มันคืออะไร หนุ่มตกได้ปลาตัวใหญ่ แต่หน้าสุดแปลก รุมคอมเมนต์ส่งคำตอบวุ่น

ภาพจาก Pusto Boonkamolsawat

มันคืออะไร หนุ่มตกได้ปลาตัวใหญ่ แต่หน้าสุดแปลก รุมคอมเมนต์ส่งคำตอบวุ่น

กลายเป็นไวรัลมาแรงที่มีคนกดไลค์ไปแล้วกว่า 2.5 หมื่นครั้ง หลังผู้ใช้เฟซบุ๊ก Pusto Boonkamolsawat ได้โพสต์ภาพปลาตัวใหญ่ลงในกลุ่ม UI ไทยแลนด์ฟิชชิ่ง ที่ไม่รู้ว่าคือปลาอะไร แต่เจ้าตัวระบุไว้ว่า “เอเลี่ยนตัวนี้ตอนมายังโลก เอาหัวโหม่งพื้นครับ หน้าเลยพังยับ55”

ทั้งนี้ ปลาหน้าแปลกดังกล่าวก็ทำเอาโลกออนไลน์ฮือฮา เข้าไปคอมเมนต์ทั้งหาคำตอบว่าคือปลาอะไร ตลอดจนยิงมุขชวนขำขัน

เช่น ท็อปคอมเมนต์ที่มีคนกดไลค์กว่า 1 พันครั้ง เรียกรอยยิ้มที่ว่า “ปลาแค้พันธุ์นี้ชื่อว่า ‘แค้หัวโลมา’ ครับ เป็นแค้ที่คาดกันว่ามาจากดาวนาแม๊ก เป็นญาติกับฟรีซเซอร์ มีกรามและฟันที่แข็งแรงมากๆ โดยสามารถกัดก้อนหินให้แหลกเป็นเม็ดทราย นับประสาอะไรกับหัวใจ เช่นเธอตอนนี้ที่เปลี่ยนจากฉันไป ฉันกำลังจะเสียเธอใช่ไหม….”

ADVERTISMENT

– ที่มาของคำว่า ปลาชนเขื่อน
– หน้าตาแบบนี้ถ้ามีตู้ปลาน่าเลี้ยงไว้ดูเล่น แปลกตาดีนะ
– อย่าว่าน้องน้ำมันแรงเจอโขดหินเลยเบรกไม่อยู่….
– ชาติก่อนคงเป็นปลาทูมาก่อนครับ
– มันคือปลาดึก เป็นการผสมสายพันธุ์ระหว่างปลาดุกกับหมึกครับ

อย่างไรก็ตาม เจ้าของโพสต์ได้เผยด้วยว่า “ขายไปแล้ว”

ADVERTISMENT

ทั้งนี้ ผู้สื่อข่าวรายงานว่ามีหลายคอมเมนต์ เฉลยว่าคือ ปลาแค้ ซึ่งมีข้อมูลจากเว็บไซต์ปศุสัตว์ ระบุว่า

ปลาแค้ เป็นปลาน้ำจืดที่มีขนาดตั้งแต่เล็กจนถึงใหญ่มาก โดยเฉพาะปลาแค้วัว ปลาแค้ควายเมื่อโตเต็มวัยจะมีขนาดใหญ่เทียบเท่ากับปลาบึก มีนัยน์ตาคล้ายจระเข้ ลำตัวไม่มีเกล็ด มีเนื้อมาก เนื้อมีรสมัน นุ่ม จึงนิยมรับประทานเป็นอย่างมาก อีกทั้ง เป็นปลาที่หายาก ส่วนมากจับได้เฉพาะในแม่น้ำเท่านั้น ทำให้เป็นปลาชนิดหนึ่งที่มีราคาซื้อขายที่สูงมาก

อนุกรมวิธานปลาแค้
• อันดับ (Order) : Siluriformes
• วงศ์ (Family) : Sisoriidae
• ชื่อวิทยาศาสตร์ : ตามชนิด
• ชื่อท้องถิ่นไทย :
– ปลาแค้
– ปลาแค้ควาย
– ปลาแค้งู
– ปลาแค้ติดหินสามแถบ
– ปลาแก้
– ปลาตุ๊กแก
– ปลากดแค้
– ปลาโกงกาง
– ปลาแค้วัว

การแพร่กระจาย
ปลาแค้ เป็นปลาน้ำจืดที่ทั่วโลกพบประมาณ 20 สกุล และ 85 ชนิด ส่วนประเทศไทยพบปลาวงศ์นี้ 6 สกุล ประมาณ 18 ชนิด โดยปลาแค้จะพบแพร่กระจายในแถบประเทศเอเชีย และแถบประเทศใกล้กับยุโรป ได้แก่ ประเทศตุรกี และซีเรีย แต่พบแพร่กระจายมากในแถบประเทศเอเชีย ได้แก่ จีนตอนใต้ พม่า ลาว กัมพูชา ไทย รวมไปถึงหมู่เกาะบอร์เนียว (1)

ในไทยพบปลาแค้แพร่กระจายอยู่ในแม่น้ำสายหลักหลายสาย ได้แก่ (2) อ้างถึงในเอกสารหลายฉบับ
– แม่น้ำปิง เริ่มตั้งแต่เชียงใหม่
– แม่น้ำเจ้าพระยา เริ่มตั้งแต่นครสวรรค์
– แม่น้ำน่าน
– แม่น้ำแม่กลอง ตั้งแต่ทางเหนือของกาญจนบุรี
– แม่น้ำกก
– แม่น้ำโขง เริ่มตั้งแต่เชียงราย ซึ่งเป็นแม่น้ำที่พบปลาแค้ชนิดต่างๆมากที่สุด

ชนิดปลาแค้ที่พบมากในไทย
1. ปลาแค้วัว (Bagarius bagarius)
2. ปลาแค้ควาย (Bagarius yarrelli)
3. ปลาแค้งู (Bagarius suchus)
4. ปลาแค้ติดหินสามแถบ (Glyptothorax trilineatus)

ลักษณะทั่วไป
ปลาแค้ทุกชนิดมีผิวหนังหยาบ หนังมีความเหนียว ไม่มีเกล็ด ผิวหนังมีตุ่มกระจายทั่วลำตัว หนวดมี 4 คู่ โดยปลาแค้สามชนิดแรก คือ ปลาแค้วัว ปลาแค้ควาย และปลาแค้งู จะมีลักษณะภายนอกที่คล้ายคลึงกันมาก จนแถบแยกแยะไม่ออก โดยเฉพาะแค้วัวกับแค้ควายที่ดูอย่างผิวเผินแถบไม่แตกต่างกัน และมักทำให้เข้าใจผิดได้ว่าเป็นปลาชนิดเดียวกัน

อาหาร
ปลาแค้จัดเป็นปลากินเนื้อสัตว์ เช่น กุ้ง กบ สัตว์หน้าดิน และปลาที่มีขนาดเล็กกว่า และซากสัตว์เป็นอาหาร

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image