ว่าด้วยการ copy ทำไมคนเราถึงชอบเลียนแบบ และวิธีอยู่ร่วมกับนักก๊อบ

ว่าด้วยการ copy ทำไมคนเราถึงชอบเลียนแบบ และวิธีอยู่ร่วมกับนักก๊อบ

กลายเป็นเรื่องราวที่เรียกว่าเป็นที่วิพากษ์วิจารณ์ในโลกออนไลน์ เมื่อ อินฟลูเอนเซอร์ช่องหนึ่ง ออกมาก็อปปี้บ้านเป๊ะทุกตารางนิ้ว กระทั่งโซฟา โคมไฟ เนื่องจากใช้อินทีเรียคนเดียวกัน และยังทำคลิป Home Tour จน #อินฟลูก๊อปบ้าน พุ่งที่ 1 เทรนด์ทวิตเตอร์

รวมไปถึงประเด็นมหากาพย์การก๊อบปี้ต่อเนื่องหลายสัปดาห์ ของนักเขียนเรื่องราวเกร็ดความรู้สมัยเอโดะรายหนึ่ง ที่กำลังจะมีผลงานหนังสือ แต่ถูกจับได้ว่ามีการเทรซรูป ( คล้ายกับการลอกลายภาพ) มาใช้ในผลงานจำนวนมาก กระทั่งนักวาดการ์ตูนเรื่องดังของญี่ปุ่น นำมาวิจารณ์ และเจ้าของภาพ ถึงกับทวิตสอบถามเป็นภาษาญี่ปุ่น โดยที่เจ้าตัวอ้างว่าเป็นการ ref ภาพมาใช้ (การดึงรูปจากหลายๆที่มาเป็นภาพเดียว) ที่ชาวทวิตติด #กูรูเอโดะ วิจารณ์กันสนั่น

ไม่รวมไปถึงประเด็นที่เราเห็นกันอยู่บ่อยครั้ง ทั้งเพลงที่คล้ายคลึงกัน ภาพวาด และวิทยานิพนธ์งานเขียน และแบรนด์ต่างๆ ที่ผ่านตาก็รู้สึก เอ๊ะ คุ้นเหลือเกิน

อะไรคือการลอก

Plagiarism ตามความหมายของพจนานุกรม The Compact Edition of the Oxford English Dictionary (COED) ให้ความหมายการลอกไว้ว่า เป็นการนำผลงานของคนอื่นมาเป็นของตนเองโดยวิธีการที่ไม่ถูกต้อง การขโมย หรือการตีพิมพ์ข้อความของคนอื่น หรือการแสดงความคิดเห็น แนวคิด (วรรณกรรม งานศิลป ดนตรี งานประดิษฐ์ ) ของผู้อื่นเสมือนว่าเป็นงานของตนเอง

Advertisement

ไปจนถึงการนำเสนอความคิด แนวคิด หรืองาน ที่ได้จากการขโมยมา หมายความว่า Plagiarism ก็คือ การขโมย

โดยมีทั้ง การคัดลอกโดยตรง ก็คือ มีการเปลี่ยนหัวข้อ และโครงสร้างประโยค เพิ่มเติมคำหรือตัดคำ แต่ไม่ได้อ้างอิงผู้แต่งเดิม ไม่ได้ให้เครื่องหมายคำพูด หรือให้เครื่องหมายคำพูด แต่ไม่ได้ให้เอกสารอ้างอิง บ้าง มีการลอกโดยให้เหตุผลที่มา แต่นำมาถอดความให้แตกต่างไปจากเดิม (ที่มา เอกสารบัณฑิตวิทยาลัย จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย)

ทำไมคนเราต้องลอก

Rochester Institue of Technology ได้เผยแพร่บทความ ถึงเหตุผลที่นักเรียนชอบลอกผลงาน หรือว่าโกงลงในเว็บไซต์ ซึ่งมีหลายระดับ โดยเหตุผลที่พบส่วนมาก ได้แก่

1.ต้องการจะได้เกรดที่ดี
2.กลัวที่จะตก
3.ผัดวันประกันพรุ่ง หรือมีการบริหารจัดการเวลาที่ไม่ดี
4.ไม่สนใจในงานที่ได้รับ
5.เชื่อว่าอย่างไรก็ไม่ถูกจับได้
6.ความสับสนเกี่ยวกับคำว่า การลอกเลียนแบบ หรือ นโยบายของสถานศึกษา

