โลกไม่เหมือนเดิม! ทพ.กฤษฎา เผย 3 วิธีโควิดจบ ชี้ปรับตัว ต้องอยู่กับไวรัสอย่างน้อย 18 เดือน

โควิด

โลกไม่เหมือนเดิม! ทพ.กฤษฎา เผย 3 วิธี โควิด จบ ชี้ปรับตัว ต้องอยู่กับไวรัสอย่างน้อย 18 เดือน

โควิด – เมื่อวันที่ 12 เมษายน ทันตแพทย์กฤษดา เรืองอารีย์รัชต์ อดีตผู้อำนวยการองค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทย (ส.ส.ท.) ได้โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัว ในประเด็น “COVID-19 จะจบเมื่อไหร่?” ความว่า

“เป็นเวลา 3 เดือนเต็มนับจากที่ประเทศไทยพบผู้ป่วย COVID รายแรกเมื่อวันที่ 13 มกราคม 2563 หลายคนอึดอัดและอยากรู้ว่าเมื่อไหร่ประเทศไทยถึงจะพ้นจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคนี้สักที ในแต่ละวันก็นั่งลุ้นการประกาศจำนวนตัวเลขผู้ป่วยรายใหม่ หลายวันนี้ตัวเลขดูลดลงเรื่อยๆ หรือว่าในไม่ช้านี้ โรคร้ายนี้จะหายไปจากประเทศไทย และพวกเราทุกคนจะได้กลับมาใช้ชีวิตอย่างปกติสุขกันซะที

อยากแชร์ให้ทุกคนฟังว่า โรคร้ายนี้จะจบได้มีเพียง 3 วิธี คือ

1. คนในประเทศไทยต้องมีภูมิต้านทาน จำนวน 60% ของประชากรทั้งหมด หมายความว่าต้องมีคนไทยมีภูมิต้านทานอย่างน้อย 40 ล้านคน โรคนี้ถึงจะไม่แพร่ระบาดอีก และการที่จะมีภูมิต้านทานมีสองวิธี คือติดเชื้อแล้วหาย และฉีดวัคซีน (ซึ่งปัจจุบันยังไม่มีวัคซีน) ปัจจุบันมีผู้ติดแล้ว 2,518 คน

Advertisement

สมมุติว่ายังมีผู้ติดเชื้อที่เราไม่รู้อีก 6 เท่า (เนื่องจากมีอาการน้อยๆ และไม่ได้ทำการตรวจ) จำนวน 15,108 คน จำนวนตัวเลข 15,108 คนนี้ยังนับว่าห่างไกลจากจำนวน 40 ล้านเป็นอย่างมาก และไม่มีประเทศใดในโลกที่จะยอมปล่อยให้คนติดเชื้อกันเยอะๆ จนถึงร้อยละ 60 เพราะจะมีคนป่วยจำนวนมากจนล้นโรงพยาบาล และนำมาซึ่งความสูญเสียอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

2. มีการคิดค้นวัคซีนได้ แล้วทำการฉีดให้คนไทยทุกคน วิธีการนี้นับว่าดีและปลอดภัยที่สุด แต่ติดที่กระบวนการผลิตวัคซีนไม่ได้ง่ายอย่างที่คิด เพราะต้องทำวัคซีนออกมา ทำการทดลองในสัตว์จนมั่นใจ แล้วจึงทดลองในคน ซึ่งหากไม่ได้ผล ก็ต้องกลับไปเริ่มต้นใหม่ ซึ่งมีการคาดการณ์ว่าวัคซีนตัวแรกอาจจะเสร็จใน 1 ปี และประเทศที่ผลิตได้ก็ต้องใช้กับประเทศเขาก่อน

ดังนั้นกว่าจะมาถึงเมืองไทย คงต้องใช้เวลาอย่างน้อย 18 เดือน

Advertisement

3. วิธีสุดท้ายคือการค้นพบยารักษา ซึ่งขณะนี้มีนักวิทยาศาตร์จากทั่วโลก กำลังดำเนินการอย่างเต็มที่
ปัจจุบันมีบางตัวที่รักษาได้ แต่ก็ยังไม่ง่ายเพียงพอ ที่จะใช้ในทุกคนที่ติดโรคนี้ ดังนั้นความหวังที่พบยารักษา COVID ที่ใช้รักษาได้ง่ายๆ เหมือนโรคติดเชื้ออื่นๆ ที่เรากินยาไม่กี่เม็ดก็จะหายได้

