นักวิชาการสิ่งแวดล้อมโพสต์ 5 จุดอ่อนรัฐแก้ปัญหาฝุ่นPM 2.5 ตามแผนวาระแห่งชาติ

วันที่ 16 มกราคม นายสนธิ คชวัฒน์ ผู้ทรงคุณวุฒิด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ ชมรมนักวิชาการสิ่งแวดล้อมไทย โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัว Sonthi Kotchawat ระบุว่า จุดอ่อนในการป้องกันและแก้ไขปัญหาฝุ่นPM 2.5 ตามแผนวาระแห่งชาติ ซึ่งทำให้ประชาชนรู้สึกว่ารัฐไม่ได้ทำอะไร

1.ไม่มีเจ้าภาพที่แท้จริงหรือหน่วยงานหลักในการสั่งการแก้ไขปัญหาอย่างเบ็ดเสร็จ ทุกวันนี้กรมควบคุมมลพิษเป็นเพียงFocal pointและCoordinatorในการแจ้งข้อมูลสถานการณ์ฝุ่น PM 2.5 และประสานงานให้หน่วยงานปฎิบัติไปดำเนินการเท่านั้น ซึ่งยังไม่สามารถจัดการปัญหาฝุ่นในช่วงที่เกินค่ามาตรฐานหรือเกิดวิกฤติได้ทันท่วงที ซึ่งต่างจากในประเทศที่พัฒนาแล้ว เช่น ประเทศสหรัฐอเมริกาจะมีUS.EPA หรือประเทศจีนจะมีหน่วยงานดูแลกฎหมายอากาศสะอาดหรือแม้แต่ประเทศเกาหลีใต้ยังออกกฎหมายฉุกเฉินด้านสิ่งแวดล้อม หากประกาศให้ฝุ่นPM 2.5เป็นภัยธรรมชาติที่มีผลกระทบต่อสังคมแล้ว หน่วยงานด้านสิ่งแวดล้อมที่เป็นเจ้าภาพหลักซึ่งขึ้นต่อประธานาธิบดีโดยตรงสามารถประกาศสั่งการให้แก้ไขปัญหาได้ทันทีโดยไม่ต้องรอให้หน่วยงานปฎิบัติมาดำเนินการ(Social disaster: South Korea brings in emergency laws to tackle dust pollution) เช่นสั่งหยุดการก่อสร้างบนถนน,สั่งหยุดเผาในที่โล่งทุกประเภท,สั่งโรงงานลดกำลังการผลิต ,สั่งรถยนต์ควันดำวิ่งเข้าเมือง, สั่งลดปริมาณรถยนต์วิ่งในเมืองโดยกำหนดวันคู่วันคี่ เป็นต้น ที่จริงประเทศไทยมี พ.ร.บ.ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย พ.ศ.2550 สามารถประกาศให้ฝุ่นPM 2.5 ที่เกินค่ามาตรฐานเป็นภัยธรรม ชาติสามารถนำวิธีการจัดการต่างๆมาใช้ได้โดยอาศัยอำนาจของผู้ว่าราชการจังหวัดแต่ถึงบัดนี้ยังไม่มีจังหวัดใดกล้าประกาศเพราะกลัวจะกระทบการท่องเที่ยวและกลัวถูกฟ้องจากภาคเอกชน

