เปิดธรรมเนียมการรับทูตครั้งโบราณ ‘พระนารายณ์โน้มรับพระราชสาส์น’ ไม่ใช่ธรรมเนียมหลักที่ปฏิบัติกัน

นับเป็นฉากไฮไลท์ที่ทำเอาผู้ชมชื่นชมทั้งพระนคร สำหรับฉากพระนารายณ์ทรงโน้มพระวรกายรับพระราชสาส์นพระเจ้าหลุยส์ ในละครดัง “บุพเพสันนิวาส”

ทั้งนี้ เพจสาขาวิชาประวัติศาสตร์ท้องถิ่น คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร ได้นำประวัติศาสตร์ช่วงนี้มาเผยแพร่ โดยระบุว่า ธรรมเนียมการรับราชทูตครั้งโบราณ มีอยู่ 2 แบบคือ ออกรับราชทูตในท้องพระโรง และออกรับราชทูตที่มุขเด็จของพระที่นั่ง

ธรรมเนียมหนึ่งที่พระมหากษัตริย์เสด็จออกรับราชทูตคือการที่ทรงมีพระราชปฏิสันถารถามสามนัด จากนั้นล่ามจะแปลถ่ายทอดไปยังราชทูต และแปลกลับมาถวายพระมหากษัตริย์อีกครั้งหนึ่ง
การถาม 3 นัด มีดังนี้

1. พระเจ้าแผ่นดินฝ่ายโน้นกับทั้งพระราชวงศ์ทรงสบายดีอยู่หรือ

Advertisement

2. ทูตานุทูตเดินทางมาสะดวกดีอยู่หรือ

3. ประเทศโน้นฝนฟ้าตกต้องตามฤดูกาล

บ้านเมืองมีความสมบูรณ์ ไพร่บ้านพลเมืองมีความสุขอยู่หรือ

Advertisement

ธรรมเนียมนี้ปรากฏอยู่ในเสภาขุนช้างขุนแผนตอนพระพันวษารับราชทูตล้านช้าง ทำให้เห็นธรรมเนียมครั้งโบราณ ดังความว่า

๏ ครานั้นพระองค์ผู้ทรงเดช
ชำเลืองพระเนตรผายผัน
เห็นราชทูตมาถวายบังคมคัล
กับทั้งเครื่องสุวรรณบรรณา
จึงตรัสประภาษปราศรัย
มาในป่าไม้ใบหนา
กี่วันจึงถึงพระพารา
มรรคายากง่ายประการใด
อนึ่งกรุงนาคบุรี
ข้าวกล้านาดีฤๅไฉน
ฤๅฝนแล้งข้าวแพงมีภัย
ศึกเสือเหนือใต้สงบดี
ทั้งองค์พระเจ้าเวียงจันทน์
ทรงธรรม์เป็นสุขเกษมศรี
ไม่มีโรคายายี
อยู่ดีฤๅอย่างไรในเวียงจันทน์ ฯ
๏ ราชทูตสนองพระโองการ
ขอเดชะพระผู้ผ่านมไหศวรรย์
มรคามาสะดวกสี่สิบวัน
เมืองนั้นเป็นสุขไม่มีภัย
ข้าวปลานาปรังยังตั้งต้น
เป็นผลหาขาดหาแคลนไม่
ศึกเสี้ยนศัตรูหมู่ภัย
มิได้กระชิดติดพารา
พระองค์ผู้ครองนัคเรศ
พระเดชฟุ้งเฟื่องทุกทิศา
ทรงธรรม์เป็นสุขทุกเวลา
มิได้มีโรคามายายี ฯ
๏ ปางพระองค์ทรงทราบที่กราบทูล
นเรนทร์สูรปรีดิ์เปรมเกษมศรี
พระราชทานเสื้อผ้าแพรดี
ทั้งที่อยู่สำราญบานใจฯ

