‘หมอสุภัทร’ เปิดสูตร 80-15-5 อัตราการติดเชื้อไวรัสโควิด-19

‘หมอสุภัทร’ เปิดสูตร 80-15-5 อัตราการติดเชื้อไวรัสโควิด-19

เมื่อวันที่ 6 เมษายน นพ.สุภัทร ฮาสุวรรณกิจ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลจะนะ จ.สงขลา โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัว นพ.สุภัทร ฮาสุวรรณกิจ ระบุว่า ความเข้าใจพื้นฐานต่อโรคโควิด ตอนที่ 1 โควิด ระดับการป่วยจะเป็น 80-15-5 ตัวเลขที่ต้องรู้ ความเข้าใจของผู้คนตอนนี้ เข้าใจว่าเป็นโควิดแล้วจะต้องมีอาการหนักแน่ๆ ซึ่งไม่จริง โควิดเป็นเชื้อโคโรนาไวรัส มีอัตราการติดเชื้อสูงแต่ความรุนแรงค่อนข้างต่ำ อาการของการติดเชื้อโควิดคือ 80-15-5

นั่นคือ ใน 100 คนที่ติดเชื้อ จะมี 80 คน ที่ไม่มีอาการ หรือมีอาการน้อย เช่น แค่ไอนิดหน่อย ไข้ต่ำๆ ไม่กี่วัน เมื่อยๆ ตามตัว และหลายคนไม่มีอาการ คนกลุ่มนี้ก็แพร่เชื้อได้ แต่เพราะไม่ไอจาม หรือไอจามน้อย โอกาสแพร่เชื้อก็ไม่ได้มากนัก การแพร่เชื้อหลักจะมาจากสัมผัสใกล้ชิด คนที่เสี่ยงคือคนในครอบครัว

จะมี 15 คน ที่อาการปานกลาง เช่น ไข้สูง ไอมาก เหนื่อยง่าย มักจะรู้สึกป่วยจนมาพบแพทย์ คนกลุ่มนี้จะแพร่เชื้อได้มากกว่า ซึ่งสำหรับแพทย์แล้วก็เป็นการยากมากที่จะบอกว่าใช่โควิดหรือไม่ หากไม่ตรวจเชื้อ เราก็ไม่รู้ ครั้นจะตรวจเชื้อทุกรายและให้นอนพักระหว่างรอผลเชื้อทุกรายก็ต้องใช้ทรัพยากรมหาศาล

และมีเพียง 5 คน ที่มีอาการรุนแรง มีภาวะปอดบวมรุนแรง ต้องการการดูแลทางการแพทย์ที่จริงจัง บางส่วนอาจต้องใช้เครื่องช่วยหายใจ ใน 5 คนนี้ มีอัตราเสียชีวิตราว 1-2 คน หากโรงพยาบาลมีเตียงรับไว้ดูแลมากพอ อัตราตายก็จะต่ำ หากโรงพยาบาลล้นอัตราตายก็จะเพิ่ม

Advertisement

ดังนั้น อย่าลืม 80-15-5

เนื่องจากคนส่วนใหญ่ที่มีเชื้อมีอาการน้อย หรือไม่มีอาการ ดังนั้น social distancing หรืออยู่กันห่างๆ จึงสำคัญ ไวรัสแพร่จากการสัมผัสและไอจาม ไม่ได้แพร่ทางอากาศ เพียงอยู่ห่างๆ กันสักนิดก็ได้ผลอย่างยิ่ง ออกตลาดได้ ไปหาซื้ออาหารขนมนมเนยมาทานได้ ไปร้านค้าย่อยซื้อของจำเป็นได้ ยังไม่ถึงกับต้องกักตัวเองอยู่แต่ในบ้าน เศรษฐกิจจะได้เดินต่อได้บ้าง หากผู้คนไม่มีรายได้ ตกงาน ปัญหาอื่นๆ จะตามมาครับ

ความตระหนกและหวาดกลัวต่อโรคโควิดสูงมากจนระบบในสังคมกำลังอัมพาต และจะอัมพาตยาวเป็นปี ซึ่งเป็นเรื่องที่น่าเป็นห่วงมาก ความเข้าใจพื้นฐานที่ตรงกันของคนในสังคม จะช่วยให้ทุกคนสามารถออกแบบชีวิตของตนเองกับสภาวะโควิดระบาดได้เหมาะสมขึ้นครับ

