โจรโปรดทราบ! สำนักศิลปากร เชียงใหม่ โพสต์เตือนแก๊งค์ลักขุด “เวียงท่ากาน” ยุคหริภุญไชย บอกจับตาอยู่ ขุดปั๊บจับทันที

โบราณสถานเวียงท่ากาน (ภาพจากที่ว่าการอำเภอสันป่าตอง www.amphoesanpatong.go.th)

เมื่อวันที่ 21 พ.ค. ผู้สื่อข่าวรายงานว่า กลุ่มโบราณคดี สำนักศิลปากร ที่ 8 เชียงใหม่ ได้เผยแพร่ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก มีเนื้อหาประกาศถึงผู้ที่ไม่ประสงค์ดีต่อโบราณสถานเวียงท่ากาน โดยมีจุดประสงค์ที่จะเข้าไปลักลอบขุดโบราณวัตถุและพระเครื่องในเขตโบราณสถาน ซึ่งทางสำนักศิลปากร ฯ อยู่ระหว่างการติดตามความเคลื่อนไหวอย่างใกล้ชิด อีกทั้งประสานงานกับตำรวจไว้เรียบร้อยแล้ว หากมีการกระทำความผิด พร้อมจับกุมทันที

ข้อความมีดังนี้

ประกาศ!! ถึงผู้ไม่ประสงค์ดีต่อโบราณสถานเวียงท่ากาน
ด้วยสำนักศิลปากรที่ 8 เชียงใหม่ ได้รับเบาะแสว่า มีกลุ่มบุคคลไม่ประสงค์ดีจะเข้าไปค้นหาโบราณวัตถุและพระเครื่อง ภายในพื้นที่โบราณสถานเวียงท่ากาน นั้น ทางเราขอแจ้งว่าโบราณสถานเวียงท่ากานเป็นโบราณสถานของชาติ ที่ได้รับการประกาศขึ้นทะเบียน การกระทำดังกล่าวมีความผิดตาม พรบ.โบราณสถาน โบราณวัตถุ ศิลปวัตถุ ฯลฯ ทั้งนี้ทางหน่วยงานกำลังติดตามความเคลื่อนไหวของกลุ่มบุคคลดังกล่าวอย่างใกล้ชิด และได้ประสานเจ้าหน้าที่ตำรวจและฝ่ายปกครองในพื้นที่ให้ทำการจับกุมได้ทันที เมื่อพบการกระทำความผิด และทางสำนักศิลปากรที่ 8 เชียงใหม่ พร้อมจะดำเนินการตามบทกำหนดโทษสูงสุดของกฏหมาย
จึงแจ้งมาเพื่อทราบโดยทั่วกัน

“มติชนออนไลน์” ได้สอบถามไปยัง นายยอดดนัย สุขเกษม นักโบราณคดีปฏิบัติการ ประจำสำนักศิลาปกรที่ 8 เชียงใหม่ ซึ่งให้ข้อมูลว่า ได้มีผู้แจ้งเบาะแสมามาทางสำนักฯ ว่ามีกลุ่มบุคคลกลุ่มหนึ่งได้สนทนากันผ่านทางเฟซบุ๊กว่าได้เข้าสำรวจโบราณสถานเวียงท่ากาน และมีการโต้ตอบกันในลักษณะชักชวนหรือขอติดตามไปร่วมขุดด้วย อีกทั้งนำภาพถ่ายโบราณวัตถุจำนวนหนึ่งออกเผยแพร่ เช่น เศษภาชนะดินเผา และหินดุ ซึ่งใช้สำหรับขึ้นรูปภาชนะดินเผา

Advertisement

ทางกลุ่มโบราณคดี จึงโพสต์ข้อความดังกล่าวเพื่อแจ้งเตือนแก่ผู้ไม่หวังดี โดยคาดหวังว่าจะไม่เข้าไปทำลายโบราณวัตถุสถานอันเป็นมรดกล้ำค่าของชาติ

นายยอดดนัย ยังกล่าวอีกว่า เวียงท่ากาน เป็นเมืองโบราณที่ปรากฏร่องรอยคูน้ำคันดิน พบหลักฐานทางโบราณคดีที่แสดงให้เห็นถึงการเข้ามาตั้งถิ่นฐานตั้งแต่สมัยหริภุญไชยตอนปลาย ราวพุทธศตวรรษที่ 16-18 และมีพัฒนาการจนกลายเป็นเมืองสำคัญในสมัยล้านนา ปรากฏชื่อในตำนานพื้นเมืองเชียงใหม่ ว่า “เวียงพันนาทะการ” ในสมัยพญามังรายโปรดให้นพต้นโพธิ์จากลังกาทวีปหนึ่งในสี่ต้นมาปลูกที่เวียง แห่งนี้ เวียงพันนาทะการ ปรากฏชื่อ บทบาท และความสำคัญมาตลอดระยะเวลาสมัยล้านนา หลักฐานทางโบราณคดีชิ้นสำคัญที่พบในพื้นที่เมืองโบราณเวียงท่ากาน คือ โถลายครามสมัยราชวงศ์เยวี๋ยน อายุราวปลายพุทธศตวรรษที่ ๑๙ มีการตกแต่งลวดลายรูปสัญลักษณ์มงคลตามความเชื่อของจีนทั่วทั้งใบ นอกจากนี้จากการขุดค้นทางโบราณคดียังพบโครงกระดูกม้าสภาพสมบูรณ์เต็มโครง ซึ่งมีลักษณะเป็นการฝังอย่างตั้งใจ

 

Advertisement
เจดีย์เก่าแก่ในเวียงท่ากาน (ภาพจากการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย)
เจดีย์เก่าแก่ในเวียงท่ากาน (ภาพจากการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย)
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image