“ดร.บัญชา” อธิบาย ปรากฏการณ์ อาทิตย์ทรงกลดแบบซับซ้อน ที่ ศรีสะเกษ

“ดร.บัญชา” อธิบาย ปรากฏการณ์ อาทิตย์ทรงกลดแบบซับซ้อน ที่ ศรีสะเกษ

วันที่ 13 มิถุนายน ดร.บัญชา ธนบุญสมบัติ, ผู้ก่อตั้งชมรมคนรักมวลเมฆ ได้อธิบายการเกิดปรากฏการณ์ ดวงอาทิตย์ทรงกลด ที่.จ.ศรีสะเกษ ผ่านทางเฟชบุ๊ก ชมรมคนรักมวลเมฆ มีเนื้อหาดังต่อไปนี้

เนื่องจากมีสื่อสารมวลชน และเพื่อนๆ สนใจสอบถามกันมากเกี่ยวกับการทรงกลดอันซับซ้อนที่ จ.ศรีสะเกษ และพื้นที่ใกล้เคียง เช่น อ. เดชอุดม จ.อุบลราชธานี

ผมจึงขอสรุปประเด็นสำคัญ เพื่อให้เพื่อนๆ คนรักเมฆ เอาไว้ใช้อ้างอิง หรือศึกษาเพิ่มเติม ดังนี้ครับ

ทั้งนี้ ผมขอขอบคุณ คุณไกรสร ไชยทอง  ช่างภาพฝีมือดี และเป็นสมาชิกชมรมคนรักมวลเมฆที่ได้กรุณาส่งภาพคุณภาพสูง และคลิปมาให้ด้วยครับ

Advertisement

1 ) ปรากฏการณ์นี้ เรียกว่าอะไร?
.
ตอบ: ภาพรวมของปรากฏการณ์นี้เรียกว่า
อาทิตย์ทรงกลดแบบซับซ้อน (complex sun halos)
หรือการทรงกลดแบบซับซ้อน (sun halos)
.
ที่เรียกว่า “แบบซับซ้อน” เนื่องจากมีเส้นทรงกลดจำนวนมาก
.
ในกรณีนี้ มีอย่างน้อบ 6 แบบ ดังจะได้กล่าวต่อไป


.

2 ) การทรงกลดเกิดขึ้นได้อย่างไร?
.
ตอบ: การทรงกลดในเหตุการณ์นี้เกิดจากการที่แสงอาทิตย์เกิดการหักเห (refraction) หรือสะท้อน (reflection) โดยผลึกน้ำแข็ง (ice crystals) ที่อยู่ในเมฆระดับสูงที่เรียกว่า ซีร์โรสเตรตัส (Cirrostratus)
.

Advertisement

3 ) เหตุใดครั้งนี้จึงเป็นการทรงกลดแบบซับซ้อน?
.
ตอบ: เนื่องจากมีผลึกน้ำแข็งมากกว่า 1 แบบ ซึ่งมีรูปร่างแตกต่างกัน และสำหรับผลึกน้ำแข็งแต่ละแบบ แสงอาทิตย์สามารถหักเห หรือสะท้อนได้ในลักษณะแตกต่างกันหลายแบบ ดังนั้น จึงเกิดเป็นเส้นต่างๆ หลายเส้น
.
แต่ละเส้นมีชื่อเรียกต่างกันไปขึ้นกับเงื่อนไขการหักเหหรือสะท้อนของแสงอาทิตย์โดยผลึกน้ำแข็ง
.

