หน.ภาควิชาผังเมือง จุฬาฯ ตอบคำถาม ผังเมืองไม่เคยออกแบบทางระบายน้ำจริงหรือ??

กรณีมีการเปิดเผยสำรวจน้ำท่วมภาคใต้ โดยเจอสิ่งกีดขวางการระบายน้ำรวม 348 แห่ง มากสุดคือที่ จ.นครศรีธรรมราช 174 แห่ง รองลงมา พัทลุง 30 แห่ง โดยรองอธิบดีกรมชลประทานระบุว่า แม้จะมีกฎหมายผังเมืองบังคับใช้ แต่ไม่สามารถปฏิบัติได้จริง

รศ.ดร.พนิต ภู่จินดา ภาควิชาการวางแผนภาคและเมือง คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย แสดงความเห็นในเฟสบุ๊กตอบคำถาม ผังเมืองไม่เคยออกแบบทางระบายน้ำจริงหรือ?? โดยอนุญาตให้มติชนออนไลน์นำมาเผยแพร่ มีรายละเอียดดังนี้

ตาม code of conduct ในการวางผังเมืองรวม ต้องให้ผู้เชี่ยวชาญด้านทรัพยากรน้ำ ทำแบบจำลองการระบายน้ำเพื่อประกอบการวางผังเมืองอยู่แล้ว และโดยปกติ จะใช้คาบอุบัติ (return period) ตั้งแต่ 2, 5, 10, 25, 50 และ 100 ปี มาใช้เป็นข้อมูลในการวางผังพื้นที่รับน้ำ นักผังเมืองจะไม่แก้ไขอะไรจากรายงานคาบอุบัติที่ส่งมาให้หรอก เชื่อถือซึ่งกันและกัน ร่างผังเมืองรวมก็จะมีพื้นที่รับน้ำตามหลักวิชาการที่ถูกต้อง แต่หลังจากนั้นเกิดอะไรขึ้น

– แนวถนนต่าง ๆ ที่ขวางทางน้ำ ไม่ใช่เรื่องของผังเมือง ผังเมืองวางแนวถนนที่เหมาะสมต่อการพัฒนาเมือง ส่วนการขวางทางน้ำแน่นอนว่าต้องมีบางส่วนที่ขวางแน่นอน เช่นภาคใต้ มีภูเขาอยู่ตรงกลาง มีทะเลสองฝั่ง น้ำไหลตามแนวตะวันออกตะวันตกลงทะเล แต่การเชื่อมโยงภาคกลางลงภาคใต้ เป็นแนวเหนือใต้ ยังไงก็ต้องขวางทางน้ำ ซึ่งเป็นหน้าที่ของผู้ก่อสร้างถนนจะต้องไปวางด้วยหลักวิศวกรรมหาทางข้ามทางลอดให้ระบายน้ำได้อย่างมีประสิทธิภาพ อันนี้เป็นหลักวิศวกรรมทางโยธา อย่ามาโทษผังเมือง

Advertisement

– การกำหนดพื้นที่ระบายน้ำในผังเมือง แน่นอนว่าผังฉบับ “ร่าง” นักผังเมืองกำหนดพื้นที่เหล่านั้นตามข้อมูลของวิศวกรน้ำ แต่ก็มีการคัดค้านจากผู้เสียประโยชน์ต่าง ๆ บอกว่าที่ดินเหล่านั้นมีศักยภาพในการพัฒนา จะมาจำกัดการพัฒนาได้อย่างไร สิทธิเสรีภาพของฉัน จะต้องพัฒนาได้สิ เสียเงินซื้อที่ดินมานะ ไม่ได้ไปขอเงินใครมาซื้อ ส่วนคนที่ได้ประโยชน์ว่าฉันจะปลอดภัยถ้ามีพื้นที่คนอื่นรับน้ำ เขาไม่ออกมาพูดอะไรหรอก ผังฉบับร่างโดนกดดันทุกวิถีทาง สุดท้ายพื้นที่ระบายน้ำที่มีประสิทธิภาพก็หายไปเยอะ บางเมืองก็หายไปทั้งหมด หรือมีข้อกำหนดที่ไม่สอดคล้องกับกับการเป็นพื้นที่ระบายน้ำ เช่น floodway ตะวันออกในผังเมืองรวม กทม. ดันอนุญาตให้จัดสรรที่ดินเพื่อการอยู่อาศัยได้ในแปลงที่ดินขนาดไม่เล็กกว่า 100 ตารางวา ส่งผลให้ประสิทธิภาพการระบายน้ำไม่มีประสิทธิภาพอย่างที่คาดหวังไว้

