เปิดใจ แพทย์-พยาบาล ด่านหน้า ทำงาน 12-20 ชม. วอนให้ข้อมูลจริง ไม่ใช่ เตียงทิพย์

เปิดใจแพทย์-พยาบาล ด่านหน้า ทำงาน 12-20 ชม. นายกสมาคมอุรเวชช์ฯ วอนฝ่ายบริหารให้ข้อมูลจริง ไม่ใช่ เตียงทิพย์

ปัญหาการจัดการกับการแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 ยังคงเป็นสิ่งที่หนัก โดยเฉพาะกับเหล่าบุคลากรทางการแพทย์ ทั้งแพทย์ และพยาบาล ที่อยู่ด่านหน้า ที่นอกจากจะมีจำนวนไม่พอแล้ว หลายคนยังต้องถูกกักตัว เพราะคนไข้ปกปิดข้อมูล ยิ่งทำให้บุคลากรที่เหลือน้อย ต้องลุยงานหนักมากขึ้น เพื่อให้ผู้ป่วยได้กลับมาอยู่กับครอบครัว

ล่าสุด รศ.นพ.นิธิพัฒน์ เจียรกุล หัวหน้าสาขาวิชาโรคระบบการหายใจและวัณโรค ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล ในฐานะนายกสมาคมอุรเวชช์แห่งประเทศไทย และ ชนิภรณ์ เพชรสูงเนิน พยาบาลปฏิบัติงาน โรงพยาบาลศิริราช ได้เดินทางไปร่วมพูดคุยถึงการทำงานของบุคลากรด่านหน้า ว่าพวกเขาต้องเจอกับปัญหาอะไรบ้าง และมาช่วยกันหาทางออกให้ประเทศ ในรายการ ถกไม่เถียง โดยมี ทิน โชคกมลกิจ เป็นพิธีกร ทางช่อง 7 เอชดี

รศ.นพ.นิธิพัฒน์ เจียรกุล หัวหน้าสาขาวิชาโรคระบบการหายใจและวัณโรค ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล ในฐานะนายกสมาคมอุรเวชช์แห่งประเทศไทย กล่าวว่า สถานการณ์ตอนนี้ ยังไม่เกินขีดความสามารถ แต่ก็ใกล้แล้ว ตอนนี้บุคลากรทางการแพทย์ทำงานกันหนักมาก จนบางที่แทบจะไม่ไหวเหมือนกัน และต้องใช้ระบบการช่วยเหลือกัน ซึ่งถ้าสถานการณ์ยังเป็นแบบนี้ ถ้าผู้ติดเชื้อยังมากกว่า 2 พันคนต่อไปอีก พอถึงจุดๆหนึ่งอาจจะไม่ไหวจริงๆ เพราะเตียงในโรงพยาบาลหลักที่มีเครื่องมือในการดูแลครบถ้วน เริ่มจำกัดลงแล้ว แต่ในโรงพยาบาลสนามสำหรับคนไข้ที่อาการไม่หนักยังเพียงพออยู่

จากสถิติการติดเชื้อในระยะนี้ จำนวนผู้ป่วยใหม่อาจจะน้อยลง แต่จำนวนผู้ป่วยหนักจะเพิ่มมากขึ้น และเราจะได้เห็นจำนวนผู้เสียชีวิตมีจำนวนมากขึ้น และในอีกระยะ 7 – 10 วันข้างหน้า อาจจะมีตัวเลขผู้ป่วยเพิ่มขึ้น

Advertisement

ด้าน ชนิภรณ์ เพชรสูงเนิน พยาบาลปฏิบัติงาน โรงพยาบาลศิริราช ได้เล่าถึงการทำงานในสถานการณ์โควิด-19 ให้ฟังว่า ในสถานการณ์แบบนี้ต้องทำงานหนักขึ้น ต้องเรียนรู้ใหม่ทั้งหมด จากการดูแลผู้ป่วยอายุรกรรม ต้องเปลี่ยนมาดูแลผู้ป่วยโควิด-19 ปกติเราดูแลคนไข้ เราแต่งชุดพยาบาล แล้ววอร์ดที่เราอยู่ก็เป็นเตียงพัดลมธรรมดา แต่ตอนนี้ต้องใส่ชุด PPE ใส่หน้ากากอนามัย N95 ซึ่งมันทำให้ร้อนมาก และต้องใช้เวลาในการแต่งตัวซึ่งต้องช่วยกัน แต่ตอนนี้เริ่มคล่องขึ้นแล้ว เริ่มปรับตัวได้แล้ว ทุกคนกลับบ้านค่ำ ครึ่งหนึ่งของพยาบาลในวอร์ดถูกแบ่งมาดูแลคนไข้โควิด-19 อีกครึ่งหนึ่งดูแลคนไข้ปกติ เข้าเวรวนกันไป