Advertisement

ก่อนจะโพสต์ตอนที่ 2 ในเวลาต่อมา เรื่อง ความเข้าใจพื้นฐานต่อโรคโควิด ตอนที่ 2

โควิด เมื่อไหร่จะหยุดระบาด

ปิดเมืองปิดประเทศปิดหมู่บ้านจะหยุดไหม คำตอบคือ เป็นเพียงการชะลอการระบาดออกไปเท่านั้น ยังไม่ใช่วิธีที่จะยุติการระบาดได้ จะปิดไปสักพักก็ต้องเปิดในที่สุด เพราะระบบเศรษฐกิจจะชะงัก ผู้คนจะอยู่ไม่ได้ และเมื่อเปิดเมือง เปิดการสัญจรของผู้คน การแพร่ระบาดก็จะค่อยๆ กลับมา เช่นเดียวกัน ในประเทศจีน ซึ่งก็อาจต้องปิดเมืองกันอีกหลายๆ ระลอก

จากความรู้ทางการแพทย์ โรคไวรัสที่เป็นโรคทางเดินหายใจนั้นจะหยุดระบาดเมื่อผู้คนส่วนใหญ่มีภูมิคุ้มกันแล้ว ซึ่งการที่ผู้คนจะมีภูมิคุ้มกันได้นั้น เกิดได้ใน 2 กรณีคือ

หนึ่ง เมื่อคนในชุมชนหรือในพื้นที่นั้นๆ มีการติดเชื้อแล้วจำนวนมาก ทำให้เกิดภูมิต้านทานรวมหมู่ หรือที่เรียกว่า herd immunity คนที่มีภูมิจำนวนที่มากพออย่างน้อยก็ต้องเกิน 50% ของคนในชุมชน จะทำให้โรคค่อยๆ แพร่ได้น้อยลงไปโดยปริยาย

สอง เมื่อมีการสร้างภูมิคุ้มกันให้แก่ผู้คนด้วยวัคซีน ซึ่งประมาณว่ากว่าจะมีวัคซีนก็น่าจะใช้เวลาอย่างน้อย 1 ปี หรือไม่ก็ราว 18 เดือนเป็นอย่างเร็ว แถมประเทศเราไม่ใช่ผู้ผลิตวัคซีนเอง ยุโรป อเมริกา จีน ซึ่งผลิตวัคซีนได้ก็มีความจำเป็นต้องใช้ในประเทศเขาอย่างมาก แล้ววัคซีนจะตกมาถึงประเทศไทยแค่ไหน ตกมาถึงแล้ว คนรวยจ่ายเงินเองฉีดก่อน แล้วสามัญชนคนเดินดินจะได้รับวัคซีนไหม อย่างไร ยังเป็นเรื่องอนาคตที่วุ่นวายน่าดู

สำหรับประเทศไทย เราเลือกเดินบนเส้นทางของการให้มีการระบาดช้าๆ เพื่อให้ภาคสาธารณสุขรับมือไหว ซึ่งแน่นอนว่า herd immunity ก็จะเกิดช้า วัคซีนก็อีกนาน จึงมั่นใจได้ว่า ด้วยสถานการณ์เช่นนี้ การระบาดจะต่อเนื่องยาวนานเป็นปี จำนวนผู้ป่วยและเสียชีวิตขึ้นๆ ลงๆ ตามความเข้มของมาตรการ เศรษฐกิจจะซึมยาวมาก ผู้คนโดยเฉพาะคนจน คนหาเช้ากินค่ำ คนทำงานที่เงินเดือนน้อยจะมีชีวิตที่ยากลำบากมาก นานวันเข้าปัญหาอาชญากรรมจะเพิ่มขึ้น ความรุนแรงในสังคมอาจเพิ่มขึ้น

เมื่อไหร่จะหยุดระบาด คำตอบที่ยากคาดเดา แต่คงยาวนับปี ดังนั้น ประเทศจะจัดระบบเศรษฐกิจที่จะประทังให้ผู้คนมีชีวิตอยู่ที่ไม่ลำบากจนเกินไปในท่ามกลางสถานการณ์โควิดที่ยืดเยื้อได้อย่างไร นี่คือโจทย์ใหญ่มากของรัฐบาลและประชาชนคนไทย

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image