เมื่อ “พระตรีมูรติ” หน้าห้างเซ็นทรัลเวิลด์ ไม่ใช่ “พระตรีมูรติ”

เมื่อ “พระตรีมูรติ” หน้าห้างเซ็นทรัลเวิลด์ ไม่ใช่ “พระตรีมูรติ”

เมื่อช่วงค่ำวันที่ 11 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา เกิดปรากฏการณ์ผู้คนจำนวนมาก พากันไปร่วมพิธีบวงสรวงพระตรีมูรติ บริเวณลานด้านหน้าศูนย์การค้าเซ็นทรัลเวิลด์ จนเต็มลานด้านหน้าของห้าง
(อ่านข่าว พรึ่บ! บวงสรวง ‘พระตรีมูรติ’ ขอเรื่องความรัก-การงาน หนุ่ม-สาวเต็มลานเซ็นทรัลเวิลด์)

อันเป็นผลมาจากความเชื่อว่า พระตรีมูรติ มีความหมายที่แสดงถึงความอุดมสมบูรณ์ ทั้งในชีวิต ความรัก และการงาน โดยเฉพาะในเรื่องของความรัก ที่ว่ากันว่า คนดังหลายๆคน พากันไปขอให้ความรักบังเกิด กับพระตรีมูรติ และสมหวังในที่สุด

ทำให้ช่วงใกล้วันวาเลนไทน์ของทุกปี จะมีผู้คนแห่แหนไปไหว้ “พระตรีมูรติ” ที่หน้าห้างเซ็นทรัลเวิลด์

ด้วยหวังว่า ว่าจะสมหวังในความรัก

Advertisement

อย่างไรก็ตาม หากย้อนไปอ่านบทความหลายๆชิ้น จะพบว่า สิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่ผู้คนพากันกราบไหว้ บริเวณหน้าห้างเซ็นทรัลเวิลด์ ที่บอกว่า เป็นพระตรีมูรติ นั้น

จริงๆแล้ว ไม่ใช่ “พระตรีมูรติ” แต่เป็นองค์พระศิวะ ในปางที่เรียกว่า “สทาศิวะ” หรือพระปัญจมุขี (แปลว่า ห้าหน้า)

ทั้งนี้ จากบทความของ คมกฤช อุ่ยเต็กเค่ง เรื่อง “เนื่องในวันวาเลนไทน์ กุหลาบแดงและความรัก : มาเข้าใจ “พระตรีมูรติ/สทาศิวะ” กันใหม่อีกสักครั้ง” ได้เขียนเรื่องเกี่ยวกับพระตรีมูรติ ที่หน้าห้างเซ็นทรัลเวิลด์ ไว้

Advertisement

ส่วนหนึ่ง ระบุเกี่ยวกับพระตรีมูรติ หน้าห้างเซ็นทรัลเวิลด์ ไว้ว่า

“ที่จริงมีผู้เขียนเรื่อง “พระตรีมูรติ” ที่หน้าห้างสรรพสินค้าใหญ่กลางเมืองไว้หลายครั้งแล้ว เช่น อาจารย์ศิริพจน์ เหล่ามานะเจริญ ซึ่งท่านก็ยืนยันหนักแน่นว่า เทพองค์นั้นไม่ใช่พระตรีมูรติอย่างที่คนเข้าใจกัน

ผมก็อยากจะมาช่วยยืนยันอีกเสียงว่า โดยประติมานวิทยา (วิชาว่าด้วยลักษณะของเทวรูป) แล้ว ต้องถือว่า ที่หน้าห้างเซ็นทรัลเวิลด์นั้น ไม่ใช่ “พระตรีมูรติ” อย่างที่เรียกขานกัน แต่เป็นรูปเคารพของ “พระศิวะ” ในปางที่เรียกว่า “สทาศิวะ” หรือพระปัญจมุขี (แปลว่า ห้าหน้า)

พระสทาศิวะ เป็นรูปพระศิวะที่ปรากฏห้าเศียร ปกติเรามักคุ้นเคยแต่พระศิวะที่มีเศียรเดียว

