ผู้เขียน | วรวิทย์ ไชยทอง |
---|
ปัญหารถโดยสารในพื้นที่กรุงเทพมหานครขับซิ่ง ปาดหน้า ขับเร็วเพื่อแย่งผู้โดยสาร จนปรากฏออกมาเป็นคลิปหวาดเสียวจำนวนมาก หรือกระทั่งล่าสุด คือคลิปของรถมินิบัสสาย 71 ที่เรียกเสียงฮือฮาเป็นอย่างมาก เหล่านี้ล้วนไม่ใช่เรื่องใหม่ เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นมานาน จนผู้กำกับภาพยนตร์บางคนนำไปทำเป็นหนังฉายออกมาแล้ว
หลังจากเกิดเหตุการณ์การขับขี่ที่หวาดเสียวของคนขับรถ สิ่งที่ตามมาคือการกร่นด่าของคนในสังคม รวมถึงการเรียกร้องมาตรการลงโทษคนขับอย่างเด็ดขาด บุคคลและองค์กรในสังคมจำนวนมากหลายครั้งก็เรียกร้องไปยังกรมขนส่งทางบกให้ดำเนินการอย่างเด็ดขาด ตามที่เป็นข่าว แต่ถึงที่สุดก็ไม่ได้ช่วยให้พฤติกรรมดังกล่าวยุติลง ผู้ใช้รถก็ยังคงได้เห็นการขับรถที่เสี่ยงอันตรายของคนขับรถโดยสารในกรุงเทพมหานครจนชินตา

“มติชนออนไลน์” หยิบปัญหาเรื่องนี้ไปคุยกับนักวิชาการ เริ่มจาก รศ.ดร.พนิต ภู่จินดา หัวหน้าภาควิชาการวางแผนภาคและเมือง คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ด้วยคำถามง่ายๆว่าเราจะแก้ปัญหาพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมนี้อย่างไร และในทางวิชาการเราจะอธิบายปรากฏการณ์แบบนี้ว่าอย่างไร นอกเหนือจากการโพสต์ประณาม ที่เรามักมักเห็นทุกครั้งที่เกิดปัญหา แต่ดูเหมือนมาตรการทางสังคมก็ไม่ช่วย
รศ.ดร.พนิต อธิบายปัญหาดังกล่าวระบุว่า ปัญหาเกิดจากการนำ “ระบบการขนส่งแบบยาง”มาปะปนกับ “ระบบการขนส่งทางราง” หมายความว่า ในระบบผังเมืองสมัยใหม่จะต้องมีการวางโครงสร้างระบบขนส่งในเมืองอย่างเป็นระบบ การที่เรานำรถเมล์หรือมินิบัสเข้ามาวิ่งในเมืองขนส่งประชาชนเป็นหลัก ย่อมเกิดปัญหาอย่างแน่นอน เพราะรถโดยสารจะต้องฝ่ากลางเมือง ซึ่งเป็นพื้นที่ที่รถติด
รศ.ดร.พนิต เสนอว่า โดยหลักผังเมืองสมัยใหม่ โดยทั่วไปแล้ว รถเมล์หรือระบบการขนส่งด้วยล้อยาง ควรจะถูกนำไปใช้บริเวณชานเมืองเพื่อรับส่งคนจากด้านนอกเข้ามาเพื่อต่อกับระบบขนส่งแบบรางแล้วนำคนเข้ามาภายใน อาจารย์ยกตัวอย่างโครงสร้างการคมนาคมแบบก้างปลา ที่รถประจำทางเปรียบเสมือนก้างปลาขนาดเล็ก ที่เชื่อมต่อกับก้างใหญ่ หรือเป็นแกนหลัก ซึ่งควรจะเป็นการขนส่งแบบราง เพราะมีความสามารถในการเคลื่อนย้ายคนได้เยอะโดยใช้พื้นที่น้อย
“ต้องเอารถเมล์ออกจากพื้นที่ด้านในและนำรถเมล์ไปวิ่งในพื้นที่ที่พอวิ่งได้ เช่นพื้นที่ชานเมือง ถ้าเรายังนำรถเมล์มาวิ่งกลางเมืองแบบนี้ก็จะเจอปัญหารถติด แล้วคนขับก็จำเป็น ต้องรีบทำรอบ เพราะเขาต้องหาเงิน” รศ.ดร.พนิต ระบุ
