คนทำประกันผวา เดือดร้อนลามคนมีรถ ต้องจอดทิ้งในอู่ข้ามปี เบิกซ่อมไม่ได้

คนทำประกันผวา เดือดร้อนลามคนมีรถ ต้องจอดทิ้งในอู่ข้ามปี เบิกซ่อมไม่ได้

จากกรณีที่ธุรกิจประกันภัยหลายแห่ง ที่เปิดทำประกันแบบ เจอจ่ายจบ ได้ออกมาขอยกเลิกกรมธรรม์ กระทั่งขอศาลคุ้มครองชั่วคราว ด้านกลุ่มผู้ได้รับผลกระทบจากการเคลมประกันไม่ได้ บานปลายไปจนถึงผู้ทำประกันภัยบ้าน-รถ ที่กลัวถูกลอยแพ โดยกลุ่มผู้ได้รับผลกระทบจากการเคลมประกันไม่ได้ ได้เปิดใจผ่านรายการ “ถกไม่เถียง” ทางช่อง 7HD ดำเนินรายการโดย ทิน โชคกมลกิจ ถึงสาเหตุและผลกระทบที่เกิดขึ้น

นิตยา อ่วมหนู หรือผึ้ง ผู้เอาประกันภัยที่ได้รับผลกระทบ เล่าว่า ตัดสินใจซื้อประกันโควิด เพราะคุณพ่อที่เสียชีวิตไปบังคับให้ซื้อ เพราะช่วงนั้นมีการระบาดของโควิดหนักมากๆ พ่อแม่ซื้อประกันของบริษัทแห่งหนึ่ง ส่วนเราและครอบครัวซื้อของสินมั่นคงผ่านทางโบรกเกอร์ TQM ตอนที่ซื้อเราก็ไม่ได้ศึกษาข้อมูลก่อน เพราะตอนนั้นไม่คิดว่าจะติด หรือจะได้เคลม แต่พอคุณพ่อติดโควิดเสียชีวิต เราเลยมานั่งดูกรมธรรม์ เรื่องค่ารักษาเราไม่ต้องจ่ายอยู่แล้ว เพราะประกันสังคมครอบคลุม แต่จะได้ตอนที่พ่ออาการโคม่า ช่วงนั้นพ่อเข้ารักษาตัวอยู่ใน รพ. วันที่ 29 ก.ค. และเสียชีวิตในวันที่ 16 ส.ค. หลังจากนั้นเราจึงส่งเอกสารทำเรื่องเคลมประกันไปวันที่ 26 ส.ค. เราส่งเอกสารการรักษา ใบรับรองแพทย์ว่าเสียชีวิต ผลติดโควิด สำเนาทะเบียนบ้าน ส่งเอกสารตัวจริงไปให้เอเชียทั้งหมด เราทำตามเงื่อนไขกรมธรรม์ทุกอย่าง ตอนแรกเราไม่รู้ตัวเลขว่าจะได้เท่าไหร่ เราเลยตัดสินใจไปที่บริษัทเลย เขาก็สรุปยอดมาให้ 500,000+9,000 บาท หลังจากยื่นเอกสารครบทั้งหมด เราก็รอวันที่จะได้สินไหม

