แยกย้าย! นักวิทยาศาสตร์-นักดาราศาสตร์ ฟันธง แสงเหนือ เมืองระนอง คือเรือไดหมึก

แยกย้าย! นักวิทยาศาสตร์-นักดาราศาสตร์ ฟันธง แสงเหนือ เมืองระนอง คือเรือไดหมึก

เมื่อวันที่ 29 ตุลาคม กรณีชาวระนองฮือฮา ปรากฏการณ์แสงสีเขียว ครอบคลุมท้องฟ้าฝั่งทะเลทิศตะวันตก ล่าสุดมีความเห็นจาก อาจารย์คณะวิทยาศาสจตร์ จุฬาฯ และนักดาราศาสตร์ กรณีดังกล่าว

โดย รศ.ดร.เจษฎา เด่นดวงบริพันธ์ อ.คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาฯ โพสต์ข้อความ ระบุว่า

“แสงสีเขียว ที่ทะเลระนอง น่าจะเกิดจากเรือไดหมึกครับ”

มีทั้งคำถามจากนักข่าวและจากหลังไมค์เยอะแยะเช้านี้ ว่าที่มีคนพบ “ปรากฎการณ์แสงสีเขียว เหนือท้องฟ้าจังหวัดระนอง จนคนฮือฮาหยิบโทรศัพท์มือถือมาถ่ายภาพแชร์กันมากมายนั้น” เกิดจากสิ่งใดกันแน่ … ผมคิดว่า น่าจะเป็นแสงจาก “เรือไดหมึก ในคืนที่มีเมฆมาก” นะครับ

Advertisement

เหตุการณ์เกิดขึ้น เมื่อเวลา 19.00 น. วันที่ 28 ต.ค. ที่ผ่านมา ชาวระนองในหลายพื้นที่ เช่น หมู่บ้านปากคลอง ตำบลปากน้ำ ตำบลบางริ้น ตำบลหงาว และ ตำบลเขานิเวศน์ อำเภอเมืองระนอง ต่างฮือฮากับปรากฏการณ์แสงสีเขียว ครอบคลุมท้องฟ้าทางทะเลฝั่งทิศตะวันตก หลังพระอาทิตย์ลับขอบฟ้าไป จึงถ่ายภาพและนำมาแชร์กันเป็นจำนวนมาก

ที่นี้ ถ้าพิจารณาจากที่หลายคนตั้งสมมติฐานไว้ มีอะไรบ้างที่เป็นไปได้

– บางคนบอกว่า เป็นแสงจากอุกาบาตที่ตกลงสู่โลก หรือไฟร์บอล ซึ่งเมื่อวัตถุนอกโลกพวกนี้พุ่งผ่านชั้นบรรยากาศของโลก จะเกิดการเผาไหม้ และทำให้เห็นเป็นลูกไฟสีต่างๆ ได้ โดยเคยมีรายงานเห็นท้องฟ้าเป็นสีเขียวขณะที่เกิดไฟร์บอลขึ้น … แต่ ถ้าเป็นไฟร์บอล ก็น่าจะเกิดขึ้นแว้บเดียวในท้องฟ้าด้านที่อุกาบาตตกลงมา พร้อมกับแสงขาวสว่างของลูกไฟที่ลงมาด้วย ไม่ใช่จะเกิดนาน จนคนออกมาถ่ายรูปกันได้

– หรือถ้าบอกว่าเป็นแสงออโรร่า หรือแสงเหนือแสงใต้ นั้น ก็เป็นไปไม่ได้ที่จะเกิดขึ้นที่ประเทศไทย เพราะแสงพวกนี้เกิดจากการที่กลุ่มอนุภาคจำนวนมากจากดวงอาทิตย์ หรือที่เรียกกันว่า กระแสลมสุริยะนั้น พุ่งเข้ามาปะทะกับสนามแม่เหล็กของโลก และเกิดเป็นแสงสว่างขึ้นบนท้องฟ้าบริเวณใกล้กับขั้วโลก ไม่ใช่แถวเส้นศูนย์สูตรอย่างประเทศไทยเรา

– ที่เป็นไปได้มากที่สุด จึงเป็นแสงจากเรือไดหมึก ที่แล่นอยู่ในทะเลใช้หลอดไฟแสงสีเขียวในการล่อหมึก ให้มาจับที่ข้างเรือ โดยถ้าพิจารณาจากลักษณะของเฉดสีของท้องฟ้าสีเขียวที่เห็นกันนั้น ก็จะตรงกับสีเขียวจากไฟของเรือไดหมึก และการที่คืนนั้นมีเมฆมาก (ดังในภาพ) ยิ่งที่ให้แสงสีเขียวที่ขึ้นมาจากเรือที่ผิวน้ำนั้น สะท้อนไปตามเมฆ กระจายไปเป็นวงกว้างยิ่งขึ้น

ดูตัวอย่างของภาพท้องฟ้าริมทะเล เป็นสีเขียวจากแสงเรือไดหมึก จนคล้ายมีแสงเหนือเกิดขึ้น โดยถ่ายที่หาดเจ้าหลาว จังหวัดจันทบุรี https://www.sanook.com/travel/1406879/

