กรมการแพทย์-อย. ยัน เตียง-เครื่องช่วยหายใจมีพอ แม้ป่วยพุ่งวันละ 200-300 ชี้ปัญหาหน้ากากผ่านไปแล้ว lส่วนN95 ของหมอกำลังกระจาย

รายการโหนกระแสวันที่ 30 มีนาคม ซึ่งมี “หนุ่ม กรรชัย กำเนิดพลอย” เป็นผู้ดำเนินรายการ  เกาะติดสถานการณ์ไวรัสโควิด-19 เรื่องอุปกรณ์ทางการแพทย์ ที่กระทรวงสาธารณสุขบอกว่าอุปกรณ์เพียงพอ หน้ากากมีซัพพอร์ตแพทย์ เครื่องช่วยหายใจ เตียงพร้อม แต่ประเด็นที่โผล่มาจากหลายๆ รพ. ขอความร่วมมือบริจาค หรือเอาเงินไปซื้อหน้ากากอนามัยใช้เอง แพทย์บางรพ. เอาหน้ากากไปซักน้ำแล้วตากแดด เขาบอกว่าจำเป็น ไม่งั้นก็ไม่มีใช้ สุดท้ายภาคเอกชนต้องช่วยเหลือกันบริจาค แล้วภาครัฐทำอะไรอยู่ วันนี้พูดคุย “นพ. สมศักดิ์ อรรฆศิลป์” อธิบดีกรมการแพทย์ และ “นพ.สุรโชค ต่างวิวัฒน์” รองเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา

เมื่อครั้งที่แล้วเราคุยกันเรื่องเตียง ท่านยังยืนยันว่าเตียงเพียงพอ?
นพ.สมศักดิ์ : “ถ้าคุณหนุ่มจำได้ คราวที่แล้วผมบอกว่ามี 600 กว่าเตียงไม่รวมอกชน ตัวเลขที่ให้ดูวันนี้เป็นตัวเลขคราวที่แล้วที่มันปรับไปเรื่อยๆ ตอนนี้มีของเอกชนเข้ามาร่วมด้วย จะเห็นว่าพันเตียงไม่รวมหอผู้ป่วยเฉพาะกิจกับหอพักมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ตอนนี้ที่สำรองเอาไว้เราเรียกว่าหอผู้ป่วยเฉพาะกิจทั้งสองแห่ง เรามีอีกเกือบ 600 เตียง ไม่รวมจุฬาฯ ที่เขาทำเอง 40 กว่าเตียง ตรงนี้ผมยืนยัน ถ้าดูสไลด์ถัดไป จะเห็นว่าจำนวนผู้ป่วยที่อยู่ในรพ. แอดมิดอยู่ 800 กว่าคน เอาแค่เตียงในรพ.ก็เกินแล้ว ถ้ารวมหอผู้ป่วยเฉพาะกิจที่เราตั้งในโรงแรม มีเหลืออีกเยอะ”

คำว่าโรงแรมกับหอพัก หมายถึงผู้ป่วยโควิดที่ลักษณะเขาเริ่มดีขึ้นแล้ว และย้ายจากผู้ป่วยหนักไปผู้ป่วยเบา กักตัวที่โรงแรมดูอาการ?
นพ.สมศักดิ์ : “ครับ ที่เราบอกว่าจะมีคนไข้ 70 เปอร์เซ็นต์อาการน้อยๆ 20 เปอร์เซ็นต์ไม่มีอาการใดๆ เลย มานอนรพ. 1 อาทิตย์ ดีหมด เอกซเรย์แล้วไม่มีอะไร ไข้เริ่มลง หลังจาก 7 วันเราให้ย้ายไปอยู่โรงแรม หรือหอพักที่ธรรมศาสตร์”