รูปเคารพนี้พัฒนาขึ้นในอินเดียใต้ จากหลักปรัชญาความคิดของสำนักไศวสิทธานตะ ที่นับถือพระศิวะเป็นพระเจ้าสูงสุด

รูปพระตรีมูรติที่เรียกๆ กันนั้น หากลองสังเกตดูจะพบว่า มีห้าเศียร มีพระจันทร์เป็นปิ่นที่เศียรบนสุด และแต่ละเศียรมี ดวงตาที่สามบนพระนลาฏ ตรงตามรูปแบบของพระศิวะทุกอย่าง เว้นแต่อาวุธและของต่างๆ ในพระกรถูกเอาออกจนหมด

ดังนั้น คำอธิบายที่บางคนว่าเศียรบนสุดเป็นพระศิวะ สี่เศียรล่างเป็นพระพรหม และพระวรกายเป็นพระวิษณุนั้น เป็นคำอธิบายที่ผิดอย่างแน่นอน เพราะทั้งห้าเศียรคือเศียรของพระศิวะ และคงไม่มีเทพใดส่งแต่ร่างกายพระองค์มาผสมกับเทพอื่น

การมีห้าเศียรนั้น แต่ละเศียรมีพระนามต่างๆ กันออกไป คือ อีศานะ ตัตปุรุษะ วามเทวะ อโฆระ และสัตโยชาตะ ซึ่งล้วนเป็นพระนามและองค์คุณของพระศิวะ

พระเศียรทั้งห้าสะท้อน ภาวะห้าของจักรวาล ธาตุทั้งห้า (ดิน น้ำ ไฟ ลม อวกาศ) สะท้อนกิจกรรมทั้งห้าของพระเจ้าคือ สรรค์สร้าง รักษา ทำลาย ปลดปล่อย และสร้างมายาภาพ (ลวง) สีทั้งห้า นิกายทั้งห้า (ของพวกที่นับถือพระศิวะ) ฯลฯ

ดังนั้น ชาวไศวะสิทธานตะจึงถือว่านี่คือรูปสูงสุดของพระศิวะ และเมื่อความเชื่อนี้แพร่หลายเข้ามายังอุษาคเนย์ ก็ปรากฏรูปเคารพของพระสทาศิวะในดินแดนแถบนี้ด้วย ของบ้านเราก็มีครับ และคงเป็นที่นิยมมาจนถึงสมัยอยุธยา

พระสทาศิวะเกี่ยวอะไรกับความรัก

ก็ต้องบอกว่า “ไม่” ครับ คนฮินดูเขาเอาความรักไปผูกไว้กับ “กามเทพ” โน่น แต่ก็เป็นในเชิงอุปมาอุปไมยในทางกวีเสียมาก

แถมพระศิวะนี่เป็น “ศัตรู” กับกามเทพเลยนะครับ เพราะกามเทพเคยมาพยายามทำให้พระองค์ตกหลุมรักพระแม่ปารวตี พระกามเทพจึงโดนไฟกรดจากเนตรที่สามของพระศิวะเผาจนเป็นจุณมหาจุณ พระศิวะจึงมีอีกพระนามว่า ผู้เผากามเทพ

ตำนานตอนนี้สะท้อนว่า ที่จริงแล้ว พระศิวะในฐานะฤๅษีกำลังเผา (ตปัสหรือตบะ) กามราคะให้มอดไหม้ไป เพราะพระองค์ต้องการบำเพ็ญพรตนั่นเอง แต่กระนั้นพระองค์ก็ยังมีคู่ครอง เป็นกึ่งคฤหัสถ์ กึ่งนักบวช (ตามเทวตำนาน)

ถ้าถามว่า แล้วชาวบ้านอินเดียเวลาเขาไปขอพรเรื่องคู่ครองเขาไหว้ใคร

ที่จริงเขาก็ขอไปทั่วนั่นแหละครับ ไม่ได้เฉพาะเจาะจง นับถือใครก็ไปขอพรองค์นั้น แต่โดยมากอะไรทางโลกๆ เขาก็นิยมเข้าหา “เจ้าแม่” ทั้งหลายกัน เพราะใกล้ชิดกว่า และโดย “สภาวะ” ก็ใช่มากกว่า

