ชำแหละ พ.ร.บ.คอมฯ ใหม่ ยังคงน่ากลัวเหมือนเดิม บล็อก “เพื่อความสงบเรียบร้อย-ศีลธรรม”

แฟ้มภาพ

ชำแหละ พ.ร.บ.คอมฯ ใหม่ ยังคงน่ากลัวเหมือนเดิม บล็อก “เพื่อความสงบเรียบร้อย-ศีลธรรม”

พระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ.2550 หรือ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ ใช้บังคับมาแล้ว 9 ปี

ปลายเมษายนที่ผ่านมา สภานิติบัญญัติแห่งชาติ มีมติเป็นเอกฉันท์ เห็นชอบหลักการร่าง พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ ฉบับใหม่ ของรัฐบาล คสช.

คนในโลกโซเชียล ต่างจับตา และวิตกกังวลในเนื้อหาสาระใหม่ ว่าจะน่ากลัวกว่าเดิม หรือจะต้องเซ็นเซอร์ตัวเองมากขึ้นกว่าเก่าหรือไม่

เพราะที่ผ่านมา หลายกรณี พ.ร.บ.คอมฯ ถูกใช้เป็นเครื่องมือทางการเมือง ยิ่งมวลชนที่เห็นต่างจากรัฐบาล โดนเล่นงานด้วย พ.ร.บ.คอมฯ หลายคดี ยิ่งทำให้บรรยากาศแห่งความกลัว ปกคลุมไปทั่ว

Advertisement

รศ.คณาธิป ทองรวีวงศ์ คณบดีคณะนิติศาสตร์ ม.เซนต์จอห์น นักกฎหมายผู้เชี่ยวชาญ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ วิเคราะห์เจาะลึก เปรียบเทียบข้อดีและข้อเสีย ในประเด็นสำคัญๆ ดังนี้

ประเด็นแรก เหมือนจะดี แต่กลับสร้างปัญหา

ตัวอย่างที่ 1 นาย ก. สร้างหน้าเว็บปลอมขึ้นมาหน้าตาเหมือนของธนาคารแห่งหนึ่ง หลอกลวงให้ลูกค้าเข้ามาใส่ยูเซอร์เนม พาสเวิร์ด แล้ว A ก็นำข้อมูลนั้นไปใช้ในทางทุจริต

Advertisement

ตัวอย่างที่ 2 นาย ข. โพสต์หลอกลวงขายโทรศัพท์นำเข้าราคาถูกกว่าท้องตลาด พอคนโอนเงินไป B ก็ปิดเว็บหนีไป

พ.ร.บ.คอมฯ มีความพยายามจะจัดการกับการกระทำแบบตัวอย่างที่ 1 และ 2 โดยกำหนดความผิดไว้ตั้งแต่กฎหมายฉบับเดิมที่ใช้อยู่ปัจจุบัน แต่กลับทำให้เกิดปัญหามากมาย เพราะองค์ประกอบความผิดที่สรุปได้ว่า “เผยแพร่ข้อมูลปลอมหรือเท็จ ทำให้ผู้อื่นเสียหาย” (มาตรา 14(1) นั้น นำไปสู่ปัญหาเชิงสิทธิเสรีภาพและการประกอบธุรกิจมากมาย เพราะมัน “กว้าง” จนทำให้ไม่เฉพาะกรณีตามตัวอย่าง 1 และ 2 ที่เข้าข่ายผิด แต่การใช้งานสื่อโซเชียลทั่วไป ก็ถูกกวาดเข้าไปในองค์ประกอบอันกว้างนี้ด้วย

เช่น ชาวบ้านโพสต์หมิ่นประมาทด่ากันเป็นความเท็จทำให้เสียชื่อเสียง หรือบางคนเห็นข่าวลือเท็จจากไลน์ก็แชร์ต่อไปทำให้ผู้คนตื่นตระหนก ก็เข้าข่ายไปด้วย พอผิดตาม พ.ร.บ.คอมฯ แล้วย่อมน่ากลัวกว่าการหมิ่นประมาทตามกฎหมายอาญา

เพราะตาม พ.ร.บ.คอมฯ ยอมความไม่ได้ โทษสูงสุดจำคุกถึงห้าปี

แต่กระนั้น ที่ผ่านมาคนที่ถูกหมิ่นประมาทออนไลน์ก็มักจะฟ้องคู่กันทั้งกฎหมายอาญาหมิ่นประมาท และ พ.ร.บ.คอมฯ สร้างบรรยากาศความน่าสะพรึงกลัวจนหลายคนไม่กล้าโพสต์แชร์หรือแสดงความคิดเห็นอะไร

