‘บัญชา’ เผยหลังภูเขาไฟใต้น้ำระเบิด สร้างปรากฏการณ์ฟ้าแลบทำสถิติสูงสุด พร้อมเปิดสาเหตุ

 

‘บัญชา’ เผยหลังภูเขาไฟใต้น้ำระเบิด สร้างปรากฏการณ์ฟ้าแลบทำสถิติสูงสุด พร้อมเปิดสาเหตุ

เมื่อวันที่ 18 มกราคม 2565 ดร.บัญชา ธนบุญสมบัติ ผู้อำนวยการฝ่ายเผยแพร่เทคโนโลยี ศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ หรือเอ็มเทค ได้โพสต์ข้อความในเพจเฟซบุ๊ก ชมรมคนรักมวลเมฆ เกี่ยวกับเรื่อง “ภูเขาไฟใต้น้ำ Hunga Tonga ปะทุ ทำให้เกิดฟ้าแลบจำนวนมาก และเกิด Meteotsunami” โดยมีรายละเอียดว่า

เหตุการณ์ภูเขาไฟใต้น้ำ Hunga Tonga–Hunga Haʻapai ปะทุ เริ่มต้นตั้งแต่วันศุกร์ที่ 14 มกราคม ค.ศ.2022 ได้สร้างสถิติใหม่สำหรับจำนวนฟ้าแลบที่เกิดขึ้น (เรียกว่า volcanic lightning หรือฟ้าแลบที่เกิดจากภูเขาไฟปะทุ)

นอกจากนี้ ยังทำให้เกิดปรากฏการณ์ที่เราไม่ค่อยได้ยินกันนัก นั่นคือ มีทีโอสึนามิ (meteotsunami)

Advertisement

1.Volcanic lightning
วันเสาร์ที่ 15 มกราคม ค.ศ.2022 เกิดฟ้าแลบฟ้าผ่าในปริมาณมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงเวลา 05.00-06.00 น. นับรวมได้ราว 200,000 ครั้งในเวลา 1 ชั่วโมง – ถือเป็นสถิติสูงสุดสำหรับฟ้าแลบที่เกิดจากภูเขาไฟปะทุ ดูภาพบนครับ [1]

ในภาพ ตัวย่อและคำต่างๆ หมายถึง
CG- : Negative Cloud-to-Ground Lighting (ฟ้าแลบจากเมฆสู่พื้นแบบประจุลบ)
CG+ : Positive Cloud-to-Ground Lighting (ฟ้าแลบจากเมฆสู่พื้นแบบประจุบวก)
IC : Intracloud Lightning (ฟ้าแลบในก้อนเมฆ)
Total : จำนวนรวมของ CG-,CG+ และ IC ในแต่ละชั่วโมง
Cumulative : จำนวนรวมสะสม

ตามปกติแล้ว การปะทุของภูเขาไฟสามารถทำให้เกิดฟ้าแลบได้ เนื่องจากอนุภาคของฝุ่นและขี้เถ้าในกลุ่มควันเกิดการเสียดสีกันเอง หรือเสียดสีกับอนุภาคน้ำแข็งในเมฆที่อยู่ค่อนข้างสูง การเสียดสีทำให้เกิดประจุไฟฟ้าสถิต

Advertisement

ในทางวิชาการเรียกปรากฏการณ์ที่ประจุไฟฟ้าสถิตเกิดขึ้นจากการเสียดสีว่า triboelectricity (ไทรโบอิเล็กทริกซิตี้)

ฟ้าแลบที่เกิดจากการปะทุของภูเขาไฟเป็นปัจจัยหนึ่งที่บ่งชี้ถึงภูเขาไฟที่มีเถ้าในปริมาณมาก (ash-rich volcanoes) และฟ้าแลบแบบนี้บางครั้งเกิดขึ้นก่อนที่ภูเขาไฟจะปะทุอย่างเต็มที่ ดังนั้น นักภูเขาไฟวิทยาจึงสามารถใช้เป็นปัจจัยบ่งชี้ได้ว่าอาจเกิดอะไรขึ้นตามมาหลังจากนั้น

ฟ้าแลบที่เกิดจากภูเขาไฟ Hunga Tonga ครั้งนี้้ได้รับการตรวจจับโดย Global Lightning Detection Network (มักเรียกย่อว่า GlD360) ซึ่งตรวจจับสัญญาณคลื่นวิทยุที่เกิดจากฟ้าแลบ

ทั้งนี้ ในช่วงที่ภูเขาไฟลูกนี้เริ่มแสดงอาการในช่วงเดือนธันวาคม ค.ศ.2021 โครงข่าย GLD360 ตรวจจับฟ้าแลบได้หลายร้อยหรืออาจถึงระดับพันครั้งต่อวัน (ซึ่งเป็นค่าปกติที่คาดหมายได้)

แต่เมื่อการปะทุเพิ่มขึ้นใกล้ขีดสุดและถึงขีดสุดในวันเสาร์ที่ 15 มกราคม พบว่าตรวจจับฟ้าแลบได้ระดับหมื่นครั้งและพุ่งสูงถึงระดับ 2 แสนครั้งใน 1 วันตามที่กล่าวมาแล้ว

ภาพฟ้าแลบ (มุมซ้ายล่าง) จาก [2]
2 ) Meteotsunami

ประเด็นใหม่อีกเรื่องคือ คลื่นกระแทกจากการขยายตัวของอากาศที่เกิดจากการปะทุของภูเขาไฟใต้น้ำ ได้มีส่วนผลักมวลน้ำออกไปอย่างรวดเร็ว เรียกว่า Meteotsunami (มีทีโอสึนามิ) นับเป็นสึนามิอีกรูปแบบหนึ่งที่เกิดขึ้นเสริมสึนามิแบบปกติ

สึนามิแบบปกติเกิดจากการที่ภูเขาไฟปะทุแล้วทำให้ตัวภูเขาไฟยุบตัวลง ส่งผลให้มวลน้ำปริมาณมหาศาลเกิดการเคลื่อนตำแหน่งอย่างรวดเร็วและกระเพื่อมออกไปโดยรอบ

น่ารู้ด้วยว่า Meteotsunami มาจากคำว่า meteor (คำว่า meteor ในทางอุตุนิยมวิทยาเป็นคำที่ใช้เรียกปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นในบรรยากาศ และคำว่า meteorology ก็คืออุตุนิยมวิทยา) [3] + tsunami (สึนามิ)
จากการตรวจวัดพบสัญญาณ Meteotsunami เกาะแถบทะเลแคริบเบียน (Caribbian Sea) เช่น เปอร์โตริโก ซึ่งอยู่ในมหาสมุทรแอตแลนติก (คนละมหาสมุทรที่เกิดเหตุภูเขาไฟปะทุ!) [1,4]

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image