ผักตบชวาแกงกินได้ ภาค2 อ.เจษฎา แนะเพิ่มกินอย่างไรให้ปลอดภัย

หลังจาก รศ.ดร.เจษฎา เด่นดวงบริพันธ์ อาจารย์คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์เฟซบุ๊กแสดงความคิดเห็นกรณี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์ผู้สื่อข่าวเชิงประชดประชัน โดยไล่นักวิจารณ์ที่วิจารณ์การจัดการผักตบชวา เอาไปกินแทนผักบุ้ง โดยรศ.ดร.เจษฎาระบุว่า “ผักตบชวา แกงกินได้ อาหารพื้นบ้าน” ไปเเล้วนั้น (คลิกอ่าน : ประชดสูญเปล่า ผักตบชวากินได้จริง! อ.เจษฎา โพสต์คลิปเมนูชาวบ้านคอนเฟิร์ม)

ต่อมามีผู้ใช้เฟสบุ๊ครายหนึ่งได้แสดงความคิดเห็นจากกรณีดังกล่าวโดยมีผู้เเชร์ต่อจำนวนมาก ระบุว่า เห็นข่าวนี้แล้วรู้สึกอดเป็นห่วงไม่ได้อันนี้ไม่ทราบว่านักวิทย์คนดังท่านนี้ รู้หรือไม่ว่าผักตบชวานั้น เป็นพื้ชที่… #มีค่าการดูดซึมโลหะหนักสูงมาก!!!

– ผักตบชวาหรือ Eichornia crassipes นั้น ถูกนำมาใช้ในโครงการพระราชดำริมายาวนาน โดยทรงมีดำริให้ปลูกผักตบชวาในบึงมักกะสัน เพื่อ “การบำบัดน้ำเสีย” เนื่องจากผักตบชวาเป็นพืชที่มีค่าการดูดซึมโลหะหนักสูงมาก (มีงานวิจัยทั้งในประเทศและต่างประเทศมากมายที่ระบุในเรื่องนี้)

– จากข้อมูลทางวิทยาศาสตร์ระบุว่าผักตบชวา เป็นพืชที่อยู่ในกลุ่มพืชดูดซับโลหะหนักได้ดีมาก รากของมัน ดูดซึมโลหะหนัก+ “สารมลพิษ” ได้ดี ถึง 10,000 เท่าของปริมาณสารที่มีอยู่ในธรรมชาติ

Advertisement

(แหล่งรวมสารพิษดีๆ นี่เอง)

– โดยหลักการทั่วไปนั้น….มันคงจะไม่มีปัญหาอะไรถ้าจะกินผักตบชวาที่อยู่ใน #สภาพแวดล้อมที่ค่อนข้างบริสุทธิ์แต่ถ้าผักตบชวาใดที่ลอยมาตามแม่น้ำทั่วไปผ่านโรงงานหรือชุมชนที่ทิ้งขยะและของเสีย มันก็ย่อมดูดซึมโลหะหนักที่อยู่ในน้ำเหล่านั้น ยังไม่รวมถึงยาฆ่าแมลงและอื่นๆ ที่ปนเปื้อน!!!

– ก็ไม่ทราบว่าเค้าแค่อยากจะแซะนายกรัฐมนตรี ที่เข้ามาแก้ปัญหาเรื่องผักตบชวาจำนวนมหาศาล หรือแค่พยายามจะปกป้องนักวิชาการของพวกตน เลยออกมาพูด มาแนะนำอะไรๆ โดยไม่คำนึงถึง ความปลอดภัยของประชาชนที่จะอาจได้ข้อมูล ไม่ครบถ้วน แล้วแห่ไปกินผักตบชวาตามแม่น้ำ สุดท้ายร่างกายก็ต้องได้รับโลหะหนักจากมัน คำถามคือ ผู้พูดมีจิตสำนึกสาธารณะอยู่หรือไม่ หรือ แค่สนใจเรื่องการเมืองที่ตนเองต้องการเท่านั้น?

