วอนดูแล รถบรรทุกญี่ปุ่น หลักฐานสำคัญ ปวศ. ใช้สร้างทางรถไฟสายมรณะ พบสภาพทรุดโทรม

เพจดังแห่แชร์ รถบรรทุกโบราณวัตถุชิ้นสำคัญ สมัยสงครามโลกที่ญี่ปุ่นบุกไทย อยู่ในสภาพเสื่อมโทรม ขาดการดูแล วอนรัฐเข้ามาบูรณะ ชี้หายากมาก ไม่พบในประเทศอื่น เจอที่ญี่ปุ่น 1 คัน และที่ จ.กาญจนบุรีเท่านั้น เป็นรถหกล้อลากจูงที่ทหารญี่ปุ่นดัดแปลงให้วิ่งบนรางได้ 

 

เมื่อวันที่ 21 มกราคม โลกออนไลน์มีการแชร์ภาพจากเพจ Thai Burma railway ทางรถไฟสายมรณะ บอกเรื่องราวรถบรรทุกที่เคยใช้สมัยสงครามโลก ครั้งญี่ปุ่นบุกไทย เป็นคันสุดท้ายที่หลงเหลืออยู่ อยู่ในสภาพที่ไม่ได้รับการดูแลมากนัก เพจดังกล่าวเล่าว่า

สภาพปัจจุบันอันน่าเศร้าของรถบรรทุกลากจูงแบบ Type 100 คันสุดท้ายในประเทศไทย

ญี่ปุ่นได้ขนเอารถบรรทุก Type100 มายังประเทศไทยเพื่อใช้งานประมาณ 50 คัน

Advertisement

เท่าที่ผมทราบคันนี้น่าจะเป็นคันสุดท้ายในประเทศไทย

แต่ตัวรถขาดการรักษาดูแล ภาพเหล่านี้ได้จากคุณ Yoottana Chomsiriwat ถ่ายเมื่อไม่นานมานี้

จะเห็นได้ว่าอุปกรณ์หลายๆ ส่วนได้หายไป อาจจะหายไปนานแล้วก็ได้ แต่ของบางอย่างก็ผุพังเสียหายตามกาลเวลา หลังคารถ กระจก ประตู พื้นไม้กระดาน และอุปกรณ์ต่างๆ ขาดการดูแลเอาใจใส่

Advertisement

เห็นแล้วก็น่าเสียดาย ที่ จ.กาญจนบุรี พยายามโปรโมตงานสะพานข้ามแม่น้ำแคว หรือโปรโมตการท่องเที่ยวเกี่ยวกับทางรถไฟสายมรณะมากมาย รายได้ที่ได้จากการท่องเที่ยวนี้ผมว่ามหาศาล แต่กลับปล่อยให้สิ่งสำคัญของประวัติศาสตร์อยู่ในสภาพแบบนี้

อยากวอนขอร้องผู้ที่มีอำนาจหรือผู้ที่ดูแลรถบรรทุก Type100 คันนี้และหัวรถจักรอีกสองหัวที่จอดอยู่ข้างๆ กัน

1.รบกวนบูรณะซ่อมแซมให้ตัวรถอยู่ในสภาพดีขึ้นมากกว่านี้หน่อยจะเป็นพระคุณอย่างสูง ข้อมูลนั้นคงหาไม่ยากถ้าจะทำจริง มีรถตัวอย่างที่สมบูรณ์คันหนึ่งอยู่ที่ญี่ปุ่นครับ

2.ถ้าบูรณะเสร็จแล้วก็ควรย้ายรถเหล่านี้ไปอยู่ใกล้ๆ สะพานข้ามแม่น้ำแควให้มากขึ้น นักท่องเที่ยวจะได้เห็นและสร้างความสนใจและเข้าใจในประวัติศาสตร์อย่างแท้จริง

เพจ Thai Burma railway ทางรถไฟสายมรณะ

ลานที่ให้หาบเร่แผงลอยที่อยู่ติดกับสะพาน ในความคิดเห็นของผมควรจะเป็นลานสำหรับจัดแสดงสิ่งของเหล่านี้ คนที่มาเที่ยวจะได้เห็นรถและหัวรถจักรที่ใช้งานจริงในช่วงสงคราม เพราะที่จอดหัวรถจักรและรถบรรทุก Type100 ตรงบริเวณปัจจุบันไกลและไม่เด่นเอาเสียเลย คนมาเที่ยวแทบจะไม่รู้ว่ามีรถพวกนี้อยู่

