อย่าเพิ่งแตกตื่น! อาจารย์ดัง แจงละเอียดยิบ ใช้พลาสติกเข้าไมโครเวฟ ทำอันตรายถึงชีวิต?

อย่าเพิ่งแตกตื่น! อาจารย์ดัง แจงละเอียดยิบ ใช้พลาสติกเข้าไมโครเวฟ ทำอันตรายถึงชีวิต?

เมื่อวันที่ 14 ธันวาคม ดร.เจษฎา เด่นดวงบริพันธ์ อาจารย์ประจำภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์ภาพและข้อความลงในเพจ “อ๋อ มันเป็นอย่างนี้นี่เอง by อาจารย์เจษฎ์” ระบุว่า

ไม่ได้มีรายงานวิจัย ว่า “การใช้เตาอบไมโครเวฟมาอุ่นอาหารในภาชนะพลาสติก (โดยเฉพาะชนิดที่ระบุว่า ใช้กับเตาไมโครเวฟได้) จะทำให้เป็นอันตรายถึงตายได้” นะครับ

เคยโพสต์อธิบายเรื่องนี้ไปอย่างละเอียดแล้ว (อ่านรีโพสต์ด้านล่าง) ว่างานวิจัยที่มีการหยิบมาอ้างกัน แล้วเกิดความหวาดกลัวขึ้นว่า “การอุ่นอาหารในภาชนะพลาสติก แม้จะเป็นชนิดที่บอกว่า microwavable แล้ว ก็ยังเป็นอันตราย จากการได้รับไมโครพลาสติก เข้าไปทำลายตับทำลายไต” นั้น  … จริงๆ แล้ว มันยังไม่ได้มีงานวิจัยอะไรทำนองนั้นออกมาครับ

Advertisement

อธิบายย่อๆ คือ งานวิจัยของจริงนั้น เป็นการเอาถ้วยพลาสติกสำหรับอาหารเด็ก มาใส่น้ำและสารละลายกรด แล้วเอาไปไปเวฟที่ความร้อนสูง 1000 วัตต์นาน 3 นาที จึงพบพวกไมโครพลาสติก/นาโนพลาสติก ออกมาอยู่ในน้ำร้อน …. และถ้าเอาไมโครพลาสติก/นาโนพลาสติกพวกนี้ไปใส่เซลล์ตับที่เลี้ยงไว้ในจาน จะทำให้เซลล์ตับนั้นเสียหายได้ (ไม่ได้มีการทดลองกับเซลล์ไต)

แต่นั่นไม่ได้แปลว่าในโลกความจริงแล้ว ไมโครพลาสติกที่อาจเกิดขึ้นเมื่อให้ความร้อนสูงกับภาชนะพลาสติก และปนกับอาหาร จะเข้าไปสู่ตับหรือไตคนเราได้ครับ หลักๆ คือมันก็จะถูกขับถ่ายออกไปกับอุจจาระนั่นเอง

งานวิจัยดังกล่าวจึงมีประโยชน์ในเชิงการย้ำเตือนว่า “ไม่ควรให้ความร้อนสูง โดยตรง นานๆ กับภาชนะพลาสติก” และแนะนำกันว่า “ควรจะอุ่นหรือประกอบอาหารด้วยเตาไมโครเวฟ เฉพาะในภาชนะที่ทนความร้อนสูงได้ อย่างเครื่องแก้ว เครื่องกระเบื้อง และไม่ควรใช้พลาสติกคุณภาพต่ำกับเตาไมโครเวฟ” แค่นั้นเองแหละครับ

Advertisement

อ่านรายละเอียดในโพสต์เก่าด้านล่างนี้ครับ

แฟ้มภาพ

(รีโพสต์) ยังไม่ได้มีงานวิจัยที่ระบุยืนยันว่า “การใช้เตาไมโครเวฟอุ่นอาหาร จะเสี่ยงเป็นโรคไตวาย” ครับ

เรื่องนี้ เป็นผลมาจากการเขียนข่าวมั่วกันครับ ที่ไปอ้างผิดๆ ว่ามีงานวิจัยที่ตรวจพบ “ไมโครพลาสติก” ในเลือดของคนที่กินอาหารผ่านการอุ่นด้วยเตาไมโครเวฟ ครับ

จริงๆ แล้ว ข่าวงานวิจัยดังกล่าวของสหรัฐอเมริกานั้น เกี่ยวกับการทดลองเอาภาชนะพลาสติกสำหรับเด็ก มาใส่น้ำ และสารละลายกรด แล้วเอาไปให้ความร้อนนาน 3 นาที ด้วยเตาอบไมโครเวฟขนาด 1 พันวัตต์ และพบสารพวกไมโครพลาสติกหลุดออกมาอยู่ในน้ำร้อนนั้น….

