‘ชัชชาติ’ เข้าคลาสสอน นศ.มธ. ชวนคนรุ่นใหม่คุยเรื่อง Passion และการออกแบบชีวิต

วันที่ 10 พฤศจิกายน 2560 นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ได้โพสต์ข้อความลงในเฟซบุ๊กถึงเรื่องราวแง่คิดหลังได้ไปสอนหนังสือให้กับนักศึกษาวิชา มธ.101 ของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ โดยว่า

“เมื่อวันพุธ ผมมีโอกาสได้ไปสอนวิชา มธ.101 ให้นักศึกษาปีหนึ่ง มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต วิชานี้เป็นวิชาที่มีการเชิญคนข้างนอกมาสอน เพื่อเปิดมุมมองใหม่ๆ ให้นักศึกษา ผมเองมาสอนเป็นครั้งที่ 4 และทุกครั้งก็ต้องพยายามหาเรื่องที่คิดว่าเป็นประโยชน์และน้องๆ นักศึกษาสนใจ

คราวนี้ผมมาเล่าเรื่องการออกแบบชีวิต (Designing Your Life) ให้น้องๆ ฟัง

แนวคิดเกี่ยวกับการออกแบบ (Design Thinking) มีมานานแล้ว โดยเป็นการออกแบบที่เน้นเอาคนหรือผู้ใช้เป็นศูนย์กลาง (human-centered approach) แต่มาในช่วง 10-20 ปีหลังจะมีการนำแนวคิดนี้ประยุกต์ใช้กับการแก้ปัญหาและการสร้างนวัตกรรมในหลากหลายสาขา

Advertisement

สถาบันการออกแบบ Hasso Platter Institute of Design หรือ d.school ของ Stanford ได้เสนอขั้นตอนของ Design Thinking เป็น 5 ขั้นตอน

1. Empathize การเข้าใจผู้ใช้ว่าต้องการอะไร

2. Define การวิเคราะห์และระบุว่าโจทย์คืออะไร

Advertisement

3. Ideate การเสนอแนวคิดและคำตอบ

4. Prototype การพัฒนาแบบจำลองสำหรับแนวคิดต่างๆ

5. Test การทดสอบแบบจำลองที่พัฒนาขึ้นมา

ถ้าเรามองไปรอบๆ ห้องเรียน ทุกอย่างในห้องล้วนแต่ได้รับการออกแบบมาทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นฝ้าเพดาน โคมไฟ ผนังห้อง โต๊ะ เก้าอี้ กระเป๋าถือ หรือแม้แต่แก้วพลาสติกใส่น้ำใบเล็กๆ
แต่มีสิ่งหนึ่งในห้องเรียนที่อาจจะไม่ได้ถูกออกแบบมาเลย ทั้งๆ ที่เป็นสิ่งที่มีค่าที่สุด นั่นคือชีวิตของพวกเรา

มีอาจารย์จาก Stanford สองท่านคือ Bill Burnett กับ Dave Evans คงเห็นในจุดนี้ เลยได้เปิดวิชาเลือกสำหรับนักศึกษาปริญญาตรีที่ Stanford ชื่อ Life Design Workshop สำหรับแนะนำการออกแบบชีวิตให้นักศึกษาที่ Stanford และปรากฏว่าเป็นวิชาเลือกที่มีนักศึกษาลงทะเบียนเรียนมากที่สุด และเมื่อปีที่แล้วก็ได้เขียนหนังสือชื่อ Designing Your Life หรือการออกแบบชีวิต ตามแนวคิด Design Thinking เป็นหนังสือที่น่าสนใจ และผมใช้เอามาเล่าให้น้องๆ ฟัง

ที่หน้า Design Studio ที่ Stanford เขามีป้ายติดไว้ตรงหน้าประตู เขียนว่า YOU ARE HERE คุณอยู่ตรงนี้

หนังสืออธิบายว่า ความหมายของป้ายนี้คือ มันไม่สายเกินไปที่คุณจะออกแบบชีวิตที่คุณรัก ให้เริ่มจากจุดที่คุณอยู่ (Start where you are) อดีตที่ผ่านไปแล้วไม่สำคัญ จุดที่เราอยู่ในปัจจุบันสำคัญที่สุด
กรอบสำคัญสำหรับการออกแบบชีวิตที่หนังสือแนะนำคือ

– อยากรู้อยากเห็น (Be curious) สนใจสิ่งต่างๆ อยากหาความรู้ คำตอบ

– ทดลองทำ (Try Stuff) อย่ามัวแต่คิดหรือฝัน ให้ทดลองทำด้วย

– ปรับมุมมองปัญหา (Reframe Problem) มองปัญหาจากมุมอื่นที่แตกต่าง

– ตระหนักว่าเป็นกระบวนการ (Know It’s a Process) การออกแบบชีวิตไม่ใช่ครั้งเดียวจบ แต่เป็นกระบวนการต่อเนื่องตลอดชีวิต

– หาความช่วยเหลือ (Ask for Help) ไม่ไปตัวคนเดียว ถาม ปรึกษาคนที่มีประสบการณ์

อีกเรื่องที่น่าสนใจคือเรื่อง passion หรือความหลงใหล ความรักในการทำสิ่งใดสิ่งหนึ่ง ซึ่งในปัจจุบันจะมีแนวคิดที่บอกว่า เราต้องหา passion ของเราให้เจอ เมื่อเจอแล้วให้ทำตาม passion แล้วชีวิตจะลงตัว แต่ในหนังสือเล่มนี้ไม่เห็นด้วย เขาเชื่อว่าคนส่วนใหญ่ไม่รู้จัก Passion ของตนเอง เราจะเกิดความรัก ความหลงใหลในสิ่งใด ก็ต่อเมื่อเราได้ทดลองทำสิ่งนั้นแล้ว Passion ไม่ใช่จุดเริ่มต้น แต่เป็นผลลัพธ์ จากการออกแบบชีวิตที่ดี

น้องๆ ถามคำถามดีๆ กันเยอะเลย บรรยายจบ ได้มายืนคุยต่อกับน้องๆ กลุ่มใหญ่ ผมรู้สึกเลยว่าคนรุ่นใหม่ที่มีความคิด มีพลังเหล่านี้ควรจะต้องเป็นส่วนสำคัญในการร่วมกำหนดอนาคตของประเทศครับ”

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image