เงินที่ได้จากการท่องเที่ยวมากมายเข้าจังหวัด ก็ควรจัดสรรงบเพื่อมาดูแต่สิ่งเหล่านี้บ้างนะครับ เป็นหน้าเป็นตาของจังหวัด และมันเป็นหน้าเป็นตาของประเทศ

การที่เราปล่อยของเหล่านี้ไว้ในสภาพอย่างที่เห็น มันบ่งบอกอะไรหลายอย่าง มันบ่งบอกว่าเราไม่ได้ให้ความสำคัญอย่างแท้จริง หวังแต่กอบโกยเอาแต่ผลประโยชน์เท่านั้น ไม่คิดจะรักษาและอนุรักษ์อย่างจริงจัง

ชาวต่างชาติที่เขาศึกษาข้อมูล เขาอยากเห็นรถคันนี้จริงๆ ก็มีการเดินทางมาชม แต่มาพบในสภาพแบบนี้เขาคงผิดหวังกับการรักษาวัตถุพยานทางประวัติศาสตร์ของหน่วยงานภาครัฐของประเทศเรา

เพจดังกล่าว ยังเล่าประวัติรถบรรทุกรางลากจูง Type100 ของทหารญี่ปุ่นที่ตั้งอยู่สะพานแม่น้ำแคว กาญจนบุรี ระบุว่า

รถบรรทุกรางแบบ Type100 หรือที่เชลยศึกสัมพันธมิตรเรียกว่า Flying kampong มันมีหน้าที่อะไรบ้างและการใช้งานทำอย่างไร

แรกเริ่มความสนใจผมเกิดเมื่อเห็นรถบรรทุกที่เอาไว้วิ่งบนรางรถไฟได้ ด้วยความที่เป็นคนไม่ค่อยรู้ระบบกลไกรถไฟก็รู้สึกแปลกดี แต่ก็ยังไม่เข้าใจว่ามันคืออะไร เมื่อไปพิพิธภัณฑ์ Thai burma railway research center หรือ TBRC ใกล้ๆ กับสุสานทหารสัมพันธมิตรในตัวเมืองกาญจนบุรี ก็ได้ข้อมูลเพียงว่า เชลยศึกเรียกมันว่า Flying Kampong

เพจ Thai Burma railway ทางรถไฟสายมรณะ

ซึ่งความเข้าใจของผมคือเชลยศึกที่มานี้ส่วนใหญ่มาจากสิงคโปร์ มาเลเซีย คำว่า Kampong คือหมู่บ้าน หรือบ้านนอก ในภาษามาเลย์ และเขาคงเห็นรถบรรทุกที่ถูกดัดแปลงวิ่งบนรางรถไฟโดยมีหลังคามุงด้านบน ไปพร้อมกับโบกี้ข้างต่ำซึ่งก็มีการทำหลังคา มันจะดูคล้ายๆ เป็นหมู่บ้านเคลื่อนที่ได้ เลยเรียก flying kampong หรือหมู่บ้านบินได้ หรือหมู่บ้านเคลื่อนที่นั่นเอง

รถบรรทุกที่แปลงให้สามารถวิ่งได้บนรางรถไฟ ถือเป็นอะไรที่ว้าวมากสำหรับเชลยศึกและทหารตะวันตกครับ เพราะมันสะดวก รวดเร็ว

รถบรรทุกรางลากจูงในทางรถไฟสายมรณะ ก็จะถูกใช้ในการขนเครื่องมือ วัสดุ อุปกรณ์ที่สร้างทางรถไฟ รางเหล็ก ไม้หมอน ใส่โบกี้ขนของแบบข้างต่ำแล้วนำไปยังพื้นที่ที่ต้องการ

อย่างที่เคยกล่าวไว้ว่าการใช้หัวรถจักรไอน้ำวิ่งส่งของที่มีประมาณไม่มากนัก มันสิ้นเปลืองทั้งเชื้อเพลิงและเวลาในการรอให้ไอน้ำมีแรงดันมากพอที่จะขับเคลื่อนรถไฟทั้งขบวน