“ปรากฏว่าโดนเลื่อนไปเป็นวันที่ 15 ต.ค. ซึ่งพอดีวันนั้นเป็นวันที่บริษัทโดน คปภ.ประกาศปิดพอดี ตอนข่าวออกมาว่าโดนสั่งปิด เราก็อึ้งอยู่เหมือนกัน แล้วเราก็รอประกาศว่าจะให้ไปยื่นเอกสารเพื่อรับเงินจากกองทุนฯที่ไหน แล้วเราก็เช็กสถานะในการยื่นเอกสารขอเงินคืนทุกวัน สถานะขึ้นว่า พิจารณาการทวงหนี้ เข้าไปเช็กทุกวัน ก็ยังอยู่ที่สถานะเดิม เขามีการขึ้นลำดับก็จริง แต่การจ่ายเงินของกองทุน เขาจะมีการข้ามลำดับ เขาข้ามเลขของเราไปแล้ว เรารอจากเอเชียก็นานแล้ว เรายังต้องมารอของกองทุนอีก เขาบอกว่าให้เราเข้าใจระบบของราชการ เราก็พยายามเข้าใจ เราติดตามข่าวมาโดยตลอด เห็นเคสเสียชีวิตไม่เคยมีใครได้รับการพิจารณาจ่ายเงินเลย เห็นแต่เจอ จ่าย จบ แต่เคสใหญ่ๆ ยังไม่เคยเจออนุมัติจ่ายจริงๆ เราติดโควิดกันทั้งครอบครัว แต่ของเราทำประกันกับทางสินมั่นคง เราได้ค่าชดเชยมา เพราะค่ารักษาประกันสังคมจ่าย ส่วนคุณแม่ที่ทำกับเอเชียก็ได้ เพราะยอดมันน้อย แต่ของพ่อที่เสียชีวิตไม่ได้ คาดว่าน่าจะเพราะเงินก้อนใหญ่ การจ่ายก็เลยล่าช้า”

Advertisement

ด้าน จินตนา จินดารัตน์ หรือนก ตัวแทนกิจการอู่ซ่อมรถ เผยว่า กิจการของเราก็ได้รับผลกระทบเหมือนกัน ผลกระทบสำหรับอู่ หรือคู่ค้า จะไม่ได้รับเงินทดแทนที่จ่ายค่าซ่อมไปแล้ว หรือค่าสินไหมทั้งหมด เพราะตามกฎหมายจะจ่ายให้กับผู้เอาประกันภัยก่อน หรือเวลายื่นเอกสารจะได้รับคำตอบว่า กลุ่มเราจะได้ในลำดับถัดไป ตอนนี้เอกสารที่ค้างอยู่กับเรานับร้อยคัน และตอนนี้มันเดือดร้อนไปถึงลูกค้าที่ไม่มีเงินมาจ่ายค่าซ่อมรถ เพราะไปเคลมกับประกันไม่ได้ บางคนต้องเอารถกลับ บางคนต้องรีบไปเบิก

ตอนนี้อู่ต้องให้ลูกค้าสำรองเงินจ่ายก่อน เพราะเราเบิกค่าซ่อมกับใครไม่ได้เลย สุดท้ายลูกค้าที่ไม่มีเงินจ่าย ก็ต้องเอารถกลับไป เราสงสารลูกค้ามาก เขารักรถแต่ไม่มีเงินซ่อม เพราะประกันไม่จ่าย ต้องย้ายรถพังๆ ใช้งานไม่ได้ไปจอดไว้ในบ้านเฉยๆ บางเคสเงินค่าซ่อมไม่ถึงหลักหมื่น เวลาไปยื่นเรื่องกับ คปภ.เขาจะบอกว่า รอเป็นลำดับถัดไป ซึ่งไม่รู้ว่าลำดับที่เท่าไหร่ หรือรอ คปภ.ติดต่อกลับ ทำให้ลูกค้าไม่มั่นใจว่าจะได้เมื่อไหร่ สถานการณ์ตอนนี้ บริษัทประกันภัยที่อู่ทำด้วย ส่วนมากทำประกันโควิดด้วย ทำให้เราเริ่มรู้สึกไม่มั่นใจว่าเขาจะไปไหวไหม แล้วถ้าถูกปิดเราจะรู้ล่วงหน้าไหม คปภ.ไม่เคยแจ้งล่วงหน้าว่าบริษัทประกันนี้จะถูกปิด

Advertisement

ขณะที่ นพเกล้า ห่อศรี หรือ นพ เจ้าของรถที่เคลมประกันไม่ได้ เล่าว่า ตอนนี้รถอยู่ที่อู่ แต่ยังไม่ได้รับการซ่อม เพราะเบิกประกันไม่ได้ อู่ก็ไม่กล้าซ่อมให้ เนื่องจากบริษัทประกันล้มไปแล้ว ถ้าอยากซ่อมก็ต้องหาเงินมาจ่ายเอง อู่ประเมินราคา 148,000 บาท ซึ่งเราเองก็ไม่มีเงินจ่าย รถเราก็ต้องผ่อนทุกเดือน เดือนละ 8,700 บาท แล้วต้องไปหาค่าซ่อมเราไม่ไหวแน่นอน ตอนนี้ก็เหมือนเราผ่อนกุญแจรถ เพราะเอารถมาใช้ไม่ได้ รถเราอยู่ในอู่ซ่อมตั้งแต่ ก.ย.2564 ตอนนี้เดือดร้อนมาก เราก็ต้องใช้ จยย.ขี่ไปทำงานทุกวัน เราก็ไม่รู้จะต้องทำยังไง