นักวิชาการผังเมืองท่านนี้ระบุด้วยว่า ในส่วนพฤติกรรมการขับขี่ของคนขับนั้น ในระยะสั้น ก็จำเป็นต้องมีการอบรม แต่ถึงที่สุดแล้ว ก็จำเป็นต้องปรับเปลี่ยนโครงสร้างการจัดการ โดยเฉพาะการนำรถดังกล่าวไปวิ่งในพื้นที่ที่พอวิ่งได้ ในปัจจุบันเราออกแบบให้รถเมล์สายหนึ่งวิ่งจากพื้นที่เมืองด้านหนึ่งผ่ากลางเมืองไปสู่อีกด้านหนึ่งเป็นจำนวนมาก ซึ่งไม่มีที่ไหนในโลกที่เขาทำกันแบบนี้
อาจารย์ยกตัวอย่างรถเมย์สาย 8 ที่วิ่งจากแฮปปี้แลนด์ไปสะพานพุทธ ว่าต้องฝ่าพื้นที่เมืองจำนวนมาก โดยเฉพาะพื้นที่จราจรติดขัด ซึ่งอาจารย์ย้ำว่าผู้ขับขี่ไม่ใช่คนรวยและจำเป็นต้องหาเงิน ประกอบกับโครงสร้างราคาค่าโดยสารที่ทำให้บริษัทเอกชนเร่งรีบในการหากำไรจากการทำรอบ ต้องขับซิกแซก ปาดไปมา แบบที่เห็นกันจนชินชา แม้จะบังคับด้วยกฎหมาย หรือแม้แต่ไล่ออก ก็ไม่หาย ฉะนั้นเวลาเกิดปัญหาจากพฤติกรรมการขับขี่ดังกล่าวแล้ว ขอให้คนในสังคมเข้าใจว่ามันเกิดจากปัจจัยหลายเรื่อง
“เมื่อย้อนกลับมาดูระบบขนส่งในเมืองก็จะพบว่าบีทีเอสคือระบบหลัก แต่ปัญหาคือบีทีเอสมีค่าโดยสารที่แพง ทำให้คนจนไม่สามารถใช้ได้ เปรียบเทียบค่าโดยสารกลับรถประจำทางก็จะพบว่าต่างกันมาก” รศ.ดร.พนิต ระบุ
รศ.ดร.พนิตยังเสนออีกว่า สำหรับแนวทางการแก้ปัญหานั้นให้มีการปรับโครงสร้างราคาค่าโดยสาร โดยควรจะมีการตั้งองค์กรการบริหารในระดับมหานครที่ดูแลเรื่องโครงสร้างพื้นฐานทั้งหมด เพื่อให้เกิดภาพรวมการบริหารให้มีความชัดเจน
อาจารย์ยืนยันทิ้งท้ายว่าการเข้าไปควบคุมพฤติกรรมของผู้ขับขี่อย่างเดียวนั้นไม่ได้หมายความว่าไม่จำเป็น แต่ถึงที่สุดแล้วมันแก้ปัญหาอย่างเด็ดขาดไม่ได้ และเราจะเจอเรื่องเช่นนี้ต่อไปเรื่อยๆ หากเรายังไม่เข้าใจว่าโครงสร้างของเมืองและระบบสัญญา ก็เป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้เขาต้องทำแบบนั้น และควรหาทางแก้ไขให้ได้ในอนาคต

ด้าน ผศ.ดร.พิชญ์ พงษ์สวัสดิ์ นักวิชาการจากภาควิชาการปกครอง คณะรัฐศาสตร์ จุฬาฯ และอาจารย์ผู้สอนวิชาการเมืองกับนโยบายพัฒนาเมือง ให้ความเห็นกรณีนี้ว่า หลังจากดูคลิปดังกล่าวแล้ว ไม่ปฏิเสธว่าจำเป็นต้องมีการอบรมพฤติกรรมของผู้ขับขี่รถเมล์ แต่ประเด็นสำคัญที่ต้องถามอีกเรื่องหนึ่งคือต้องถามว่าคนจนเมืองมีสิทธิอย่างไรบ้าง เพราะรถเมล์คือการขนส่งสาธารณะที่คนจนเมืองสามารถใช้บริการได้
