นคัดค้าน และมีแนวโน้มว่าจะมีการลาออกอีกหลายบอร์ด
ทั้งนี้ข้อความระบุว่า
“ประกาศ ป.ป.ช.ยังวุ่นไม่จบ องค์การมหาชนออกแถลงการณ์แล้ว “ไม่เอาด้วย”
บอร์ดหลายองค์กร #ไปต่อไม่รอแล้วนะ ส่งสัญญาณเตรียมลาออก•บรรดาบอร์ดองค์การมหาชนเริ่มส่งสัญญาณอิดออดแล้ว หลังคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ยืนยันว่าจะยังไม่แก้ไขประกาศให้ กรรมการสภามหาวิทยาลัย นายกสภามหาวิทยาลัย และกรรมการองค์การมหาชนต่างๆ ต้องยื่นบัญชีแสดงทรัพย์สินและหนี้สิน

•มีเพียงการแก้ไขประกาศเดิม โดยยืดระยะเวลาการยื่นบัญชีทรัพย์สินออกไป จาก 2 ธ.ค.2561 เป็น 3 ก.พ. 2562

•ซ้ำยังเพิ่มตำแหน่ง “กรรมการหน่วยงานของรัฐ” อีกจำนวนมาก ที่ต้องยื่นบัญชีทรัพย์สิน

•ในที่สุดที่ประชุมผู้บริหารองค์กรของรัฐ ที่จัดตั้งขึ้นตาม พ.ร.บ.เฉพาะ 16 หน่วยงาน ก็ได้ฤกษ์ออกแถลงการณ์ คัดค้านการยื่นบัญชีทรัพย์สินของคณะกรรมการ

Advertisement

•ด้วยการยืนยันว่า “บอร์ด” ไม่มีอำนาจบริหาร มีเพียงกำกับดูแลด้านนโยบายเท่านั้น รวมถึงขอให้กฎหมายนี้ บังคับใช้เฉพาะกับบอร์ดชุดใหม่

•ขณะเดียวกัน ก็ “สอน” ป.ป.ช.ด้วยว่า กฎหมายลักษณะนี้ ควรบังคับใช้เฉพาะผู้บริหาร ที่มีอำนาจหน้าที่ชัดเจน และ ประธานกรรมการ หาใช่ตำแหน่งผู้ทรงคุณวุฒิทั้งหมด

•ส่วนบรรดาองค์กรตระกูล ส. หรือ องค์การมหาชน- องค์กรที่มี พ.ร.บ.เฉพาะ ที่อยู่ใต้กระทรวงสาธารณสุข อย่าง สถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ (สพฉ.) และ สถาบันรับรองคุณภาพสถานพยาบาล (สรพ.) มีคณะกรรมการไม่ต่ำกว่าครึ่ง “ส่งสัญญาณ” ยื่นใบลาออก เพราะไม่ประสงค์จะยื่นบัญชีทรัพย์สิน-หนี้สิน

Advertisement

•แม้ว่า ป.ป.ช.จะยืนยันว่า ข้อมูลการยื่น “บัญชีทรัพย์สินหนี้สิน” เป็นความลับ ไม่มีการเปิดเผยต่อสาธารณชน

•ในส่วนของกรรมการการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาตินั้น สุเทพ ณัฐกานต์กนก ผู้แทนองค์กรภาคเอกชนที่ไม่แสวงหากำไร ลาออกไปเรียบร้อย

•ขณะที่ มนัส แจ่มเวหา กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิด้านการเงิน อดีตอธิบดีกรมบัญชีกลาง ก็เตรียมไขก๊อกเช่นกัน

•ส่วนอีก 2 หมอ ที่ควบ 2 บอร์ด คือ บอร์ด สพฉ.และบอร์ด สรพ. อย่าง นพ.สุรเชษฐ์ สถิตนิรามัย อดีตรองปลัดกระทรวงสาธารณสุข และ นพ.ธีรพล โตพันธานนท์ อดีตอธิบดีกรมการแพทย์ ก็ส่งสัญญาณ เตรียมทิ้งตัวเองจากทั้ง 2 บอร์ด