แต่รถบรรทุกนี้ไม่มีปัญหาครับ ใช้เครื่องยนต์ดีเซล สตาร์ตได้ก็วิ่งได้เลยจบปัญหา

และปัญหาอีกอย่างในช่วงการสร้างทางรถไฟคือ สะพานบางจุดยังไม่มีการเสริมความแข็งแรงมากพอที่จะรับน้ำหนักหัวรถจักรไอน้ำได้ หากใช้หัวรถจักรไอน้ำส่งของวัสดุก่อสร้าง ก็อาจจะทำให้เกิดอุบัติเหตุสะพานพังได้

รถบรรทุกลากจูงแบบ Type 100 จึงมีความเหมาะสมที่สุดในการใช้งานแบบนี้ครับ
.
นอกจากออกแบบให้ขนของแล้ว ยังขนส่งคน ทหาร เชลยศึก ไปยังพื้นที่ต่างๆ ที่รางรถไฟไปถึง รถที่ใช้ขนส่งคนโดยมากจะมีการทำหลังคาขึ้นมาครับ ทำหลังคาเพื่อบังแดด บังฝน และเมื่อเครื่องบินตรวจการของฝ่ายสัมพันธมิตรบินผ่าน อาจจะพรางตาทำให้นักบินเข้าใจผิดว่าเป็นบ้านคน

เพจ Thai Burma railway ทางรถไฟสายมรณะ

ในช่วงหลังจากสร้างทางรถไฟแล้วเสร็จและเปิดใช้งานแล้ว รถ Type100 ก็ยังคงทำหน้าที่เป็นรถที่ใช้ในงานซ่อมบำรุงทางรถไฟอยู่ครับ

สิ่งเหล่านี้ทำให้เชลยศึกที่สร้างทางรถไฟในช่วงการก่อสร้าง และทหารสัมพันธมิตรที่เข้ามาหลังสงครามที่ได้พบเห็นต่างทึ่งในไอเดียของญี่ปุ่น

ด้วยความได้เปรียบในการใช้งานของรถบรรทุกลากจูงแบบ Type100
1.รถสามารถใช้ได้ทั้งทางถนนและรถยนต์ หากถนนเป็นหล่มโคลนก็สามารถเอาขึ้นรางรถไฟแล้ววิ่งต่อ

2.ขณะเดียวกันหากต้องส่งของที่ไกลจากทางรถไฟออกไปก็สามารถเปลี่ยนกลับมาใช้ล้อยางและวิ่งตามถนนเข้าไปในพื้นที่ ที่ห่างจากเส้นทางรถไฟได้อีก

ขั้นตอนการนำรถ บรรทุก Type100 ซึ่งมี 6 ล้อมาใช้บนราง
1.นำรถมาจอดคร่อมรางรถไฟ
2.ใช้แม่แรงที่เป็นขาหยัง 4 ตัว ข้างหน้าตัวรถ 2 ตัว ข้างหลังตัวรถ 2 ตัว จับไปที่รางรถไฟและทำการยกตัวรถบรรทุกขึ้น
3.ถอดจานล้อทั้ง 6 ล้อออก
4.ปรับเพลาให้ตรงตำแหน่งของราง
5.ลดระดับแม่แรงลงให้ตัวจานล้อที่เป็นโลหะวางอยู่บนราง (จานล้อโลหะญี่ปุ่นออกแบบมาเป็นพิเศษนะครับ)
6.หลังจากนั้นก็สามารถวิ่งได้ กระบวนการเปลี่ยนจากวิ่งบนถนนมาวิ่งบนรางใช้เวลา ประมาณ 20 นาที

โดยรถบรรทุกรางลากจูงแบบ Type100 สามารถลากตู้บรรทุกสินค้าแบบข้างต่ำที่บรรทุกของเต็มได้ถึง 4-5 คัน (ตามในรูปแรกอะครับโบกี้เปลือยๆ ขอบข้างไม่สูงที่รถบรรทุกลากนั้นแหละ) ตู้บรรทุกสินค้าแบบข้างต่ำนี้เป็นของจากญี่ปุ่นนะครับเขามีชื่อเรียกว่า Type97 light freight car.