.. ซึ่งเป็นเรื่องที่น่าสนใจ และก็ย้ำคำเตือนที่ว่า “ไม่ควรให้ความร้อนโดยตรง นานๆ กับจานชามภาชนะพลาสติก” เพราะอาจมีสารเคมีสลายตัว ปนเปื้อนออกมาสู่อาหารได้ อย่างที่เตือนกันมานานแล้ว

ประเด็นคือ มีนักข่าวไทยหลายสำนัก ที่รายงานข่าวแบบจับแพะชนแกะ เอาไปขยายผสมยังไงไม่รู้ ออกมาให้คนตกใจกลัวกันเกินจริง .. ตัวอย่างเช่น โพสต์ของนักข่าวชื่อดังท่านหนึ่ง ระบุว่า

“นักวิจัยในสหรัฐฯ ทำการทดลองเกี่ยวกับการใช้ไมโครเวฟอุ่นอาหาร นำขวดนมพลาสติกที่ผ่านการรับรอง FDA ไปใส่น้ำและสารละลายอื่นๆ แล้วเข้าไมโครเวฟ 3 นาที จากนั้น #ให้เด็กดื่ม ผลปรากฏคือ #เด็กได้รับไมโครพลาสติกเข้าไปในร่างกาย และพบว่า 77% ของผู้เข้ารับการทดสอบ #มีไมโครพลาสติกในเลือด บางเคสมีไมโครพลาสติกถึง 4 ล้านชิ้น และนาโนพลาสติกมากกว่า 2 พันล้านชิ้น ซึ่งอาจส่งผลอันตรายต่อไต เพราะนำไปทดลองกับเซลล์จากไตพบว่า เซลล์ประมาณ 75% ถูกทำลายเมื่อสัมผัสกับไมโครพลาสติก”

ไม่จริงนะครับ ! งานวิจัยดังกล่าว ไม่ได้เอาน้ำที่ต้มในภาชนะพลาสติกนั้น (ซึ่งก็ไม่ใช่ขวดนมด้วย) ไปให้เด็กหรืออาสาสมัครดื่ม และก็ไม่ได้มีการตรวจวัดไมโครพลาสติกในเลือดด้วย (อ่านรายละเอียดงานวิจัยด้านล่าง)

เรื่องการตรวจพบไมโครพลาสติกในกระแสเลือดนั้น มาจากอีกงานวิจัยเมื่อปีก่อน ที่นักวิทยาศาสตร์ชาวเนเธอร์แลนด์ตรวจเลือดของอาสาสมัคร 22 ราย และพบว่ามี 17 ที่มีไมโครพลาสติก แต่ไม่สามารถระบุที่มาได้ ว่าจะมาจากการกิน ดื่ม หรือสูดดมเข้าไป (ดูรายงานข่าว ด้านล่าง)

สำหรับ “ไมโครพลาสติก” ที่กำลังเป็นกระแสตื่นกลัวกันเหมือนเป็น “ผีร้ายตัวใหม่” นั้น จริงๆ ก็เป็นชิ้นพลาสติกขนาดเล็ก (เล็กกว่า 5 มิลลิเมตรลงไป) ที่เกิดจากการย่อยสลายแตกหักของขยะพลาสติก หรือเกิดจากการผลิตให้ให้มีขนาดเล็กเพื่อการใช้งาน .. และแม้ว่าจะถูกมองว่าเป็น “ปัญหามลพิษ”  เพราะไมโครพลาสติกสามารถปนเปื้อนในสิ่งแวดล้อม ไปสะสมในห่วงโซ่อาหารของสัตว์ในธรรมชาติ รวมถึงอาจจะมีสารเคมีที่ก่อให้เกิดมะเร็งได้ “แต่” ก็ยังไม่มีรายงานยืนยันว่า ไมโครพลาสติกได้ส่งผลกระทบที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพของมนุษย์ ผ่านทางห่วงโซ่อาหาร (จาก http://otop.dss.go.th/…/interesting…/273-microplastics)