Advertisement

ล่าสุด รศ.ดร.เจษฎา จึงได้โพสต์เฟสบุ๊คส่วนตัวต่อเนื่องจากประเด็นดังกล่าวอีกครั้ง โดยระบุว่า “ผักตบชวาแกงกินได้ ภาค2 ตอนบึงมักกะสัน”

หลังจากที่โพสต์สูตรทำแกงผักตบชวา ให้ความรู้แก่ผู้ที่ไม่รู้ว่ามันกินได้ (เช่น พล.อ.ประยุทธ) ไปแล้วนั้น ก็มีหลายท่านที่ให้ข้อมูลเพิ่มอีกหลายเมนูพื้นบ้านเลย รวมทั้งหมอจ่าพิชิต ที่ช่วยเสริมเรื่องคุณค่าทางอาหารของผักตบ ว่า 100 กรัมเนี่ย ให้พลังงานแค่ 30 kcal มีใยอาหารสูง แคโรทีน แคลเซี่ยม ฟอสฟอรัส ไลซีน ก็สูง น่าส่งเสริมเป็นผักรับประทานทีเดียว (แต่ผมไม่ได้บอกว่าใช้เป็นวิธีกำจัดผักตบนะ ไม่พอรับมือมันหรอก เมล็ดมันกระจายไปทั่วน้ำ แพร่พันธุ์เร็ว กำจัดยากมาก)

ที่นี้ก็มีคนเป็นห่วงว่า เก็บมากินแล้วไม่อันตรายจากโลหะหนัก ที่ผักตบมันดูดซึมจากน้ำได้ดี จนมีการนำไปใช้บำบัดน้ำเสีย เช่น ที่บึงมักกะสัน เหรอเปล่า

คือ คุณครับ แหม ใครเค้าให้เก็บผักจากบึงน้ำเสียหรือแหล่งน้ำเน่า มากินล่ะครับ ประหลาดแลัว 555

จากเอกสารของกองปฐพีวิทยา กรมวิชาการเกษตร เรื่องการดูดโลหะหนักของพืชน้ำในบึงมักกะสัน นั้นบอกว่า บึงมักกะสันเป็นแหล่งรับน้ำเสียจากโรงงานซ่อมรถจักรของการรถไฟแห่งประเทศไทย และแหล่งชุมชนต่างๆ จึงมีการศึกษานำเอาผักตบชวาและผักกระเฉด มาช่วยบำบัดน้ำเสียร่วมกับวิธีอื่นๆ ตามโครงการพระราชดำริ โดยเน้นการลดโลหะหนักที่ปนเปื้อนในน้ำเสียนี้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยเฉพาะพวกโครเมียมและสารตะกั่ว ส่วนผักกระเฉด ก็สามารถดูดโครเมียม ตะกั่ว รวมถึงปรอทได้ดี (ดู http://www.thaikasetsart.com/พืชน้ำใช้ดูดโลหะหนักจา/)

ดังนั้น ถ้าเราจะเก็บผักกระเฉดหรือผักตบมาทำอาหารกิน ก็แน่นอนว่า คงไม่มีใครจะบ้าไปเอาจากบึงมักกะสัน หรือแหล่งน้ำเน่าเสียที่ไหนมากินแน่ๆ

แล้วที่ชาวบ้านเค้าเก็บมากินกันอยู่เยอะแยะตอนนี้ล่ะ จะปลอดภัยแค่ไหน .. ยังไม่ค่อยมีงานวิจัยมากนัก เกี่ยวกับปริมาณโลหะหนักในผักตบตามธรรมชาติ ยกเว้นของภาควิชาเคมี ม.ขอนแก่น ที่ศึกษาในแหล่งน้ำธรรมชาติ ภาคอีสาน ( http://www.lib.ku.ac.th/KUCONF/KC2809010.pdf ) พบว่า มีปริมาณโลหะหนักชนิดต่างๆ น้อยมาก หรือแทบไม่พบเลย ยกเว้นแค่เหล็กและแมงกานีส แต่พบมากที่ราก มากกว่าที่ลำต้นและใบ
ก็น่าจะสรุปได้นะ ว่า การนำเอายอดของผักตบ จากแหล่งน้ำธรรมชาติ ที่ไม่ใช่แหล่งมลภาวะ มาทำแกง มาลวกจิ้มน้ำพริก ฯลฯ ก็น่าจะบริโภคได้ ไม่ต่างจากผักกระเฉดตามธรรมชาติ

ปล. มันเป็นอาหารพื้นบ้านนะ จะด่าทออะไร ก็ให้เกียรติคนท้องถิ่นเค้าบ้าง

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image