อ.วิศวะ จุฬาฯ ชี้ แอร์พอร์ตลิงก์แก้ปัญหาช้า เผยเคยเตือนเเล้วต้องซ่อมบำรุงหนัก

วันนี้ (21 มีนาคม) ผศ.ดร.ประมวล สุธีจารุวัฒน อาจารย์ภาควิชาวิศวกรรมอุตสาหการ คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย อดีตรองผู้อำนวยการฝ่ายวิชาการ สถาบันการขนส่ง จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เปิดเผยกับมติชนออนไลน์ กรณีเหตุการณ์แอร์พอร์ตลิงก์กระแสไฟขัดข้อง ก่อนถึงสถานีรามคำแหง ค้างล่าช้าเกือบครึ่ง ชม.

โดย ดร.ประมวลระบุว่า ความขัดข้องดังกล่าวเป็นสิ่งที่คาดการณ์ได้ เพราะเมื่อปีที่ผ่านมา ตนพร้อมคณาจารย์ และรองอธิการบดีจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ก็เคยจัดแถลงข่าวเตือนว่า ในส่วนของแอร์พอร์ตลิงก์ ได้ครบกำหนดที่จะต้องซ่อมบำรุงหนัก เพราะได้มีการใช้งานมาครบล้านกิโลเมตรแล้ว เปรียบเสมือนกับการนำรถเข้าศูนย์ซ่อมบำรุง เมื่อครบกำหนดนั่นเอง ซึ่งส่วนตัวก็มีความกังวลว่าหากยังฝืนใช้ต่อไปก็อาจเกิดปัญหาขึ้นได้ ซึ่งในส่วนการใช้งาน แม้ไม่ได้มีปัญหาร้ายแรงว่ารถจะพัง หรือเกิดอุบัติเหตุร้ายแรงอะไร แต่ขบวนรถจะถูกใช้งานอย่างไม่แน่นอน และไม่รู้ว่าจะเกิดอะไรขึ้น ซึ่งสถานะดังกล่าวเกิดขึ้นเรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน เพราะในส่วนของระบบรถเอง จะมีระบบคอมพิวเตอร์ตรวจสอบตัวเองว่ามีความพร้อมในการวิ่งหรือไม่ก่อนรถวิ่ง และไม่พบความผิดปกติใดๆ

โดยปัญหาที่เกิดขึ้นคือ หากเกิดปัญหาฉุกเฉินขึ้นมา แนวทางในการรับมือจะต้องมีการดำเนินการให้เร็วกว่านี้ ต้องบอกว่าวันนี้มีการดำเนินการช้ามาก คนจำนวนมากถูกขังอยู่ในขบวนรถที่ร้อนจัด เกือบขาดอากาศหายใจ สำหรับการแก้ปัญหาหากเกิดเหตุการณ์ เช่นนี้ มีอยู่สองรูปแบบคือ 1.การนำรถอีกขบวนไปเทียบและถ่ายผู้โดยสารลงมา กับ 2.การปล่อยให้ผู้โดยสารเดินบนราง ซึ่งในส่วนของแอร์พอร์ตลิงก์นั้นไม่เป็นไร เพราะมีกระแสไฟฟ้าด้านบน แต่ BTS หรือ MRT ทำไม่ได้ เพราะมีการจ่ายกระแสไฟบนราง ต้องตัดไฟก่อน

“ซึ่งหากดูตามรูปการณ์การแก้ปัญหา ต้องบอกว่าการเลือกวิธีการแก้ไม่แย่ แต่ทำงานช้า ตัดสินใจช้า คล้ายกับกรณีบีทีเอสคราวก่อน ซึ่งหากเกิดปัญหา ก็ควรประกาศแผนแก้ปัญหาให้เร็วกว่านี้ โดยในส่วนแอร์พอร์ตลิงก์ แทนที่จะบอกว่าให้ผู้โดยสารทำตัวอย่างไร หรือการหาวิธีเปิดหน้าต่าง ก็ไม่มีขั้นตอนดำเนินการใดๆ จนผู้โดยสารต้องไปแงะประตูกันเอง” ดร.ประมวลระบุ

Advertisement

ดร.ประมวลกล่าวอีกว่า ต้องกลับมามองที่โครงสร้างของการแก้ปัญหา เพราะในส่วนบีทีเอส หรือเอ็มอาร์ที มีผู้รับเหมารับผิดชอบเรื่องการซ่อมบำรุงอย่างเป็นระบบ แต่ในส่วนแอร์พอร์ตลิงก์เราเลือกที่จะจัดการแก้ปัญหาเอง ซึ่งในส่วนนี้จะมีปัญหาเรื่องการจัดซื้ออะไหล่ ที่หลายส่วนขึ้นกับระเบียบของทางราชการทำให้การแก้ปัญหา คือ 1.ทำงานล่าช้า แก้ปัญหาไม่ค่อยทัน 2. กระบวนการซ่อมบำรุงยังไม่ได้รับการบริหารจัดการให้มีประสิทธิภาพเท่าที่ควร ซึ่งเราไม่สามารถไปโทษใครได้ เพราะกระบวนการจัดซื้อของเราไร้ประสิทธิภาพไม่ทันการณ์จริงๆ และหากการจัดการเป็นแบบนี้ อาจเกิดปัญหาการบริหารกับรถไฟฟ้าในอนาคต เช่นสายสีแดง ที่บริหารโดย ร.ฟ.ท.อีกด้วย

สำหรับคำแนะนำหากเกิดเหตุการณ์เช่นนี้อีกนั้น ร.ฟ.ท.ต้องเตรียมมาตรการรองรับเหตุฉุกเฉินให้เร็วกว่านี้ ต้องเตรียมไว้ล่วงหน้า ต้องยอมรับว่า บีทีเอส เอ็มอาร์ที ระบบรองรับดีกว่าเยอะ ต้องมีขั้นตอนทำงานที่เคี่ยวกว่านี้ ภายใต้การบริหารจัดการเท่าที่มี โดยปัญหาที่เกิดขึ้นสะท้อนเรื่องวิธีบริหารจัดการ และ business model ที่จะต้องได้รับการแก้ไขผ่านการปฏิรูปองค์กรในอนาคต

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image