‘อ.อ๊อด’ ตั้งข้อพิรุธ สุ่มตรวจเครื่องดื่มผสมวิตามินซี เอื้อธุรกิจบางยี่ห้อไหม?

‘อ.อ๊อด’ ตั้งข้อพิรุธ สุ่มตรวจเครื่องดื่มผสมวิตามินซี เอื้อธุรกิจบางยี่ห้อไหม?

จากกรณีศูนย์ทดสอบฉลาดซื้อ มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค เผยผลตรวจปริมาณวิตามินซีในเครื่องดื่มผสมวิตามินซี จำนวน 47 ตัวอย่างที่วางจำหน่ายทั่วไปตามท้องตลาด พบมีปริมาณวิตามินซีไม่ตรงตามที่แจ้งบนฉลากสินค้า และมีถึง 8 ตัวอย่างที่ไม่พบปริมาณวิตามินซีนั้น (อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง :ไม่ตรงปก! ฉลาดซื้อ เผยผลตรวจเครื่องดื่มผสมวิตามินซี อึ้ง 8 ตัวอย่างไม่พบปริมาณวิตามินซี)

เมื่อวันที่ 16 ธ.ค. รศ.ดร.วีรชัย พุทธวงศ์ หรืออาจารย์อ๊อด อาจารย์ประจำภาควิชาเคมี คณะศิลปศาสตร์และวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ โพสต์ถึงกรณีดังกล่าว ระบุว่า วิตามินซี สลายตัวได้ง่ายมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งไวต่อออกซิเจนมาก (มีความ ไวต่อปฎิกิริยา Oxidation) อย่าลืมว่าในน้ำดื่มมีออกซิเจนเพียบ นอกจากนี้ยังสามารถสลายตัวได้ง่ายในบรรยากาศที่มีความร้อน แสง ความชื้น โลหะหนัก (เช่น เมื่อตั้งทิ้งไว้ในบรรยากาศที่มีทองแดง) และในสิ่งแวดล้อมที่มีสภาพเป็นด่าง เป็นต้น

เรื่องความร้อน ขวดน้ำวิตามินแค่อัดแพคลงลัง ใส่สิบล้อ ขนส่งไม่ถึง 5 ชั่วโมง วิตามินซีก็ลดลงอย่างมาก แต่วิตามินซีจะกลายไปเป็นสารอื่นแทนคือ L-tartrate ซึ่งเป็นสารที่มีประโยชน์และช่วยให้มีสุขภาพที่ดี(สสารไม่สูญหายไปไหน แค่เปลี่ยนรูปเปลี่ยนฟอร์ม) ดังนั้น การตรวจไม่เจอคือตรวจอะไร เอื้อธุรกิจบางยี่ห้อไหม? และที่ตรวจเจอเยอะ เจอเท่าเดิม เจอเยอะกว่าเดิม คือมั่วมาหรือไม่ มีเบื้องหลังคืออะไร สารวิตามินซีเหล่านี้ในน้ำ แต่ละยี่ห้อไม่มีวันลดลงจนเหลือศูนย์และไม่มีวันมีมากเท่าฉลากหรือมีเกิน

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image