แถมด้วยภาพ (อีกรูปที่อยู่ในโพสต์นี้) จากไอจีของ คุณโตโน่ ภาคิน คำวิลัยศักดิ์ @mootono29 ที่เคยถ่ายไว้ พร้อมคำบรรยายว่า “แสงจากเรือไดหมึก + แสงจากเมืองใหญ่ สะท้อนกับทะเลไทยในตอนกลางคืน และบนท้องฟ้าคือทางช้างเผือก แทนคำขอบคุณที่ทุกคนช่วยกันดูแลรักษาทะเลของเรา 🙂 #แล้วฉันจะกลับไปอย่างแน่นอน”

ด้าน ดร.มติพล ตั้งมติธรรม ผู้เชี่ยวชาญดาราศาสตร์ สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ โพสต์ข้อความ ระบุว่า

แสงสีเขียวปริศนา เหนือน่านฟ้าไทย

เมื่อวานนี้ (28 ตุลาคม 2563) มีการแชร์ภาพจากพื้นที่ในจังหวัดระนอง ที่เห็นแสงสีเขียวแปลกประหลาดส่องสว่างขึ้นเหนือขอบฟ้าในทางทิศตะวันตก และตั้งข้อสงสัยว่าเป็นอะไรกันแน่

แสงสีเขียวนั้นเกิดขึ้นได้ค่อนข้างยากในธรรมชาติ สามารถเกิดขึ้นได้หากมีอุกกาบาตไฟร์บอลลูกใหญ่ๆ ที่มีโลหะนิกเกิลเป็นองค์ประกอบ จะสามารถส่องเป็นแสงสีเขียวได้ แต่ก็จะเกิดขึ้นเพียงเสี้ยววินาทีก่อนที่จะดับไป จึงไม่ใช่ อีกความเป็นไปได้หนึ่งก็คือแสงจากออโรร่า ที่เปล่งออกมาเป็นสีเขียว แต่ออโรร่านั้นไม่สามารถสังเกตเห็นได้จากแถบใกล้ศูนย์สูตรเช่นประเทศไทย ยกเว้นเสียแต่จะมีพายุสุริยะที่รุนแรงมาก ซึ่งก็จะต้องได้รับรายงานเห็นในที่ละติจูดที่สูงกว่าเช่นกัน รายนี้ก็ตกไปเช่นกัน

ความเป็นไปได้เดียวที่หลงเหลืออยู่ ก็คือแสงที่มนุษย์สร้าง ซึ่งหากพิจารณาจากว่าในริมชายฝั่งประเทศไทยมีการประกอบการประมงใช้ “เรือไดหมึก” ซึ่งปล่อยแสงสีเขียวสว่างจ้าไปทั่วท้องฟ้ากันเป็นประจำ คำอธิบายที่ชัดเจนและง่ายที่สุดก็คือแสงจากเรือไดหมึกนั่นเอง ซึ่งสามารถเปรียบเทียบได้กับภาพที่ผมถ่ายเอาไว้เองเมื่อปี 2014 (ภาพล่างซ้าย) จะเห็นได้ว่าไม่ต่างอะไรกันมากนัก

อาจจะแค่บังเอิญว่าวันนั้นสภาพอากาศทำให้แสงเรือไดหมึกสะท้อนออกมามากที่สุดก็ได้ ก็เลยดูแปลกตา แตกตื่นกันเป็นพิเศษ แสงสีเขียวเดียวกันนี้เคยทำให้แตกตื่นกันไปถึงในอวกาศทีเดียว เพราะนักบินอวกาศที่ส่องลงมาจากสถานีอวกาศนานาชาติ ก็ต้องอึ้งกับแสงสีเขียวเหนือท้องทะเลไทยเช่นกัน (ภาพขวา)[2]

แต่สุดท้าย ทั้งหมดนี่ก็เป็นแค่แสงจากเรือไดหมึก ปริศนาไขกระจ่างแล้ว ปิดคดี จบข่าว แยกย้าย

แต่มาถึงตรงนี้เราอาจจะถามอะไรกันต่อ ว่าแต่ว่า แล้วทำไมต้องสีเขียว??? แสงสีเขียวมีความพิเศษอย่างไร? อันนี้เป็นคำถามที่น่าสนใจ และไม่ได้ตอบกันง่ายๆ ต้องพิจารณากันหลายแง่มุม เป็นคำถามที่ส่งเสริม STEM ศึกษาอย่างแท้จริง

เราอาจจะเริ่มจากคำตอบในเชิงฟิสิกส์ แสงสีเขียวมีคุณสมบัติพิเศษอย่างไรหรือไม่กับน้ำทะเล? เป็นช่วงความยาวคลื่นพิเศษที่ส่องได้ดีหรือเปล่า? ปรากฏว่าแสงสีเขียวนั้นไม่ได้มีความพิเศษอะไร อยู่ตรงกลางๆ ของสเปกตรัม น้ำทะเลนั้นจะดูดกลืนแสงความยาวคลื่นมากได้ดีกว่า เป็นเหตุผลว่าทำไมน้ำทะเลจึงเป็นสีน้ำเงิน และเพราะเหตุใดสัตว์ใต้ท้องทะเลลึกจึงเป็นสีแดง เพราะแสงสีแดงนั้นไม่ตกถึงพื้นทะเลเลย ซึ่งถ้าพูดเช่นนั้นแล้วเราก็น่าจะอนุมานได้ว่าแสงสีน้ำเงินน่าจะส่องทะลุทะลวงได้ดีกว่า แล้วทำไมถึงไม่ใช้แสงสีน้ำเงิน??