ส่วนประเด็นที่งานวิจัยนี้พบว่า ไมโครพลาสติกที่ได้มาจากน้ำต้มในภาชนะพลาสติกนั้น สามารถทำอันตรายได้กับเซลล์ที่เพาะเลี้ยงไว้ ก็เป็น “เซลล์ตับ ของตัวอ่อนมนุษย์” ที่เลือกมาทดลอง (เพราะห่วงเรื่องขวดนมพลาสติกสำหรับเด็ก) ไม่ใช่ในร่างกายของเด็กจริงๆ  … ซึ่งได้ผลแตกต่างไปจากการศึกษาก่อนๆ หน้านี้ ที่ใช้ “เซลล์ลำไส้เล็ก ของผู้ใหญ่” และพบว่าไม่ได้เป็นอันตรายต่อเซลล์ …

จึงเป็นประเด็นที่น่าสนใจให้ศึกษาต่อไป ว่าผลที่พบในจานเลี้ยงเซลล์แบบนี้ จะมีมากน้อยแค่ไหน ต่ออาหารที่กินเข้าไปในร่างกายจริงๆ ซึ่งโดยมากแล้ว ไมโครพลาสติกที่ปนเปื้อนมากับอาหาร จะถูกขับถ่ายออกไปทางอุจจาระ และน่าจะมีส่วนน้อยที่ถูกลำเลียงไปยังอวัยวะภายใน เช่น ตับ (มีงานศึกษาก่อนหน้า ตรวจพบไมโครพลาสติกในอุจจาระทารกมากกว่าในผู้ใหญ่ ถึง 10 เท่า)

คำสรุปของเรื่องนี้คือ อย่าพึ่งแตกตื่นกันเกินไปครับ ยังไม่ได้มีงานวิจัยที่ระบุยืนยันว่า “การเอาน้ำหรืออาหารใส่ภาชนะพลาสติก ไปให้ความร้อนด้วยเตาไมโครเวฟ จะทำให้เกิดภาวะมีไมโครพลาสติกในกระแสเลือด” อย่างที่เป็นข่าว

แต่ก็มีคำแนะนำมานานแล้ว ว่าควรจะอุ่นหรือประกอบอาหารด้วยเตาไมโครเวฟ เฉพาะในภาชนะที่ทนความร้อนสูงได้ อย่างเครื่องแก้ว เครื่องกระเบื้อง เพื่อหลีกเลี่ยงสารเคมีที่อยู่ในพลาสติกและอาจจะสลายตัวปนเปื้อนเข้ามาในอาหารได้ครับ (ยิ่งพลาสติกคุณภาพต่ำ ราคาถูก เท่าไหร่ ยิ่งมีความเสี่ยงมากขึ้นเท่านั้น)

ป.ล. การใช้เตาอบไมโครเวฟอุ่นอาหารนั้น ก็ขอยืนยันว่าไม่ได้เป็นอันตรายอะไร ถ้าใช้ถูกต้องตามวิธีการที่กำหนด ใช้กับอาหารที่เหมาะสม และใส่มาในภาชนะบรรจุอาหารที่ได้รับการยืนยันว่าใช้ได้ และตัวเครื่องอยู่ในสภาพดีปรกติ ไม่เสียหาย

(งานวิจัย ต้มน้ำในขวดพลาสติก แล้วพบไมโครพลาสติก)

เรื่อง Assessing the Release of Microplastics and Nanoplastics from Plastic Containers and Reusable Food Pouches: Implications for Human Health. โดย Kazi Albab Hussain และคณะ จาก the University of Nebraska–Lincoln ตีพิมพ์ในวารสาร Environmental Science & Technology ปี 2023 ( https://doi.org/10.1021/acs.est.3c01942)

บทคัดย่อ

งานวิจัยนี้ ตรวจสอบการปลดปล่อยไมโครพลาสติก และนาโนพลาสติก จากภาชนะพลาสติก (เป็นถ้วยเก็บอาหารสำหรับเด็ก ทำจาก โพลีโพรพิลีน polypropylene) และ ถุงเก็บอาหารแบบใช้ซ้ำได้ (reusable food pouch ทำจาก โพลีเอทิลีน polyethylene) เมื่อนำไปเก็บไว้ในสถานการณ์ต่างๆ กัน (คือ แช่เย็น 20 องศา ,ไว้ที่อุณหภูมิห้อง 40 องศา, ให้ความร้อน 70 องศา ก่อนแช่เย็น , เข้าเตาไมโครเวฟ 3 นาที) โดยใช้เก็บน้ำกลั่น และสารละลายกรดอะซิติก 3% เพื่อจำลองแทน อาหารเหลวและอาหารที่เป็นกรด

