Google ยกย่อง 104 ปี ‘แสงดา บันสิทธิ์’ ศิลปินแห่งชาติการทอผ้า ผู้ริเริ่มผ้าเปลือกไม้สีกากี

14 เม.ย. กูเกิล ยกย่อง 104 ปี แสงดา บันสิทธิ์ ศิลปินแห่งชาติการทอผ้า ผู้ริเริ่มผ้าเปลือกไม้สีกากี

เมื่อวันที่ 14 เมษายน เว็บไซต์ค้นหาชื่อดังอย่าง “กูเกิล” ได้เผยแพร่ภาพดูเดิลในหน้าค้นหา เป็นภาพนางแสงดากำลังทอผ้า เพื่อเป็นการยกย่อง นางแสงดา บันสิทธิ์ ศิลปินแห่งชาติ สาขาทัศนศิลป์ (การทอผ้า) พุทธศักราช 2529 เนื่องในโอกาสครบรอบ 104 ปี

  • ประวัติ แสงดา บันสิทธิ์

สำหรับ นาง แสงดา บันสิทธิ์ เป็นบุตรคนเดียวของนายหมวก และนางคำมูล เกิดเมื่อ วันที่ 14 เมษายน พ.ศ.2462 ที่บ้านห้วยม่วง หมู่ที่ 6 ตำบลสบเตี๊ยะ อำเภอจอมทอง จังหวัดเชียงใหม่ สมรสกับนายดาบมาลัย บันสิทธิ์ เมื่อ พ.ศ.2480

ADVERTISMENT

ตลอดชีวิตนางแสงดาไม่เคยเข้าเรียนในโรงเรียน แต่ได้ฝึกเรียนด้วยตนเองกับคุณลุง จนสามารถอ่านออกเขียนได้ และจากการที่ได้อยู่ใกล้ชิดกับคุณยายคือ อุ๊ยเลี่ยม ผู้ซึ่งมีความรู้ในด้านการทอผ้า ย้อมผ้า โดยเฉพาะย้อมผ้าฝ้ายด้วยสีจากพืชแบบโบราณ ทำให้นางแสงดาได้มีโอกาสสืบทอดความรู้ดังกล่าว

และด้วยใจรักงานด้านนี้อยู่แล้ว ประกอบกับหลังจากแต่งงานก็ได้ทำงานเกี่ยวกับการทอผ้าเล็กๆ น้อยๆ สำหรับใช้สอยในครอบครัว จึงทำให้ได้พัฒนาความรู้ความสามารถมากขึ้นเรื่อยๆ

ADVERTISMENT

กระทั่งเมื่อเกิดสงครามโลกครั้งที่ 2 ผ้าขาดตลาด นางแสงดาและมารดาก็ได้ช่วยกันทอผ้าที่เรียกว่า “ผ้าเปลือกไม้” สีกากี สำหรับตัดชุดข้าราชการให้สามี และเพื่อนๆ สามี กระทั่งสงครามยุติ มารดาที่ชรามากแล้วก็เลิกทอ จึงมีเพียงนางแสงดาที่ยังคงทอผ้าเรื่อยมา

เมื่อสามีถึงแก่กรรมในปี พ.ศ.2503 นางแสงดาได้เริ่มสะสมเครื่องมือที่ใช้ในการทอผ้า และภายใน 1 ปี นางสามารถรวบรวมกี่ทอผ้าได้ถึง 5 หลัง จึงได้ชักชวนเพื่อนบ้านมาช่วยกันทอผ้าเพื่อจำหน่าย ในระยะแรกขายไม่ได้ ต้องแจกลูกหลานไป ปรากฏว่าเมื่อคนในเมืองพบเห็นก็เกิดความสนใจ และช่วยอุดหนุนให้กำลังใจ

ต่อมาเกษตรอำเภอจอมทอง ได้พานางแสงดาและกลุ่มแม่บ้านไปแสดงผลงานที่สวนบวกหาด ในจังหวัดเชียงใหม่ จากนั้นนางแสงดาได้นำผ้ามาฝากขายที่ร้าน “บ้านไร่ไผ่งาม” ซึ่งเป็นร้านจำหน่ายเครื่องจักสานของบุตรสาว อยู่ที่ศูนย์การค้าทิพย์เนตร อำเภอเมืองเชียงใหม่ ทำให้คนทั่วไปรู้จักผ้าทอบ้านไร่ไผ่งาม และได้รับความนิยมมากขึ้น<

