เปิดตำนานรับน้อง “จิตรกรรม” พร้อมภาพย้อนหลัง 50 ปี ก่อนมีประเด็นร้อน!!! (ภาพชุด)

ยังเป็นประเด็นร้อนแรงไม่มีแผ่ว สำหรับการรับน้องของคณะจิตรกรรม ประติมากรรม และภาพพิมพ์ ม.ศิลปากร ที่ถูกวิพากษ์จากสังคมอย่างหนักหน่วงถึงความรุนแรง อนาจาร ไม่สร้างสรรค์ และล้าสมัย ในขณะที่อีกฝ่ายออกมายืนยันว่าข่าวที่เม้าธ์กันให้แซ่ดตามสื่อ และโซเชียลนั้น ไม่เป็นความจริงแต่อย่างใด

นอกจากนี้ในอีกมุมหนึ่ง “พี่เก่า” ทั้งหลายก็มักหยิบยกประเด็นของความสมัครใจ และประเพณีที่สืบทอดมานาน ทว่า ก็ถูกค้านโดยระบุว่า แม้กิจกรรมต่างๆ ไม่มีการบังคับอย่างเป็นลายลักษณ์อักษร แต่ก็มีการใช้วิธีการทาง “สังคม” กดดัน เย้ยหยัน สุดท้าย น้องใหม่ก็มักต้องยินยอมอยู่นั่นเอง

นี่เป็นประเด็นสำคัญทางสังคม วัฒนธรรม และการศึกษาที่ไม่อาจละเลยได้

Advertisement

“มติชนออนไลน์” ค้นภาพและข้อมูลย้อนหลัง อย่างน้อย 50 ปี จากหนังสือรับน้องใหม่ของมหาวิทยาลัยศิลปากร ซึ่งเปิดเผยภาพ “เฟรชแมน” หรือเฟรชชี่ ปี 1 ในแต่ละปี พบว่าในยุคแรกๆ นักศึกษาชาย ไม่ได้มีการ “โกนศีรษะ” ส่วนนักศึกษาหญิง ก็ไม่ได้ “ทำผม” เหมือนๆกัน แบบ “ไม่ (ให้) ซ้ำทรง” ดังเช่นทุกวันนี้

Advertisement

สอดคล้องกับข้อมูลที่ปรากฏในบทความของศิษย์เก่าหลายรายที่กลายเป็นผู้อาวุโสในแวดวงวิชาการและศิลปะที่กล่าวตรงกันว่า การกระทำลักษณะเช่นนี้เพิ่งเกิดในภายหลัง โดยแต่เดิมนั้นแม้ว่าจะมีการ “รับน้อง” แต่ไม่มีการ “ว้าก” รวมถึงการโกนศีรษะและสร้างสรรค์ทรงผมต่างๆอย่างทุกวันนี้

ไม่เพียงรูปลักษณ์ภายนอก หากแต่ “น้องใหม่” จิตรกรรมต้องมีระเบียบวินัยอย่างเคร่งครัด การไปไหนมาไหนทั้งในและนอกมหาวิทยาลัย ต้อง “เป็นแถว” เข้าห้องน้ำ ต้องรอกันทั้งขบวน ผู้ชายต้องส่งผู้หญิงโดยเฉพาะหลังพระอาทิตย์ตกดินเพื่อความปลอดภัย

ช่วงเวลาในการรับน้อง มีความยาวนานกว่าคณะวิชาอื่นๆในวิทยาเขตวังท่าพระ ที่ส่วนใหญ่ใช้เวลาราว 1 เดือน แต่เป็นที่ทราบกันว่า “จิดกำ” รับนานสุด

อีกหนึ่งกิจกรรมในช่วงรับน้องที่ขึ้นชื่อว่าเป็นที่รอคอยของทั้งนักศึกษาปัจจุบัน และศิษย์เก่า คือการ “ชนช้าง” ซึ่งเป็นเสมือนการ “ประชัน” ความคิดสร้างสรรค์ของน้องใหม่ในแต่ละคณะ แน่นอนว่า คณะจิตรกรรม ได้รับความคาดหวังและเป็นที่จับตา โดยจะเริ่มประชันที่สนามบาสเกตบอล นอกนั้น ยังมีการโชว์นอกรั้วมหาวิทยาลัย บนฝั่งถนนหน้าพระลานให้คนที่ผ่านมาผ่านไปได้รับชม

มาที่ประเด็น “แก้ผ้า” ศิษย์เก่ายืนยันตรงกันว่า มีมานานแล้ว แต่ดีกรีความอนาจารอาจไม่เท่ากัน บ้างแก้ผ้าดูกันและกันเฉยๆ บ้างอ้างว่ามีการนำไฟลนอวัยวะเพศ เอาหนังยางดีด กระทั่งที่เป็นประเด็นล่าสุดคือ “ช่วยตัวเอง” ซึ่งกลายเป็นข่าวฮือฮา

ถามว่า เคยมีผู้คัดค้านกิจกรรมเหล่านี้หรือไม่ แน่นอนว่า มี ! ซ้ำยังเป็นผู้ใหญ่ในคณะ ซึ่งแหล่งข่าวรายหนึ่งระบุว่าสุดท้ายโดนต่อต้านอย่างหนักจน “อยู่ไม่ได้”

ส่วนอาจารย์ปัจจุบัน เกือบทั้งหมดเป็นศิษย์เก่า หรือเรียกง่ายๆว่า เคยเป็น “รุ่นพี่” มาก่อน จึงถูกสังคมตั้งข้อสังเกตว่า เพราะเหตุนี้หรือไม่ กิจกรรมรับน้องที่ถูกมองว่าไม่สร้างสรรค์จึงยังคงอยู่มาได้แม้ถูกวิพากษ์อย่างหนักหน่วงและกว้างขวางมากขึ้นทุกที

 

การรับน้องรับเพียงวันเดียว ร่วมกัน 4 คณะ โดยใส่บาตรในเวลาเช้า ซ่อมน้องเล็กน้อย และไหว้ครูช่วงสาย

พิธีไหว้ครูชั้นปีที่ 1

ภาพและข้อมูลส่วนหนึ่งจาก หนังสือ
-ไหว้ครูและต้อนรับน้องใหม่ มศก.2509
-ไหว้ครูและต้อนรับน้องใหม่ มศก.2510
-ไหว้ครูและต้อบรับน้องใหม่ มศก.2514
-ไหว้ครูและต้อนรับน้องใหม่ มศก.2515
-น้องใหม่จิตรกรรม ฯ 2522
-55 ปี มหาวิทยาลัยศิลปากร
-รากเหง้ามหาวิทยาลัยศิลปากร
-60 ปีมหาวิทยาลัยศิลปากร
-นำร่อง รศ. 201
และเฟซบุ๊กแฟนเพจ “Silpakorn-U

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image