ผลการทดลองระบุว่า การให้ความร้อนด้วยเตาไมโครเวฟนั้นทำให้เกิดการปลดปล่อยไมโครพลาสติกและนาโนพลาสติกสู่อาหาร ได้มากที่สุด เมื่อเทียบกับวิธีการเก็บแบบอื่นๆ ดังเช่น การแช่เย็น หรือไว้ในอุณหภูมิห้อง

มีการพบด้วยว่า ภาชนะบางใบ สามารถปลดปล่อยไมโครพลาสติกได้มากถึง 4.22 ล้านชิ้น และนาโนพลาสติก 2.11 พันล้านชิ้น ต่อพื้นที่ 1 ตารางเซนติเมตร จากพลาสติกที่ผ่านการให้ความร้อนด้วยไมโครเวฟ

ขณะที่การเก็บไว้ที่อุณหภูมิห้อง และการแช่เย็น เป็นเวลานานเกิน 6 เดือน ก็สามารถปลอดปล่อยไมโครพลาสติก และนาโนพลาสติก ได้มากเป็นหลักล้านชิ้น และพันล้านชิ้น (ตามลำดับ) เช่นกัน

นอกจากนี้ ยังพบว่า ถุงเก็บอาหาร ซึ่งทำจากพลาสติกโพลีเอธิลีน ปลดปล่อยอนุภาคไมโครพลาสติก มากกว่าถ้วยพลาสติกโพลีโพรไพลีน

แบบจำลองผลกระทบในการรับเข้าสู่ร่างกาย คาดว่า ปริมาณสูงสุดที่เด็กทารก (infant) จะดื่มน้ำที่ผ่านไมโครเวฟนี้ และได้รับเข้าไปในแต่ละวัน คือ 20.3 นาโนกรัม/กิโลกรัมน้ำหนักตัว/และปริมาณสูงสุดที่เด็กเล็ก (toddler) จะดื่มผลิตภัณฑ์นมที่ผ่านไมโครเวฟ แล้วได้รับอนุภาคเข้าไปในแต่ละวัน คือ 22.1 นาโนกรัม/กิโลกรัมน้ำหนักตัว จากภาชนะที่เป็นพลาสติกโพลีโพรไพลีน

ยิ่งไปกว่านั้น ผลการศึกษาในจานเลี้ยงเซลล์ เพื่อประเมินการมีชีวิตรอดของเซลล์ แสดงให้เห็นว่า พวกไมโครพลาสติกและนาโนพลาสติกที่ได้มาจากภาชนะพลาสติกจากการทดลองข้างต้น  ทำให้เซลล์ตับ จากตัวอ่อนของมนุษย์ (HEK293T) สามารถทำให้เซลล์ตายไป 76.70% และ 77.18% หลังจากใส่ลงไป 1000 ไมโครกรัม/มิลลิลิตร แล้วทิ้งไว้ 48 ชั่วโมง และ 72 ชั่วโมงตามลำดับ

(ดูรายละเอียดวัสดุอุปกรณ์ วิธีการทดลอง และผลการทดลอง ที่ https://pubs.acs.org/doi/epdf/10.1021/acs.est.3c01942)

(ข่าว พบไมโครพลาสติกในเลือด) ครั้งแรกของโลก พบไมโครพลาสติกในกระแสเลือดมนุษย์

วันที่ 25 มีนาคม 2565 เดอะการ์เดี้ยน รายงานว่า ทีมนักวิทยาศาสตร์จากมหาวิทยาลัย Vrije Universiteit Amsterdam ในเนเธอร์แลนด์ ค้นพบไมโครพลาสติกในตัวอย่างเลือดของมนุษย์ป็นครั้งแรก หลังจากที่ทีมนักวิจัยได้เก็บตัว อย่างเลือดจากกลุ่มตัวอย่างจำนวน 22 คน แล้วพบว่า ร้อยละ 80 มีไมโครพลาสติกปนอยู่ในกระแสเลือด

รายงานระบุว่า จากกลุ่มตัวอย่าง ซึ่งเป็นผู้ร่วมการทดลองนิรนาม 22 ราย ที่เป็นวัยผู้ใหญ่และมีประวัติสุขภาพดีนั้น พบอนุภาคพลาสติกใน 17 ตัวอย่าง จำนวนนี้กว่าครึ่งหนึ่งมีพลาสติก PET ซึ่งมักใช้ในขวดน้ำดื่มพลาสติก ขณะที่ 1ใน 3 ของตัวอย่างมีพลาสติกประเภทที่ใช้ในกล่องบรรจุอาหาร และใน 1 ใน 4 พบพลาสติกแบบเดียวกันกับที่ใช้ในถุงพลาสติก

