รู้หรือไม่ สีเขียวของดาวหาง มาจาก ไซยาไนด์

รู้หรือไม่ สีเขียวของดาวหาง มาจาก  ไซยาไนด์

วันที่ 28 เมษายน ดร. มติพล ตั้งมติธรรม – ผู้เชี่ยวชาญด้านดาราศาสตร์ สดร. เขียนใน เฟซบุ๊ก สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ เรื่อง รู้หรือไม่ สีเขียวของดาวหาง มาจาก #ไซยาไนด์ โดยระบุว่า

แสงฝ้าเรือง ๆ จากดาวหางที่มีชื่อเสียงที่สุดในประวัติศาสตร์อย่าง “ดาวหางฮัลเลย์” ปรากฏเหนือขอบฟ้าช่วงหัวค่ำในคืนหนึ่ง เมื่อปี ค.ศ. 1910 ทำให้มนุษย์โลกต่างพากันแหงนหน้าขึ้นมองท้องฟ้า พร้อมทั้งหวาดกลัวว่าการมาเยือนของดาวหางในครั้งนี้ อาจจะนำมาซึ่งหายนะสู่สิ่งมีชีวิตทั้งปวงบนโลก บางคนถึงกับสวมหน้ากากป้องกันแก๊สพิษ บ้างก็คาบยางรถจักรยานเอาไว้ในปาก เผื่อว่าอากาศอันน้อยนิดในยางเส้นนั้นอาจจะเพียงพอที่จะช่วยต่อชีวิตให้เขาได้อีกนิดหนึ่ง แต่แล้วค่ำคืนนั้นก็ผ่านพ้นไป และอีกร้อยกว่าปีต่อมาสิ่งมีชีวิตทั้งหมดบนโลกก็ยังคงมีชีวิตอยู่

แล้วมันเกิดอะไรขึ้น?
การมาเยือนของดาวหางฮัลเลย์ในปี ค.ศ. 1910 นั้น เป็นกรณีที่พิเศษมากอยู่สองกรณี กรณีแรก เป็นการเยือนของดาวหางครั้งแรกนับตั้งแต่มีการพัฒนาเทคโนโลยีภาพถ่ายขึ้นมา นั่นหมายความว่านี่เป็นครั้งแรกที่มนุษย์ทั่วโลกจะสามารถเห็นภาพดาวหางภาพเดียวกันได้ผ่านบนหน้าหนังสือพิมพ์ ไม่ใช่สิ่งที่เพียงไม่กี่คนที่มีกล้องโทรทรรศน์เท่านั้นถึงจะสังเกตได้อีกต่อไป

Advertisement

กรณีที่สอง ดาวหางฮัลเลย์มาเยือนในช่วงที่มนุษย์มีเทคโนโลยีที่สามารถศึกษา “สเปกตรัม”​ ของดาวหาง ทำให้ทราบองค์ประกอบของวัตถุที่อยู่ห่างไกลเกินกว่าจะมีมนุษย์คนใดสามารถไปได้ถึง และจากการศึกษาแสงของมันที่สะท้อนออกมาจากแสงอาทิตย์ สิ่งที่เราพบในองค์ประกอบของหางดาวหางก็คือ “ไซยาไนด์”

ปัจจุบันเราทราบแล้วว่า แสงสีเขียวของดาวหางนั้น เกิดจากสารประกอบจำพวกไซยาโนเจน (cyanogen) และ diatomic carbon แม้ว่ากระบวนการที่ให้กำเนิดสารประกอบเหล่านี้จากนิวเคลียสของดาวหางนั้นยังไม่เป็นที่แน่ชัด แต่เราก็สามารถจำลองการดูดกลืนและเปล่งแสงออกมาเป็นแสงสีเขียวของโมเลกุลเหล่านี้ได้ เราสามารถจำลองได้ว่าสารประกอบเหล่านี้จะสามารถคงอยู่ในสภาวะสุญญากาศที่ถูกกระหน่ำโดยรังสีอันแผดเผาจากดวงอาทิตย์ได้เพียงไม่เกินสองวัน ซึ่งเป็นสาเหตุว่าทำไมเราจึงไม่พบสีเขียวในบริเวณของหางดาวหางอีกต่อไป