ผมเข้าใจว่า แต่เดิม พระตรีมูรติ (สทาศิวะ) ที่ห้างนั้น เขาไม่ได้ตั้งใจจะให้เป็นเทพแห่งความรักอะไรหรอกครับ แต่เขาตั้งขึ้นในทำนองเพื่อ “แก้ฮวงจุ้ย” อะไรเทือกๆ นั้น เพราะที่ผมจำได้ แต่เดิมศาลพระตรีฯอยู่มุมแยกราชประสงค์ ในฝั่งตรงข้ามกับพระพรหมเอราวัณเลย ผู้สร้างคงมุ่งหมายจะเลือกเทพที่ดูใหญ่กว่าพระพรหมมาตั้งประจันหน้า

เผอิญเลือกเอาพระสทาศิวะมาโดยเข้าใจว่าตรีมูรติ และเชื่อกันว่าเคยเป็นเทวรูปอารักษ์ของวังเพชรบูรณ์ซึ่งเป็นที่ตั้งเดิมของห้างเซ็นทรัลเวิลด์

ส่วนการเริ่มต้นลือกันว่าเป็นเทพแห่งความรักเมื่อใดนั้น ผมยังหาไม่พบ

ใครลือก่อน? ใครทราบโปรดบอกเป็นวิทยาทาน

ที่จริงผมเคยเห็นรูป “พระตรีมูรติ” ที่วัดพู เมืองจำปาสัก ประเทศลาวที่พอจะเป็นต้นเค้าของเราได้ พระตรีมูรติที่นั่นองค์กลางเป็นพระสทาศิวะยืนอย่างเดียวกับเทวรูปที่หน้าห้างนั่นแล แต่สองข้างมีพระวิษณุและพระพรหมคุกเข่าประนมก้มไหว้อยู่ด้วย

การปรากฏทั้งสามองค์นี่เอง จึงเรียกว่า “ตรีมูรติ” ที่แปลว่า “รูปสาม” แต่แน่นอนว่าลักษณะอาการดังนี้ย่อมพอเข้าใจได้ว่า เทวาลัยวัดภู “ศรีภัทเรศวร” เป็นเทวาลัยที่นับถือพระศิวะสูงสุด เพราะพระองค์ปรากฏอยู่ตรงกลาง และยังมีเทพชั้นสูงอีกสององค์น้อมไหว้

ผมมักบอกนักศึกษาอย่างขำๆ ว่า ดูอย่างที่วัดพู เขามากันครบทีมจึงเรียกตรีมูรติได้อย่างไม่ขัดเขิน เหมือนนักร้องดังสักวง สมมุติวงเกิร์ลลี่เบอรี่ มีน้องแนนนี่ไปออกงานคนเดียว พิธีกรเขาก็ต้องบอกว่า ขอต้อนรับน้องแนนนี่จากวงเกิร์ลลี่เบอรี่ ไม่ใช่บอกว่า ขอต้อนรับวงเกิร์ลลี่เบอรี่ อย่างนี้

ตรีมูรติก็เหมือนกันนั่นแหละ พระศิวะมายืนอยู่องค์เดียวหน้าห้าง จะเรียกว่าตรีมูรติก็ไม่ใช่ ต้องบอกว่าพระศิวะถึงจะถูก ส่วนใครจะเชื่อไงอันนั้นมันอีกเรื่องหนึ่ง

ที่จริงเรื่องตรีมูรติยังมีอะไรน่าคุยกันต่อ เพื่อความงอกเงยทางความรู้ แต่เนื้อที่หมดแล้ว

………..

บทความกล่าวไว้เช่นนั้นแล้ว พระตรีมูรติ หน้าห้างเซ็นทรัลเวิลด์ จึงไม่ใช่ พระตรีมูรติ อย่างที่เข้าใจกัน ส่วนเรื่องการขอพรเรื่องความรักหรือใดๆก็แล้วแต่ เป็นความเชื่อส่วนบุคคล สมหวังก็ดีใจด้วย ไม่สมหวัง ก็สู้กันต่อไป

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image