ข้าราชการปลดแอก ตั้งคำถาม ‘ผู้ว่าฯ’ มีไว้ทำไม? ถกปมกระจายอำนาจก่อนเลือกตั้งท้องถิ่น

ข้าราชการปลดแอก ตั้งคำถาม ‘ผู้ว่าฯ’ มีไว้ทำไม? ถกปมกระจายอำนาจก่อนเลือกตั้งท้องถิ่น

เมื่อวันที่ 19 ธันวาคม หลังจากที่ หลายอาชีพได้ออกมาเล่าเรื่องราวการทำงานของแต่ละอาชีพ ไม่ว่าจะเป็น นักศึกษาแพทย์ หรือ ครู ถึงความยากลำบากในการทำอาชีพนั้นๆ และเรื่องจริงที่หลายคนอาจไม่รู้

ล่าสุด เฟซบุ๊ก ข้าราชการปลดแอก และทวิตเตอร์ ข้าราชการปลดแอก ได้ออกมาโพสต์ถึงประเด็นผู้ว่าราชการจังหวัด ว่า ตำแหน่งนี้มีไว้ทำไม โดยว่า

ผู้ว่าราชการจังหวัด มีไว้ทำไม?

มันเป็นความใฝ่ฝันของใครบางคน โดยเฉพาะเหล่า “สิงห์ดำ” “สิงห์แดง” และ “สิงห์ทอง” ที่สักวันจะได้เป็นเจ้าเมืองของจังหวัดสักจังหวัด ประเทศไทยมี 76 จังหวัด ใหญ่บ้างเล็กบ้าง และมีเอกลักษณ์แตกต่างกันไป บางจังหวัดเป็นที่หมายปอง แต่บางจังหวัดก็มีไว้ดองคนบางคน อย่างไรก็ตาม หากสักวันหนึ่งข้าราชการมหาดไทยได้ไปเป็นผู้ว่าฯ สักจังหวัดหนึ่ง ชีวิตนี้ก็อาจจะคุ้มค่าแล้ว
.
ผู้ว่าฯ มีตำแหน่งเทียบเท่าอธิบดี หรือ ซี 10 เป็นหัวหน้าของส่วนราชการภูมิภาคในจังหวัด โดยมีอำนาจหน้าที่หลักๆ เป็นคนถ่ายทอดนโยบายของส่วนกลางและควบคุมดูแลส่วนท้องถิ่นในจังหวัด
.
ผู้ว่าฯ มีฐานเงินเดือนอยู่ที่ราว 7 หมื่นบาท (นายก อบจ. ฐานเงินเดือนต่ำกว่าเล็กน้อยที่ราว 5 หมื่นบาท) ไม่นับเงินเพิ่ม และรายได้พิเศษต่างๆ ทุกตำแหน่งของส่วนภูมิภาคล้วนมีค่าตอบแทนลักษณะนี้ลดหลั่นกันลงไป
.
คำถามว่า “ผู้ว่าฯ มีไว้ทำไม” เป็นคำถามเดียวกันกับ “ส่วนภูมิภาคมีไว้ทำไม” ซึ่งเราคงต้องแยกย่อยข้อดี-ช้อเสีย ของระบบราชการส่วนภูมิภาคที่มาจากการแบ่งอำนาจ (Deconcentration) กับระบบราชการส่วนท้องถิ่นที่เกิดจากการกระจายอำนาจ (Decentralization)
.
จากหนังสือสังคมระดับมัธยมฯ และสถาบันพระปกเกล้า ข้อดีของการแบ่งอำนาจ คือ 1) เกิดประสิทธิภาพในการปกครอง 2) นำนโยบายส่วนกลางไปปฏิบัติโดยตรง 3) ตัดสินใจรวดเร็วขึ้น เพราะไม่ต้องรอส่วนกลาง 4) ผู้ตัดสินใจอยู่ในพื้นที่ ใกล้ชิดกับปัญหา 5) มีการประสานงานของส่วนราชการในระดับภูมิภาค ขณะที่ข้อเสีย ประกอบด้วย 1) ตัดสินใจบางเรื่องไม่ได้ เพราะเป็นอำนาจของส่วนกลาง 2) ผู้ว่าฯ มาจากส่วนกลาง แม้อยู่ในพื้นที่แต่อาจไม่เข้าใจปัญหา 3) ไม่ส่งเสริมการปกครองในระบอบประชาธิปไตย
.