“เมื่อเราติดต่อ คปภ.เขาบอกว่าจะเคลียร์ประกันของโควิดก่อน โทรไปกี่รอบก็ได้คำตอบแบบเดิมทุกรอบที่ติดต่อไป เขาบอกให้เรารอ รอแบบไม่มีกำหนด แล้วถ้าเราหาเงินมาจ่ายค่าซ่อมไปก่อน ไม่รู้ว่า กปว. (กองทุนประกันวินาศภัย) จะมีการคุมราคาใหม่ไหม เพราะจากการสอบถามเจ้าหน้าที่เขาบอกว่า ทางเจ้าหน้าที่ กปว. จะมาคุมราคาให้ใหม่ เรากลัวว่าถ้าซ่อมไปแล้ว แล้ว กปว. คุมราคาให้ใหม่ น้อยกว่าที่เราจ่ายไป เรากลัวมันจะมีค่าส่วนต่าง เราก็เลยยังไม่ตัดสินใจซ่อม เพราะถ้าจะซ่อมก็ต้องไปกู้เงินมาซ่อมอีก ตอนนี้เราอยากให้พิจารณาเคสประกันภัยทุกเคสให้พร้อมๆ กัน ไม่ใช่ดำเนินการเคสโควิดก่อน แล้วค่อยมาจัดการเคสประกันรถ และเร่งพิจารณาให้รวดเร็วหน่อย ลำพังตอนนี้ค่างวดรถก็หนักพอแล้ว”

ฟาก ภีมชญา ราชอุปนันท์ หรือเชอรี่ ผู้เอาประกันภัยที่ได้รับผลกระทบ ในฐานะผู้ประสานงานกลุ่มคนรอเงินประกัน เผยว่า ของเรามีเรื่องของประกันภัยบ้านที่ยังไม่ได้รับ 90,000 กว่าบาท และเจอจ่ายจบ ที่ต้องได้ 1 แสนบาท เราไปดำเนินการทุกอย่างครบแล้ว บริษัทประกันออกเช็คเงินสดให้ไปขึ้นเงินที่ธนาคารแล้ว แต่พอเราไปขึ้นเงินวันที่ 1 ธ.ค. ดันเป็นเวลาเดียวกันกับที่ คปภ.สั่งระงับการจ่ายเงิน ทำให้เราไม่สามารถเบิกเงินได้ ทั้งๆ ที่เรายืนอยู่หน้าธนาคาร เราได้กำหนดวันจ่ายแล้ว มีดีลวันจ่ายแล้ว แต่เราก็ต้องไปเริ่มต่อคิวใหม่ ตอนนี้เราเป็นผู้ประสานงานกลุ่มคนรอเงินประกัน และกลุ่มคนที่เคยไปยื่นฟ้องขอความเป็นธรรมที่ทำเนียบ ซึ่งมีคนรอเงินประกันประมาณ 3 พันคนในกลุ่ม และคนที่อยู่นอกกลุ่มอีกเป็นหมื่น