มีกรณีคนป่วยบางรายไปรักษาที่รพ.ภาครัฐ ปรากฏว่าอยู่ 4 วันส่งกลับบ้านและไปอยู่ในคอนโด คนในคอนโดก็ถามว่ากลับมาได้ยังไง เพราะยังไม่มีการทดสอบเชื้อว่าเป็นลบสองครั้งหรือเปล่า แล้วจะมั่นใจได้ยังไง เขาเลยมีคำถามว่าในเมื่อเตียงมีแล้วให้กลับบ้านทำไม?
นพ.สมศักดิ์ : “จริงๆ ตอนนี้เรามีแนวทางการรักษาออกมาใหม่วันนี้เลย ว่ายังไงก็ตามต้องอยู่ในพื้นที่รัฐจัดให้ 14 วัน ไม่ต้องกลับบ้านแล้ว เพราะเราพบปัญหาแล้ว เพราะที่เห็นมี 7 วันคุยกันรู้เรื่องว่ากลับไป คุณหนุ่มต้องลองอยู่ในห้องคนเดียว บางคนเขาเบื่อจริงๆ เมื่อวานท่านรองนายกฯ ไปเยี่ยม ที่รามาจักรีนฤบดินทร์ ที่บางพลี สมุทรปราการ ผมไปด้วย ท่านก็สัมภาษณ์ผ่านวิดีโอคนไข้คนนึงเขาบอกเขาเบื่อมาก เขาอยากกลับบ้าน ตรงนี้ถ้าเป็นของเก่าก็จะบอกว่า 7 วันแล้วดีอยากกลับบ้านก็คุยกันได้ แต่ต้องแยกตัวเองได้แน่ๆ นะ แต่ของใหม่ไม่ได้แล้ว เพราะบางรายเขาไม่ได้อยากกลับ เขาขอให้ 14 วันเราดูแล หลัง14 วันกลับไปก็ต้องแยกตัวให้ครบเดือน ก็เริ่มจากวันนี้ พอกลับไปแล้วก็ให้กักตัวเองครบ 30 วัน”

Advertisement

เครื่องช่วยหายใจ เตียงพอ เครื่องช่วยหายใจล่ะ?
นพ.สมศักดิ์ : “จริงๆ ต้องบอกว่าสมาคมอุรเวชช์ที่ดูเรื่องนี้ หมอปอดจะใช้เครื่องช่วยหายใจมากที่สุด เรามีการสำรวจทั้งประเทศมีประมาณหมื่นเครื่อง ใช้ในผู้ป่วยทั่วๆ ไปด้วย แต่ยืนยันว่าเครื่องช่วยหายใจเรามีเพียงพอแน่นอน อันนี้เป็นอันนึงที่เรามั่นใจว่าเรามีเครื่องช่วยหายใจเพียงพอ ยกเว้นมาในวันเดียวเป็นหลายๆ หมื่น ตอนนี้ไม่น่ามีปัญหา ถ้าดูในกรุงเทพฯ โดยสรุปเรามีเครื่องช่วยหายใจที่อยู่ในห้องดูแลผู้ป่วยโควิด-19 เกือบๆ จะ 200 ตัวซึ่งไม่น่ามีปัญหาอะไร ตอนนี้เรามีคนใช้เครื่องช่วยหายใจในกรุงเทพฯ รวมๆประมาณ 10-20 ราย เมื่อกี้ 200 เครื่องนี่ไม่รวมเอกชนนะครับ แล้วเราก็มีทีมที่จะช่วยกันดู คือทีมสมาคมโรคติดเชื้อ ทีมสมาคมอุรเวช และทีมกรมการแพทย์ไปนั่งคุยกันว่าจะมีทางมั้ย ที่ไปเอาเครื่องช่วยหายใจ ที่อาจไม่ใช้ในแผนกอื่น คราวที่แล้วเรียนว่าเราเลื่อนนัดผู้ป่วยที่นัดผ่าตัดที่ไม่ได้เร่งด่วนออกไปก่อน ฉะนั้นเครื่องช่วยหายใจในวอร์ดอื่นๆ ก็จะมีเหลือ แต่เฉพาะในโควิดเรามี 200กว่าตัว ในภาครัฐนะครับ ตอนนี้ใช้ประมาณ 20 กว่าถ้าจำไม่ผิด”