– เมื่อประกาศใช้ผังเมืองรวม เป็นกฎกระทรวงตามกฎหมาย ถ้ายังมีพื้นที่รับน้ำอยู่ในผังเมืองรวม จะมีคำถามจากเจ้าของที่ดินที่อยู่ในพื้นที่ระบายน้ำว่า ฉันรับน้ำให้ที่ดินอื่นน้ำไม่ท่วม แต่ที่ดินฉันน้ำท่วม แล้วฉันได้อะไรบ้างจากการเสียสละเพื่อส่วนรวม อ้าวไม่ได้อะไรนี่ครับ ไม่มีข้อบัญญัติใดที่จะชดเชยการเสียสละตรงนั้น นอกจาก นาล่ม สวนจมน้ำ ก็ชดเชยไปด้วยกลไกอื่น แบบนี้ใครจะอยากทำตามผังเมืองรวม เขาก็พยายามเลี่ยงทุกวิถีทางเพื่อให้ตัวเองไม่เสียสละฟรี ๆ วิธีการแก้ปัญหานี้คือ มีกลไกชดเชยอย่างเป็นธรรม การรอนสิทธิในการใช้งานจะต้องมีเครื่องมือชดเชยที่ดี เช่น ผังเมืองเฉพาะ ซึ่งไม่เคยออกมาใช้สักฉบับตลอด 65 ปีของการผังเมืองไทย เราจึงมีแต่ “ห้าม” ผ่านผังเมืองรวม แต่ไม่เคยมีการชดเชยอย่างเป็นธรรมผ่านผังเมืองเฉพาะแต่อย่างใด

– หน่วยงานอื่น ๆ ไม่เคยเคารพผังเมืองรวมในฐานะแม่บทในการพัฒนา ในผังเมืองรวมที่เราเห็น สามารถแปลความออกมาได้หมด “สี” บอกประเภทการใช้ที่ดิน และมีความหนาแน่นประชากรของแต่ละสีกำกับไว้ เพื่อผู้ให้บริการคมนาคมขนส่ง สาธารณูปโภค สาธารณูปการ รู้ว่าแต่ละพื้นที่จะใช้เป็นอะไรและรองรับคนกีคน ส่วนภาคเอกชนก็จะรู้ว่าบริการสาธารณะมีมากน้อยแค่ไหน ก็พัฒนาตามศักยภาพที่มี แต่ที่ผ่านมาหน่วยงานต่าง ๆ ไม่ได้นำผังเมืองรวมมาเป็นแม่บทในการพัฒนา บางเมืองในผังเมืองรวมมีถนนโครงการ 10 สาย ผ่านมา 5 ปีหน่วยงานทำถนนตัดถนนไป 13 สาย แต่ไม่ได้ตรงกับ 10 สายที่ผังเมืองรวมวางไว้สักสายเดียว ไฟฟ้า ประปาก็บอกว่าถ้าเข้าชื่อกันเรียกร้อง ก็ต้องจัดให้เขา ไม่สอดคล้องกับผังเมืองรวมก็ไม่สนใจ อยู่บนพื้นที่ระบายน้ำก็ไม่สนใจ

Advertisement

– การวางผังเมือง วางอยู่บนแนวคิดว่าหน่วยงานอื่น ๆ ต้องทำตามพันธกิจของตัวเอง เช่น อนุญาตให้อุตสาหกรรมปลอดมลภาวะสร้างได้ ก็อยู่บนฐานว่าหน่วยงานที่ควบคุมและติดตามการปล่อยมลภาวะทำหน้าที่ของตัวเอง กำหนดพื้นที่รับน้ำไว้เท่าไหร่ก็อยู่บนฐานว่า หน่วยงานขุดลอกคูคลองและดูแลรักษาพื้นที่รับน้ำก็ทำหน้าที่ของตัวเอง จะไปวางผังกำหนดพื้นที่แบบเผื่อไว้ว่าหน่วยงานนู้นนี้จะไม่ทำหน้าที่ของตัวเองก็ไม่ได้ ดังนั้น เมื่อมีผังเมืองรวมแล้วทุกภาคส่วนต้องทำหน้าที่ตามพันธกิจของตัวเองเพื่อรักษาสภาพการณ์ให้เป็นไปตามผังเมือง ไม่ใช่ปล่อยให้ลำน้ำตื้นเขินจนน้ำท่วมเกินกว่าพื้นที่รับน้ำที่วางไว้ โรงงานแอบปล่อยของเสียอย่างผิดกฎหมาย แล้วมาโทษผังเมือง

– การจะประกาศเป็นกฎกระทรวงผังเมืองรวม ต้องได้รับการอนุมัติจาก “คณะกรรมการผังเมือง” ซึ่งปลัดกระทรวงหลายกระทรวงเป็นกรรมการอยู่ หน่วยงานภายใต้กระทรวงอื่น ๆ ถ้าไม่เห็นด้วย ก็บอกให้ปลัดกระทรวงคัดค้านเสีย ไม่ใช่ปล่อยให้ออกมาแล้วมาบอกว่าไม่ถูกต้องทีหลังสิครับ

เล่ามาทั้งหมดแล้วย้อนกลับไปดูหัวข้อข่าว ก็ให้เข้าใจได้ว่า หน่วยงานรัฐทั้งหลายไม่ได้เข้าใจผังเมือง ไม่เคารพผังเมือง แต่เรียกร้องหาแพะที่ชื่อ “ผังเมือง” เสมอ
สาธุการผังเมืองไทย

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image