สำหรับรอบแรกตอนเคสระบาดในสนามมวย คนไข้ที่เข้ามา จะมีอาการที่ดีกว่านี้ เขาจะสามารถดูแลตัวเองได้ดีกว่า ส่วนใหญ่จะเป็นคนไข้ที่รู้จักกัน แต่รอบนี้ ช่วงแรกจะเป็นเด็ก ๆ หรือคนหนุ่มสาวที่ยังพอดูแลตัวเองได้ แต่หลังๆมาเริ่มเป็นผู้สูงอายุ ที่ติดมาจากการที่ลูกหลานกลับไปเยี่ยม การดูแลก็ต้องมากกว่าเดิม

Advertisement

ฟาก หมอนิธิพัฒน์ พูดถึงการทำงานของแพทย์ว่า หมอทำงานกันเป็นผลัด บางท่านทำงาน 12 ชม. – 20 ชม. แล้วแต่หน้าที่ บางท่านทำงาน 24 ชม. แล้วได้พัก 6 ชม. และต้องมาทำงานใหม่ ณ ตอนนี้ ถ้าเราสำรวจศักยภาพทางการแพทย์ คิดว่ายังรับได้ แต่ระบบการบริหารเรายังไม่ดีพอ การจัดระบบบูรณาการศักยภาพยังไม่คล่องตัว

และยังได้ฝากถึงฝ่ายบริหารว่า
1 อยากให้ฝ่ายบริหารมีมาตรการเด็ดขาดเข้มแข็งในการระงับ หรือลดการเคลื่อนย้ายของประชากร ตามระดับความรุนแรงของพื้นที่
2 ต้องมีระบบเก็บผู้ป่วยตกค้าง ให้สามารถเข้ารับการรักษาได้อย่างครบถ้วน การติดเชื้อในชุมชนก็จะสามารถลดลงได้
3 ภาคประชาชนต้องปฏิบัติตัวอย่างเคร่งครัด ไม่จำเป็นอย่าออกนอกบ้าน พยายามเซฟตัวเองให้มากที่สุดเพื่อลดภาระที่ไม่จำเป็นทางการแพทย์

ในส่วนของการแพทย์ เราทำงานกันหนักอยู่แล้ว เราเป็นฝ่ายที่ต้องแบกความกดดันของทั้งส่วนบริหารและประชาชน

ชนิภรณ์ เล่าถึงปัญหาที่เคยเจอจากการดูแลคนไข้ในช่วงนี้ คือ ถ้าสามีติดโควิด มานอนรพ. ตัวภรรยาที่มาด้วยกันตรวจแล้วไม่พบเชื้อ ภรรยาออกไปก็กลับไปใช้ชีวิตปกติ ซึ่งจริงๆแล้วเขาคือผู้เสี่ยงสูง ทำให้พยาบาลต้องทำงานเพิ่ม โดยการโทรไปทำความเข้าใจกับเขาว่า เขาต้องกักตัว ต้องดูแลตัวเองอย่างไร และ เคยโดนเหวี่ยงจากคนไข้ บางคนเขาไม่รู้ว่าต้องมาอยู่ในเตียงสามัญ ในห้องรวมที่ดูแลอยู่ เขาขอย้ายทันที เราก็ต้องอดทน และพยายามชี้แจงให้เขายอมรับได้ในที่สุด เคสที่ประทับใจก็มี อย่างคนไข้ที่หายแล้ว กลับมาขอบคุณ เอาขนมมาให้ บางคนก็เอาหน้ากากอนามัยมาบริจาค เพื่อที่จะได้ช่วยคนอื่น ๆ ต่อไป

“ในฐานะของพยาบาล ก็อยากให้ทุกคนช่วยกัน ทำให้มันจบโดยเร็ว เราจะได้กลับมาอยู่ในสถานการณ์ปกติ เรื่องการเพิ่มเงินหรืออะไรไม่เคยหวัง เพราะเต็มใจที่จะทำหน้าที่นี้” ชนิภรณ์ กล่าว

“ทุกวันนี้พยาบาล 1 คน ดูแลคนไข้ประมาณ 3 คน นอกจากคนไข้แล้วยังมีครอบครัวคนไข้อีก ก็อยากจะฝากให้กำลังพี่น้องพยาบาล บุคลากรทางการแพทย์ และเจ้าหน้าที่โรงพยาบาลทุกคน ขอให้ทุกคนสู้ต่อไป เหมือนที่เรากำลังทำอยู่ เราจะผ่านมันไปได้ สำหรับประชาชนทั่วไป ขอให้ดูแลตัวเองให้ดี จะได้ไม่เพิ่มจำนวนผู้ป่วยให้มากกว่านี้”

