แชร์กฎเหล็กตารางชีวิต ดันลูกเรียนเก่ง จิตแพทย์ “ห่วง” แนะยึดเหมาะตามวัย

เมื่อวันที่ 11 พฤษภาคม ผู้สื่อข่าวรายงานว่าในสื่อสังคมออนไลน์ได้มีการแชร์ข้อมูลและตารางของผู้ปกครองคนหนึ่งที่ได้จัดทำตารางเวลาวันหยุดเสาร์-อาทิตย์ให้กับลูกชาย โดยเรียกว่าเป็นกฎเหล็กที่แปะให้หน้าห้องนอนของลูกชายตั้งแต่เรียนระดับชั้นมัธยมศึกษาตอนต้นจนสามารถสอบเข้าเรียนต่อในโรงเรียนที่ต้องการได้ โดยตารางที่ผู้ปกครองคนดังกล่าวกำหนดให้ลูกชายได้ปฏิบัติตาม ดังนี้ เวลา08.00-10.00น. ตื่นนอนอาบน้ำ รับประทานอาหาร ดูทีวี พักผ่อน ,10.00-12.00 ดื่มนม ทำการบ้าน ดูหนังสือ ห้ามนอนหลับ ห้ามดูทีวี(อยู่แต่ในห้องอ่านหนังสือ ) , 12.00-14.00น รับประทานอาหารกลางวัน พักผ่อนฯลฯ ,14.00-16.00 ทำการบ้าน ดูหนังสือ ห้ามนอนหลัก ห้ามดูทีวี(อยู่แต่ในห้องอ่านหนังสือ ) , 16.00-18.00 พักผ่อนรับประทานอาหารเย็น ตามอัธยาศัย 18.00-20.00 ดื่มนม ทำการบ้าน ดูหนังสือ ห้ามนอนหลับ ห้ามดูทีวี(อยู่แต่ในห้องอ่านหนังสือ) 20.00-21.00 พักผ่อนตามอัธยาศัย ถ้าเป็นวันเสาร์ให้เข้านอนไม่เกิน 5 ทุ่ม ถ้าวันอาทิตย์ให้เข้านอนได้ไม่เกินสามทุ่มครึ่ง

ล่าสุดนพ.วรตม์ โชติพิทยสุนนท์ จิตแพทย์เด็กและวัยรุ่น กรมสุขภาพจิต โพสต์ข้อความในเฟซบุ๊กส่วนตัว “Nat Varoth” มีเนื้อหาสรุปว่า วันนี้ผมมีโอกาสได้อ่านเนื้อหาบน Facebook ของคุณพ่อท่านนึงที่เริ่มถูกแชร์ออกไปใน

วงกว้าง รูปที่แนบมากับข้อความนั้น เป็นตารางเวลาวันหยุดของลูกชายชั้นมัธยมที่แปะไว้หน้าประตูห้องนอนของเขา (ซึ่งน่าจะ)ถูกเขียนขึ้นโดยผู้ปกครอง พร้อมข้อความกำชับ “จงจำไว้ว่า” ยาวเหยียดอีกครึ่งหน้าต่อท้าย

เรื่องนี้ปกติผมไม่ค่อยแปลกใจนัก เพราะครอบครัวที่มาปรึกษาผมหลายๆ ครอบครัวก็มีตารางแบบนี้เช่นกัน ซึ่งก็ได้รับคำแนะนำในการแก้ไขปรับปรุงกันไป

Advertisement

แต่ที่ทำให้ผมรู้สึกกังวลใจในกรณีนี้ คือ คุณพ่อได้เขียนเชื้อเชิญให้นำไปใช้กับเด็กคนอื่นๆด้วย …และผมยิ่งกังวลใจมากขึ้นไปอีก เมื่อทราบว่าคุณพ่อเป็นถึงด็อกเตอร์ด้านการบริหารการศึกษาและเป็นถึงระดับผู้อำนวยการโรงเรียน!! โอ้
วววววว!! ผมเลยอนุญาต take action เล็กน้อยนะครับ

สำหรับผม การจัดตารางเวลาชีวิตเป็นเรื่องที่ดีมากครับ ผมมักย้ำให้ทุกครอบครัวมีการจัดตารางเวลาชีวิตของลูก แต่วิธีการและเป้าหมายนั้นต้องแตกต่างกันออกไปตามแต่ละช่วงวัยของลูก

(1) ในระดับชั้นอนุบาลพ่อแม่จะเป็นคนจัดตารางเวลาให้เด็กอย่างคร่าวๆ เป้าหมายไม่ใช่เพื่อให้เด็กทำตามตารางนั้นๆได้ 100% แต่ให้เด็กเกิดความเคยชินและเรียนรู้เกี่ยวกับการมีระเบียบวินัยเรื่องเวลา เพื่อเป็นพื้นฐานเมื่อถึงวัยที่เหมาะสม

