ส่องปฏิกิริยาคนดัง เมื่อ ‘รถไฟ’ เคาะสูตรจองตั๋วล่วงหน้าแบบใหม่ คำนวณตามระยะทางขบวนรถ

ส่องปฏิกิริยาคนดัง เมื่อ ‘รถไฟ’ เคาะสูตรจองตั๋วล่วงหน้าแบบใหม่ คำนวณตามระยะทางขบวนรถ เริ่มเลยพรุ่งนี้ บ่นอุบ ‘ไม่เข้าใจ-ยุ่งยากขึ้น?’

นับตั้งแต่ ทีมพีอาร์การรถไฟแห่งประเทศไทย เผยแพร่ข่าว การรถไฟฯ ขานรับนโยบายกระทรวงคมนาคม ขยายเวลาเปิดจองตั๋วล่วงหน้า 90 วัน นำร่องขบวนรถชุด 115 คัน จำนวน 8 ขบวน เริ่มให้บริการวันที่ 20 พฤศจิกายน 2566 เป็นต้นไป ซึ่งในรายละเอียดปรากฏ “การคำนวณระยะทาง” อันมีผลต่อ “การจองตั๋วล่วงหน้า” พร้อมแนบภาพประกอบให้ผู้โดยสารคำนวณก่อนการจองตั๋ว

อาทิ หากผู้โดยสารเริ่มต้นการเดินทางจากสถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์ไปจนถึงสถานีลพบุรี เป็นการจองตั๋วเดินทางน้อยกว่าร้อยละ 25 ของระยะทางขบวนรถ ซึ่งจะสามารถจองตั๋วล่วงหน้าได้ 1 วัน หากระยะทางเกินจากนั้น ไปจนถึงสถานีพิษณุโลก สามารถจองตั๋วล่วงหน้าได้ 30 วัน ส่วนผู้โดยสารที่เดินทางตั้งแต่สถานีศิลาอาสน์อุตรดิตถ์เป็นต้นไป สามารถจองตั๋วล่วงหน้าได้ 90 วัน

Advertisement

ประเด็นนี้สร้างเสียงฮือฮาและวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนักหน่วง แม้เป็นการขยายเวลาเปิดจองตั๋วล่วงหน้าจริง แต่สร้างความลำบากเพราะต้อง “คำนวณ” หรือไม่?

ศาสตราจารย์พิเศษ ธงทอง จันทรางศุ ที่ปรึกษาของนายกรัฐมนตรี ระบุว่า “อ่านแล้วสนุกเหลือใจ 😂” พร้อมแนบตารางการคำนวณแล้วระบุเพิ่มเติม “เขาให้ดูอันนี้ประกอบ เผื่อว่าเราจะเข้าใจมากขึ้นครับ 😱”

นอกจากนี้ ยังมีผู้ใช้เฟซบุ๊กบางรายแนะนำให้ ศ.พิเศษ ธงทอง ช่วยแปลให้อีกรอบ ซึ่ง ศ.พิเศษ ธงทอง ระบุ “พี่ก็ไม่เข้าใจครับ 555555”

Advertisement

ทราย อินทิรา เจริญปุระ นักร้อง นักแสดง และนักเคลื่อนไหวทางการเมือง ระบุว่า “อยากจองตั๋วเฉยๆ ต้องทำข้อสอบคำนวณด้วยเรอะ!!!” “กว่ากูจะคำนวณเสร็จ ตั๋วเต็ม!!” “นึกสภาพ สมมุติจะไปร้อยเอ็ด อยากจองตั๋วงี้ต้องมานั่งคำนวณ ว่าเริ่มได้ในกี่วัน เพื่ออออออ”

ม.ร.ว.เฉลิมชาตรี ยุคล ก็สะท้อนว่า “ผมสงสัยว่าทำไมจองตั๋วล่วงหน้า 90 วันหรือครับ? ตอนที่ไปเกาหลีรถไฟ KTX จะจองตั๋วล่วงหน้าจนถึง 20 นาทีก่อนเวลารถออกครับ แล้วระบบก็จะคำนวณที่นั่งที่ว่างและไม่ว่างของแต่ละสถานีที่ไปโดยอัตโนมัติน่ะครับ ซึ่งน่าจะเป็นวิธีที่ดีกว่าไหมน่ะครับ?”

ปิงปอง ศิรศักดิ์ อิทธิพลพาณิชย์ นักร้อง นักแต่งเพลงชื่อดัง มองว่า “อะ บริหารสมองกันไป”

รศ.ดร.พวงทอง ภวัครพันธุ์ คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ระบุว่า “ก็คืออยากขายตั๋วให้คนเดินทางระยะไกลให้ได้มากที่สุด เพราะจะได้เงินต่อ 1 ที่นั่งมากกกว่าขายให้คนเดินทางใกล้…ประเทศอื่นก็ขายตั๋วระยะไกล-ใกล้บนหลักการ first comes first serves กันทั้งนั้น เพราะก็มีคนลงและขึ้นใหม่ทุกสถานีอยู่แล้ว กำไร-ขาดทุนก็คละเคล้ากันไปทั้งขบวนและทั้งปี

แต่ของไทยประหลาดจากคนอื่น เพราะมันคือวิธีคิดหากำไรของรัฐวิสาหกิจที่ขาดทุนตลอดปีตลอดชาติ เขาคงคิดว่านี่คือการตลาดขั้นสูงสุดแล้วล่ะ”

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image