กฎหมายเดิมที่กว้างนี้ เปรียบง่ายๆ ว่า เหมือนฉีดยาฆ่าแมลงไปทั่วห้องทั้งที่มีคนนั่งอยู่เต็ม ทั้งแมลงทั้งคนไปพร้อมกันหมด

ดังนั้น ร่าง พ.ร.บ.คอมฯ ฉบับใหม่ มาตรา 14(1) พยายามแก้ปัญหานี้ โดยจำกัดองค์ประกอบความผิดให้แคบลง เน้นเฉพาะการเผยแพร่ข้อมูล “โดยทุจริต หลอกลวง ทำให้ได้ไปซึ่งทรัพย์สินหรือข้อมูลของผู้อื่น” นอกจากนี้ ถ้าไม่ได้ทำต่อประชาชนทั่วไป แต่ทำต่อคนใดคนหนึ่ง ก็ให้ยอมความได้

ดังนั้น การกระทำที่จะเข้าข่ายมาตรา 14(1) ก็คือกรณีแบบตัวอย่างที่ 1 และ 2 สำหรับการโพสต์หมิ่นประมาทออนไลน์ทั่วไป ที่ไม่ได้มุ่งหลอกลวงเอาเงินก็ไม่ผิด เรียกได้ว่า จะฉีดยาฆ่าแมลงก็กันให้คนออกไปก่อน

การแก้ไขนี้เป็นสิ่งที่พอจะเรียกได้ว่า “คืนเสรีภาพ” ให้กับชาวโลกออนไลน์ได้ระดับหนึ่ง

ชอบกดไลก์-ใช่กดแชร์-แห่ติดคุก (เหมือนเดิม?)

แม้ว่ามีการแก้ไขให้การเผยแพร่ข้อมูลปลอมหรือเท็จต้องเป็นกรณีทำโดยทุจริต หลอกลวงเอาทรัพย์ แต่ทว่า มาตรา 14 กลับไม่จบแค่นั้น เพราะตามมาด้วย 14(2)-(5) ที่ยังคงไว้ซึ่งความน่าสะพรึงกลัวของ “พ.ร.บ.คอมฯ” โดยกำหนดความผิดสำหรับการเผยแพร่ข้อมูลที่เป็นความผิดหลายอย่าง เช่น นำเข้าสู่ระบบคอมฯ ซึ่งข้อมูลเท็จ อันน่าจะเสียหายต่อความมั่นคงประเทศ ความมั่นคงทางเศรษฐกิจของประเทศ ความปลอดภัยสาธารณะ หรือก่อให้เกิดความตื่นตระหนกแก่ประชาชน, การนำเข้าสู่ระบบซึ่งข้อมูลลามกที่ประชาชนทั่วไปเข้าถึงได้ เป็นต้น

ดังนั้น ถ้าเราพิมพ์ข้อความโพสต์ในสื่อโซเชียลสาธารณะว่า “ดาวเคราะห์ดวงใหม่จะชนโลกแล้ว” หากมีการพิสูจน์ว่าเรื่องนี้ไม่จริง ก็ยังเข้าข่ายมีความผิดโทษสูงสุด 5 ปี เพราะเป็นข้อมูลเท็จทำให้ประชาชนตื่นตระหนก

สำหรับการกดไลก์ หรือแม้แต่ทางเลือกใหม่ๆ ในเฟซบุ๊กอย่าง “เลิฟ ว้าว ฯลฯ” แตกต่างจากการกด “แชร์” หรือ “ฟอร์เวิร์ด” เพราะโดยทั่วไปแล้ว การกดไลก์ เลิฟ ว้าว เป็นแค่การรับรู้ว่าเพื่อนโพสต์อะไรมา แทนที่จะต้องเมนต์ตอบยาวๆ ไม่เสมอไปที่เราจะสนับสนุนข้อความดังกล่าว จึงไม่ควรแปลว่า “เผยแพร่ส่งต่อ”

สำหรับปัญหาว่า ข้อมูลตัวที่เราไปไลก์ มันจะไปปรากฏให้เพี่อนในเครือข่ายเห็น มันก็เป็นการกำหนดควบคุมของทางเฟซบุ๊ก แต่ที่ผ่านมาพบว่า การบังคับใช้กฎหมายนี้มักจะไม่ค่อยให้เน้น “เจตนา” เพราะจะไปมุ่งกันที่ “องค์ประกอบภายนอก” เป็นส่วนใหญ่ ทำให้การกระทำใดๆ ต่อข้อมูลที่ผิดกฎหมายเกิดความเสี่ยงที่จะถูกดำเนินคดีไปเสียหมด

