‘สันติธาร เสถียรไทย’ แนะ 4 เชื่อมโยง เป็นแนวคิดการปรับ Mindset ในการทำนโยบาย

วันที่ 29 พฤศจิกายน ดร.สันติธาร เสถียรไทย นักเศรษฐศาสตร์ภาคเทคโนโลยีแห่งเอเชีย ผู้เขียนหนังสือ Futuration โพสต์ข้อความโดยระบุว่า ผมเพิ่งได้มีโอกาสไปร่วมแสดงความคิดเห็นในเวที The Standard Economic Forum 2021 ชื่อ The Great Reform โดยโจทย์ที่ได้รับคือให้ช่วยคิดเรื่องการปฏิรูปประเทศไทยที่จำเป็น

สิ่งหนึ่งที่ตกผลึกจากวันนั้นคือ หลายคนรวมทั้งรัฐบาลเองก็รู้อยู่แล้วระดับนึงว่า “ปัญหาคืออะไร” และต้อง “ทำอะไร”แต่สิ่งที่สำคัญที่อาจต้องรีฟอร์มด่วนคือเรื่องของ Mindset ว่าจะทำนโยบายต่างๆ “อย่างไร”และด้วยกระบวนการแบบไหน

ผมได้ฝากแนวคิดการปรับMindsetในการทำนโยบายที่สรุปได้เป็น “4 เชื่อมโยง” คือ เชื่อมโยงอนาคต โลก ข้อมูลและประชาชน เลยขอเอามาเขียนเล่าให้ฟังเผื่อจะพอมีประโยชน์ครับ

1.เชื่อมกับอนาคต

Advertisement

อย่ามัวแต่รบสงครามของเมื่อวาน

เพราะในโลกที่เปลี่ยนแปลงเร็วจะมีคลื่นแรงๆมาใหม่มาเสมอหากเราไม่เห็นคลื่นนี้มาแต่ไกลก็จะพลาดโอกาสจมใต้คลื่น แต่หากเราอ่านทางออกก็จะขี่มันจนไปข้างหน้าได้เร็วอย่างก้าวกระโดด

ดังนั้นคน/องค์กร/ประเทศที่อ่าน”ทิศทางลม”ได้ดีจะได้เปรียบ

Advertisement

อยากเห็นประเทศไทยสภาเศรษฐกิจอนาคตที่มีหน้าที่ช่วยกันอ่านภาพอนาคตที่เปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดแล้วกลั่นออกมาว่าอะไรคือความเสี่ยงและโอกาสของไทยในฉากทัศน์ต่างๆ

โดยในสภานี้ควรรวบรวมคนที่หลากหลายจากทั้งภาคกเอกชนเล็กและใหญ่ ภาควิชาการ ภาคประชาชน นักลงทุน คนไทยที่อยู่ต่างประเทศ (เหตุผลด้านล่าง)

ที่สำคัญต้องมีตัวแทนคนรุ่นใหม่พอ เพราะเขาคือคนที่ต้องอยู่กับอนาคตมากที่สุด

เราจะชอบและเชื่อในMetaverse หรือไม่ไม่เป็นไร แต่อย่าเดินถอยหลังไปเข้า “Retroverse”

2.เชื่อมกับโลก

อย่าสำคัญตัวเองผิด ประเทศไทยมีดีมากมายแต่โลกไม่ได้หมุนรอบประเทศไทย

ส่วนใหญ่ประเทศไทยไม่ใช่Trend setter แต่เป็น Trend rider และนั่นไม่ใช่เรื่องแย่เสมอไปแต่สำคัญเราต้องไม่ตกขบวนจมใต้คลื่น

หากเราขี่คลื่นได้ดีไปไกลกว่าคนอื่นในบางด้านก็จะมีโอกาสset trendได้ด้วย

การเชื่อมโยงกับประเทศอื่นๆช่วยการอ่านอนาคต

เพราะอนาคตมันมาถึงแล้วแต่มันมาถึงแต่ละที่ไม่พร้อมกัน

บางครั้งการอ่านอนาคตที่ทำได้ง่ายที่สุดคือศึกษาว่าอะไรกำลังเกิดขึ้นในต่างประเทศแล้วเขารับมืออย่างไร เพราะคลื่นแห่งการเปลี่ยนแปลงใหญ่ๆอาจจะซัดไปโดนประเทศอื่นก่อน

