เปลือยใจ ‘ครูน้อย’ เหตุปิดบ้าน สุดช้ำใจข่าวลือทำยอดบริจาคลด เหลือเงิน 4 พัน หนี้ 8 แสน ด้าน พม.เตรียมดูแลเด็กต่อ

แฟ้มภาพ

ตามที่ นางนวลน้อย ทิมกุล หรือ ‘ครูน้อย’ ออกมาให้สัมภาษณ์หมดเปลือกว่ากำลังตัดสินใจปิดตัวบ้านครูน้อยอีกครั้ง ภายหลังไม่สามารถแบกรับภาระค่าใช้จ่ายและหนี้สิน ที่ต้องนำมาเลี้ยงดูเด็กยากจนและพิการ จำนวน 65 คนในขณะนี้ แม้ย้อนหลังไปเดือนกรกฎาคมของปีที่ผ่านมา นางนวลน้อยก็ได้ประกาศปิดบ้านครูน้อยเป็นครั้งที่ 3 เกิดเป็นกระแสความเห็นอกเห็นใจจากคนในสังคมจน พล.ต.อ.พงศพัศ พงษ์เจริญ รอง ผบ.ตร. ได้เข้ามาช่วยเหลือและอาสาปลดหนี้ให้ รวมถึงกรมกิจการเด็กและเยาวชน (ดย.) กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) ที่ได้เข้ามาช่วยเหลือ จนทำให้ผ่านพ้นวิกฤตการณ์ช่วงนั้นไปได้

เมื่อวันที่ 10 พฤษภาคม นางนวลน้อย ทิมกุล หรือครูน้อย ให้สัมภาษณ์กับมติชนว่า สาเหตุหลักของการตัดสินใจครั้งนี้คือเรื่องการเงิน บ้านครูน้อยมีรายจ่ายต่อเดือน 2 แสน กับเด็ก 65 คน ตั้งแต่ส่งเรียนหนังสือ ค่าจ้างเจ้าหน้าที่ ค่าน้ำ ค่าไฟ ค่าจิปาถะอื่นๆ ขณะที่รายรับต่อเดือนเฉลี่ย 6-8 หมื่นบาทต่อเดือน บางเดือนมีคนบริจาคมากหน่อยก็เพียง 1.2 แสนบาท จึงไม่พอและเริ่มกู้หนี้ยืมสิน และเอาข้าวของในบ้านออกไปจำนำ ส่วนบ้านก็เอาไปจำนอง

“แต่ก่อนคนมาบริจาคมาก มันเหลือก็เอาไปให้บ้านครูติ๋ว (สุธาสินี น้อยอินทร์ แห่งบ้านโฮมฮัก จ.ยโสธร) ค่ารถไปเที่ยวละ 6 พันบาท แต่เดี๋ยวนี้ครูติ๋วเป็นที่รู้จักแล้ว แต่ครูน้อยกลับได้รับบริจาคน้อยลง เพราะข่าวลือเสียๆ หายๆ ที่บอกว่าครูเอาเงินบริจาคไปซื้อที่ดิน ไปซื้อรถป้ายแดงให้ลูก ข่าวลือนี้ทำให้ยอดบริจาคน้อยลง”

“สังคมด่าครูมาก ครูช้ำใจมาก บอกว่าครูเอาเด็กมาขาย เอาเด็กมาหากิน เอาเงินมาซื้อที่ เอาขึ้นมาซื้อรถ ส่งลูกไปเรียนนอก ครูกล้าท้าพิสูจน์เลย ครูไม่เคยซื้อแม้กระทั่งทองหยองอะไรเลย ชีวิตมีแค่ซื้อกับข้าวให้เด็ก”