ไม่ได้พูดให้เราคลายกังวล?
นพ.สมศักดิ์ : “ยังยืนยันอีกครั้ง ตรงนี้เราคุยกันทุกวันเสาร์ เสาร์ที่แล้วเราประชุมกันสามสี่ชม. สมาคมอุรเวชช์ สมาคมโรคติดเชื้อ คณะแพทย์ทุกคณะในกรุงเทพฯ เรามามานั่งุคยกันเพื่อเตรียมการในเรื่องนี้ เราให้สมาคมอุรเวชช์ไปดูต่อว่าถ้ามีคนไข้มาเยอะจริงๆ ในกรุงเทพฯ ที่ต้องใช้เครื่องช่วยหายใจ จะดูแลพ่อแม่พี่น้องยังไง”

Advertisement

เครื่องช่วยหายใจมีกี่แบบ?
นพ.สมศักดิ์ : “หลักๆ มีสองแบบ แบบเก่าและแบบใหม่ ซึ่งของใหม่จะควบคุมระบบอัตโนมัติได้ดีกว่าเดิม ซึ่งยังไม่ได้รวมรพ.เอกชน เป็นตัวเลขจริงๆ ที่เรานั่งทำงาน และภายใน 3-4 วัน นี้ ทีมสมาคมอุรเวชช์จะมาเสนออีกว่าเราจะขยายในกรุงเทพฯ ต่อยังไง ถ้าสถานการณ์มันมีมากขึ้น”

ทางท่านรองฯ เป็นหน่วยที่ต้องดูเรื่องหน้ากากอนามัยทางการแพทย์โดยตรง?
นพ.สุรโชค : “เราได้รับมอบหมายมาจากทางอย. ท่านเลขาฯ เป็นประธาน มีผู้ร่วมมาเป็นคณะกรรมการหลายภาคส่วนรวมทั้งหน่วยงานภายนอกด้วย ในการมาช่วยกันกระจายทรัพยากรที่เกี่ยวกับโควิด-19 ไม่ว่าจะหน้ากากอนามัย ตอนนี้พอมีผู้ป่วยเยอะขึ้นก็มี PPE N95”

ภาครัฐประกาศว่าเพียงพอ?
นพ.สุรโชค : “ต้องแยกกันก่อนว่าหน้ากากอนามัยมันผ่านไปแล้ว ง่ายหน่อยเพราะเราผลิตในประเทศไทย เราก็ไปคุยกับผู้ผลิตในประเทศ”

ตัวN95 ที่หมอจำเป็นต้องใช้ ตอนนี้ขาดตลาด ราคาเป็นร้อย หมอไม่มีใช้?
นพ.สุรโชค : “เนื่องจากN95 ถ้าเป็นมาตรฐานทางการแพทย์ จะมีบริษัทที่ผลิตได้น้อยราย และส่วนใหญ่ก็คือติดต่างประเทศ เดิมเราสั่งจากต่างประเทศเข้าา มีผลิตในประเทศมีรายเดียว แต่เขาผลิตเพื่อส่งออก พอสถานการณ์แบบนี้เราได้เจรจากับเขา เขาก็เริ่มขายในประเทศด้วย ถ้าเอาเฉพาะที่เราเคยซื้ออยู่เดิม เดือนที่แล้วเขาส่งให้เราแค่ 6 หมื่นชิ้น พอผู้ป่วยเพิ่มขึ้นก็ไม่พอ ก็ได้บริษัทในประเทศเข้ามาขาย 2 แสนชิ้น ตอนนี้เรากระจายไป ต้องเรียนว่าก่อนหน้านี้ในหลายรพ. มีสต๊อกของตัวเองในระดับหนึ่ง แต่พอสองอาทิตย์ที่ผ่านมายอดผู้ป่วยเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ก็ทำให้ยอดสต๊อกหายไป จนทำให้ทุกคนเริ่มไม่สบายใจ การกระจายเราก็กระจายไปตามที่มียอดผู้ป่วยไป สินค้าเข้ามาในช่วงสองสัปดาห์หลังนี้พอดี พอเข้ามาก็เริ่มกระจาย บางรพ.จึงได้รับเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว ก็อาจรู้สึกว่าทำไมสินค้าไม่พอ แต่ส่วนหนึ่งต้องยอมรับว่าสถานการณ์แบบนี้มันเกิดขึ้นทั่วโลก ว่า N95 ทางการแพทย์น้อยลง เราก็มีการประชุมกับผู้เชี่ยวชาญว่าเราจะยอมรับมาตรฐานยังไง ยังไงก็ตามเราต้องอิงท่านรมต. รมต. ช่วยบอกเลยว่ายังไงต้องให้มาตรฐานดูแลผู้ป่วยดีที่สุด เดิมเราใช้ของอเมริกา แต่จริงๆ ของจีน ยุโรปก็มีมาตรฐานเขาเราก็มาดูว่าอะไรที่ได้มาตรฐานบ้าง ทำให้สินค้าที่เข้ามาได้มาตรฐาน จำนวนที่เข้ามา ไม่ได้ซื้อเฉพาะอเมริกา”