ดร.พีรภัทร ฝอยทอง เลขาธิการ สมาคมนักคณิตศาสตร์ประกันภัย แห่งประเทศไทย เผยว่า เหตุการณ์แบบนี้เคยเกิดขึ้นเมื่อสมัยน้ำท่วมใหญ่ ผู้ทำประกันมีการเคลมกันเยอะ ทำให้เกิดการดีเลย์ในการจ่ายค่าสินไหม ในกรณีที่บริษัทประกันล้ม ผู้ทำประกันจะได้เงินจากกองทุนฯ ไม่เกิน 1 ล้านบาท แต่ตอนนี้ที่ล่าช้า เพราะมีการโอนเคส ฉะนั้นจะต้องมีการตรวจสอบใหม่ ตอนนี้ผู้ที่ได้รับผลกระทบไม่ใช่แค่คนที่ทำประกันโควิด แต่ยังมีพวกอู่ซ่อมรถ และประกันอื่นๆ อีก ส่วนเรื่องอู่ซ่อมรถที่ได้รับผลกระทบ ถ้าบริษัทประกันล้ม คนทำประกันสามารถไปเบิกเงินกับทางกองทุนก่อนได้ แต่อู่ไม่สามารถเบิกได้ จริงๆ อู่ควรจะสวมสิทธิทำได้ มันเป็นเรื่องของข้อกฎหมายที่ต้องไปแก้กัน

“สำหรับเรื่องการทำเรื่องเคลมเงินจากกองทุนฯ ผู้เอาประกันภัยสามารถมาเคลมได้ แต่ยอดต้องไม่เกิน 1 ล้าน แต่คุณต้องสำรองจ่ายไปก่อน ที่ผ่านมามันไม่เคยเกิดเหตุแบบนี้ พนักงานพันกว่าคนจะต้องมาดูแล 4 ล้านกว่ากรมธรรม์ มันก็เลยล่าช้า แล้วเรื่องการเคลมประกัน ทำไมกรมธรรม์รถถึงมาทีหลัง ทั้งๆ ที่เขาก็เดือดร้อนเหมือนกัน ฉะนั้น คปภ.และกองทุน ต้องมาคุยกัน คุณจะดูแลแต่เคสโควิดไม่ได้ กรมธรรม์โควิดมีแค่ 10 ล้าน แต่กรมธรรม์อื่นๆ มีประมาณ 40 ล้าน

ตอนนี้มีการโอนเงินของบริษัทที่ปิดไปทั้ง 2 แห่ง มาให้ กปว. (กองทุนประกันวินาศภัย) ดูแล โดยพนักงานกองทุนที่ดูแลเรื่องนี้มันไม่พอ เพราะแค่เคลมโควิดยังไม่หมดเลย และการจะดูแลเรื่องเคลมรถยนต์ มันต้องใช้ผู้ที่เชี่ยวชาญด้านนี้ด้วย ผมมองว่าอาจจะเพราะว่ามีคนด้านนี้ไม่เพียงพอ เลยยังไม่มีการพิจารณาสั่งจ่าย และแค่เฉพาะ 2 บริษัทที่ล้มไป กองทุนก็เสียเงินไปครึ่งนึงแล้ว ถ้าเกิดบริษัทล้มเพิ่มอีก มีแววว่าเงินกองทุนอาจจะไม่พอ”

ดร.พีรภัทร เผยต่อว่า ในส่วนของการคิดเบี้ยประกัน อย่างโควิดเป็นเรื่องใหม่ ไม่มีใครคิดว่ามันจะกลายพันธุ์ ไม่มีใครคิดว่ามันจะระบาดนานขนาดนี้ ทุกๆ 3 เดือนเราเห็นแล้วว่าจำนวนคนติดมันเยอะขึ้น ดังนั้น มันก็ควรจะมีการพิจารณาเบี้ยใหม่ให้เหมาะสม ในปี 2563 ความเสี่ยงยังน้อย เบี้ยเลยเป็นอีกแบบ แต่จำนวนคนติดมันเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ทุกๆ เช้าเราเห็นอยู่แล้วว่าจำนวนผู้ติดเชื้อมันเพิ่มขึ้น ยิ่งความเสี่ยงเยอะ เบี้ยประกันก็ต้องเปลี่ยน ที่ต่างประเทศเขาทำกันแบบนี้มีการปรับเบี้ยเพิ่มสูงขึ้นตามยอดความเสี่ยง แต่ของไทยเวลาคำนวณความเสี่ยงจะต้องส่งให้ คปภ.และ คปภ.จะเป็นผู้อนุมัติให้ ซึ่งจะอนุมัติเป็นรายปี ทำให้ไม่สามารถปรับเปลี่ยนเบี้ยประกันได้เมื่อความเสี่ยงเพิ่มขึ้น

