ดร.จุฬาฯ เสียใจคนตำหนิปมปลาดิบ “ใส่ใจความปลอดภัยอาหารน้อย” หมอล็อต ให้กำลังใจ

ความคืบหน้าจากกรณี รศ.สัตวแพทย์หญิง ดร.นันทริกา ชันซื่อ ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยโรคสัตว์น้ำ ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะสัตวแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์ข้อความลงเฟซบุ๊กส่วนตัว ‘Dr. Nantarika Chansue’ ระบุว่า ไปรับประทานอาหารญี่ปุ่นที่ร้านยอดนิยมแล้วเห็นปลาดิบ ซึ่งเป็นปลาโอมีสีแดงชมพูสวยเกินจนไม่กล้ารับประทาน จากนั้นได้นำมาตรวจสอบที่ ศูนย์วิจัยโรคสัตว์น้ำ จุฬาฯ พบว่าเมื่อเนื้อปลาแช่น้ำไม่กี่นาทีสีก็ละลายออกมาชัดเจน กระทั่งผ่านไป 5 นาทีกลายเป็นสีซีดขาวเลยคาดว่าเป็นการย้อมสี ดังนั้นจึงอยากให้ทุกคนระวังและช่วยตรวจสอบ เพราะตนไม่ได้ตรวจสอบว่าเป็นสารอะไรเพราะไม่ได้เป็นการวิจัย ในขณะที่ ผศ.ดร.เจษฎา เด่นดวงบริพันธ์ คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาฯ ได้โพสต์แสดงความเห็น ว่า “ทูน่า น้ำแดง น่าจะเป็นแค่ มายโอโกลบิน” จนทำให้กลายเป็นประเด็นถกเถียงมีทั้งผู้ที่เห็นด้วยและไม่เห็นด้วยกับรศ.สัตวแพทย์หญิงดร.นันทริกา

ล่าสุดเมื่อวันที่ 27 พฤษภาคม ผู้สื่อข่าวรายงานว่ารศ.สัตวแพทย์หญิง ดร.นันทริกา โพสต์ข้อความในเฟซบุ๊กส่วนตัวระบุว่า มีภาระกิจต่างประเทศ เพิ่งมีโอกาสเข้ามาคุยค่ะ เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นหลังจากที่ดิฉันเห็น การแต่งสีในปลาดิบแล้วแทนที่จะปิดไว้ก็ลงให้เพื่อนๆอ่านในเฟซบุ๊ก ส่วนตัว ดิฉันมั่นใจว่าไม่ได้ทำผิดไม่ว่าจะทางวิชาการหรือมนุษยธรรม แต่สิ่งที่เห็นแล้วเศร้าใจ คือการที่มีคนมาพยายามแสดงให้เห็นว่า การเกิดสีบานเย็นเป็นเรื่องปกติ โดยแช่และต้มสารพัดกว่าจะได้สีออกมา

ขณะที่ปลาที่ดิฉันเจอ แช่แค่น้ำปุ้บ ชมพูแดงปั้บ ไม่ต้อง denature protein ใดๆ ที่น่าเสียดายที่สุด คือ แทนที่จะมาใช้วิชาการช่วยกันเพิ่มความปลอดภัยให้ประชาชน กลับไปใช้เทคนิกซับซ้อนเพื่อให้คนเชื่อว่าไม่มีการเพิ่มสีในปลาดิบ เพราะคนกินจะเป็นอะไรก็ไม่เห็นทันตาอยู่แล้ว เรื่องมายโอโกลบินก็มีอยู่แล้วในกล้ามเนื้อปลาไม่ใช่เรื่องแปลกอะไรตรวจยังไงก็เจอไม่ว่าจะมีสีจากที่อื่นเจือปนด้วยหรือไม่ จึงไม่ใช้ตัวชี้วัด

ที่จริงการใช้สีในอาหารไม่ใช่เรื่องแปลก ถ้าเข้าไปอ่านในความเห็นต่างๆ และค้นคว้าข้อมูลดูจะจับความได้ว่ามีการทำกันอยู่แล้ว ไม่ว่าจะเป็นการเอาปลาอื่นมาย้อมเป็นทูน่า หรือการใช้สารสี หรือคาร์บอนมอนออกไซด์มาทำให้สีดูสด(แต่ปลาอาจไม่สด) บางท่านบอกที่ตั้งโรงงานมาด้วย มีคนอินบ๊อกซ์มาเล่ามากมายทั้งที่เห็น เพราะเป็นกุ๊ก จนถึงคนที่เคยทำเอง ไม่ว่าใครจะเชื่อหรือไม่ก็ตาม สิ่งที่ตัวดิฉันเองไม่ต้องการคือการกินปลาดิบที่แต่งสีมา แต่ทุกคนก็มีสิทธิ์เลือกเองค่ะ

Advertisement

การที่มาด่าว่าตำหนิให้เกิดความเสียหายกับดิฉันนั้นเห็นแล้วก็เสียใจว่าท่านให้ความสำคัญกับความปลอดภัยของอาหารน้อยเหลือเกิน ที่ญี่ปุ่นเจ้าของตำรับยังต้องเข้าไปเรียนเป็นปีๆจึงมาทำปลาดิบได้ คนไทยมีปลามีมีดก็พอแล้วความสะอาดและการควบคุมอุณหภูมิต่างๆก็หละหลวมมาก แทนที่จะมาช่วยกันปรับมาตรฐานความเป็นอยู่ให้ดีขึ้น กลับพยายามขัดขวาง

ปลาดิบไม่ใช่อาหารหลักของไทยแต่คนควรมีความรู้ในการบริโภค ทั้งการสังเกตคุณภาพของปลาทางกายภาพ ชีวภาพ และเคมี บ้านเราอากาศร้อนของเสียง่ายต้องระมัดระวังเป็นพิเศษ เอาเป็นว่าเรื่องนี้ใครคิดว่าไม่มีทางที่ปลาดิบจะมีการแต่งสีก็แล้วแต่ท่าน ถ้าใครเห็นว่าเป็นเรื่องที่น่าระวัง ก็ขอให้เลือกดีๆค่ะ ดิฉันเองชอบมากๆ กินมามากทั้งที่ญี่ปุ่นและไทยและยังอยากกินต่อไป

ผู้สื่อข่าวรายงานว่าในเฟซบุ๊ก Dr. Nantarika Chansue มี “หมอล็อต” น.สพ.ภัทรพล มณีอ่อน นายสัตวแพทย์สัตว์ป่า ประจำกรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช มาโพต์ให้กำลังใจว่า “สิ่งที่เกิด เริ่มต้นมาจากความรักและห่วงใย ของผู้ที่มีแต่ความหวังดีกับผู้อื่นตลอดมา ขอให้เชื่อเถอะครับว่าอาจารย์ที่ผมเคารพ ท่านไม่มีความประสงค์ร้ายใดๆแน่นอน”

ภาพจากเฟซบุ๊ก Jessada Denduangboripant
ภาพจากเฟซบุ๊ก Jessada Denduangboripant
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image