ด้าน เว็บไซต์ plagiarismsearch.com ก็ให้เหตุผลที่คนเราชอบเลียนแบบผลงานของคนอื่นไว้เพิ่มเติมว่า บางครั้งการลอกเลียนแบบก็เกิดขึ้นมาจากคนที่ต้องการชื่อเสียง แต่ไม่สามารถสร้างผลงานดีๆได้ กระทั่งบางคนก็กลัวการมีชื่อเสียงและการประเมิน เลยต้องทำตัวให้เป็นหลืบเข้าไว้ หลายคนก็ขาดทักษะในการจัดการงานของตัวเอง ดินพอกหากหมู จนกระทั่งต้องลอกงานผู้อื่นเพื่อให้งานเสร็จทันเวลา

นอกจากนี้ ยังพบว่า เหตุผลในการลอกงานของผู้อื่นนั้น ก็เป็นเพราะผู้ผลิตงานมองว่า การอ้างงานทางวิชาการนั้นเป็นแหล่งข้อมูลที่เชื่อถือได้อยู่แล้ว และสามารถค้นหาได้เหมือนเปิดดิกชันนารี จึงไม่ต้องนำมาอ้างอิง บางคนก็ยังไม่เข้าใจ ว่าทำไมคนเราต้องถามหาแหล่งที่มาของงาน

‘ลอก’ ว่าให้ตายยังไงก็ไม่หมด

copy&paste หรือ แม้กระทั่ง การลอกนิด ยืมหน่อย แม้ว่าเกิดขึ้นครั้งใด ก็จะเป็นที่วิพากษ์วิจารณ์ และอาจทำให้หลายคนหมดอนาคต แต่เคยสงสัยไหมว่า แล้วทำไม การลอก ถึงไม่หายไปเสียที

โจนาธาน ไบลีย์ ได้เขียนบทความลงใน Plagiarism Today เผย 5 ปัจจัยสำคัญ ที่ทำให้ การลอก ไม่หายไปจากโลกของสื่อ ที่อาจปรับใช้ได้กับเรื่องอื่นๆ ดังนี้

1.เงิน การจะฟ้องร้อง จัดการกับพวกลอกเลียนแบบ ต้องใช้เงินไม่น้อย ทั้งในการตรวจจับคนลอก และการดำเนินคดี

2.ความสัมพันธ์ของนักข่าวกับบรรณาธิการ นักข่าวหลายคนทำงานด้วยตัวเอง โดยเฉพาะกับนักข่าวภาคสนาม การจะไปเพิ่มขั้นตอนว่าชิ้นงานนี้ ลอกมาหรือไม่ อาจจะส่งผลลบในความสัมพันธ์

3.การเปลี่ยนแปลงไปของระบบการทำงานสื่อ ในยุคนี้ หลายชิ้นงานไม่ได้เขียนโดยนักข่าวที่สังกัดสื่อนั้นเอง แต่มาจากเหล่าฟรีแลนซ์ จึงตรวจสอบได้ยากขึ้น

4.พื้นที่เทาๆ การทำสื่อนั้น มักมีการนำเนื้อหาเก่ามาๆมาอ้างอิงใช้ซ้ำเพื่อป้องกันปัญหาด้านกฎหมาย และยังมีการใช้เนื้อหาจากไวร์เซอร์วิส และข่าวแจก การจะไปจัดการกับการลอกเลียนแบบอย่างจริงจัง ก็ต้องไปจัดการกับวิธีทำงานที่มีมาหลายทศวรรษ

5.ไม่ได้มองว่าเป็นปัญหา การลอกเลียนแบบในทัศนคติของหลายคน ทั้งผู้ผลิตคอนเทนต์ หรือ คนอ่าน ไม่ได้มองว่าเรื่องเลียนแบบเป็นเรื่องสำคัญคอขาดบาดตาย เท่ากับเรื่องอื่นๆที่ต้องรีบจัดการ ทำให้ปัญหานี้ยากที่จะจัดการได้

ภาพจาก Reddit WoOowee1324

อยู่อย่างไร กับนักก๊อป

หากงานของคุณเป็นงานที่ดี แน่นอนว่าการเจอนักก๊อป เป็นเรื่องที่แทบจะหลีกเลี่ยงได้ยาก และถ้าเจอก๊อปแล้ว จะทำเช่นไร