Advertisement

“ส่วนลูกช่วยเหลือทุกอย่าง พวกเราไม่เคยมีชีวิตที่เป็นเวลาของครอบครัวเลย เพราะมีเด็กเข้ามามากมาย ครูแทบไม่ได้ใกล้ชิดในฐานะแม่ลูกสายเลือดเดียวกันเลย ไม่ค่อยได้กินข้าวร่วมกัน ไม่ได้ไปส่งที่โรงเรียน เขาก็ไม่ได้ว่าอะไร แต่ก็ยังถูกสังคมบอกว่าลูกเรียนจบปริญญาเพราะเงินบริจาค”

“วันนี้ที่บ้านกำลังจะปิดบ้าน ครูอยากชวนทุกคนขึ้นไปดูที่ห้องนอน ชวนไปดูทุกสิ่งอย่างภายในบ้าน ว่าเป็นอย่างข่าวลือไหม ครูอยากบอกวาวันนี้ลูกครูก็ยังต้องไปกู้ธนาคาร เอาบ้านไปจำนอง เพื่อมาเป็นค่าใช้จ่ายภายในบ้าน มันเป็นภาระที่ครอบครัวต้องรับ ทั้งที่หากเป็นการใช้จ่ายในครอบครัวครู ไม่จำเป็นต้องกู้หนี้ยืมสินด้วยซ้ำ ก็เสียใจที่ถูกกล่าวร้าย”

ครูน้อยอธิบายถึงข้อสงสัยของสังคมเกี่ยวกับการบริหารจัดการเงิน ที่อาจเป็นสาเหตุว่าเติมเท่าไหร่ก็ไม่เพียงพอ ว่า ที่ผ่านมามีการทำบัญชีรายรับรายจ่ายมาโดยตลอด มีหลักฐานตัวตน และมีเจ้าหน้าที่ดูแล ส่วนเมื่อ 10 เดือนที่แล้ว ที่มีการช่วยเหลือครั้งใหญ่ ครูน้อยบอกว่ารวมเงินช่วยเหลือสูงล้านกว่าบาท แต่ก็ยังไม่เพียงพอ

Advertisement

“มันเปรียบเหมือนเวลาเราหิวน้ำ เด็กกิน ครูก็กิน เราหลายสิบชีวิตรุมกินในแก้วเดียว มันก็หมด มันไม่ใช่ว่าเขาให้มาเยอะแยะ แต่เพราะเราต้องกินทุกวัน มันจึงไม่เพียงพอ อย่าง พล.ต.อ.พงศพัศท่านให้เงินมาใช้หนี้ 5 แสนบาท ครูก็ใช้หนี้เขาไป อยู่มาวันหนึ่งเงินไม่เพียงพอ ครูก็ต้องไปกู้หนี้ยืมสินอีกครั้ง ขณะเดียวกันก็ทำใจเมินเฉยไม่ได้เวลาเป็นหนี้สินเขา จึงนำเงินบริจาคส่วนหนึ่งไปใช้หนี้”

ครูน้อยสารภาพว่าเงินกองทุนบ้านครูน้อย ยอด ณ วันที่ 9 พฤษภาคมมีเพียง 4 พันบาท นี่ยังดีด้วยซ้ำจากปกติที่เหลือติดบัญชีวันละ 1-2 ร้อยบาท หลังเอามาใช้จ่ายประจำวัน ซึ่งช่วงนี้ตกวันละ 6 พันกว่าบาท แบ่งเป็นค่าใช้จ่ายเจ้าหน้าที่วันละ 2 พันบาท ที่เหลือค่าอาหารเด็ก โดยช่วงนี้ดีว่าเด็กๆ ยังไม่เปิดภาคการศึกษา

 

11219655_1441981162793780_7904140520126199147_n

พล.ต.อ.พงศพัศ พงษ์เจริญ รอง ผบ.ตร ลงพื้นที่ช่วยเหลือ

n20150722165429_113743

พล.ต.อ.อดุลย์ แสงสิงแก้ว รมว.พม.ลงพื้นที่เยี่ยม

 