กระแสเรื่องรพ.แพทย์เขาร้องหาว่าเขาไม่มี N95 ใช้ มันดูสวนทางกับท่านรองฯ บอก ความชัดเจนอยู่ตรงไหน ทำไมแพทย์เหมือนต้องการใช้เพราะขาดจริงๆ ล่าสุดทางรพ.ชัยภูมิก็ได้รับการ้องเรียนไม่มีชุด PPE ในการให้วิสัญญีใส่ให้ยาสลบเหมือนขาดกันทั้งประเทศ?
นพ.สุรโชค : “ชุด PPE ต้องยอมรับว่าสินค้าเพิ่งเข้ามาเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว ตั้งแต่วันศุกร์เรากระจายสินค้าไป 5 หมื่นกว่าชุด ผมเชื่อว่าชัยภูมิเขาจะได้ชุด PPE ไปภายในวันสองวันนี้ แต่จะมีอันนึงซึ่งเราคำนวณตามยอดผู้ป่วย ซึ่งมีผู้ป่วยอยู่ 50 จังหวัด จะมีบางจังหวัดที่ไม่ได้ของก็จะเป็นประเด็นนิดนึงแต่ตอนนี้เราดูสต็อกของรพ. ว่าจะมีอย่างน้อยเท่าไหร่ จะทำให้สบายใจขึ้นให้แต่ละคนมีสต็อกระดับหนึ่ง”

มีเพจซึ่งเป็นของแพทย์ผู้เชี่ยวชาญโรคหัวใจ ที่บอกว่าหน้ากากขาดแคลนอย่างหนัก N95 ขาดแคลนอย่างหนัก โรงเรียนแพทย์ยังเอา N95 มาอบฆ่าเชื้อและใช้ซ้ำ?
นพ.สุรโชค : “ก่อนมาเข้ารายการเราก็ประชุมกับผู้เชี่ยวชาญ เรามีมาตรการคล้ายๆ กับของอเมริกาเหมือนกัน ตอนนี้ทุกประเทศมาคุยกันว่ามาตรฐานทั่วโลกยอมรับของอะไร ใช้รุ่นไหนได้บ้าง ถ้าเรายอมรับได้หลายรุ่นมากขึ้นก็จะมีสินค้าที่สามารถซื้อได้ทั่วโลกมากขึ้น ตอนนี้จะมีเข้ามาให้เรา 3 แสนในเดือนเมษายน”

นานไปมั้ย?
นพ.สุรโชค : “เราเพิ่งกระจายไป 2 แสนชิ้น”

ดาราช่อง 3 ทุกวันจะเห็นว่ามีการสั่งซื้อหน้ากากอนามัย ราคาสูงแต่ก็สู้ ภาครัฐไปซื้อก่อนเพื่อประทังไปก่อน?
นพ.สุรโชค : “ต้องเรียนว่าสินค้าที่เขาโชว์ๆ ไม่สามารถเอามาใช้ในทางการแทพย์ได้ N95 มีสองแบบ แบบนึงใช้ในทางการแพทย์ กับแบบที่ใช้กันฝุ่น ตอนนี้สินค้าได้เข้ามาอย่างที่เรียนคุณหนุ่มว่าอาทิตย์ก่อนเข้ามาแสน อาทิตย์นี้เข้ามาแสนก็กระจายไปสองแสน เดือนหน้าอเมริกา 2 แสน ญี่ปุ่นแสนนึง จีนถ้าตามที่เขาสัญญาล้านกว่าชิ้น เราก็คิดว่าเดือนเม.ย.ก็จะเพียงพอ ภายในสัปดาห์นี้มาแน่”

