นักวิชาการข้องใจ รัฐเมินใช้ยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปีด้านสาธารณสุข จัดการโควิด-19

วันที่ 26 มีนาคม นายยุทธพร อิสรชัย นักวิชาการจากคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช เปิดเผยว่า หลังจากมีวิกฤตการระบาดของโควิด-19 มีการประกาศใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน แต่ยังไม่เห็นรัฐบาลได้ใช้แนวทางที่กำหนดไว้ในยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปีด้านสาธารณสุขเข้ามาบริหารจัดการ เบื้องต้นสะท้อนให้เห็นว่ายุทธศาสตร์ชาติ ไม่ได้เป็นสิ่งที่ถูกกำหนดขึ้นมาอย่างมีประสิทธิภาพหรือไม่ หรือไม่สอดคล้องกับความเปลี่ยนแปลงต่างๆในทางสังคม เศรษฐกิจ หรือ การเมือง ทำให้ก่อนหน้านี้มีคำถาม มีข้อท้วงติงตั้งแต่การยกร่าง การกำหนดให้เป็นกฎหมายที่เขียนไว้ในรัฐธรรมนูญ แต่ล่าสุดเห็นชัดเจนว่าในยุทธศาสตร์ไม่ได้พูดถึงเรื่องความมั่นคงในรูปแบบใหม่ ที่เป็นภัยด้านความมั่นคงจากปัจจัยภายนอกที่มองไม่เห็น เพราะยุทธศาสตร์ชาติมาจากวิธีคิดของรัฐราชการ อาจมองเรื่องความมั่นคงของรัฐเป็นหลัก ซึ่งไม่สอดรับกับสถานการณ์ในปัจจุบัน ทำให้เห็นว่าสิ่งที่เขียนไว้ในยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ไม่ทันกับความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น

นายยุทธพรกล่าวว่า หากมีการประกาศใช้กฎหมายฉุกเฉิน แต่อีกด้านประชาชนยังขาดแคลนปัจจัยที่จำเป็นในการป้องกันตนเองทั้งหน้ากากอนามัย เจลล้างมือ ก็เป็นภาพสะท้อนให้เห็นว่าในที่สุด ในหลักการที่บอกว่าทุกคนต้องเข้าถึงได้เรื่องบริการสาธารณสุข ก็ไม่ได้รับการปฏิบัติอย่างจริงจังจากภาครัฐ ดังนั้นสิ่งที่จะสร้างความเชื่อมั่นให้กับประชาชน รัฐจะต้องทำให้ประชาชนเข้าถึงสิ่งเหล่านี้ได้อย่างกว้างขวาง ไม่ขายหน้ากากเฉพาะในร้านธงฟ้าที่มีภาพประชาขนรอคิวซื้อสินค้าที่มีจำกัดทำให้มีความเสี่ยงกับการแพร่เชื้อ หรือปล่อยให้มีการขายสินค้าที่ไม่มีคุณภาพจากการซื้อขายออนไลน์

“ขณะที่ประเทศญี่ปุ่นมีการแจกถึงทุกบ้านโดยตรง ดังนั้นหากมีการใช้กฎหมายฉุกเฉิน แต่ไม่ได้มองผลกระทบจากมิติด้านอื่นในด้านการบริหารจัดการก็คงไม่เกิดสัมฤทธิ์ผลเท่าที่ควร หรือ ประกาศใช้กฎหมายฉุกเฉินแล้วมีการดึงอำนาจไปไว้รวมศูนย์ที่รัฐบาลก็จะแก้ปัญหาได้ยาก ทั้งที่หลายเรื่องควรต้องกระจายให้ท้องถิ่นดำเนินการ โดยรัฐเป็นผู้สนับสนุน เพราะรัฐควรมองถึงภาพรวมของความมั่นคงทางสังคมเป็นหลักเพื่อให้ประชาชนพ้นจากวิกฤตโดยเร็ว”นายยุทธพรกล่าว

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image