Advertisement

(2) ในระดับชั้นประถมพ่อแม่มีหน้าที่”ชี้แนะ”ในการจัดตารางเวลา ผมมักเสนอให้ครอบครัวมานั่งรวมหัวประชุมกัน แลกเปลี่ยนความคิดของกันและกัน เพื่อให้เกิดตารางที่เหมาะสมที่สุด โดยเด็กรู้สึกว่านั่นคือ”ตารางของเขาเอง”
“ผมคิดว่าแบบนี้ครับ พ่อคิดว่างัย แม่คิดว่างัย”

“เอ้อ พ่อว่าอันนี้ดีลูก แต่อันนี้ปรับนิดนึง”
แล้วออกมาเป็นตารางที่ทุกคนยอมรับว่าเหมาะสมกับช่วงวัยและช่วงเวลานั้นๆ ข้างล่างมีช่องว่างให้ พ่อ แม่ ลูก เซ็นชื่อ เซ็นชื่อกริ๊กๆๆ ลูกมีหน้าที่ทำ พ่อแม่มีหน้าที่ช่วยเหลือสนับสนุน และมาคอยปรับจูนตารางนั้นด้วยกันอีกหลายๆรอบ

(3) ในระดับชั้นมัธยมต้น พ่อแม่มีหน้าที่”เตือน”ให้ลูกจัดตารางเวลาเอง อธิบายให้ลูกเข้าใจเกี่ยวกับการมีระเบียบวินัยในการเรียน รู้จักรับผิดและรับชอบจากผลที่เกิดขึ้นมาจากความตั้งใจของตนเอง นอกจากนี้ยังต้องสอนให้ลูกรู้จักการพักผ่อนที่เหมาะสม เพื่อให้ร่างกายได้ฟื้นฟูกลับมาพร้อมสำหรับการเรียนต่อไป

(4) ในระดับชั้นมัธยมปลายพ่อแม่มีหน้าที่เอาน้ำเอาขนมให้ลูกกิน นั่งดูตารางที่ลูกจัดและรอลุ้นอยู่ห่างๆ รอดูอย่างมั่นใจในผลผลิตที่ตัวเองสร้างไว้ตั้งแต่ครั้งลูกยังเป็นเด็ก บอกตัวเองเสมอว่าลูกโตพอแล้วที่จะรับผิดชอบชีวิตตัวเอง ไม่ใช่เบบี๋อีกต่อไป
ทั้งหมดนี้จริงๆแล้ว ก็ขึ้นกับเด็กแต่ละคนด้วยครับ กางเกงไซส์เดียวไม่สามารถตัดออกมาให้ทุกคนใส่ได้ และถึงว่าวันนี้จะใส่ไซส์นี้ อีกสองสามเดือนก็อาจต้องมาเปลี่ยนไซส์ใหม่อีก แต่ประเภทที่ยังต้องมาจัดตารางเวลาให้ลูกชั้นมัธยมปลาย เตือนให้ดื่มนม ห้ามแอบหลับ ผมว่านี่มันดีเลย์ไปเกือบสิบปีแล้วครับ

ผมเชื่อว่าพ่อแม่ทุกคนรักลูก และมีความคาดหวังในตัวลูก อยากให้ลูกประสบความสำเร็จ ยิ่งบางคนมีลูกคนเดียวยิ่งคาดหวังเข้าไปใหญ่
แต่ความคาดหวังที่สูงมากเกินไป มักจะนำไปสู่การกำกับจัดการที่ไม่เหมาะสม เช่น การเข้าไปวุ่นวายมากเกินความจำเป็น การบังคับกดดัน หรือแม้กระทั่งการใช้ความรุนแรงที่กระทบทั้งทางร่างกายและจิตใจ

เมื่อเด็กถูกขีดเส้นให้เดินตลอดเวลา ถึงเวลาก็เลยเดินเองไม่เป็น โตไปก็จะกลายเป็นคนที่ไม่กล้าตัดสินใจ แม้แต่จัดตารางเวลาของตัวเองยังทำไม่ได้เลย แล้วอีกหน่อยจะเป็นเจ้าคนนายคนจัดตารางเวลาให้คนอื่นได้อย่างไร? จะต้องมีคนมาคอยจัดการชีวิตให้ตลอดไปหรือ?

พ่อแม่มักลืมนึกไปว่า นั่นคือความคาดหวังในหัวของพ่อแม่ ไม่ใช่ของตัวเด็ก และชีวิตที่เห็นนั้นเป็นของตัวเด็ก ไม่ใช่ของพ่อแม่
“พ่อแม่บางคนชอบใช้ลูกเหมือนเป็นชีวิตรอบที่สองของตัวเอง”

และสุดท้าย พ่อแม่ทุกคนไม่สามารถอยู่กับลูกได้ตลอดชีวิตของเขา คุณจึงมีแค่ช่วงเวลาสั้นๆในการสอนเขา ให้เขาสามารถใช้ชีวิตบนลำแข้งของตัวเองในยามที่คุณไม่อยู่แล้ว

ผมจึงมักเตือนคนรอบตัวและคนไข้ของผมเสมอครับว่า
“อย่า! อย่าเลี้ยงลูกให้โตไปเป็นเด็กอนุบาล”

โพสต์

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image