ถัดไปเราอาจจะลองหาคำตอบเชิงชีววิทยาดูบ้าง เป็นไปได้ไหมที่แสงสีเขียวนี้เป็นแสงที่ตอบสนองได้ดีที่สุดในสัตว์จำพวกหมึก ว่าแต่ว่าทำไมไฟมันถึงล่อหมึกได้? มันจะพุ่งเข้ามาหาพระแสงอะไร?

ซึ่งคำตอบหลังนี้นั้นตอบได้ยากกว่ามาก ในงานวิจัยทีตีพิมพ์ในปี 1979 ได้ตั้งสมมติฐานการตอบสนองต่อแสงในสัตว์กลุ่ม Cephalopodd เอาไว้ 7 ประการด้วยกัน ได้แก่ 1) positive phototaxis 2) intensity preference
(brightness) 3) wavelength preference (color response) 4) conditioned or unconditioned response where light is associated with
food 5) curiosity6) photic disorientation and 7) hypnosis อย่างไรก็ตาม งานวิจัยดังกล่าวไม่สามารถยืนยันได้ว่าเพราะเหตุใดหมึกจึงพุ่งมาหาแสงไฟ

สำหรับแมลงบนบกนั้น เราพอจะทราบว่าสาเหตุทื่ “แมลงเม่าบินเข้ากองไฟ” นั้น แท้จริงแล้วเป็นเพราะพวกมันพยายามใช้แสงจันทร์ในการนำทาง ดังที่เคยเขียนเอาไว้แล้ว[4] เป็นไปได้ว่าสัตว์น้ำอาจจะใช้วิธีเดียวกัน นอกจากนี้ เราทราบว่าเหล่าแพลงก์ตอนนั้นอาจจะถูกดึงดูดเข้าสู่แสงไฟ (แพลงก์ตอนส่วนหนึ่งก็เป็นผู้ผลิตที่สังเคราะห์แสง) และอาจจะล่อฝูงปลาขนาดเล็กตามมา ซึ่งล่อนักล่าลำดับถัดไปในห่วงโซ่อาหาร เช่น หมึก ให้ตามมาอีกทีหนึ่ง อย่างไรก็ตามเราไม่สามารถทราบเหตุผลที่แน่ชัดที่ดึงดูดหมึกมาได้ (เว้นแต่จะลองไปถามหมึกดูเอาเอง)

อย่างไรก็ตาม เราทราบว่าทั้งแพลงก์ตอนและหมึก ต่างก็ถูกล่อได้ด้วยทั้งแสงสีฟ้า และสีเขียว ไม่ต่างกัน ซึ่งถึงแม้ว่าเราจะใช้แสงสีอื่น เช่นแสงจากหลอดโซเดียมที่มีสีเหลือง เราก็จะพบว่าแสงเหล่านั้นก็จะยังสามารถกระตุ้นเซลล์รับแสงของเหล่าสัตว์ทะเลได้เช่นเดียวกัน และปัจจัยที่สำคัญที่สุดอยู่ที่ความสว่างเสียมากกว่าสเปกตรัมที่ใช้[5]

หรือว่าคำตอบอาจจะอยู่ในวิชาคณิตศาสตร์/เศรษฐศาสตร์? เป็นไปได้ไหมว่าหลอดไฟสีเขียวนั้นเป็นหลอดไฟที่มีค่าใช้จ่ายต่ำที่สุด? ซึ่งก็ไม่ใช่อีกเช่นกัน เพราะว่าค่าไฟ หรือปริมาณพลังงานที่ใช้ไปในการปล่อยแสงไฟนั้น คิดเป็นส่วนที่น้อยมากเมื่อเทียบกับค่าน้ำมัน ค่าเรือ และค่าแรงที่ต้องใช้ไป

สุดท้าย คำตอบเพียงคำตอบเดียวที่อาจจะอธิบายแสงสีเขียวได้ดีที่สุด อาจจะอยู่ในวิชาสังคมศาสตร์ เราใช้แสงสีเขียว เพียงเพราะว่ามันเป็นแสงที่ “ฮิต” หรือได้รับความนิยมมากที่สุด เพียงเท่านั้นเอง และหากเราไปพิจารณาดูอุตสาหกรรมในการตกหมึกทั่วโลก เราก็จะพบว่าแต่ละประเทศนั้นมีสีที่ได้รับความนิยมที่แตกต่างกันออกไป

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image