ประเด็นนี้ ร่างกฎหมายใหม่ก็ยังไม่ได้ทำอะไรให้ชัดขึ้นมาก อีกทั้งยังคงกำหนดความผิดสำหรับ “เผยแพร่ส่งต่อ” เหมือนกฎหมายเดิม ทำให้ต้องมาตีความและหวาดหวั่นกับการบังคับใช้กฎหมายที่ค่อนข้างกว้างกันต่อไป

โพสต์ภาพตัดต่อ จ่อถูกฟ้องและยึดข้อมูล

การเผยแพร่ภาพคน ที่เกิดจากการตัดต่อ ดัดแปลง ทำให้บุคคลนั้นน่าจะเสื่อมเสียชื่อเสียง อับอาย มีโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี ปรับไม่เกินสองแสนบาท

ความผิดกรณีนี้ไม่จำต้องเป็นภาพลามก อย่างเช่น ตัดหัวมาใส่กับตัวคนที่แก้ผ้าเสมอไป แต่รวมถึงการตัดต่ออะไรก็ตามที่ทำให้เขาอับอาย

นอกจากนี้ ยังรวมถึงกรณีภาพคนตายไปแล้วด้วย ถ้าเอามาตัดต่อแล้วทำให้ทายาทคนตายเสียชื่อเสียงหรืออับอายก็มีความผิดเช่นกัน

ร่างกฎหมายใหม่ยังเพิ่มหลักการให้อำนาจศาลสั่ง “ยึดและทำลาย” ข้อมูลที่มีภาพดังกล่าว นอกจากนี้ ยังกำหนดหน้าที่ให้คน “ครอบครองข้อมูล” ที่ศาลสั่งยึดให้ต้องรีบทำลายข้อมูลด้วย

จะเห็นได้ว่า การ “หมิ่นประมาท” ที่กระทำด้วยภาพ หรือข้อความประกอบภาพอย่างพวกอินโฟกราฟิกยังคงเข้าข่ายความผิด

ทำให้ พ.ร.บ.คอมฯ ยังไม่ก้าวพ้นไปจากความผิดเนื้อหาและการ “หมิ่นประมาทออนไลน์”

แฮ็กเกอร์ จ่ายค่าปรับจบได้ แต่โพสต์ข่าวลือออนไลน์เจอคุก

ตามร่างกฎหมายใหม่ ความผิดที่มีโทษปรับสถานเดียว หรือจำคุกไม่เกิน 2 ปี สามารถจบลงด้วยการ “เปรียบเทียบปรับ” โดยรัฐมนตรีจะตั้ง “คณะกรรมการ” ชุดหนึ่งขึ้นมาให้มีอำนาจพิจารณาเปรียบเทียบปรับ ในแง่ดี เป็นการลดเวลาและขั้นตอนการดำเนินคดีในศาล ลดโอกาสการ “ติดคุก” ฯลฯ

โดยหลักทั่วไปแล้วคดีที่สามารถ “เปรียบเทียบปรับ” มักจะเป็นความผิดที่ “ไม่ร้ายแรง”

แต่ปัญหาคือ ความผิดตามร่าง พ.ร.บ.คอมฯ อันเข้าข่ายเปรียบเทียบปรับได้นั้น เป็นความผิดเกี่ยวกับการเจาะเข้าระบบ เจาะข้อมูล (เช่น มาตรา 5, 7) หรือเรียกง่ายๆ ว่าพวก “แฮ็ก” ข้อมูล ซึ่งโทษตามฐานเหล่านี้ไม่เกิน 2 ปี หรือความผิดเกี่ยวกับการส่งสแปม รบกวนคนอื่น ก็เปรียบเทียบปรับได้เพราะมีโทษ “ปรับสถานเดียว”

ในทางกลับกัน ความผิดเกี่ยวกับเนื้อหา (Content) เช่น โพสต์ข้อมูลเท็จข่าวลือออนไลน์ทำให้คนตื่นตระหนก ฯลฯ ไม่สามารถจบด้วยการเปรียบเทียบปรับ เพราะโทษที่กำหนดไว้เกิน 2 ปี (โทษของการโพสต์ข้อมูลที่มีเนื้อหาขัดต่อมาตรา 14 มีโทษจำคุกถึง 5 ปี)