“รวมหนี้สินของครูตอนนี้ประมาณ 8 แสนบาท ส่วนใหญ่เป็นหนี้จากบ้านที่เอาไปจำนอง แต่มันไม่ใช่ปัญหา เพราะปัญหาหนักจริงๆ สำหรับครูคือชีวิตเด็ก ที่ผ่านมาครูรอปาฏิหาริย์ เริ่มขัดสนมาตั้งแต่เดือนมีนาคม ดิ้นรนหาใครมาช่วย ไม่ว่าเขียนจดหมายไปขอความช่วยเหลือ กับคนที่มีฐานะดีในบ้านเมืองหลายคน คนที่ถูกรางวัลที่ 1 ตามหน้าหนังสือพิมพ์ แต่ก็ไม่มีใครสักคนที่ช่วยเลย จริงๆ ครูอยากให้เปิดถึงปี 2560 แต่ก็ทำไม่ได้ เพราะอยู่ด้วยความขาดแคลนมาก โดยเฉพาะเดือนเมษายนที่ผ่านมา ที่ผู้อุปการะรายใหญ่ท่านหนึ่งหยุดการบริจาค จากเดือนที่ช่วย 5 หมื่นบาทต่อเดือนพอท่านไม่ช่วยก็จบเลย ร้านกับข้าวที่เคยสั่งเขาก็ไม่ทำให้เราแล้ว เพราะค้างเขาไว้เยอะ”

วินาทีนี้ครูน้อยทำใจยอมรับไม่รอปาฏิหาริย์แล้ว เพราะรอมานานพอสมควรแล้ว จึงตัดสินใจแน่แน่วว่าครั้งนี้ปิดจริง

“จริงๆ จะปิดมาตั้งแต่สิ้นเดือนเมษายนแล้ว แต่คอยผู้ใหญ่มาช่วยเหลือเด็กๆ ซึ่งอยากให้กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) เข้ามาบริหารจัดการชีวิตเด็ก ก่อนจะปิดบ้านอย่างเป็นทางการวันที่ 15 พฤษภาคมนี้ เพราะครูหมดปัญญาจะโอบอุ้มเขาแล้ว”

ครูน้อยให้สัมภาษณ์ด้วยน้ำเสียงเศร้า บางช่วงบางตอนให้สัมภาษณ์ทั้งน้ำตา ไม่เพียงพายุปัญหาที่ถาโถมอยู่ตรงหน้า ภายในเธอก็ต้องฝ่าฟันปัญหาสุขภาพหนักพอสมควร จากหลายโรครุมเร้า อาทิ ความดัน หอบหืด และภาวะกระดูกข้อเท้าไม่ค่อยทำงาน วันนี้ครูน้อยอายุ 74 ปีแล้ว เธอยอมรับว่า “ตอนนี้เป็นคนแก่คนหนึ่งแล้ว สมองอะไรก็ไม่ค่อยทำงานได้ดี ก็เห็นสมควรที่ต้องยุติบทบาทลง ไม่นานก็ต้องจากลาโลกนี้ไป เพราะความเหี่ยวแห้งทางจิตใจ ที่ไม่ได้ทำงานตรงนี้ มันห่อเหี่ยวที่ไม่ได้ให้ความสุขเด็กทั้งหลาย ความสุขที่เคยอยู่รอบๆ ตัว”

 

12733359_1562637057394856_674308996784024774_n

นางนวลน้อย ทิมกุล หรือ “ครูน้อย”

 