•สำหรับ นพ.สุรเชษฐ์ และ นพ.ธีรพล เพิ่งจะได้รับการแต่งตั้งให้เป็นบอร์ด สรพ. และเพิ่งผ่านมติ ครม.ไปไม่ถึง 2 เดือน ซึ่งจนถึงขณะนี้ ก็ยังไม่ได้เริ่มปฏิบัติหน้าที่บอร์ด สรพ. (มติ ครม.เมื่อ 10 ต.ค.61 ระบุว่าให้มีผลตั้งแต่วันที่ 25 พ.ย.61)

•น่าสนใจก็ตรงที่ นพ.สุรเชษฐ์นั้น ไม่ได้เป็นบอร์ดธรรมดา แต่เป็นประธานบอร์ด สรพ. ซึ่งก็ทำให้มีบอร์ดคนอื่นๆ ตัดสินใจจะลาออกตามไปด้วย

•ซึ่งข่าวล่าสุดรายงานว่า บอร์ด สรพ.เตรียมลาออกยกชุด แต่รอความชัดเจนจากรัฐบาลว่าจะอย่างไรกันแน่ ทั้งนี้กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิที่ ครม.เพิ่งมีมติแต่งตั้งไปทั้ง 8 คน คือ
1.นพ.สุรเชษฐ์ สถิตนิรามัย อดีตรองปลัด สธ.
2.รศ.นพ.จิรุตม์ ศรีรัตนบัลล์ อาจารย์แพทย์จุฬา
3.ศ.พญ.ดวงมณี เลาหประสิทธิพร อาจารย์แพทย์ศิริราช
4.นพ.ธีรพล โตพันธานนท์ อดีตอธิบดีกรมการแพทย์
5.นาวาตรี นพ.บุญเรือง ไตรเรืองวรวัฒน์ อดีตอธิบดีกรมสุขภาพจิต
6.รศ.ประคิณ สุจฉายา อาจารย์พยาบาล ม.เชียงใหม่
7.นพ.พีรพล สุทธิวิเศษศักดิ์ อดีต ผอ.สวรส.
8.นางสาวศศดิศ ชูชนม์ นักข่าวไทยรัฐ

•นี่แค่เฉพาะกระทรวงสาธารณสุข ที่กระทรวงวิทยาศาสตร์ ก็มีบอร์ดอีกกว่า 30 คนจากทั้งหมด 87 คนที่ตัดสินใจเตรียมไขก๊อกภายในวันที่ 30 พ.ย.นี้ ไม่สนใจรอว่ารัฐบาลจะแก้ประกาศหรือไม่

•และที่กลายเป็นปัญหาไปแล้ว ก็เช่น สำนักงานรับรองมาตรฐานและประเมินคุณภาพการศึกษา (องค์การมหาชน) หรือ สมศ. ที่ทั้งบอร์ด ทั้งผู้อำนวยการ ตัดสินใจลาออกพร้อมกันทั้งหมด

•จะด้วยเหตุผลว่า “ยุ่งยาก-น่ารำคาญ” “กลัวมิจฉาชีพ” หรือ “คุกคามความเป็นส่วนตัว” ก็ตามที แต่การแห่กันลาออก กลายเป็นภาระของบรรดาองค์การมหาชนต่างๆ ไปเรียบร้อย

•เพราะกฎหมายให้อำนาจบอร์ดองค์การมหาชนไว้ล้นฟ้า บรรดาผู้อำนวยการ เลขาธิการ ซึ่งดำรงสถานะ “ซีอีโอ” ทั้งหลาย จะขออนุมัติโครงการ ขออนุมัติงบประมาณ จำเป็นต้องทำเรื่องเสนอให้บอร์ดอนุมัติ แต่กลายเป็นว่า บอร์ดหลายแห่ง “แหว่ง” ไม่ครบองก์ประชุม หลายโครงการหยุดชะงักไปเรียบร้อย

•และกว่าจะสรรหาใหม่ ต้องใช้เวลาอย่างต่ำอีกไม่น้อยกว่า 1-2 เดือน ซึ่งก็ไม่รู้ว่าหลังประกาศ ป.ป.ช.ออกไป จะมีใครเข้ามาสมัครหรือไม่