ศาสตราจารย์ Dick Vethaak นักนิเวศวิทยาด้านพิษวิทยา จาก Vrije Universiteit Amsterdam ในเนเธอร์แลนด์ กล่าวว่า การศึกษาครั้งนี้เป็นหลักฐานยืนยันที่ชี้ให้เห็นว่าไมโครพลาสติกได้ปนเปื้อนกับเลือดมนุษย์เป็นครั้งแรก โดยในแต่ละตัวอย่างเลือด จะมีปริมาณและชนิดของพลาสติกมีความแตกต่างกันมาก ซึ่งอาจเป็นผลจากการพฤติกรรมการสัมผัสพลาสติกในระยะสั้น-ยาวของแต่ละคน เช่น การดื่มเครื่องดื่มจากถ้วยที่มีส่วนประกอบของพลาสติก หรือการสวมหน้ากากพลาสติก

อย่างไรก็ตาม หัวหน้าทีมวิจัยบอกว่า “แม้งานวิจัยชิ้นนี้พบว่าเกือบ 8 ใน 10 ของคนที่ได้รับการทดสอบมีอนุภาคพลาสติกในเลือด แต่บอกไม่ได้ว่าอนุภาคพลาสติกอยู่ในระดับที่ปลอดภัยหรือไม่ปลอดภัย” ดังนั้นหลังจากนี้จึงจำเป็นต้องมีการขยายกลุ่มตัวอย่าง และศึกษาเพิ่มเติม เพื่อให้ผลแม่นยำมากขึ้น ซึ่งบางส่วนได้เริ่มเตรียมการ และอยู่ในระหว่างดำเนินการแล้ว

งานวิจัยชิ้นนี้ได้รับการตีพิมพ์ลงวารสาร Environment Internationalโดยระบุว่า ใช้วิธีการและเทคนิคเฉพาะในการตรวจจับและวิเคราะห์อนุภาคที่มีขนาดเล็กเพียง 0.0007 มม. จากตัวอย่างเลือด โดยพบว่าตัวอย่างเลือดที่ทดลองนั้น มีชนิดของพลาสติกมากกว่าหนึ่งชนิดปะปนอยู่

โดยในการเก็บตัวอย่าง ทีมนักวิจัยได้ใช้ใช้เข็มฉีดยาเหล็กและหลอดแก้วเพื่อหลีกเลี่ยงการปนเปื้อนพลาสติกชนิดอื่น หากใช้เข็มฉีดยาที่เป็นพลาสติกเก็บตัวอย่างเลือดจากอาสาสมัครกลุ่มดังกล่าว

Vethaak ยอมรับว่า ในแต่ละตัวอย่างมีปริมาณและชนิดพลาสติกที่ปนเปื้อนต่างกันออกไป ซึ่งนี่ถือเป็นความคืบหน้าจากการศึกษาในยุคบุกเบิกอย่างมาก

ทั้งนี้ นักวิจัยกังวล ไมโครพลาสติกอาจสร้างความเสียให้กับเซลล์มนุษย์ เช่นเดียวกันกับที่อนุภาคของมลพิษทางอากาศสามารถเข้าสู่ร่างกายมนุษย์และคร่าชีวิตประชาชนล้านคนต่อปีได้ โดยปัจจุบันมีขยะพาสติกจำนวนมากถูกทิ้งลงสู่สภาพแวดล้อมในแต่ละปี

ไม่เว้นแม้แต่จุดที่ลึกที่สุดของมหาสมุทรก็ยังมีรายงานพบชิ้นส่วนพลาสติกลงไปในร่องลึกมาเรียนาในมหาสมุทรแปซิฟิก ซึ่งมนุษย์ล้วนได้รับอนุภาคพลาสติกเข้าไปในร่างกายผ่านหลากหลายช่องทางทั้งการดื่มกิน หรือการสูดหายใจเข้าไป

แต่จนถึงตอนนี้ นักวิทยาศาสตร์ยังไม่สามารถบอกผลกระทบของไมโครพลาสติกต่อร่างกายได้อย่างชัดเจน ประกอบกับองค์การอนามัยโลก (WHO) เองเคยบอกไว้ว่า ตอนนี้ยังไม่มีหลักฐานที่บ่งชี้ว่าการตรวจพบไมโครพลาสติกในร่างกายมนุษย์จะส่งผลต่อสุขภาพในลักษณะใด

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image