‘ดร.เจษฎา’ แจง 6 เหตุผลทำไม ด.ช.มีตาสีฟ้าทั้งที่ไม่ได้เป็นลูกครึ่ง

จากกรณีที่โลกออนไลน์ได้มีการแชร์เด็กชายที่ไม่ใช่ลูกครึ่งแต่มีตาสีฟ้านั้น ล่าสุด อาจารย์เจษฎา เด่นดวงบริพันธ์ อาจารย์คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้โพสต์เฟซบุ๊ก “Jessada Denduangboripant” เพื่ออธิบายเรื่องดังกล่าว โดยระบุว่า “ทำไมเด็กไม่เป็นลูกครึ่ง แต่มีตาสีฟ้าได้?”

เห็นที่แชร์กันเรื่องน้องในภาพนี้ ซึ่งไม่ใช่ลูกครึ่ง แต่ตาสีฟ้าสวยเลย จนหลายคนสงสัยว่าเกิดขึ้นได้ยังไง ใส่คอนแท็กต์เลนส์หรือเปล่า … เท่าที่เมนต์คุยกับคุณแม่ของน้อง และเพื่อนของแม่เค้า ยืนยันว่าเป็นสีของดวงตาตามธรรมชาติ และน่าจะเกิดจากพันธุกรรม มากกว่าจะเป็นโรคหรือมีปัญหาทางตาอะไร เพราะน้องไม่มีอาการผิดปกติทางการมองเห็น ตาสู้แสงได้ดี และมีคุณปู่ที่ตาสีฟ้าเหมือนกัน แต่สีไม่เป็นฟ้าเข้มขนาดนี้

ทีนี้ เนื่องจากเรื่องนี้แปลกดี เลยลองหาข้อมูลมาเขียนดู ใครสนใจเรื่อง “ทำไมไม่เป็นลูกครึ่งแต่ตาสีฟ้าได้” ลองอ่านดูนะครับ

1.จริงๆ แล้ว คนที่มีตาสีฟ้านั้น ไม่ได้มี “สีฟ้า” อยู่จริงในดวงตา แต่เป็นเพราะว่าบริเวณตาดำของพวกเขาขาด “เมลานิน” เม็ดสีรงควัตถุชนิดเดียวกับสร้างที่ผิวหนังของเรา ใครที่ดวงตามีเมลานินมาก ก็จะมีตาสีน้ำตาลเข้ม ถ้าเมลานินน้อย ก็จะมีตาสีน้ำตาลอ่อนลงเรื่อยๆ ลงไปจนเป็นสีเทา สีเขียว และสีฟ้าน้ำเงินในที่สุด ซึ่งเป็นผลของการสะท้อนของแสงจากภายนอก (นึกภาพถึงเวลาที่เห็นน้ำทะเลเป็นสีฟ้า)

Advertisement

2.เรื่องสีของตาคนเรา มันค่อนข้างซับซ้อน อธิบายแค่ด้วยเรื่อง ยีนเด่น (ข่ม) ยีนด้อย แบบที่เคยเรียนมาไม่ได้ … อย่างตำราเก่าๆ จะบอกว่า ตาสีน้ำตาลเป็นผลจากยีนเด่น และตาสีฟ้าเป็นผลจากยีนด้อย … แต่พบว่า ถึงพ่อแม่จะมีตาสีฟ้าทั้งคู่ และลูกต้องมีตาสีฟ้าตามหลักยีนด้อย แต่ก็พบเด็กที่มีตาสีน้ำตาลได้ … แสดงว่าต้องมียีนเข้ามาเกี่ยวข้องมากกว่่า 1 ยีน

3.ปัจจุบัน เราพบว่ามีอย่างน้อย 2 ยีนสำคัญที่เกี่ยวข้องกับสีของตา คือ ยีน OCA2 และยีน HERC2 บนโครโมโซมที่ 15 … ยีน OCA2 จะสร้างโปรตีนพี (P protein) ที่เกี่ยวกับการสร้างเม็ดสีเมลานิน ถ้าใครสร้างโปรตีนพีได้น้อย ก็จะมีสีตาไปในทางสีอ่อนจนถึงสีฟ้าได้ … ส่วนยีน HERC2 จะมีบริเวณที่เรียกว่า intron 86 ทำหน้าที่เปิดหรือปิดยีน OCA2 อีกที ถ้ามีการกลายพันธุ์เกิดขึ้นกับบริเวณนี้ ก็จะทำให้คนนั้นมีตาสีอ่อนลงเช่นกัน …. นอกจาก 2 ยีนนี้แล้ว ยังมียีนอื่นๆ อีกหลายยีนที่เกี่ยวข้องกับการกำหนดสีของดวงตา

4.อีกอย่างที่เรารู้เกี่ยวกับยีน OCA2 คือ การกลายพันธุ์ของยีน OCA2 ที่ทำให้เกิดตาสีฟ้าขึ้นนั้น เริ่มต้นขึ้นเมื่อแค่ประมาณ 1 หมื่นปีก่อนเท่านั้นเอง โดยน่าจะเกิดขึ้นบริเวณชายฝั่งทิศตะวันตกเฉียงเหนือของทะเลดำ แล้วแพร่กระจายตามการอพยพของผู้คนไปทั่วยุโรปในช่วงปลายของยุคน้ำแข็งครั้งสุดท้าย

Advertisement

5.ดังนั้น การที่เราพบคนหลายๆ ชาติ ไม่ว่าจะจากทวีปแอฟริกา หรือจากทวีปเอเชีย ที่จู่ๆ ก็มีลูกหลานที่มีตาสีฟ้าขึ้นมา ก็แสดงว่า ในสายวงศ์วานเครือญาติของเขา มียีนกลายพันธุ์ที่นำไปสู่การเกิดตาสีฟ้าแฝงอยู่ แล้วบังเอิญมาแสดงออกในเด็กคนนั้น ซึ่งเคสแบบนี้หาได้ยาก แต่ก็มีพบอยู่เรื่อยๆ

6.นอกจากเรื่องความบังเอิญทางพันธุกรรมแล้ว ยังมีกรณีของกลุ่มอาการวาร์เดนเบิร์ก Waardenburg syndrome (WS) ที่ทำให้เด็กมีตาสีฟ้าได้ โดยเป็นโรคทางพันธุกรรมที่หายาก พบเพียงประมาณ 1 ใน 40,000 รายเท่านั้น และมีอาการผิดปกติทางระบบประสาทจนสูญเสียการได้ยิน โดยมักจะเกิดความผิดปกติในเรื่องการสร้างเมลานินตามไปด้วย (ซึ่งกรณีนี้ ไม่ใช่น้องคนที่เป็นข่าว เพราะคุณแม่ยืนยันว่าน้องปรกติดี)

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image