ดังนั้น ความผิดที่กระทบระบบเศรษฐกิจการค้าอย่างพวก “แฮ็กเกอร์” และเป็นความผิดอาชญากรรมคอมพิวเตอร์โดยแท้ กลับโทษไม่รุนแรง และมีโอกาสจบได้ง่าย

ในขณะที่ความผิดเกี่ยวกับการโพสต์เนื้อหา ซึ่งมักเป็นการกระทำเพื่อแสดงความเห็นต่างๆ ในชีวิตประจำวันของชาวบ้านผู้ที่ไม่ใช่ “แฮ็กเกอร์” กลับมีโทษรุนแรงกว่า และไม่สามารถจบง่ายด้วยการเปรียบเทียบปรับ

บล็อก : เพื่อ “ความสงบเรียบร้อยและศีลธรรม”

ร่างกฎหมายใหม่กำหนดข้อมูลคอมพิวเตอร์ที่อยู่ในข่ายถูก “ระงับ” ไว้อย่างละเอียดถึง 4 ประเภท คือ

1. ข้อมูลคอมพิวเตอร์ที่เป็นความผิดตาม พ.ร.บ. นี้ (เช่น โพสต์หลอกลวงให้โอนเงิน โพสต์ภาพลามก)

2. ข้อมูลคอมพิวเตอร์ที่อาจกระทบความมั่นคงแห่งราชอาณาจักรตามกฎหมายอาญา

3. ข้อมูลคอมพิวเตอร์ที่เป็นความผิดกฎหมายอื่น (กรณีนี้เพิ่มเติมขึ้นมาใหม่ ทำให้ขอบข่ายข้อมูลที่อาจถูก “บล็อก” กว้างกว่าข้อมูลที่ผิด พ.ร.บ.คอมฯ)

4. ข้อมูลคอมพิวเตอร์ที่ไม่เป็นความผิดต่อกฎหมายอื่น แต่มีลักษณะขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน ซึ่งคณะกรรมการกลั่นกรองข้อมูลฯ ตามที่รัฐมนตรีแต่งตั้งมีมติเป็นเอกฉันท์ให้พนักงานเจ้าหน้าที่ยื่นคำร้องต่อศาลให้ “ระงับ”

กรณีที่ 4 นี้จะเป็นปัญหาได้มากที่สุด เพราะตัวร่างก็บอกอยู่เองว่า ไม่ใช่ข้อมูลผิดกฎหมาย เพียงแค่ “ขัดต่อความสงบฯ หรือศีลธรรมอันดี”

ซึ่งร่างฉบับนี้ก็ไม่ได้นิยามว่าแค่ไหน อย่างไร คือ “ความสงบฯ หรือศีลธรรมอันดี”

แต่จะมีคนกลุ่มหนึ่งซึ่งเรียกว่า “คณะกรรมการกลั่นกรองข้อมูลฯ” ที่รัฐมนตรีแต่งตั้งขึ้น มีอำนาจนำข้อมูลอะไรก็ได้ในโลกออนไลน์มานั่งพิจารณาว่า อันนี้ขัดต่อ “ความสงบฯ หรือศีลธรรมอันดี” หรือไม่

ถ้าเห็นว่าใช่ ก็ดำเนินเรื่องต่อไปโดยร้องให้ศาลสั่งระงับการเผยแพร่ข้อมูลนั้น

ถ้ากระบวนการเช่นนี้เกิดขึ้นมา เราไม่อาจคาดหมายได้เลยว่า ข้อมูลอะไรที่มีความเสี่ยงถูก “ระงับ” เพราะมันจะขึ้นอยู่กับเกณฑ์เชิงอัตวิสัยของกรรมการชุดนี้

ความไม่ชัดเจนตรงนี้ ส่งผลกระทบต่อเสรีภาพในการสื่อสารของประชาชนที่ไม่อาจจะคาดได้ว่า โพสต์อะไรลงไปแล้วจะถูก “อุ้ม” ได้บ้าง

ในขณะที่ภาคธุรกิจเองก็ไม่แน่ใจในความเสี่ยงว่า การสื่อสารเนื้อหาข้อมูลออนไลน์อะไรที่มันไม่ขัดต่อกฎหมายอื่น แต่ก็ยังอาจถูก “ระงับ” ตาม พ.ร.บ.คอมฯ ถ้าคณะกรรมการกลั่นกรองฯ เห็นว่ามันขัดต่อความสงบฯ และศีลธรรม

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image