รถ type100 เพลาสามารถปรับได้ 3 ขนาด ทั้งขนาดราง 1.524 เมตร ของโซเวียต ราง1.435 ของจีน และราง 1 เมตรในไทยและภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ จะเห็นได้ว่าญี่ปุ่นเขามีการเตรียมการวางแผนมาอย่างดี ที่จะบุกจีนซึ่งทำสงครามกันมานาน เขาเตรียมที่จะบุกโซเวียตด้วย และยังมีการออกแบบให้เพลามีขนาด 1 เมตร เพื่อที่จะเข้าบุกไทยและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ครับ

แต่เป็นข้อสังเกตว่ารถ type 100 ที่จัดแสดงที่สะพานข้ามแม่น้ำแควและรูปเดิมในระหว่างการถูกใช้งานบนทางรถไฟสายมรณะนี้ มีการดัดแปลงช่วงล่างตรงส่วนล้อหน้าโดยนำแคร่โบกี้รถไฟขนาดเล็ก (ไม่รู้ผมเรียกถูกไหมนะ) มาติดตั้ง เข้าใจว่าเพื่อประโยชน์ในเรื่องของการยึดเกาะรางและเป็นที่สำหรับวางถังน้ำมันสำรอง

จึงพอจะทำความเข้าใจได้ว่า รถที่จัดแสดงที่สะพานข้ามแม่น้ำแควนั้นใช้งานบนเส้นทางรถไฟซะมาก เมื่อดูตามภาพน่าจะไม่มีการนำลงมาขับบนถนนแลัวสลับกลับไปใช้บนราง

และอีกอย่างหนึ่งที่สนับสนุนแนวคิดนี้คือรูปแทบทั้งหมดจะไม่มีรถคันไหนเลยที่เรามองเห็นล้อยางที่ถูกถอดออกจากตัวรถ จะมีเพียงรูปเดียว คือรูปที่เชลยศึกขนถังน้ำมันขึ้นถ้าเรามองดีๆ จะเห็นว่ามียางที่ถูกถอดออกจากรถ แขวนอยู่ข้างๆ ตัวกระบะรถ

สรุปทั้งรถหัวลากและตัวหางพวงที่จอดอยู่ที่สะพานข้ามแม่น้ำแควทั้งหมดเป็นของญี่ปุ่น

จากการหาข้อมูลแหล่งต่างๆ ไม่ว่าจะที่มาเลเซีย พม่า หรือที่อื่น ไม่พบครับ

เท่าที่พบมีที่ญี่ปุ่น 1 คัน ในสภาพบูรณะแล้วสมบูรณ์เกือบ 100% ที่ไม่ร้อยก็เพราะวิ่งไม่ได้เท่านั้น (แต่ถ้าญี่ปุ่นจะเอาให้วิ่งได้ผมว่าไม่ยาก แต่เขาอยากจอดจัดแสดงมากกว่า) และอีกคันคือจอดอยู่ที่สวนสาธารณะสะพานข้ามแม่น้ำแคว แต่สภาพนี้ไม่รู้จะบอกยังไงดี มันขาดการดูแลรักษาครับ อะไหล่บางชิ้นก็หลุด อะไหล่บางตัวก็หายไป บางส่วนโดยธรรมชาติ บางส่วนโดยน้ำมือมนุษย์

บางคนอาจจะเห็นรถบรรทุกดีเซลหน้าตาคล้ายๆ กันที่วิ่งบนทางรถไฟได้ในต่างประเทศ มันคนละรุ่นกันนะครับ

ญี่ปุ่นนำรถบรรทุกลากจูงแบบ Type100 เข้ามาใช้ที่ไทยประมาณ 50 คัน และตู้ข้างต่ำแบบ Type97 อีกประมาณ 600 โบกี้ ซึ่งเข้าใจว่าส่วนมากถูกใช้งานบนทางรถไฟสายมรณะ

Yoottana Chomsiriwat
Yoottana Chomsiriwat
Yoottana Chomsiriwat
Yoottana Chomsiriwat

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image