.
4 ) ชื่อเรียกของแต่ละเส้นมีอะไรบ้าง?
.
ตอบ: จากข้อมูลที่มี สามารถระบุการทรงกลดได้อย่างน้อย 6 แบบ ดังนี้
.
4.1) เส้นโค้งเซอร์คัมซีนิทัล (circumzenithal arc)
หรือ CZA : ปรากฏเป็นโค้งหงายสีรุ้งอยู่สูง เหนือดวงอาทิตย์
.
4.2) วงกลมรัศมี 22 องศา (22-degree halo) :
ปรากฏเป็นวงกลมเส้นจางๆ มีดวงอาทิตย์อยู่ที่จุดศูนย์กลาง
.
เส้นนี้พอมองเห็นได้ แต่ไม่ชัดนัก
.
4.3) เส้นสัมผัสบน (upper tangent arc)
หรือ UTA : เป็นเส้นโค้งแตะขอบบนของวงกลมรัศมี 22 องศา
.
เส้นนี้มองเห็นได้ไม่ชัดนัก แต่สว่างเพียงพอที่จะระบุได้
.
4.4) ซันด็อก (sundog) หรือพาร์ฮีเลียน (parhelion): เป็นแถบแสงสั้นๆ ในแนวดิ่ง อยู่ทางซ้ายและขวาของดวงอาทิตย์
.
พบว่าซันด็อกจะอยู่บนวงกลมพาร์ฮีกลิกเสมอ (จะกล่าวถึงวงกลมพาร์ฮีลิกในข้อ 4.5)
.
4.5) วงกลมพาร์ฮีลิก (parhelic circle):
เป็นเส้นวงกลมสีขาวขุ่น ลากผ่านซันด็อกทั้งสองจุดและดวงอาทิตย์ โดยเป็นเส้นขนานไปกับขอบฟ้า
.
ภาพซ้าย: จะเห็นบางส่วนของวงกลมพาร์ฮีลิก เป็นโค้งหงายสีขาว
.
ภาพขวา: จะเห็นวงกลมพาร์ฮีลิกเต็มวง เนื่องจากถ่ายด้วยเลนส์ฟิชอาย
(ด้านบนของภาพค่ือด้านหลังของกล้อง)
.
4.6) พาร์ฮีเลียน 120 องศา (120-degree parhelion): ปรากฏเป็นจุดสว่างสีขาว อยู่บนเส้นวงกลมพาร์ฮีลิกฝั่งตรงข้ามดวงอาทิตย์
โดยจะเยื้องไปทางซ้ายและขวา
.
พหูพจน์ของพาร์ฮีเลียน (parhelion) คือ พาร์ฮีเลีย (parhelia)
.
ดังนั้น หากเรียก 2 จุดรวมกัน ก็จะเป็น 120-degree parhelia (ตามภาพ)
.

.
5) ทำไมบางคนจึงเรียกปรากฏการณ์นี้ว่า “อาทิตย์ 5 ดวง” หรือ “ปัญจสุริยา”?
.
ตอบ: ในบางเหตุการณ์ แถบแสงซันด็อก (ในข้อ 4.4)
และพาร์ฮีเลีย 120 องศา มีความสว่างมาก จนเปรียบได้กับดวงอาทิตย์
ดังนั้น หากนับดวงอาทิตย์จริงเป็นดวงที่ 1
แถบแสงซันด็อกอีก 2 แถบ และพาร์ฮีเลีย 120 องศาอีก 2 แถบ จึงเปรียบเสมือนดวงอาทิตย์อีก 4 ดวง
รวมกันทั้งหมดเป็น 5 ดวง หรือ “ปัญจสุริยา”
.

6) เหตุการณ์ “ปัญจสุริยา” เคยเกิดขึ้นมาก่อนหรือไม่?
.
ตอบ: เคยเกิดในประวัติศาสตร์ เช่น ที่กรุงโรมเมื่อวันที่ 20 มีนาคม ค.ศ. 1629 และวันที่ 24 มกราคม ค.ศ. 1630
.
ครั้งเมื่อวันที่ 24 มกราคม ค.ศ. 1630 นี่ เส้นสัมผัสบนสว่างมาก และเมื่อรวมกับเส้น CZA ซึ่งสว่างชัดเจนอยู่แล้ว ฝรั่งจึงนับเป็นอาทิตย์ 7 ดวงด้วยซ้ำไป เรียกว่าเหตุการณ์ “7 Suns of Rome”
.
ส่วนในประเทศไทย เคยมีผู้เห็นที่ อ.โป่งน้ำร้อน จ.จันทบุรี เมื่อวันพุธที่ 1 เมษายน พศ 2558
โดยเหตุการณ์เดียวกันนี้ ยังเห็นได้ที่จังหวัดพระตะบอง ประเทศกัมพูชา ด้วย
.
7) หากต้องการศึกษาเพิ่มเติม จะอ่านหรือชมคลิปได้จากที่ไหนบ้าง
.
ตอบ: ขอแนะนำบทความภาษาไทยดังนี้
.
วงกลมพาร์ฮีลิก (parhelic circle) อ่านได้ที่นี่
 Parhelic Circle ทรงกลดวงกลมแสนพิเศษ : โดย บัญชา ธนบุญสมบัติ

.
ซันด็อก (sundogs) อ่านได้ที่
ตามหา‘หมาน้อย’ลอยฟ้า : โดย บัญชา ธนบุญสมบัติ

.
เส้นสัมผัสบน (upper tangent arc, UTA) อ่านได้ที่
Circumscribed Halo การทรงกลดอันน่าทึ่ง : โดยบัญชา ธนบุญสมบัติ

.
ส่วนหนังสือที่อธิบายเรื่องการทรงกลด
โดยเฉพาะปรากฏการณ์ ‘อาทิตย์ 5 ดวง’ และ ‘อาทิตย์ 7 ดวง’
.
ขอแนะนำ All about Clouds เล่มนี้มีเมฆมาก ซึ่งผมเขียนให้กับ สนพ.มติชน

คลิกอ่านAll about Clouds ได้ที่นี่

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image