เปิดใจแฟนพันธุ์แท้ ‘ฮีโร่เอเชี่ยนเกมส์’ มุมมองสะท้อนสู่การพัฒนา ‘กีฬาไทย’

ในช่วงการแข่งขันกีฬาเอเชี่ยนเกมส์ ครั้งที่ 18 ที่กรุงจาการ์ตา-เมืองปาเล็มบัง ประเทศอินโดนีเซีย ถือเป็นประสบการณ์สุดล้ำค่าสำหรับ “เต้น” ธิษณา ธนคลัง แฟนพันธุ์แท้ “ฮีโร่เอเชี่ยนเกมส์” ที่ได้รับรางวัลเป็นโอกาสได้เดินทางมาสัมผัสบรรยากาศจริงของมหกรรมกีฬาแห่งเอเชียถึงแดนอิเหนา

“เต้น” ธิษณา เข้าร่วมการแข่งขันรายการ แฟนพันธุ์แท้ มาก่อนหน้านี้ 2 ครั้งในหัวข้อ “ฟุตบอลทีมชาติไทย” ซึ่งทั้ง 2 ครั้งเขาต้องหยุดเส้นทางอยู่เพียงแค่รอบ 4 คนเท่านั้น แต่ในหัวข้อ “ฮีโร่เอเชี่ยนเกมส์” ธิษณาระดมคลังความรู้ด้านกีฬาเอเชี่ยนเกมส์ที่ฟูมฟักมาตั้งแต่เด็กมาถ่ายทอดเรื่องราวเล่าเรื่องจนคว้าชัยได้ในที่สุด

ทีมข่าวกีฬา “มติชน” ที่เดินทางมาเกาะติดรายงานการแข่งขันกีฬาเอเชี่ยนเกมส์ครั้งนี้ได้มีโอกาสจับเข่าคุยกับแฟนพันธุ์แท้ ฮีโร่เอเชี่ยนเกมส์ติดขอบสนามถึงเรื่องราวชีวิต และความรู้สึกที่ได้โอกาสครั้งสำคัญในการเดินทางลัดฟ้าชมศึกเอเชี่ยนเกมส์ติดขอบสนามในดินแดนอิเหนาในครั้งนี้

Advertisement

“ผมชอบดูกีฬา ชอบเก็บข้อมูลกีฬาทุกอย่างอยู่แล้ว ทั้งซีเกมส์, เอเชี่ยนเกมส์ และโอลิมปิกเกมส์ พอรายการแฟนพันธุ์แท้มีหัวข้อฮีโร่เอเชี่ยนเกมส์ ผมก็สนใจที่จะไปเข้าร่วม แต่จริงๆ ไม่อยากใช้คำว่า ไปแข่ง คือเราอยากไปเล่าเรื่องราวมากกว่า เพราะผมมองว่า เอเชี่ยนเกมส์เป็นเรื่องราวที่น่าเล่ามาก”

ธิษณา เล่าให้ฟังอีกว่า เอเชี่ยนเกมส์มีกีฬาหลายอย่างที่มองว่าเป็นโอกาสหนึ่งที่จะได้เล่าเรื่องราวเก่าๆ เกร็ดในอดีตที่คนยังไม่รู้ อย่างเช่น จักรยานไทย และกรีฑาไทยเราก็ยิ่งใหญ่มาก่อน แต่ยืนยันว่า ในการเข้าร่วมรายการไม่ได้คาดหวังว่าอยากจะชนะ เพราะงานประจำก็ยุ่งมากอยู่แล้ว

Advertisement

“สำหรับความรู้สึกหลังจากชนะ ผมคิดว่า การเล่นเกมแพ้ชนะเป็นจังหวะในเกมมากกว่า เหมือนกับแข่งกีฬาแหละ เราไม่ใช่คนเก่งอะไร แต่จริงๆ เราเป็นแค่คนไปถ่ายทอดเรื่องราว เพราะคนที่เก่งจริงๆ ก็คือตัวนักกีฬาที่สร้างเอาไว้จนสามารถเกิดเรื่องราวที่น่าสนใจอย่างมาก”

สำหรับ “เต้น” ธิษณา ธนคลัง เป็นชาวนครสวรรค์ ปัจจุบันวัย 36 ปี จบปริญญาตรี วิทยาการคอมพิวเตอร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร และปริญญาโท วิศวกรรมซอฟต์แวร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี โดยตอนนี้มีอาชีพเป็นนักสอนการพัฒนาซอฟต์แวร์ หรือ ซอฟต์แวร์ เดเวล็อปเมนต์ เทรนเนอร์ รวมทั้งเป็นอาจารย์พิเศษด้วย