สำหรับเจ้าของธุรกิจ เว็บไซต์ entrepreneur.com ให้คำแนะนำว่า

1.ให้กฎหมายคุ้มครองไอเดียของคุณ ทั้งการจดสิทธิบัตร เครื่องหมายการค้าต่างๆ รวมไปถึงสิทธิบัตรชั่วคราวเกี่ยวกับความคิดก็เป็นเรื่องสำคัญ ป้องกันปัญหาในอนาคต

2.ทำอะไรที่มันแตกต่าง การให้กฎหมายคุ้มครองนั้นเป็นเรื่องสำคัญก็จริง แต่ก็มีช่องโหว่และใช้เงินในการดำเนินคดีเยอะ สิ่งที่จะช่วยคุณได้จริงๆก็คือ แนวคิดที่ไม่เหมือนใคร ที่ยากต่อการเลียนแบบนั่นเอง

3.เผชิญหน้ากับเหล่านักก๊อป เมื่อเห็นการลอกเลียนผลงาน ให้เผชิญหน้ากับบุคคลนั้นโดยตรง อย่าไปรอทนายที่ต้องใช้เวลานาน โทรหรือส่งสัญญาณไปบอกทันที ว่าไม่ชอบที่เลียนแบบงาน และจะดำเนินคดีตามกฎหมาย เพื่อเป็นการเตือนพวกเขา

4.ให้บริการที่เหนือกว่า ผลงานต่างๆนั้น ก็สามารถปรับเปลี่ยนได้ตลอด แต่การให้การบริการจนลูกค้าประทับใจนั้น ยากที่ใครจะเลียนแบบ

5.สร้าง brand loyalty คงจะดีกว่าหากไม่ต้องมานั่งคิดว่าใครจะมาเลียนแบบ คงจะดีกว่าถ้าได้พัฒนาสินค้าและบริการ ให้ลูกค้ารักในแบรนด์ของคุณ จนแม้กระทั่งไม่ว่าจะมีอีกกี่สิบแบรนด์ที่เลียนแบบ ลูกค้าก็เลือกคุณอยู่ดี

ส่วน Ross Simmonds นักวางแผนการตลาดออนไลน์ ก็ให้ไอเดียเมื่อเจอกับคนก๊อปปี้งานง่ายๆ ว่า

1.เริ่มจากเตรียมสปีช การที่มีคนมาลอกงานคุณ ก็แสดงว่างานของคุณมันดี นั่นเอง เตรียมกล่าวคำขอบคุณในการลอกงานของเราในที่แจ้ง ก็เป็นเรื่องที่เหมาะไม่น้อย

2.อย่าให้นักลอก ฆ่าตัวตนของคุณ ด้วยการยกระดับงานขึ้นไปเรื่อยๆ แม้จะต้องลงทุนด้านเวลา เงิน และเสียเหงื่อบ้าง เพื่อให้คู่แข่งตามไม่ทัน

3.เป็นตัวจริง จริงใจกับลูกค้า มุ่งพัฒนาคุณภาพชีวิตของลูกค้า แก้ปัญหาต่างๆ อย่าไปให้ความสนใจกับเหล่านักก๊อป ฟังลูกค้าให้มากและพยายามพัฒนาให้ชาวลอกพัฒนาตาม

4.เพิกเฉย แต่อย่ากลัวที่จะพูด ใครจะลอกงานและแนวคิดไปอย่างไรก็ตาม สิ่งที่เอาไปไม่ได้เลยก็คือประสบการณ์ หรือคุณค่าต่องาน ปล่อยวางอาจจะเป็นเรื่องดี แต่หากมีการลอกงานอย่างโจ่งแจ้ง ก็ต้องพูดคุยให้รู้ถึงเหตุว่าทำไมต้องก๊อป เพื่อหาทางออกที่ดีที่สุด

ซึ่งเว็บไซต์หลายแห่ง ต่างพูดเป็นเสียงเดียวกันว่า เมื่อรู้เหตุผลต่างๆของการก๊อบปี้แล้ว ก็ไม่ควรที่จะทำตาม เพราะสมัยนี้ โลกออนไลน์นั้นไปไว จากที่กำลังจะไปได้สวย อาจจะหล่นเหวโดยไวก็เป็นได้

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image