ธรรมเนียมหลักของการถวายพระราชสาส์น ราชทูตจะไม่ถวายต่อพระหัตถ์โดยตรง เพียงแต่มีโต๊ะวางตรงหน้าพระที่นั่ง ยกเว้นกรณีของเชอวาลิเยร์ เดอ โชมองต์ ที่ถวายพระราชสาสน์โดยตรงต่อพระหัตถ์ ตามอย่างยุโรป เป็นเหตุให้พระนารายณ์ทรงโน้มพระวรกายลงมารับด้วยพระองค์เอง

สำหรับสถานที่ที่เชอวาลิเยร์ เดอ โชมองต์ เข้าเฝ้าถวายพระราชสาส์นนั้น เกิดขึ้นที่พระที่นั่งสรรเพชญ์มหาปราสาท ไม่ใช่ที่ละโว้ แต่ภาพที่เราเห็นกันจนชินตานั้นเกิดจากความเข้าใจผิดของช่างผู้วาดภาพที่คุ้นเคยกับท้องพระโรงที่ละโว้

ภาพพระเจ้าแผ่นดินสยาม (สมเด็จพระนารายณ์มหาราช) โปรดให้ราชทูตวิสามัญ Chevalier de Chaumont เข้าเฝ้า ภาพนี้น่าจะเป็นภาพของ Jeun-Baptiste Nolin (1657-1725) ซึ่งเป็นช่างวาดและช่างแกะสลัก (เคยเดินทางไปยังประเทศอิตาลี่) เป็นบรรณาธิการและผู้จำหน่ายหนังสือร้านของ Jean Baptiste Nolin ชื่อว่า La Place des Victoires อยู่ที่ถนน Saint Jacques ปารีส สถานที่เก็บปัจจุบัน : หอสมุดแแห่งชาติ ปารีส ห้อง Cabinet des Estampes, coll. Hennin, t. 61, n° 5429

ทั้งนี้ เพจ Silapawattanatham – ศิลปวัฒนธรรม ได้โพสต์ภาพประวัติศาสตร์ สมเด็จพระนารายณ์ “ทรงโน้มพระวรกาย” เพื่อทรงรับพระราชสาสน์จากทูตฝรั่งเศส พร้อมระบุว่า ภาพๆ นี้น่าจะเป็นภาพของฌอง-บาปติสต์ โนแลง Jean-Baptiste Nolin (1657-1725) ซึ่งเป็นช่างวาดและช่างแกะสลัก (เคยเดินทางไปยังประเทศอิตาลี) เป็นบรรณาธิการและผู้จำหน่ายหนังสือ ร้านของโนแลง ชื่อว่า ลา ปลาซ เดส์ วิกตัวส์ La Place des Victoires อยู่ที่ถนน แซงต์ฌากส์ ปารีส ส่วนสถานที่เก็บปัจจุบันอยู่ที่หอสมุดแแห่งชาติ ปารีส ห้อง Cabinet des Estampes

ในภาพนี้ราชทูตวิสามัญเชอวาลิเอร์ เดอ โชมงต์ ถือพานมีเชิงสูง อัญเชิญพระราชสาส์นของพระเจ้าหลุยส์ที่ 14 แต่ไม่ยอมยกชูพานขึ้นสูงกว่าระดับไหล่ ดังนั้นสมเด็จพระนารายณ์มหาราช จึงทรงโน้มพระวรกายลงมาจากพระบัญชรท้องพระโรงเพื่อทรงรับพระราชสาส์น

ขณะนั้น ฟอลคอน (ออกญาวิชเยนทร์) หมอบเฝ้ากับพื้นตามแบบของเสนาบดีไทย ร้องขอให้ราชทูตชูพานให้สูงขึ้นอีก แต่ไม่เป็นผล

บุคคลที่เห็นด้านข้างหลังทูต คือ อับเบ เดอ ชัวซี ส่วนบุคคลแถวหน้า คือท่านลาโน สังฆราชแห่งเอลิโอโปลิส ในเครื่องแต่งกายตามสมณศักดิ์

ขอบคุณข้อมูลจากเพจ สาขาวิชาประวัติศาสตร์ท้องถิ่น คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร และ Silapawattanatham – ศิลปวัฒนธรรม

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image