•หรือสุดท้ายจะเหลือเฉพาะผู้ที่มีภาระหน้าที่ จำต้องยื่นบัญชีทรัพย์สินอยู่แล้ว เช่น ข้าราชการซี 10 หรืออดีตข้าราชการซี10 ที่เพิ่งเกษียณอายุราชการ เข้ามาทำหน้าที่ ส่วนบรรดาเอกชน “เมิน” จะเข้ารับสมัครเข้ามาเป็นผู้ทรงคุณวุฒิทั้งหมด

•ส่วนความคืบหน้าล่าสุดในรั้วมหาวิทยาลัย ก็แว่วว่า สภามหาวิทยาลัยเริ่มแสดงความจำนง “ขอลาออก” กันจำนวนมาก

•ทั้งมหาวิทยาลัย “เสาหลักแห่งแผ่นดิน” จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ที่มี ศ.กิตติคุณ นพ.ภิรมย์ กมลรัตนกุล เป็นนายกสภาฯ และ “ปัญญาของแผ่นดิน” มหาวิทยาลัยมหิดล ที่มี ศ.เกียรติคุณ นพ.ไกรสิทธิ์ ตันติสิรินทร์ เป็นนายกสภาฯ ก็ได้ยินว่าจะลาออกกัน “ยกสภา” เหมือนกัน

•น่าสนใจก็ตรงที่ รายชื่อกรรมการสภามหาวิทยาลัยมหิดลนั้น มี “คนดี” อย่าง หมอประเวศ วะสี รวมอยู่ด้วย

•ส่วนมหาวิทยาลัยราชภัฏฯ ทั่วประเทศ ก็ปั่นป่วน เริ่มมีการส่งต่อร่างหนังสืออันแปลกประหลาด ด้วยการแจ้งเจตจำนง “ลาออก” และ “ไม่ลาออก” ในหนังสือฉบับเดียวกัน ของกรรมการสภามหาวิทยาลัยราชภัฏแห่งหนึ่ง

•ด้วยการระบุเหตุผลว่า จะ “ลาออก” หาก ป.ป.ช. ไม่ยอมแก้ประกาศ แต่หาก ป.ป.ช. แก้ประกาศ ก็จะขออยู่ในตำแหน่งต่อไป

•ขณะนี้ เสียงโอดครวญทั้งหลาย เริ่มส่งผลไปยังรัฐบาล คสช. ให้ต้องออกมาทำอะไรสักอย่างอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

•เพราะมิเช่นนั้น การทำหน้าที่ของทั้งหน่วยงานรัฐ และการทำหน้าที่ของมหาวิทยาลัยในกำกับรัฐ จะมีปัญหาชะงักงันแน่นอน

•ดูรูปการณ์ในขณะนี้ สุดท้ายจะหนีไม่พ้นความจำเป็นว่าจะต้องใช้ ม.44 ปลดล็อก ให้คนเหล่านี้ ไม่ต้องยื่นบัญชี -อาจจะด้วยการแก้ไขในนิยามผู้บริหารองค์กรของรัฐ หรืออาจจะเลื่อนไปใช้ในวาระหน้า อย่างที่ ศ.นพ.อุดม คชินทร รมช.ศึกษาธิการเคยเสนอ

•วิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ออกมาเปรยๆ อีกครั้งแล้วว่า ขอให้คณะกรรมการทั้งหมดที่ตั้งใจจะไขก๊อก ยับยั้งการตัดสินใจ เพราะรัฐบาลหาทางออกได้แล้ว โดยชัดเจนใน 1-2 วันข้างหน้า

•เพื่อหยุดยั้งการลาออกของบรรดาชนชั้นนำทั้งหลาย และเพื่อให้การบริหารราชการขับเคลื่อนไปได้

•งานนี้ต้องวัดใจว่า คสช. จะกล้าเคาะหรือไม่

•เพราะถ้าตัดสินใจใช้อำนาจพิเศษ ก็แปลว่า นี่คือการใช้อำนาจ เพื่อพวกพ้อง ไม่ใช่เพื่อ “ปราบโกง” อย่างที่พูดตั้งแต่แรก แน่นอน”

#บัญชีทรัพย์สิน #สภามหาวิทยาลัย #องค์การมหาชน

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image