ย้อนกลับไปจุดเริ่มต้น ธิษณา สนใจดูกีฬามาตั้งแต่อายุ 7 ปี ซึ่งมหกรรมกีฬาครั้งแรกที่เขาติดตามคือ เอเชี่ยนเกมส์ ครั้งที่ 11 เมื่อปี 1990 ที่กรุงปักกิ่ง ประเทศจีน แต่ครั้งนั้นยังดูเพียงแค่ผิวเผิน จากนั้นครั้งต่อมาในมหกรรม ซีเกมส์ ครั้งที่ 16 เมื่อปี 1991 ที่กรุงมะนิลา ประเทศฟิลิปปินส์ เขาเริ่มติดตามอย่างใกล้ชิดนับตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา…

แต่ในศึก เอเชี่ยนเกมส์ 2018 เป็นครั้งแรกที่หนุ่มเต้นได้เดินทางมาชมการแข่งขันติดขอบสนาม เพราะโดยปกติแล้วเขาทำงานประจำก็ยุ่งอยู่แล้ว อีกทั้งยังมีงานเสริมเป็นนักจัดรายการวิทยุกีฬา และแอดมินเพจกีฬา “สปอร์ต อินไซด์” ทำให้ยุ่งจนแทบจะไม่มีเวลา แต่เขาบอกว่า ประสบการณ์แดนอิเหนาครั้งนี้ถือว่า…ล้ำค่ามาก!

“ผมได้ประสบการณ์มาก เอเชี่ยนเกมส์ครั้งนี้ไม่ได้ไปในประเทศที่พร้อมอย่างเกาหลีใต้ หรือญี่ปุ่น แต่เราก็ได้เห็นมุมมองของอินโดนีเซียในการเป็นเจ้าภาพ อีกทั้งผมยังได้เห็นว่า บนภาคสนามจริงนักกีฬาเขายุ่งยากแค่ไหน คนถ่ายทอดสด หรือแม้กระทั่งคนมาทำข่าวเขาวิ่งวุ่นกับการย้ายจากสนามหนึ่งไปอีกสนามหนึ่ง ผมว่ามันโคตรยากเลยนะ”

ด้านมุมมองที่แฟนพันธุ์แท้ฮีโร่เอเชี่ยนเกมส์มีต่อวงการกีฬาไทยเขามองว่า กีฬาไทยตอนนี้ต้องใช้เงิน และการสนับสนุนเยอะมาก ยิ่งมีมหกรรมกีฬาเกิดขึ้นเรื่อยๆ ทุกชาติเอาจริง ทุกชาติมีการพัฒนา ทำให้ไทยเราตกอยู่ในสถานการณ์ลำบาก เพราะฉะนั้นวงการกีฬาไทยต้องมาทบทวนว่า คำว่าพร้อมของเรา กับคำว่าพร้อมของชาวโลกคนละแบบกัน เพราะ “รู้เรา” ก็จะต้อง “รู้เขา” ด้วย

“ผมว่าอย่างแรกเลยตอนนี้ นักกีฬา สมาคมกีฬา ต้องมองเป็นลำดับ ต้องจัดลำดับความสำคัญว่า มหกรรมกีฬาใดมีความสำคัญ แต่ว่าต้องดูเป็นรายกีฬาไป เพราะกีฬาแต่ละชนิดมีธรรมชาติไม่เหมือนกัน บางชนิดกีฬาต้องอาศัยการเก็บตัวฝึกซ้อมนาน แต่บางกีฬาก็ต้องออกทัวร์ต่างประเทศไปเจอคู่แข่งเก่งๆ เยอะ เพราะตอนนี้เรามองที่ยอดพีระมิดแล้ว แต่เราไม่ได้สร้างตั้งแต่ฐานพีระมิดเลย”

สำหรับความคิดเห็นของแฟนกีฬาชาวไทยในยุคสงครามโซเชี่ยลในปัจจุบันนี้ ธิษณาอยากให้ทุกคนเข้าใจการดูกีฬา และออกความคิดเห็นอย่างไร เพราะถือว่า เป็นเส้นบางๆ ระหว่าง การด่าการตัดทอนกำลังใจ และคำวิพากษ์วิจารณ์ บางทีคำเพียงแค่นิดเดียวก็สามารถเปลี่ยนแปลงความรู้สึกของนักกีฬาได้