“อย่างประกันรถเขาจะดูสถิติว่าในแต่ละปีมีอุบัติเหตุรถยนต์มากน้อยแค่ไหน เขาจะดูไล่ตามยี่ห้อรถเลย แล้วจะมีการเฉลี่ยว่าเท่าไหร่ถึงเท่าไหร่ เขาจะคำนวณกำไรให้เหมาะสม ประกันรถเป็นประกันที่มีจำนวนมหาศาล เขาเลยให้กำไรน้อยที่สุด ในเรื่องของประกันโควิดปีแรก หลายๆ บริษัทได้กำไร บางที่อาจเกิน 5% สิ่งที่ คปภ.ทำ เขาจะดูว่าที่ไหนกำไรเยอะเกิน เขาจะสั่งให้ลดเบี้ย

แต่ต่อมาเกิดการระบาดเป็นวงกว้าง ตัวเลขก่อนจะมีการฉีดวัคซีน คนติดโควิดจำนวนน้อย แต่พอคนเริ่มฉีดวัคซีน ตัวเลขคนติดเยอะมากขึ้น อาจจะเพราะว่าคนเริ่มไม่กลัวโควิด หรืออาจจะเป็นเพราะรัฐควบคุมได้ไม่ดีพอ ส่งผลให้ยอดเคลมประกันพุ่งสูง และข่าวล่าสุด มีการจ้างเด็กเอ็นฯ ที่ติดโควิดมาเอ็นเตอร์เทน เพราะเขาไม่กลัว ถึงติดก็ไม่ตาย ได้ทั้งเด็กเอ็นฯ ได้ทั้งเงินประกัน อันนี้ถือว่าฉ้อโกงประกัน เป็นการพาตัวเองไปหาที่เสี่ยง เพื่อหวังเงินเคลมประกัน”

“ทางออกตอนนี้ คปภ.ควรจะยกเลิกคำสั่งห้ามบริษัทประกันภัย ยกเลิกกรมธรรม์ประกันภัย แบบเจอ จ่าย จบ ซึ่งทางบริษัทประกันจะสามารถยกเลิกได้ แต่ต้องบอกผู้ทำประกันล่วงหน้า 30 วัน เพื่อลูกค้าจะได้มีเวลาเตรียมตัว และจริงๆ ในสัญญาลูกค้าเองก็สามารถบอกเลิกประกันได้ และสามารถบอกเลิกได้ทันที เงื่อนไขนี้ คปภ.เป็นคนอนุมัติเองในทุกกรมธรรม์ ไม่ใช่เฉพาะของโควิด แต่อยู่ดีๆ ก็มีการยกเลิกข้อนี้ แล้วไม่ใช่การยกเลิกไปข้างหน้า แต่ย้อนหลังไปด้วย

ฉะนั้น กรมธรรม์ที่เกิดขึ้นก่อนหน้านี้ก็ต้องถูกยกเลิกไปด้วย ถ้าจะแก้ปัญหาตอนนี้ มันต้องตัดวงจร ก่อนที่จะมีบริษัทประกันอื่นล้มตามไปด้วย คือ บริษัทประกันต้องสามารถคืนใบอนุญาต แล้วทำแผน เช่น ประกันโควิด สามารถคืนเบี้ยประกัน แล้วถ้าพวกประกันรถยนต์ หากบริษัทยังไม่ล้ม แล้วพอร์ตยังดีอยู่ เขาสามารถขายหรือโอนพอร์ตนี้ไปยังบริษัทอื่นๆ หากบริษัทอื่นรับซื้อไป ประกันรถก็จะยังเดินต่อไปได้ตามปกติ ส่วนประกันโควิด ตอนนี้ถือเป็นหนี้เสีย ก็ต้องเคลียร์มันให้จบ ซึ่งจะจบก็คือต้องบอกเลิก และถ้าบอกเลิกจะให้เป็นธรรมกับชาวบ้านก็คือการคืนเบี้ยเต็มๆ ไม่ใช่คืนตามสัดส่วน”

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image