อ.เจษฎา ชี้ปม ‘น้ำยาล้างห้องน้ำ’ พ่นนาข้าว เสี่ยงทำร้ายพืชมากกว่าช่วยฆ่าเชื้อรา

อ.เจษฎา ชี้ปม ‘น้ำยาล้างห้องน้ำ’ พ่นนาข้าว เสี่ยงทำร้ายพืชมากกว่าช่วยฆ่าเชื้อรา 

สืบเนื่องจากกรณีที่มีการแชร์ภาพระบุว่าชาวนารายหนึ่งใช้น้ำยาล้างห้องน้ำผสมฉีดข้าว กระทั่งเกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์ในวงกว้างนั้น

ล่าสุด รศ.ดร.เจษฎา เด่นดวงบริพันธ์ อาจารย์ประจำภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก ถึงกรณีดังกล่าว ระบุว่า

“ไม่น่าเอาน้ำยาล้างห้องน้ำ ไปฉีดพ่นนาข้าว นะครับ”

เช้านี้เห็นโพสต์ภาพเหล่านี้ ในเพจของหมอแล็บแพนด้า

Advertisement

(https://www.facebook.com/MTlikesara/posts/597384411745025) ที่หมอแล็บระบุว่า “วงการทำนาต้องสั่นสะเทือน ใช้น้ำยาล้างห้องน้ำผสมฉีดข้าวครับ” … ก็ยังงงว่า เค้าทำกันแบบนี้จริงเหรอ ที่เอาน้ำยาล้างห้องน้ำไปฉีดพ่นในนาข้าว เค้าจะทำไปทำไมกัน?

ซึ่งดูตามคำบรรยายในภาพ ก็เหมือนกับเกษตรกรเค้าจะคิดว่าใส่ไปแล้ว นาจะได้ผลผลิตดีแตกต่างออกไป… หรือเท่าที่อ่านในคอมเมนต์ บางคนก็อธิบายว่า เกษตรกรคงเข้าใจผิดว่าน้ำยาล้างห้องน้ำจะไปช่วยฆ่าเชื้อโรค ฆ่าเชื้อราให้กับแปลงนาได้

Advertisement

ถ้าดูในเรื่ององค์ประกอบของน้ำยาล้างห้องน้ำนั้น จะพบว่ามีหลายสูตรมากๆ ได้แก่

– สูตรกรดเกลือ (Hydrochloric acid) และสารลดแรงตึงผิว (Surfactant) ชนิดต่างๆ เช่น Ethoxylate Alcohol ; Ethoxylate Alcohol ; Linear Alkylbenzene Sulfonate, Sodium Salt ; Lauryl Dimethyl Amine Oxide ; Alkyl Dimethyl Benzyl Ammonium chloride ; Alkyl Dimethyl Ethylbenzyl Ammonium chloride
– สูตรกรดเกลือ, กรดมะนาว (Citric acid) และสารลดแรงตึงผิว
– สูตรกรดมะนาว และสารลดแรงตึงผิว
– สูตรใช้ตัวทำละลายอินทรีย์ (Organic Solvent) กับสารลดแรงตึงผิว
– สูตรสารลดแรงตึงผิวหลายชนิดผสมกัน
– สูตรโซเดียมไฮโปคลอไรต์ (Sodium hypochlorite) และสารลดแรงตึงผิว
– สูตรสารลดแรงตึงผิว ผสมกับ Trichloroisocyanuric acid (TCCA) และผงหินปูน (Calcium carbonate)

ถ้าดูตามรายชื่อของสารเคมีที่ปรากฏนี้แล้ว ก็ไม่น่าจะมีตัวไหนที่จะมีประสิทธิภาพดี ในการช่วยเพิ่มผลผลิต หรือช่วยฆ่าเชื้อโรคเชื้อราได้ประสิทธิภาพดีด้วย เมื่อเทียบกับการใช้สารเคมีทางการเกษตรที่เหมาะสมโดยตรง ไม่ว่าจะเริ่มเพิ่มผลผลิตด้วยปุ๋ยด้วยฮอร์โมน หรือแก้ไขป้องกันเรื่องโรคพืชด้วยยาฆ่าเชื้อแบคทีเรีย ยาฆ่าเชื้อรา ยากำจัดศัตรูพืช ฯลฯ (ถึงน้ำยาล้างห้องน้ำ จะเคลมบนขวดว่าฆ่าเชื้อโรคได้ 99.9% แต่ก็ต้องมีความเข้มข้นมากเพียงพอ สำหรับพื้นที่แคบๆ อย่างห้องน้ำ)

ที่พอจะคิดว่าอาจจะช่วยได้ทางอ้อม คือการที่น้ำยาล้างห้องน้ำมีการผสมสารลดแรงตึงผิว (surfactants) ลงไปด้วย อันนี้ ก็พอจะกลายเป็นสารเสริมประสิทธิภาพ (Adjuvants) ช่วยให้สารเคมีการเกษตรอื่นๆ ที่ผสมฉีดพ่นไปพร้อมกันนั้นจับกับใบพืชได้ดีขึ้น โดยไปปรับสภาพทางกายภาพของตัวสารออกฤทธิ์ ให้ละลายหรือแผ่กระจายในน้ำ มีผลให้สารเคมีเคลื่อนที่เข้าสู่ปากใบและเนื้อเยื่อหรือเซลล์พืชได้ง่าย โดยเฉพาะสารกำจัดวัชพืช หรือสารควบคุมการเจริญเติบโตของพืช

ในทางกลับกัน จะเห็นได้ว่าในน้ำยาล้างห้องน้ำนั้นอาจจะมีส่วนผสมหลายตัวที่เป็นอันตรายต่อใบและต้นพืชได้ โดยเฉพาะพวกกรด และพวกด่าง ที่ใช้กำจัดคราบสกปรก จึงไม่น่าจะนำมาฉีดพ่นพืชที่ปลูกไว้อย่างที่เชื่อตามกัน

อ่อ … สำหรับหลายคนที่กังวลเรื่องสารเคมีตกค้าง อันตรายมาถึงผู้บริโภคนั้น เข้าใจว่าน่าจะไม่ต้องกังวลนัก เพราะสารส่วนใหญ่ที่เป็นส่วนผสมของน้ำยาล้างห้องน้ำสามารถสลายได้ในธรรมชาติ

ข้อมูลเรื่องน้ำยาล้างห้องน้ำ จาก http://www.chemtrack.org/Board-Detail.asp?TID=0&ID=2101-

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image