ต่อมาในปี พ.ศ.2520 มิสเตอร์เคนจิ ชาวญี่ปุ่น ซึ่งสนใจและติดตามผลงานของนางแสงดามาเป็นเวลานาน ได้สั่งซื้อผ้าเป็นจำนวนมากเพื่อนำไปจำหน่ายที่ญี่ปุ่น นอกจากนี้ทางร้านจิตรลดาก็ได้สั่งซื้อผ้าเป็นจำนวนมากเช่นกัน นางแสงดาไม่สามารถผลิตให้ได้ตามที่ต้องการ ด้วยเป็นงานทอมือ จึงใช้เวลาทำนาน วัตถุดิบมีไม่เพียงพอ และขาดแรงงานในบางเวลา

นางแสงดาจึงแก้ปัญหาด้วยการปลูกฝ้ายพันธุ์พื้นเมืองซึ่งเป็นฝ้าย “สีตุ่น” เอง และชักชวนเพื่อนบ้านให้ปลูกด้วย โดยนางจะรับซื้อผลผลิตไว้ทั้งหมด จากนั้นนางแสงดาได้จัดตั้งกลุ่มเกษตรกร ขึ้น ณ บริเวณบ้านพักอาศัยของนางเอง เพื่อผลิตผ้าฝ้ายทอมือแท้ๆ ออกสู่ตลาด โดยคิดค่าตอบแทนเป็นรายวัน และจะรวมจ่ายให้ทุก 15 วัน

นอกจากจะมีความสามารถในการทอผ้าแบบดั้งเดิมแล้ว นางแสงดายังมีความเป็นศิลปิน มีความคิดสร้างสรรค์ ดังจะเห็นได้จากการที่นางแสงดาได้ประยุกต์ลวดลายใหม่ๆ ต่างๆ บนผืนผ้าให้มีความหลากหลายสวยงามมากขึ้น แต่ในขณะเดียวกันก็ยังรักษาเทคนิคเอกลักษณ์ของท้องถิ่นเอาไว้ โดยเฉพาะการย้อมสีธรรมชาติ ทำให้ผ้าทอแต่ละพับมีความสวยงามไม่ซ้ำกันเลย ซึ่งนางเองก็ไม่เคยหวงความรู้เหล่านี้ เมื่อมีโอกาสก็จะถ่ายทอดและเผยแพร่ให้แก่ผู้สนใจอยู่เสมอ

ดังนั้น เมื่อเทียบผลงานของนางแสงดากับผ้าทอโดยทั่วไปแล้ว แม้ว่าผ้าของนางแสงดาจะมีราคาค่อนข้างสูง แต่ก็เป็นที่ยอมรับและนิยมชมชอบในกลุ่มผู้นำแฟชั่น และผู้มีรสนิยมดี มากขึ้นเรื่อยๆ

ทั้งนี้นางแสงดายึดหลักที่ว่า

“ตนเองไม่ได้มีความมุ่งหวังร่ำรวยจากการทอผ้า แต่ว่าปั่นทอด้วยความรัก และความตั้งใจช่วยเหลือเพื่อนบ้านให้มีรายได้บ้าง”

ด้วยเหตุนี้ทำให้นางแสงดาได้รับยกย่องให้เป็น

1. ศิลปินพื้นบ้านดีเด่น จากสำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ เมื่อ พ.ศ.2529
2. ศิลปินแห่งชาติ สาขาทัศนศิลป์ (การถักทอ) เมื่อ พ.ศ.2529
3. ได้รับพระราชทานปริญญาวิทยาศาสตรบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขาวิทยาศาสตร์และ
วิทยาศาสตร์ประยุกต์ เมื่อ พ.ศ.2530

นางแสงดาถึงแก่กรรมเมื่อ วันที่ 11 มกราคม พ.ศ.2536 รวมอายุได้ 74 ปี

 

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image