ภาพที่คุณหมอนั่งเย็บกันเอง บุคลากรทางการแพทย์นอกเหนือจากสู้กับเชื้อก็ยังขาดหน้ากาก?
นพ.สุรโชค : “หน้ากากในภาพที่เห็นเป็นหน้ากากทางเลือก ใช้สำหรับคนที่มีความเสี่ยงต่ำ แต่ถ้าหน้ากาก N95 จะผลิตยาก อย่างที่เรียนว่าผู้ป่วยเยอะขึ้นเร็วมาก ทุกคนก็ไม่สบายใจเกรงว่าจะไม่พอ แต่นโยบายรัฐบาลต้องจัดหาหน้ากากตรงนี้ให้พร้อม ซึ่งตอนนี้กระจายไปทุก 2 วันเลยครับ สินค้าเข้ามาก็ออกไปตลอด”

ขออนุญาตเรียนถามว่ากระทรวงสาธารณสุขกำลังทำ เดินช้าไปสองก้าวมั้ย?
นพ.สุรโชค : “เรื่องหน้ากากตัวแปรสำคัญคือ N95 ช่วงที่แล้วดูเหมือนช้าไปนิดทำให้สต๊อกเราไม่มี แต่อย่างไรก็ตามตอนนี้ชดเชยสินค้าที่ทุกคนไม่มีไปแล้ว ชุด PPE อาทิตย์ที่แล้ว 5 หมื่นชุด ตอนนี้เข้ามาอีกแสนชุด และมีสมาคมผู้ผลิตสิ่งทอและเป๊ปไทน์ เขาผลิตชุดที่ไม่จำเป็นต้องไปดูคนไข้ในห้องที่ต้องใช้เครื่องช่วยหายใจ เจ้าหน้าที่ใส่ตัวนี้ได้ เราดูมาตรฐานแล้วก็ทำได้ ทำให้เดือนเม.ย. ชุดพวกนี้น่าจะเพียงพอ”

กรณีตัวเทสที่จุฬาฯ ทำออกมาดูแล้วเป็นยังไง?
นพ.สมศักดิ์ : “คงเป็นเรื่องที่เขากำลังทำเรื่องวิจัย แต่ต้องเรียนว่าชุดตรวจต้องให้กรมการแพทย์ช่วยดู ณ ปจจุบันนี้การวินิจฉัยรักษา ก็ยังตรวจตัวเชื้ออยู่”

ยังดีกว่าไม่มีเลยมั้ย?
นพ.สมศักดิ์ : “ขึ้นอยู่กับสภาวการณ์เหมือนที่เรียน อย่างการเตรียมก็เหมือนกัน เราก็เตรียมและพยายามดักไว้ก่อนล่วงหน้า เรื่องการรักษาเราพยายามดักไว้ก่อน เรารู้ว่าจะมาร้อยเราก็เตรียมคุย พอเรารู้ว่ามาร้อยแล้วเราก็เตรียม เรื่องแล็ปตอนนี้กรมวิทย์ก็กำลังทำการบ้านกันอยู่ จะมีคำตอบมาบ้าง ขึ้นอยู่กับสภาวการณ์”

เตียงมีพอ ในอนาคต ถ้าไม่เพิ่มตัวเลขเยอะๆ?
นพ.สมศักดิ์ : “ถ้าวันละ 200-300 เรายังไม่ห่วง”

นพ.สุรโชค : “อย่างที่บอกเราไม่อยากให้ขึ้นไปหลายพัน แต่ในหลักที่เราคำนวณในสถานการณ์ปัจจุบัน หลังเมษาก็น่าจะผ่านพ้นไปได้ด้วยดี สิ่งที่เตรียมไว้น่าจะเพียงพอ”

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image