ดังนั้นความหวังที่จะมียารักษา คงไม่เร็ว และไม่ใครกล้าคาดการณ์ ว่าเป็นเมื่อไหร่

หากพิจารณาจากข้อมูลนี้ เราคงต้องอยู่กับ COVID ไปอีกอย่างน้อย 18 เดือน ถ้าเราไม่เครียด เข้าใจ รู้จักปรับตัวและยอมรับว่าจะอยู่ร่วมกับโรคร้ายนี้ไปอีก 18 เดือน เราก็จะไม่มีความทุกข์ และสามารถใช้ชีวิตได้อย่างมีความสุข

แต่ถ้าเราคาดหวังในสิ่งที่เป็นไปไม่ได้ เช่นจะร่วมกันพิชิตโรคร้ายนี้ให้จบใน 3 เดือน แล้วกลับมาใช้ชีวิตอย่างเป็นสุข เราก็จะมีความทุกข์ เครียด และไม่ได้วางแผนชีวิตอย่างถูกต้อง

ตัวอย่างเช่น ถ้าเราเป็นเจ้าของร้านอาหาร และคิดว่า Covid จะจบใน 3 เดือน เราก็จะหยุดทุกอย่างไว้ ใช้เงินสะสมที่มี เพื่อรอเวลาให้สถานการณ์ดีขึ้นแล้วค่อยกลับขายใหม่ แต่ถ้าครบ 3 เดือนแล้วโรคนี้ไม่หมดไป เราจะทำอย่างไร เงินสำรองที่มีก็หมดแล้ว ค่าเช่าร้านก็ต้องจ่ายทุกเดือน แบบนี้กิจการคงไม่รอด

แต่ถ้าเรายอมรับความจริง ยอมรับว่าโรคนี้อาจอยู่กับเรายาวไปอีก 18 เดือน และเริ่มปรับตัวทันที เราก็จะพยายามหาช่องทางขายใหม่ๆ ทั้งการขายผ่านออนไลน์ การส่งปิ่นโต การคิดเมนูใหม่เพื่อไม่ให้คนเบื่อ หรือการเจาะตลาดในหมู่บ้าน เป็นต้น

นี่เป็นเพียงตัวอย่างที่ยกขึ้นมา เพื่อให้เห็นภาพมากยิ่งขึ้น แต่ยังอีกมากมายที่แต่ละคนต้องคิด เช่น โรงแรมจะปรับอย่างไรเพราะนักท่องเที่ยวจากต่างชาติคงจะลดลงอย่างมาก ร้านอาหารจะทำอย่างไรถ้าไม่สามารถนั่งกินอาหารเป็นกลุ่มใหญ่ได้เหมือนเดิม ร้านค้าตามห้างจะทำอย่างไรถ้าคนเดินห้างลดลง ร้านขายของจะทำอย่างไรถ้าคนซื้อสินค้าลดลง ฯลฯ

เราคงต้องยอมรับว่าเราคงไม่สามารถใช้ชีวิตได้เหมือนเดิมในอีก 18 เดือนต่อไป เช่น

เราต้องสวมหน้ากากอนามัยทุกวันที่ออกจากบ้าน
เราต้องล้างมือบ่อยๆ
เราต้องรักษาระยะห่างจากเพื่อนๆ อย่างน้อย 2 เมตร
เราจะไม่สามารถนั่งกินข้าวกับเพื่อนเป็นกลุ่มใหญ่ๆ หัวเราะและคุยกันเสียงดังแบบเดิมได้
เราจะไม่สามารถชวนแฟนไปดูหนัง ไปเที่ยวผับหรือบาร์ได้
เราจะไม่สามารถเดินทางไปเที่ยวต่างประเทศ ได้ง่ายๆ แบบเดิม เพราะไปประเทศไหนก็ต้องถูกกักตัว 14 วัน
เราจะไม่สามารถจัดงานสังสรรค์ใหญ่ๆ เช่น งานแต่งงาน งานเลี้ยง งานประชุมสัมนา งานนิทรรศการ ฯลฯ

และโลกจะไม่เหมือนเดิม อย่างที่เราคุ้นชิน อีกต่อไป

หวังว่าข้อมูลชุดนี้จะเป็นประโยชน์ กับทุกท่าน ในการปรับตัวรับมือ COVID-19″

โดยภายหลังที่โพสต์ดังกล่าวเผยแพร่ออกไป ก็ได้รับความสนใจจากผู้ใช้งานโลกออนไลน์ เข้าไปแสดงความคิดเห็นและแชร์ออกไปอย่างต่อเนื่องถึง 1 หมื่นครั้ง

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image