แต่ปัญหาหนึ่งก็คือ ไซยาโนเจน นั้นคือสารประกอบที่มีส่วนประกอบของโมเลกุลใกล้เคียงกันมากกับไซยาไนด์ และไซยาโนเจนนั้นสามารถทำปฏิกิริยากับไฮโดรเจน เพื่อกลายเป็นไฮโดรเจนไซยาไนด์ได้ง่าย

Advertisement

ไซยาไนด์นั้นเป็นสารประกอบระเหยง่าย และมีกลิ่นคล้ายอัลมอนด์ (สำหรับคนที่มีพันธุกรรมที่สามารถรับกลิ่นไซยาไนด์ได้) และเป็นหนึ่งในสารพิษที่มีพิษร้ายแรงที่สุด สามารถหยุดกระบวนการเมตาบอลิซึมภายในไมโทคอนเดรียของเซลล์ได้ และไซยาไนด์ปริมาณเพียง 2000 ppm (2380 mg/m^3) อาจจะสามารถคร่าชีวิตมนุษย์ได้ภายในเวลาไม่ถึงหนึ่งนาที

ด้วยเหตุนี้ การค้นพบสารประกอบไซยาโนเจนในหางของดาวหางฮัลเลย์ ซึ่งโลกจะโคจรผ่านเข้าไปในบริเวณส่วนหางเมื่อเดือนพฤษภาคมปี ค.ศ. 1910 ทำให้นักดาราศาสตร์และนักเขียนนิยาย Camille Flammarion ได้ออกมาเตือนภัยว่า หางของดาวหางจะปล่อยสารพิษไปในชั้นบรรยากาศของโลก และอาจเป็นจุดสิ้นสุดของชีวิตทั้งปวงบนโลก สร้างความแตกตื่นเป็นอย่างมาก ไม่เพียงแต่ในยุโรป แต่ข่าวได้กระจายไปทั่วโลก ซึ่งหากใครเคยอ่านการ์ตูนโดราเอมอนอาจจะคุ้นกับตอนที่โนบิตะย้อนเวลากลับไปหาปู่เพื่อมอบ “ห่วงยาง” ให้ปู่สามารถหายใจในช่วงหายนะจากหางของดาวหางฮัลเลย์

แต่แม้กระนั้นก็ตาม ความเห็นของ Flammarion นี้เป็นเพียงส่วนน้อย และนักดาราศาสตร์ในยุคนั้นอีกเป็นจำนวนมาก ต่างก็ออกมาประนามกันว่า เป็นการสร้างความแตกตื่นให้กับผู้คนโดยใช่เหตุ เนื่องจากแท้จริงแล้วปริมาณไซยาโนเจนในหางของดาวหางนั้น มีปริมาณแก๊สที่น้อยเสียกว่าห้องสุญญากาศบนโลกเสียอีก นอกไปจากนี้ ไซยาโนเจนในอวกาศนั้น เมื่อชนเข้ากับชั้นบรรยากาศของโลกจะเกิดปฏิกิริยา และเปลี่ยนไปเป็นสารประกอบไนโตรเจนและคาร์บอน ที่สามารถพบได้ทั่วไปในชั้นบรรยากาศของโลก

ที่สำคัญที่สุด จากที่เราทุกคนกำลังอ่านบทความนี้อยู่ ก็เป็นหลักฐานที่ชัดเจนที่สุดแล้วว่าหางของดาวหางนั้นไม่ได้เป็นอันตรายต่อสิ่งมีชีวิตบนโลกแต่อย่างใด ทุกวันนี้นักวิทยาศาสตร์เรียนรู้แล้วว่า สารประกอบไซยาโนเจนในดาวหางนั้น นอกจากจะไม่มีอันตรายต่อสิ่งมีชีวิตบนโลกแล้ว ยังพบว่า แท้จริงแล้วอาจจะเป็นส่วนสำคัญที่นำมาซึ่งองค์ประกอบที่จำเป็นต่อการกำเนิดของสิ่งมีชีวิตทั้งปวงบนโลก เมื่อ 3,800 ล้านปีที่แล้ว

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image