หากอยากรู้ว่าฉีดวัคซีนครบหมดแล้วประเทศไทยจะพ้นโควิดไหม ก็ลองไปดูประเทศต่างๆที่เขาฉีดครบไปก่อนเรานานและดูว่าเขากำลังเผชิญความท้าทายและโอกาสอะไร

อยากอ่านทิศทางการเคลื่อนไหวเงินทุนต้องอ่านทิศทางดอกเบี้ยอเมริกาและดอลลาร์ก่อน

หากอยากรู้เทรนด์เศรษฐกิจดิจิทัลก็ดูซิลิคอนวัลเลย์ ดูจีน ดูสิงคโปร์ ฯลฯ

ดูแล้วไม่ได้ต้องทำตาม แต่ถอดบทเรียนมาปรับใช้ให้เหมาะกับบริบทเราให้เป็น

นอกจากนี้การเชื่อมโยงกับโลกยังสำคัญเพราะเราต้องพึ่งโลกมากกว่าโลกต้องพึ่งเรา

พูดได้หลายเรื่อง แต่ขอยกตัวอย่างเรื่องคน-Talent

“คนไทยเก่งไม่แพ้ใครในโลก”

จริง แต่ในหลายวงการไม่ได้มีระบบนิเวศน์ (Ecosystem) ที่ดีที่ทำให้เขาโตได้พวกเขาจึงต้องไปเติบใหญ่กันข้างนอก ในที่ที่ “ดิน” มันช่วยให้เมล็ดพันธ์ุไทยเติบโตได้ดีกว่า ยังไม่ได้ช่วยดันคนของเราให้ไปแข่งได้ระดับโลก

ในระหว่างที่เรายังคลำหาทางพัฒนาระบบนิเวศน์ในประเทศ การเปิดโอกาสและส่งเสริมให้เมล็ดพันธุ์ไทยไปเติบโตก้าวหน้าในภูมิภาค-โลกที่อาจมี “ดิน”ที่ดีกว่าจึงอาจเป็นสิ่งจำเป็นและไม่ใช่เรื่องแย่

เพียงแต่ให้ออกไปจากประเทศด้วยโอกาสเติบโตและพัฒนาไม่ใช่ด้วยความหมดหวังเพื่อวันหนึ่งจะได้กลับมา

“ประเทศไทยมีคนเก่งมากมาย”

ถูกต้อง แต่มีไม่พอกับความต้องการ และหลายประเทศก็เจอปัญหาขาดแคลน Talent เหมือนกัน โดยเฉพาะในเศรษฐกิจดิจิทัล หรือแม้แต่ด้านเมดิคัลฮับ (Medical Hub)

ตลาดTalent ปัจจุบันเป็นตลาดระดับโลก ทุกคนต้องแย่งกันดูดมันสมองเข้าประเทศ ไม่ใช่เพื่อมาแทนที่คนในประเทศแต่เพื่อมาจุดประกายสร้าง Talent ใหม่ๆในประเทศ เพราะคนเก่งดึงดูดคนเก่งและสร้างคนเก่ง

ประเทศไทยมีความเนื้อหอมระดับในแง่การดึงดูดคนจากทั่วโลกอยู่แล้ว แต่การมาเที่ยวกับการย้ายมาทำงานใช้ชีวิตในประเทศนั้นๆไม่เหมือนกัน เราจะพึ่งแต่บุญเดิมที่มีว่าประเทศมีสิ่งดึงดูดนักท่องเที่ยวอย่างเดียวไม่ได้

3.เชื่อมกับข้อมูล (และการติดตามประเมิน)

อย่าคิดว่าเรามีคำตอบสุดท้ายแล้ว

ต่อให้มีสภาเศรษฐกิจอนาคตที่เก่งมากและเรียนรู้บทเรียนจากทั่วโลกมาแล้ว ก็ยังอาจจะอ่านอนาคตผิดได้ เพราะอนาคตมันซับซ้อนไม่แน่นอนยิ่งกว่าเก่า

เราต้องพร้อมยอมรับว่าสิ่งที่คิดไว้อาจผิดและคอยเก็บและใช้ข้อมูลต่างๆมาประเมินยุทธศาสตร์ของเราบ่อยๆ

โดยต้องตามประเมิน 2 อย่าง

หนึ่ง Execution หรือการลงมือทำ ดูว่ามันไปตามที่คิด-วางแผน-พูดไว้ไหม

บางทีเราชอบใช้ buzzword หรือคำเท่ๆที่กำลังฮิตมาใส่ในชื่อยุทธศาสตร์ โครงการ นโยบาย ซึ่งโดยตัวของมันเองไม่ใช่ปัญหาเสมอไป