2.ระบบการพยากรณ์ความรุนแรงของฝุ่นPM 2.5ยังไม่ชัดเจนและไม่แม่นยำ ทุกวันนี้กรมอุตุนิยมวิทยาจะทำหน้าที่พยากรณ์สภาพลมฟ้าอากาศ ดังนั้นเครื่องมือที่จัดหามาก็นำมาใช้เพื่อการพยากรณ์อากาศเท่านั้น ไม่ได้ใช้เพื่อทำนายปริมาณฝุ่นPM 2.5 ที่จะเกิดขึ้นล่วงหน้าเช่น กรมอุตุนิยมวิทยาจะทำการตรวจวัดความเร็วและทิศทางลมรวมทั้งความชื้นที่ระดับยอดหญ้าทุก3 ชั่วโมงแต่ถ้าจะใช้ทำนายปริมาณฝุ่นPM 2.5ต้องเป็นเสาวัดทิศทางและความเร็วลมมีความสูงอย่างน้อย10เมตรขึ้นไปโดยตรวจวัดทุก1ชั่วโมง รวมทั้งต้องติดตั้งเครื่องมือตรวจวัดความสูงของภาวะอุณหภูมิผกผัน(Temperature inversion)หรือ Mixing height เป็นต้น ดังนั้นถึงแม้กรมควบคุมมลพิษจะนำข้อมูลไปเข้าแบบจำลองทางคณิตศาสตร์เพื่อทำนายก็ยังไม่แม่นยำเพียงพอโดยจะไม่รู้ว่าปริมาณฝุ่นมีปริมาณมากน้อยและส่งผลไกลแค่ไหน นอกจากนี้จังหวัดเชียงใหม่จะขอใช้ App.CMI ซึ่งเป็นผล ผลิตของนักวิจัยในจังหวัดเชียงใหม่ (โดยใช้เครื่องมือที่ทำการตรวจวัดอากาศเป็นค่าReal time) และทำการคาดการณ์ล่วงหน้าส่งไปยังโทรศัพท์มือถือของประชาชนในจังหวัดเพื่อแจ้งเตือนการป้องกันตัวเองแทนการใช้ App.Air4thai ด้วย

3.การประชาสัมพันธ์เรื่องอันตรายและการให้ประชาชนป้องกันตัวเป็นรูปแบบเดิมๆไม่ได้กระตุ้นหรือจูงใจให้เกิดความตระหนักมากขึ้น ขณะเดียวกันประชาชนเริ่มเคยชินกับการอยู่ร่วมกับฝุ่นแล้ว ดังนั้นหน่วยงานต้องเปลี่ยนรูปแบบการสื่อสารความเสี่ยงให้ชัดเจนให้ประชาชนมีความตระหนักซึ่งกรมประชาสัมพันธ์ต้องเข้ามามีบทบาทมากขึ้น ดังนั้นจึงควรให้มีการแจ้งและทำนายสถานการณ์ฝุ่นPM 2.5ในสื่อต่างๆไปพร้อมกับที่มีการพยากรณ์ลมฟ้าอากาศของกรมอุตุนิยมวิทยาด้วย

Advertisement

4.ในพื้นที่9จังหวัดภาคเหนือที่มีปัญหาฝุ่นPM 2.5ทุกปียังไม่ได้บูรณาการในการจัดการเรื่องการเผาวัสดุทางการเกษตรเหลือใช้ให้ชัดเจน แต่ต่างคนต่างทำ ดังนั้นการประกาศงดการเผาจึงขึ้นกับแต่ละจังหวัดจะประกาศเอง แต่ปัญหาฝุ่นPM 2.5ส่วนใหญ่เกิดจากการ”ชิงเผา”ของเกษตรกรในแต่ละจังหวัดทำให้ฝุ่นควันจากจังหวัดหนึ่งข้ามแดนไปอีกจังหวัดหรืออาจเกิดการชิงเผาพร้อมกันในพื้นที่9จังหวัดภาคเหนือ เช่น การเผาที่ลำปาง เชียงใหม่ เป็นต้น

5.ปีนี้รัฐบาลโดยสำนักงานอ้อยและน้ำตาลกำหนดให้โรงงานน้ำตาลรับอ้อยไฟไหม้เข้าโรงงานได้ ร้อยละ50 โดยจะหักเงินค่าปรับ30บาทต่อตัน ซึ่งจะเกิดการเผาไร่อ้อยประมาณ6ล้านไร่(ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลางและภาคตะวันตกซึ่งมีโรงงานน้ำตาลทรายอยู่ถึง52จาก58แห่ง)โดยอ้อยไฟไหม้เมื่อตัดแล้วต้องเข้าหีบอ้อยภายใน2วันไม่เช่นนั้นความหวานจะลดลงมาก ดังนั้นจะเห็นว่าในเดือนมกราคมถึงกลางเดือนกุมภาพันธ์จะเกิดการเผาไร่อ้อยจำนวนมากที่จังหวัดกาญจนบุรี นครสวรรค์ สุพรรณบุรี ราชบุรี นครราชสีมา เป็นต้น รัฐบาลยังไม่ชัดเจนเรื่องนี้

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image