เว็บราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ ล่มเป็นระยะ หลังคนแห่เข้า ล่าสุดต้องปิดลงทะเบียนชั่วคราว

ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ประกาศปิดรับลงทะเบียนชั่วคราว หลังประชาชนแห่แจ้งความประสงค์เพื่อเข้ารับวัคซีนทำเว็บล่มเป็นระยะ

เมื่อวันที่ 27 พฤษภาคม กรณีราชกิจจานุเบกษาเผยแพร่ประกาศราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ ให้บริการทางการแพทย์ ในสถานการณ์โควิด-19 สามารถขำเข้าวัคซีนได้เอง ขณะที่ ศ.นพ.นิธิ มหานนท์ เลขาธิการราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ ชี้แจงกรณีดังกล่าว ว่า การที่ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์จะมาช่วยจัดหาวัคซีน “ตัวเลือก” มาให้นั้น เมื่อวัคซีนที่ผลิตในประเทศไทยสามารถผลิตและใช้ได้อย่างเพียงพอในการป้องกันการระบาด ทางราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์จะค่อยๆ ลดปริมาณวัคซีน “ตัวเลือก” นี้ลง เช่นเดียวกับ ยาและเวชภัณฑ์อื่นๆ ที่สามารถผลิตได้ในประเทศ ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์สนับสนุนผลิตภัณฑ์ในประเทศ โดยคำนึงถึงสุขภาพของประชาชนเป็นสำคัญ และสำนักงานราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ที่เป็นส่วนงานยังต้องดำเนินการตามกฎหมายที่เกี่ยวข้องในเรื่องการผลิต นำเข้า รวมทั้งการให้อนุญาตเรื่องผลิตภัณฑ์ทางการแพทย์และสาธารณสุขในภาวะฉุกเฉินนี้ ทั้งนี้ ประกาศที่ได้ประกาศไปนี้เป็นการประกาศตามภารกิจของราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ตาม พ.ร.บ.จัดตั้งราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ อันเป็นภารกิจปกติ ในส่วนของประกาศนี้นั้น เป็นไปตามความเห็นของสภาราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ เพื่อเป็นเครื่องมือสนับสนุนรัฐบาลและกระทรวงสาธารณสุข ซึ่งเป็นหน่วยงานหลักของประเทศ โดยใช้ศักยภาพของราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ในเรื่องวิชาการ วิจัย และการประสานงานติดต่อกับต่างประเทศ โดยราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์และกระทรวงสาธารณสุข ทำงานประสานงานกันในเรื่องต่างๆ มาก่อนหน้านี้นานแล้ว เพื่อสุขภาพและการสาธารณสุขที่ดีของประเทศไทย

มีรายงานว่า ประชาชนต่างตื่นตัวแห่ไปลงทะเบียนเพื่อเข้ารับวัคซีนโควิด-19 กับราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ เป็นจำนวนมาก ทำให้การโหลดเว็บบางช่วงค่อนข้างช้า ไปจนถึงทำให้เว็บล่มเป็นระยะ ล่าสุดปรากฏข้อความ “ประกาศประชาสัมพันธ์!!! ปิดรับลงทะเบียนแจ้งความประสงค์รับวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 ชั่วคราว เพื่อจัดสรรวัคซีนให้กับผู้ที่ได้ลงทะเบียนมา เมื่อได้รับการจัดสรรวัคซีนมาเพิ่มแล้วจะทำการเปิดรับลงทะเบียนต่อไป” และเหลือเพียงเมนู “ตรวจสอบการลงทะเบียน” สำหรับผู้ที่ลงทะเบียนแล้วและรอการนัดวัน ซึ่งทำได้ค่อนข้างช้าหรือหยุดนิ่ง

โดยวันพรุ่งนี้ (28 พ.ค.) จะมีการแถลงข่าว “แนวทางการจัดสรรและนำเข้าวัคซีนทางเลือก ซิโนฟาร์ม” โดยราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ ร่วมกับกระทรวงสาธารณสุข และสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) โดยรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข และศาสตราจารย์นายแพทย์ นิธิ มหานนท์ เลขาธิการราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์

Advertisement

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image