สำหรับการกระจายอำนาจ ข้อดี คือ 1) เกิดประสิทธิภาพในการปกครอง 2) ตัดสินใจรวดเร็วขึ้น เพราะไม่ต้องรอส่วนกลางกับส่วนภูมิภาค 3) ผู้ตัดสินใจอยู่ในพื้นที่ ใกล้ชิดกับปัญหามากกว่าส่วนกลางและส่วนภูมิภาค 4) มีการประสานงานของส่วนราชการในระดับท้องถิ่น ขณะที่ ข้อเสีย ประกอบด้วย 1) นำไปสู่ความไร้เอกภาพทางการเมือง 2) นำไปสู่ความไร้เสถียรภาพทางการคลัง 3) ยิ่งกระจายอำนาจมาก ยิ่งเกิดความไม่เท่าเทียม 4) เกิดสภาวะต่างคนต่างทำ ใช้ทรัพยากรในประเทศอย่างไร้ประสิทธิภาพ
.
เห็นได้ว่าข้อดีของการแบ่งอำนาจและกระจายอำนาจนั้นแทบจะเหมือนกัน ขณะที่ข้อเสียของการแบ่งอำนาจไม่ใช่ข้อเสียของการกระจายอำนาจและสามารถแก้ไขได้ด้วยการกระจายอำนาจที่มากขึ้น นอกจากนี้ข้อเสียของการกระจายอำนาจเป็นเพียงวาทกรรมและไม่เคยเกิดขึ้นจริง โดยผลที่เกิดขึ้นอาจเป็นตรงกันข้าม เช่น ทำให้การเมืองระดับชาติเข้มแข็งขึ้น ปลดปล่อยศักยภาพที่แท้จริงของการคลังท้องถิ่น ยิ่งกระจายอำนาจมาก ยิ่งลดความเหลื่อมล้ำ เกิดความเท่าเทียมทางสังคมในมิติต่างๆ และเป็นการใช้ทรัพยากรโดยรวมของประเทศอย่างเกิดประโยชน์สูงสุด
.
จะถกเถียงว่าเขียนเอาดีเข้าตัวก็ย่อมได้ มาคุยกันค่ะ
.
ปกติแล้วผู้ว่าฯ รวมถึงรองผู้ว่าฯ จะเวียนจังหวัด รวมถึงเข้ามาส่วนกลางอยู่เรื่อยๆ จึงเกิดความไม่ต่อเนื่องในการปฏิบัติงานที่ต้องใช้เวลาดำเนินการ รวมถึงความเข้าใจในพื้นที่นั้นๆ ซึ่งคนที่เกิดและโตในพื้นที่นั้นก็ใช่ว่าจะเข้าใจได้แจ่มแจ้ง
.
ผู้ว่าฯ หลายคนต้องนั่งในคณะกรรมการทั้งระดับชาติและระดับจังหวัดจำนวนมาก ซึ่งงอกเงยเพิ่มพูนตั้งแต่ คสช. ยึดอำนาจจากประชาชนเมื่อปี 57 ทำให้การจัดสรรเวลาและเรียนรู้ลักษณะเฉพาะของจังหวัดทำได้ยาก แต่ คสช. และรัฐบาลประยุทธ์กลับทำให้ส่วนภูมิภาคสยายอำนาจและสามารถให้คุณให้โทษส่วนท้องถิ่นได้ อาทิ ผู้ว่าฯ มีอำนาจพิจารณาคุณสมบัติของ นายก อบจ. และมีความเห็นเป็นที่สุดในหลายกระบวนการ ไม่นับรวมการแช่แข็งการเลือกตั้งท้องถิ่นตลอดหลายปีมานี้
.
สรุปแล้ว การแบ่งอำนาจคือการให้อำนาจบางส่วนแต่ไม่ให้อิสรภาพ ส่วนการกระจายอำนาจคือการให้ทั้งอำนาจและอิสรภาพ การมีอยู่ของผู้ว่าฯ คือการใช้อำนาจของส่วนกลางผ่านภูมิภาคต่อส่วนท้องถิ่นและจำกัดสิทธิเสรีภาพของประชาชน ทีนี้เราก็น่าจะได้คำตอบสำหรับคำถามว่า “ผู้ว่าฯ มีไว้ทำไม” และพึงระลึกอยู่เสมอในห้วงเวลาของการเลือกตั้งนายก อบจ. กับ ส. อบจ. ในครั้งนี้”