ชนิภรณ์ ยังพูดถึงกรณีที่เคยโดนคนรอบข้างรังเกียจ เพราะทำงานดูแลผู้ป่วยโควิด-19 ว่า ในช่วงแรกๆที่โรคโควิด-19 เกิดขึ้นมาใหม่ๆ หลายคนยังไม่มีความรู้ ก็จะโดนคนรังเกียจบ้าง ไม่อยากเข้าใกล้บ้าง ซึ่งตอนนั้นไม่ได้กลับบ้านเลย ตัดสินใจอยู่ที่หอ ตัดตัวเองออกไปเลยเพราะกลัวจะเอาความเสี่ยงไปให้คนที่บ้าน แต่ตอนนี้ที่เรามีความเข้าใจมากขึ้นแล้วก็สามารถจัดการได้ ในช่วงแรกอาจจะมีความไม่เข้าใจกันหลายอย่าง เพราะระบบการจัดการทุกอย่างยังใหม่ทั้งหมด บางครั้งก็ต้องมีการใส่อารมณ์กันบ้างเพื่อให้ทุกอย่างมันดีขึ้น แต่มันผ่านมาแล้ว ทุกคนพยายามช่วยกัน มันเริ่มเข้าที่เข้าทางมากขึ้น และสะดวกมากขึ้นแล้ว

ด้าน หมอนิธิพัฒน์ พูดถึงการเข้าถึงสิทธิการรักษาทางการแพทย์ในไทยว่า ในประเทศไทยอาจจะยังมีความเหลื่อมล้ำอยู่ แต่ในทางการแพทย์เราไม่มีการแบ่งแยก แต่ในภาคส่วนที่ไม่ค่อยเกี่ยวข้องกับทางการแพทย์ก็อาจจะมี ด้วยระบบทางการแพทย์เราทุกคนมีสิทธิเข้ามารักษาในระบบรัฐ แต่เอกชนอาจเป็นอีกทางเลือกสำหรับคนมีเงิน

จริง ๆ แล้วคนไข้โควิด-19 เขามีความเข้าใจว่าตัวเองป่วย เขาพยายามดูแลตัวเอง เพื่อให้ช่วยแบ่งเบาภาระของเรา ในส่วนของพยาบาลก็เข้ามาดูแลทางด้านจิตใจ ว่าเขาจะสามารถกลับไปใช้ชีวิตปกติได้ไหม ในมุมของแพทย์ จะมีการติดตามอาการคนไข้ ว่าสภาพร่างกายหลังกลับไปใช้ชีวิตปกติ ได้ดีเหมือนเดิมหรือไม่ อย่างเคสผู้ว่าสมุทรสาคร ก็จะมีการติดตามอาการ ซึ่งเราจะทำแบบนี้กับคนไข้กรณีแบบนี้ทุกคน

“อยากจะฝากถึงฝ่ายบริหารว่า ขอให้ข้อมูลที่จะนำไปตัดสินใจของฝ่ายบริหาร สัมพันธ์กับการทำงานของคนด่านหน้า เพื่อให้งานมันสามารถดำเนินไปได้อยู่บนฐานของความเป็นจริง เช่น การรายงานของจำนวนเตียงคนไข้ ไม่ใช่รายงานจำนวนเตียงที่คาดการณ์เอาไว้ก่อนหน้า หรือ “เตียงทิพย์” แต่เป็นจำนวนเตียงที่ยังมีเหลืออยู่จริงๆ อย่างข้อมูลของเตียง ควรเป็นเตียงที่มีอยู่ในปัจจุบันและพร้อมใช้งานได้จริง ไม่ใช่เตียงที่มีแต่ยังไม่พร้อมจะใช้งานในปัจจุบัน หรือจะพร้อมใน 5 -7 วันข้างหน้า”

หมอนิธิพัฒน์ กล่าวว่า เชื่อว่าไทยคงไม่เป็นเหมือนอินเดีย ด้วยโครงสร้างทางการแพทย์ของเรา ทั้งอุปกรณ์การแพทย์ โรงพยาบาล และเจ้าหน้าที่ เราสูงกว่าอินเดียทั้งหมด แต่ถ้ายอดเป็นวันละ 2 พันไปอีกสักหนึ่งเดือน เราก็อาจจะได้เห็นอะไรแบบนั้นได้ ตอนนี้สถานการณ์โควิด-19 ในประเทศไทย ใน 7-10 วันนี้ เรายังเอาอยู่ เแต่ขอให้ทุกฝ่ายร่วมมือกันอย่างจริงจัง พยายามบูรณาการศักยภาพของเราอย่างเต็มที่ให้มีประสิทธิภาพมากที่สุด

หมอนิธิพัฒน์ ฝากถึงคนไทยว่า ผมเป็นแค่บุคลากรส่วนหนึ่ง แต่ยังมีบุคลากรทางการแพทย์อีกมากที่ทำงานหนัก ไม่ได้หลับได้นอน โดยเฉพาะคนที่ใส่ชุด PPE เข้าห้องน้ำก็ยังไม่ได้ เขาใส่มาตลอด 8 ชั่วโมง เราพยายามทำอย่างเต็มที่ แต่ขีดจำกัดเราก็มี ตอนนี้มันเป็นวาระของประเทศ ไม่ใช่ของคนใดคนหนึ่ง อยากให้ทุกคนมาช่วยกัน

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image