แต่มันเป็นปัญหาหากเราเอาแต่พูดแล้วไม่ทีการทำตามที่พูด

ประเทศไทยควรศึกษาโมเดลของมาเลเซีย (และสหราชอาณาจักร)ที่มีหน่วยตามงานนโยบาย (Policy Delivery Unit)คอยตามประเมินลงรายละเอียดว่านโยบายที่วางไว้มันไปติดที่ไหน ติดที่หน่วยงานใคร เพราะอะไร โดยต้องขึ้นตรงกับนายกหรือคนที่มีอำนาจพอที่จะช่วยปลดล็อกและไล่ตามจี้ได้

สอง execute ได้ตามที่วางแผนแล้วก็ต้องมาคอยดูว่าทิศทางที่วางไว้ถูกไหม เพราะโลกอาจเปลี่ยนอีก

แผนต้องถูกมารีวิวบ่อยกว่าสมัยก่อน เช่น แผนพัฒนาประเทศ 5 ปี ภายใน 2 ปีอาจต้องกลับมาประเมินทบทวนใหม่ ทั้งกลยุทธ์และตัวชี้วัดและสามารถปรับได้หากจำเป็นเพื่อสร้างความ Agile ขยับตัวทัน

ในอนาคตองค์กร-ประเทศที่ได้เปรียบจะไม่ใช่ “เรือ”ที่เครื่องแรงขับได้เร็ว ไม่ใช่เรือที่ใหญ่กว่า แต่เป็นเรือที่มีกัปตันที่อ่านการเปลี่ยนแปลงของ “กระแสลม”ทั้งในและนอกประเทศได้ขาด

4.เชื่อมกับประชาชนแบบถูกวิธี

อย่าคิดว่ารัฐเป็นผู้รู้ทุกอย่าง แต่ควรเปลี่ยนเป็น”องค์กรที่เรียนรู้จากทุกคน”

ไม่ใช่ “ครูหน้าห้อง” ที่คอยควบคุมพยายามทำทุกอย่างเองและมองเสียงบ่นของคนเป็นเรื่องน่ารำคาญ

แต่เป็น “ครูหลังห้อง” ที่คอยเล่นบทสนับสนุน (Enabler) เติมเต็มในส่วนที่ขาด เสริมภาคเอกชน ภาคประชาชนและวิชาการให้เดินหน้าได้ มองเสียงบ่นเป็นข้อมูลล้ำค่าว่าจะเอามาปรับปรุงพัฒนา “บริการ”ของตนเองได้อย่างไร

เปลี่ยนจากการเริ่มต้นทุกอย่างที่ “กฎหมายว่ายังงี้” ไปเป็น “ประชาชนต้องการแก้ปัญหาอะไร” แล้วเราช่วยให้บริการได้ยังไงภายใต้เงื่อนไขข้อจำกัดที่มี

สิ่งหนึ่งที่ทำได้ทันทีคือ การทำ Open Government เปิดเผยแชร์ข้อมูลต่างๆที่รัฐมีและไม่ได้เป็นเรื่อง sensitive ให้สาธารณชน(และให้หน่วยอื่นในภาครัฐกันเองด้วย)มากขึ้น เพื่อเพิ่มความโปร่งใสและให้คน-หน่วยงานเอาไปต่อยอดได้

เราได้เห็นคนไทยเก่งๆหลายกลุ่มเอาชุดข้อมูลที่หาได้เองบวกกับข้อมูลที่รัฐประกาศเป็นช่วงๆมาทำประโยชน์ต่อสังคมหลายรูปแบบ เช่น มีDashboard เรื่องการข้อมูลวัคซีนว่าฉีดไปได้แค่ไหนแล้วในแต่ละกลุ่ม มีแผนที่แสดงให้เห็นว่าพื้นที่ใดมีคนต้องการความช่วยเหลือด่วนเพื่อให้อาสาสมัครเข้าไปช่วยถูก ฯลฯ

ทั้งหมดเกิดได้โดยเริ่มจากการ trust ประชาชน ไม่ได้มองเขาเป็นแค่ลูกค้าขี้บ่นหรือเด็กที่ต้องได้รับการสั่งสอน แต่เป็นส่วนหนึ่งของคำตอบและทางแก้ปัญหา

และหากเชื่อมกับประชาชนได้อย่างถูกวิธีการเชื่อมกับข้อมูล โลกและอนาคตก็จะตามมาเช่นกัน

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image