ด้านกระทรวงพม.
นางนภา เศรษฐกร อธิบดีกรมกิจการเด็กและเยาวชน (ดย.) พม.กล่าวว่า ที่ผ่านมา พม.ได้ดำเนินงานร่วมกับครูน้อยมาเป็นลำดับ ตั้งแต่ปี 2550 ได้มอบเงินสงเคราะห์ให้กับครูน้อยและเด็กๆ ในบ้านไปแล้ว 6 แสนกว่าบาท จนเมื่อวันที่ 3 พฤษภาคมที่ผ่านมา ดย.ทราบว่าครูน้อยตัดสินใจปิดบ้านอีกครั้ง เนื่องจากอายุมากแล้ว และภาระค่าใช้จ่ายที่สูง เราจึงส่งทีมงานไปพูดคุยมาเป็นลำดับ ทั้งนี้ ดย.เคารพการตัดสินใจของครูน้อย วันนี้จึงส่ง นางจิราพร เชาวน์ประยูร ยามาโมโต้ ผู้อำนวยการกองสวัสดิการเด็กและครอบครัว ดย.ไปพูดคุยกับครูน้อยถึงการดูแล จำนวน 65 คนที่บ้านครูน้อยให้การดูแลอยู่ ภายใต้แนวทางเบื้องต้นว่าจะพิจารณาช่วยเหลือเป็นรายๆ ไป ตามความเหมาะสมและความต้องการ อย่างไรก็ตาม พล.ต.อ.อดุลย์ แสงสิงแก้ว รมว.พม.ได้รับทราบเรื่องดังกล่าวแล้ว อีกทั้งสั่งการให้ดูแลต่อเนื่องและวางแผนร่วมกับครูน้อย เพื่อไม่ให้การดูแลและพัฒนาเด็กเกิดการสะดุด

นางจิราพร เชาวน์ประยูร ยามาโมโต้ ผู้อำนวยการกองสวัสดิการเด็กและครอบครัว ดย. กล่าวภายหลังลงพื้นที่บ้านครูน้อยว่า จากการพูดคุยกับครูน้อยพบว่ายังยืนยันจะปิดบ้าน จึงมาวางแผนร่วมกับครูน้อยในการช่วยเหลือระยะยาวกับเด็กทั้ง 65 คนในความดูแล ซึ่งพบว่าบางรายก็เป็นพี่น้องกัน บางรายเป็นเด็กพิการ ขณะที่บางรายไม่ใช่เด็กแล้ว แต่เป็นคนอายุ 30-40 ปีที่พิการทางสติปัญญา ซึ่งคิดว่าจะต้องแก้ปัญหาเป็นรายๆ ไป ภายใต้หลักคิดเด็กอยู่กับครอบครัวดีที่สุด และเป็นการดูแลช่วยเหลืออย่างยั่งยืน ทั้งนี้ วันที่ 11 พฤษภาคม พม.จะส่งทีมนักสังคมสงเคราะห์และเจ้าหน้าที่หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น กรมส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ (พก.) ในการลงพื้นที่บ้านเด็กทุกคน เพื่อดูข้อเท็จจริง ให้ความช่วยเหลือสอบถามความต้องการ โดยรีบดำเนินการให้เร็วที่สุด ก่อนที่ครูน้อยตัดสินใจจะปิดบ้าน และประมาณวันที่ 14-15 พฤษภาคม จะประสานผู้ปกครองเด็กมาทำกิจกรรมและพูดคุยกับครูน้อยก่อนปิด 

ถามว่า พม.เตรียมมาตรการช่วยเหลืออย่างไรบ้าง นางจิราพรกล่าวว่า เบื้องต้นขอเยี่ยมบ้านเด็กๆ ก่อน เรามองว่าการให้เงินสงเคราะห์แก่ครอบครัวไม่อาจแก้ปัญหาได้หมด อย่างสมมติเด็กคนหนึ่งอยู่กับผู้ปกครองที่เป็นตายายที่มีฐานะยากจน แม่ก็ทิ้งไปแล้ว ก็อาจพิจารณามอบเงินอุดหนุนสงเคราะห์ครอบครัวอุปถัมภ์ให้เด็กจนเรียนจบการศึกษา หรือเด็กคนนี้พิการ เราก็จะพิจารณาดูว่าเด็กคนนี้ขึ้นทะเบียนผู้พิการหรือยัง เพื่อรับเบี้ยคนพิการ หรือพิจารณาเงินสนับสนุนคนพิการอื่นๆ ร่วมด้วย อย่างไรก็ตาม พม.พร้อมดูแลกลุ่มเป้าหมายที่เกี่ยวข้องทั้งหมด

 

นภา เศรษฐกร

นภา เศรษฐกร

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image