Advertisement

โดยหลายคน ต่างออกมาแสดงความคิดเห็นในโพสต์ดังกล่าว โดยเฉพาะในประเด็นการการซ้ำซ้อนกันของอำนาจท้องถิ่น ที่มักถูกรวมศูนย์ไว้ที่ส่วนกลาง อาทิ

“บางทีผู้ว่าก็สู้ นายก อบจ ไม่ได้ เพราะบางคนมาอยู่แล้วอีก 1-2 ปี ก็เกษียณ”

Advertisement

“ผู้ว่าควรมาจากการเลือกตั้งจากประชาชนได้แล้ว ไม่ใช่ศักดินาแต่งตั้งมาเป็น แล้วจะมาเห็นหัวประชาชนคงยาก ต้องรับใช้อำนาจศักดินากันหมด ส่งเสริมประชาธิปไตย ต้องเลือกตั้งได้ทุกระดับ”

“อันที่จริงผู้ว่าควรมาจากการเลือกตั้ง ไม่ใช่มาจากการแต่งตั้งมาจากส่วนกลาง และที่สำคัญผู้ว่าราชการ ควรเป็นคนในท้องที่ เพราะจะได้เข้าใจปัญหาของจังหวัดนั้นๆ”

“ผมอยากให้การตรวจสอบภาคประชาชน ละหน่วยงานที่รับเรื่องกับประชาชน ต้องแยกส่วนอิสระไม่ขึ้นกับใคร และทำงานจริงจัง ในการทุจริต ละ ตรวตสอบการทำงาน หรือ ไม่ทำงาน ของ ผู้ว่า หรือ พวก อบจ เทศบาล อบต
ถ้าทำหน่วยตรวตสอบ ให้ เข้มๆๆ ใครมา บริหาร ก็ต้องทำให้ดี ไม่ว่า ที่มาจากส่วนกลาง หรือ พวกส่วนภูมิภาคกระจ่ายอำนาจ”

“นั่นสิครับ
โดยส่วนตัวแล้ว จึงเห็นว่าการปกครองส่วนภูมิภาค คือกลไกวิปริตของการบริหารงานรัฐกิจในยุคสมัยใหม่ … ฉะนั้น มันไม่ใช่แค่ผูืว่าฯ มีไว้ทำไม แต่ต้องครอบคลุมไปถึงการปกครองส่วนภูมิภาค จะมีไปทำไม? ครับ”

“จากที่พอมีประสบการณ์ในด้านนี้บ้าง
ขอบอกว่าผู้ว่าฯ มีงานมาก ทั้งงานอีเว้น งานรูทีน อนุมัติ อนุญาตและงานอีเว้นต่างๆ
หากได้ผู้ว่าที่มีความเข้าใจงานที่เราทำมันก็ดี แต่ผู้ว่าบางคนไม่เข้าใจ ผู้ว่าขี้กลัว ทำให้งานไม่ต่อเนื่อง ไม่เป็นผลดีต่อประชาชนก็มีเยอะ หึหึ”

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image