ทั้งนี้การคิดนโยบายจำนวนมากไม่ได้คิดบนฐานของการให้ความสำคัญกับรถเมล์เป็นหลัก ในฐานะที่ว่ารถเมล์คือสิทธิขั้นพื้นฐาน ในต่างประเทศเขาต้องสร้างเลนสำหรับรถโดยสารสาธารณะไว้เฉพาะและรถยนต์ส่วนตัวห้ามเข้าไป แต่ในเมืองไทยเรามักปรากฏภาพของรถเมล์ไปเบียดรถเก๋ง พฤติกรรมการขับรถเมล์หวาดเสียว เสมือนรังแกรถยนต์ส่วนตัว โดยไม่มีใครตั้งคำถามกลับเลยว่ามีรถยนต์ส่วนตัวจำนวนมากที่ไปละเมิดช่องทางจราจรของรถเมล์ นอกจากนี้ยังต้องคำนึงว่าการขนส่งสาธารณะในเมืองบางอย่าง คนจนเมืองไม่สามารถใช้ได้เช่นรถไฟฟ้าบีทีเอสและเอ็มอาร์ที เพราะราคาสูง เฉพาะค่าโดยสารต่อวัน ก็แทบจะเท่ากับค่าจ้างขั้นต่ำแล้ว
ผศ.ดร.พิชญ์ ระบุด้วยว่า ต้องทำความเข้าใจว่าระบบรถเมล์ในกรุงเทพมีสองระบบทับซ้อนกันคือระบบที่ไม่สามารถขาดทุนได้ และระบบที่ขาดทุนได้ โดยในส่วนระบบที่ขาดทุนได้นั้น ผู้ขับก็ไม่จำเป็นต้องรีบร้อนแต่อย่างใด แต่ในส่วนรถเมล์ของบริษัทที่ไม่สามารถขาดทุนได้นั้น ก็ถูกบีบให้ต้องใช้ความเร็วเพื่อสร้างกำไรนั่นเอง นี่คือระบบสัญญาที่ทับซ้อนกันอยู่
ในส่วนสาย 71 ที่มีปัญหานั้นตนเองก็เคยโดยสาร ซึ่งวิ่งผ่านรามคำแหงและเป็นพื้นที่ที่ไม่มีระบบราง ผศ.ดร.พิชญ์เสนอว่าการแก้ปัญหาควรคำนึงถึงประโยชน์ของคนส่วนใหญ่เป็นหลัก โดยเฉพาะในเมืองที่ต้องคำนึงถึงคนจนเมืองด้วย การออกแบบระบบขนส่งจึงต้องเลือกกับทุกคนทุกชนชั้น อาจารย์เห็นว่าระบบรางน่าจะเป็นคำตอบที่คุ้มค่า และแก้ปัญหาจราจรติดขัดได้

สุดท้ายคือความเห็นของ ดร.สุรเชษฐ์ ประวินวงศ์วุฒิ อาจารย์ประจำภาควิชาวิศวกรรมขนส่ง คณะวิศวกรรมศาสตร์และเทคโนโลยี สถาบันเทคโนโลยีแห่งเอเชีย ให้ความเห็นเรื่องนี้ว่า เรื่องนี้มีหลายเรื่องประกอบกันในเบื้องต้น วิธีแก้ปัญหาคือ 1.ควรจัดให้มีที่จอดรถเมล์เฉพาะ หรือเลนเฉพาะ โดยไม่กีดขวางจราจร 2.คือเรื่องพฤติกรรมการขับ ที่ควรจริงจังมากขึ้นโดยให้มีคอลเซ็นเตอร์ ที่ต้องจริงจัง ตามไปไล่บี้ โดยให้กรมการขนส่งทางบกเป็นผู้จัดตั้งขึ้นมา มีระบบตรวจสอบเพื่อจัดการกับคนที่ขับรถไม่ดี น่าจะเป็นวิธีการดีที่สุด นอกจากนี้ยังควรทำเป็นเว็บไซต์ให้มีหลักฐานว่าการส่งหลักฐาน เช่นรูปภาพว่า คนขับประพฤติตัวไม่ดีจริงๆ
ดร.สุรเชษฐ์ ให้ความเห็นเพิ่มเติมว่า “สิ่งที่รัฐกำลังทำคือการสร้างระบบขนส่งทางรางขนาดใหญ่ทั้งใต้ดิน-บนดินในอนาคตรถเมล์ต้องเปลี่ยน ยกตัวอย่างเช่น รถเมล์จากหมอชิตวิ่งไปบีทีเอส ถามว่ามีรถเมล์ทั้งหมดกี่สาย หากมองภาพใหญ่มันไม่มีประสิทธิภาพต่อสังคม วิธีแก้ปัญหาโดยหลักการคือต้องนำรถเมล์ไปเป็นเส้นเลือดฝอย และนำคนมาสู่รถไฟฟ้าซึ่งเป็นเส้นเลือดใหญ่ เช่นรถไฟฟ้าสายสีม่วงที่สถานการณ์ไม่ค่อยดี ก็ควรมีการนำรถเมล์เปลี่ยนไปวิ่งรับคนจากชานเมืองมาส่งสถานีรถไฟฟ้าเป็นต้น แต่เมืองไทยไม่มีคนคิดแบบบูรณาการ รถเมล์ต้องค่อยๆปรับเปลี่ยนรูปแบบ”
นี่คือสามความเห็นจากนักวิชาการ ที่หวังว่าจะช่วยให้คนไทยทำความเข้าใจเหตุการณ์ “เมล์ซิ่ง” ในกรุงเทพฯได้ดียิ่งขึ้น