“ผมคิดว่า เราจะพัฒนากีฬาอย่างเดียวไม่ได้ เราจะต้องพัฒนาคนดูกีฬาทั้งประเทศในเรื่องวิธีคิดด้วย อย่างเช่น ซีเกมส์เราอาจส่งเยาวชนไปแข่งได้ แต่ทำไมเขาไม่เอา เพราะถ้าแพ้กลับมา คนรอด่าข้างหลังรออยู่เยอะ เขาก็ต้องขนนักกีฬาชุดใหญ่ไปเล่น แต่ถ้าเกิดคนดูกีฬาเป็นทั้งหมด เราก็จะได้รู้ว่า ทัวร์นาเมนต์นี้ไม่เป็นไร ยังไม่สำคัญ เพราะใช้ลองตัวได้”

ในส่วนของกีฬาฟุตบอล ธิษณา อธิบายว่า เขาก็อยากให้ทัพช้างศึกคว้าเหรียญเอเชี่ยนเกมส์เช่นเดียวกับแฟนลูกหนังชาวไทยทุกคน แต่เขามองอีกมุมก็คือ เอเชี่ยนเกมส์เป็นรายการที่ลองตัวผู้เล่นได้ เพื่อปรับทัพวางแผนไปสู่ศึกโอลิมปิกเกมส์ 2020 ที่กรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น ต่อไปในอีก 2 ปีข้างหน้า

“ผมว่า กีฬามีแพ้ มีชนะ วันนึงถ้าเราแพ้ มันก็แค่วันนี้ไม่ใช่วันของเรา พรุ่งนี้เราก็กลับมาชนะได้ ก่อนที่แฟนกีฬาจะทำอะไรก็จะต้องดูข้อมูลก่อน ดูเป้าหมายก่อน ดูอะไรหลายๆ ก่อนว่ากีฬาแต่ละชนิดในแต่ละมหกรรมเขามาทำไม บางทีมันมีเหรียญที่ใหญ่กว่า แต่เราต้องลองจากตรงนี้เพื่อไปถึง เพราะถ้าไม่ลองจากตรงนี้เราก็ไม่เห็นอะไร ถูกต้องไหมครับ?”

แฟนพันธุ์แท้เอเชี่ยนเกมส์ยืนยันว่า ถ้านักกีฬาไทยแพ้วันนี้ก็เพื่อไปชนะในสนามที่ใหญ่กว่า ในวันหน้า ซึ่งก็อยากให้แฟนกีฬาไทยดูกีฬากันอย่างใจเย็นๆ ดูด้วยเหตุด้วยผล อย่าดูด้วยอารมณ์แล้วก็ต้องคิดอย่างนี้ด้วยว่า ชาติอื่นเขาก็พัฒนา ไม่มีใครแพ้ตลอดไป

“ถ้าคุณอยากประสบความสำเร็จอย่างญี่ปุ่น คนในประเทศคุณก็ต้องเป็นแบบญี่ปุ่นด้วย แฟนกีฬาไทยก็จะต้องดูกีฬาอย่างเข้าใจด้วย กีฬาสามารถแพ้ได้ เราต้องดูปัจจัย แต่เราก็ไม่ได้แพ้ทุกวัน และเราจะต้องพัฒนาไปพร้อมกันด้วย เพื่อร่วมกันพัฒนาวงการกีฬาไปด้วยกัน”

สำหรับในอนาคตของแฟนพันธ์แท้ฮีโร่เอเชี่ยนเกมส์รายนี้ เขาวางแผนมุ่งหวังต่อยอดไปถึงการเดินทางมาชมติดขอบสนามในกีฬาโอลิมปิกเกมส์สักครั้งหนึ่งในชีวิตให้ได้ เพื่อนำเรื่องราวจากประสบการณ์จริงมาถ่ายทอดสู่แฟนกีฬาชาวไทยให้ได้เข้าใจแก่นแท้ของกีฬาอย่างลึกซึ้งมากยิ่งขึ้น

“ผมก็วางแผนไว้ว่าอยากไปโอลิมปิกเกมส์ ตอนนี้กำลังเก็บเงินอยู่ ถ้ามีคนส่งไปก็ดีนะ (หัวเราะ) เพราะว่าเราจะมีเรื่องราวไปเล่าต่อ เพื่อสร้างความเข้าให้กับคนได้เข้าใจกับกีฬา และมหกรรมกีฬามาก เพราะทุกครั้งเราจะได้เห็นว่ามุมมองใหม่ๆ ที่จะช่วยทำให้ได้เข้าใจกีฬามากขึ้น”

จากมุมมองของผู้เล่นเรื่องราวผ่านการเป็นแฟนพันธุ์แท้ “ฮีโร่เอเชี่ยนเกมส์” ในครั้งนี้ เชื่อว่าจะเป็นกระจกเงาสะท้อนอีกหนึ่งบานในการพัฒนาวงการกีฬาไทยไปสู่อนาคตต่อไป…

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image